ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว แต่อยากพูดอีกครั้งหลังจากได้อ่านบทความเรียกร้องให้ยุบ ThaiPBS องค์กรที่ผมทั้งรัก ทั้งหวง ทั้งอึดอัด คับข้องใจ และอื่นๆอีกมากมาย ที่ๆผมมีทั้งเพื่อน ลูกศิษย์ ผู้ใหญ่ที่เคารพ อยู่หลายคน ตนเองก็เคยได้ร่วมงานด้วยมาตลอด
“ขอความกรุณา ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนคนดู เพิ่มเรตติ้ง เพิ่มกระแสการรับรู้ ความนิยมของประชาชน เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญเร่งด่วน Top Priority ด้วยเถอะครับ”
ผมได้รับฟังจนเบื่อว่า ThaiPBS นั้นไม่ได้ทำรายการเพื่อเรตติ้ง แต่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ท่องประโยคนี้จนเหมือนเป็นคาถาอะไรสักอย่าง เมื่อผมทำวิจัยเรื่องการสื่อสารการตลาดให้กับ ThaiPBS ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
การทำรายการดีๆ นั้นดีอยู่แล้ว แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีคนดู เหมือนเหตุการณ์ที่ไม่มีคนทำข่าว ก็เหมือนกับเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น ไม่มีตัวตน
และข้ออ้างที่ว่าทำเนื้อหาดีๆคนไม่ดู นั่นย่อมไม่ใช่ข้ออ้าง ทำไม BBC ทำได้ ทำไม NHK ทำได้ ทำไม PBS ทำได้ ทำไมทั้ง BBC และ NHK มีละครที่ติดอันดับเรตติ้งสูงได้ ทำไมเค้าทำการโปรโมทรายการในสื่ออื่นนอกเหนือจากช่องทางของตัวเองได้? (โปรโมทรายการตัวเองในช่องตัวเองให้ตายยังไงเรตติ้งก็ไม่ขึ้น เพราะคนที่ดูก็คือคนดูกลุ่มเดิม … it’s a very simple math)
การอ้างว่ามุ่งเน้นที่การสร้างเนื้อหาดีๆ โดยคนดีๆ มันคือการโฟกัสไปที่ Message และ Sender (ซึ่ง ThaiPBS ก็ถูกกล่าวหาว่าใช้ผู้ผลิตหน้าเดิมๆ) ซึ่งเป็นกรอบความคิดของยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว โดยแทบจะไม่ใส่ใจกับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารยุคใหม่ นั่นคือ Receiver หรือ Audience ซึ่งที่ BBC ใส่ใจถึงขนาดมีตำแหน่ง Audience Experience Designer (ผู้ออกแบบประสบการณ์ผู้ชม)
ผมคิดว่าเรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นวิกฤตของ ThaiPBS มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนน้ำที่ค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิขึ้นโดยกบที่อยู่ในนั้นไม่เฉลียวใจจนกระทั่งน้ำเดือด ยิ่งเกิดวิกฤตกับสื่อมวลชนมากเท่าไหร่ ThaiPBS ก็จะยิ่งถูกจับจ้องในฐานะได้รับเงินอุดหนุนสองพันล้านทุกปี จนมีการเรียกร้องให้ยุบ ThaiPBS เพื่อเอาเงินสองพันล้านไปใช้อย่างอื่นที่ “คุ้มค่ากว่า” เช่นสร้างโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งกระแสที่ว่ารัฐบาลจะหาทางเข้ามาควบคุม
ซึ่งเมื่อเกิดเสียงเรียกร้องให้ยุบหรือควบคุม ThaiPBS สิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับ ThaiPBS มากที่สุด ก็คือ ประโยชน์ที่องค์กรสร้างขึ้น แต่ประโยชน์จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ได้รับประโยชน์นั้น ไม่ใช่คุณภาพของตัวประโยชน์ที่องค์กรสร้างขึ้น ดังนั้นจำนวนผู้ชม หรือเรตติ้ง จะเป็นเหตุผลสำคัญ หรืออาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดด้วยซ้ำ ของการดำรงอยู่ขององค์กรนี้
เรตติ้งไม่ได้สำคัญด้วยตัวของมันเอง แต่มันสำคัญเพราะมันแทนค่าด้วยตัวคน แต่ถ้าเรตติ้งยังต่ำเช่นนี้ จะมีอะไรเป็นเหตุผลอันชอบธรรม (justification) ของความคุ้มค่าในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ? ในขณะที่มีเหตุผลอันชอบธรรมหลายประการให้ “จัดการ” กับ ThaiPBS จากกรณีอื้อฉาวต่างๆที่อาจจะเรียกได้ว่า มากกว่าองค์กรสื่ออื่นๆด้วยซ้ำ
ถ้า ThaiPBS อยู่ในสภาพที่ประชาชนรู้สึกว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ นั่นคือหนทางไปสู่จุดดับขององค์กร เพราะเมื่อน้ำเดือด คงไม่มีใครอยากยื่นมือเข้ามาช่วยให้ถูกน้ำร้อนลวก…
(เขียนด้วยความรักและปรารถนาดีอย่างจริงใจต่อสื่อสาธารณะ แม้ว่านับวันผมจะดู ThaiPBS น้อยลงเรื่อยๆก็ตาม)