ในปีพ.ศ. 2476 อุตรดิษฐ์ได้จัดสร้างสนามบินขึ้น ณ บริเวณแนวที่ตั้งโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษา ขึ้นไปทางเหนือจนจรดถนนอินใจมี ทิศตะวันออกจรดแนวถนนแปดวา ทิศตะวันตกจรดคลองโพในปัจจุบัน โดยใช้แรงงานคนประมาณวันละ 200-300 คน ทุกวันผู้ที่มาทำงานจะทำกันอย่างเต็มที่เพราะทุกคนอยากจะเห็นเครื่องบิน การสร้างสนามบินครั้งนั้น มีการตัดต้นไม้ที่เป็นป่ารกทึบ ปรับพื้นที่ถมหนองน้ำ ตรงไหนสูงและมีจอมปลวกก็ขุดออกปรับหน้าดินให้เสมอกัน ยิ่งได้ยินว่าทางราชการได้กำหนดจัดงานวันเครื่องบินลงในสนาม ก็มีการสร้างร้านค้า โรงเล่นการพนัน 44 แห่ง โรงพักเครื่องบิน โรงพิธีทำขวัญเครื่องบิน โดยกำหนดให้มีงาน 7 วัน 7 คืน จัดเป็นงานใหญ่ของเมือง เก็บเงินค่าเข้าชมเพื่อบำรุงการบินของกองทัพบก ซึ่งทางราชการเมืองอุตรดิษฐ์ได้ออกหนังสือประกาศไปทั่วทุกอำเภอและเมืองต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงบอกกำหนดวันจะมีงาน “รับเครื่องบินและเปิดสนามบินอุตรดิษฐ์”
เมื่อถึงเวลาใกล้วันงานประชาชนทั้งในตัวเมืองอุตรดิษฐ์ และจากอำเภอต่าง ๆ ก็พากันเดินทางเข้ามาเพื่อดูเครื่องบินและดูงาน คนแก่คนเฒ่าเด็กเล็กก็อยากเห็นเครื่องบินกันทั้งนั้น มากันมากมายแทบทุกอำเภอทั้งเมืองใกล้เคียงก็พากันมาไม่น้อย มาหาที่พักกันตามบ้านญาติพี่น้อง บางพวกก็สร้างเพิงเป็นที่พักกันชั่วคราวเพียงอาศัยหุงหาอาหารกินกัน บ้างก็พักตามศาลาวัดหรือบริเวณสนามศาลากลาง
วันเครื่องบินมาลงสนาม บรรดาโรงร้านที่ปลูกสร้างไว้ในสนามได้ประดับธงทิวปลิวไสวอย่างสวยงาม ในสนามก็มีทั้งตำรวจ ทหาร คอยรักษาความสงบเรียบร้อย ประชาชนชายหญิงต่างพากันแหงนหน้าจับตาดูบนท้องฟ้าตั้งใจดูเครื่องบิน นักเรียนประจำจังหวัดชายแต่งเครื่องแบบลูกเสือเป็นยามรักษาประตูทางเข้าสนามบิน ผู้คนหลั่งไหลอย่างเนืองแน่น
เสียงเครื่องบินดังกระหึ่มมาบนท้องฟ้าดังใกล้เข้ามาทุกระยะ จนมองเห็นได้ว่าบินมาด้วยกัน 3 เครื่อง มองเห็นในระยะสูงบางคนจึงพูดว่า “ตัวมันเล็กว่านกแร้ง” เมื่อเครื่องบินบินใกล้เข้ามาจนมองเห็นได้ถนัด ประชาชนต่างร้องตะโกนขึ้นพร้อมกัน “มาแล้ว มาแล้ว มันใหญ่โตอะไรอย่างนี้ ไม่น่าจะบินขึ้นไปได้เลย” พร้อมกับเสียง “ไชโย ไชโย ไชโย” ดังลั่นสนาม
เจ้าหน้าที่กองบินฝ่ายพื้นสนามได้ใช้ผ้าขาวสี่เหลี่ยมปูกลางสนาม พร้อมกับก่อไฟให้เป็นควันพุ่งขึ้นเป็นสัญญาณให้เครื่องบินลง เครื่องบินบินเป็นวงรอบสนาม และโปรยขนมช็อกโกแลตลงมายังหมู่คน เมื่อเครื่องบินทั้ง 3 เครื่อง ได้ลงสู่สนามเรียบร้อยแล้ว และขณะที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ เสียงคนแก่คนเฒ่าพูดกันว่า “น่าแปลกใจจริง ๆ ทำไมจึงบินได้ นี่กระมังที่เขาว่าเหาะได้ พ่อคุณเอ๋ย พ่อมหาจำเริญ ช่างเก่งจริง ๆ ไม่กลัวตาย”
เครื่องบินพักอยู่ 7 วัน 7 คืน ตลอดงานเวลาเช้าและเวลาเย็นทุกวัน จะนำคนขึ้นบินชมทิวทัศน์ของเมืองทั้งใกล้และไกลตามระยะอัตราค่าโดยสาร ส่วนกลางคืนจะมีการเวียนเทียนทำขวัญเครื่องบินและนักบิน พอเสร็จงานแล้วเครื่องบินก็บินกลับ มีบางคนร้องไห้คิดถึงเครื่องบิน บางคนก็ให้พรตามหลังไปว่า “ไปให้ดีนะพ่อคุณนะ เมื่อไรจะกลับมาหาพวกเราอีก”
พ.ศ. 2476 เครื่องบินโชว์ตัวที่อุตรดิตถ์ คนอุตรดิตถ์อยากดูจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสนามบินให้เครื่องบินลง
พ.ศ.2477 รัฐบาลคณะราษฎร์ให้เครื่องบิน 3 ลำ เชิญรัฐธรรมนูญจำลองมาแสดงแก่ชาวอุตรดิตถ์ ขณะที่เครื่องบินร่อนลงสู่สนามบินที่ทางวิ่งเป็นดินที่ปรับเกลี่ยจนเรียบนั้น ก่อนหน้า 2 วันเกิดฝนหลงฤดูมาตกใส่ แต่คาดกันว่าน่าจะแห้งทันแน่เพราะแดดออกจัด เมื่อเครื่องบินลงล้อแตะสนามบิน โอ้…สนามบินที่ถมไปบนปลักควายนั้น ยุบลงข้างหนึ่ง ชาวอุตรดิตถ์และชาวอำเภอใกล้เคียงที่แห่กันมาต้อนรับมืดฟ้ามัวดิน หวีดร้องกันสุดเสียง เครื่องบินเซเข้าหาฝูงชนอย่างบ้าคลั่ง ฝุ่นตลบไปหมดได้ยินแต่เสียงคนร้องเข่งกันอย่างสุดเสียง เมื่อฝุ่นจางลง คุณพระช่วย……ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอนกันกลาดเกลื่อน มีผู้เสียชีวิต 8 รายบาดเจ็บอีกนับร้อย ในเดือนเมษายน ปี 2478 กองทัพอากาศรับเป็นเจ้าภาพในพิธีฌาปนกิจ นำเครื่องบินลงสนามในวันงานรวม 9 เครื่องมีการแสดงโชว์ทางอากาศ เป็นที่ชื่นชมของผู้คนชาวอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก