วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

จับตา‘สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุฯ’เตรียมก่อ ‘สงครามอ่าวเปอร์เซีย ครั้งที่ 3’ ทำศึกกับ‘อิหร่าน’และพันธมิตร!

จับตา‘สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุฯ’เตรียมก่อ ‘สงครามอ่าวเปอร์เซีย ครั้งที่ 3’ ทำศึกกับ‘อิหร่าน’และพันธมิตร!

โดย: Michael T. Klare

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเร็วๆ นี้ จึงถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นขบคิดพิจารณาว่า “สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3” ซึ่งกำลังทำท่าจะระเบิดขึ้นมานี้ จะมีความหมายว่าอย่างไรได้บ้าง โดยที่คำตอบซึ่งอิงอยู่กับประสบการณ์ของชาวอเมริกันในมหาภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามันจะไม่สวยสดงดงามอะไรหรอก

จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราที่เหลือทั้งหมดจะต้องเริ่มต้นขบคิดพิจารณาว่า “สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3” (Third Gulf War) ซึ่งกำลังทำท่าจะระเบิดขึ้นมานี้ จะมีความหมายว่าอย่างไรได้บ้าง โดยที่คำตอบซึ่งอิงอยู่กับประสบการณ์ของชาวอเมริกันในมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง (Greater Middle East) ในช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามันจะไม่สวยสดงดงามอะไรหรอก

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า กองทหารรบพิเศษของกองทัพบกสหรัฐฯกำลังแอบให้ความช่วยเหลือกองทัพซาอุดีอาระเบียอย่างลับๆ ในการโจมตีเล่นงานพวกกบฎฮูตี (Houthi) ในเยเมน ที่มีอิหร่านคอยหนุนหลังอยู่ นี่เป็นเพียงสัญญาณล่าสุดที่ปรากฏขึ้นมาก่อนการประกาศเรื่องอิหร่านของทรัมป์ ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าวอชิงตันกำลังเตรียมการสร้างความพรักพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ของการเกิดสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

สงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 ครั้งแรก –ซึ่งก็คือ “ยุทธการพายุทะเลทราย” (Operation Desert Storm) ที่เป็นการรณรงค์ขับไล่กองทหารอิรักให้ออกไปจากคูเวตเมื่อปี 1990 และสงครามสหรัฐฯรุกรานอิรักในปี 2003— ต่างยุติลงด้วย “ชัยชนะ” ของฝ่ายอเมริกัน ถึงแม้ความจริงแล้วมันกลายเป็นการแก้เชือกปลดปล่อยลัทธิก่อการร้ายสายพันธุ์ที่มีพิษร้ายแรงอย่างเช่นพวกไอซิส (ISIS –อีกชื่อย่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส—ผู้แปล) ให้แผ่ขยายลุกลามออกไป , ขณะเดียวกันนั้นก็ทำให้ผู้คนเป็นล้านๆ ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่, รวมทั้งยังเขย่าสั่นคลอนมหาภูมิภาคตะวันออกกลางในวิถีทางที่ก่อให้เกิดความวิบัติหายนะ

สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 –ซึ่งจะไม่ใช่เป็นการเปิดศึกกับอิรักเหมือน 2 ครั้งแรก แต่เป็นการทำสงครามกับอิหร่านและพันธมิตรของประเทศนั้น— ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาโดยฝ่ายอเมริกันได้รับ “ชัยชนะ” อีกหนหนึ่ง ซึ่งน่าจะหมายถึงการคลายปมปลดปล่อยกลุ่มพลังแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายและการนองเลือดอันแสนสยดสยองยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มาด้วยซ้ำ

เหมือนกับสงครามอ่าวเปอร์เซีย 2 คราวแรก ในครั้งที่ 3 นี้อาจจะมีการปะทะสู้รบกันอย่างดุเดือดรุนแรงยิ่ง ระหว่างกองกำลังรูปแบบต่างๆ ของฝ่ายอเมริกัน กับกองกำลังของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นรัฐที่มีการประกอบอาวุธอย่างเพียบพร้อมรายหนึ่ง ขณะที่สหรัฐฯมีประสบการณ์การสู้รบกับไอซิสและพวกองค์กรก่อการร้ายอื่นๆ ในตะวันออกกลางตลอดจนที่อื่นๆ ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้

แต่การสงครามเหล่านั้นแทบไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการทำศึกกับรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์ปกป้องดินแดนแห่งอธิปไตยของตนด้วยกองทัพมืออาชีพอันมีเจตนารมณ์ความตั้งใจ (ถ้าหากไม่พูดถึงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์) ที่จะใช้ตอบโต้ต่อสู้กับระบบอาวุธสำคัญๆ ของสหรัฐฯ

สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 นี้น่าจะมีความโดดเด่นแตกต่างไปจากการสู้รบขัดแย้งในตะวันออกกลางคราวก่อนๆ ในช่วงระยะหลังๆ ทั้งเมื่อพิจารณาจากขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของการสู้รบกัน และจากจำนวนของตัวแสดงสำคัญๆ ซึ่งอาจเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้มากว่าอาณาบริเวณของสมรภูมิจะแผ่ขยายจากชายฝั่งต่างๆ ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเลบานอนตั้งประชิดติดกับอิสราเอล ไปจนถึงช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) ที่อ่าวเปอร์เซียบรรจบเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ผู้ซึ่งเข้าร่วมสงครามอาจจะประกอบไปด้วย ทางฝ่ายหนึ่งมีอิหร่าน, ระบอบปกครองบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ในซีเรีย, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน, และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นสารพัดสารพันของพวกชีอะห์ในอิรักและเยเมน

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีอิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐฯ, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แล้วถ้าการสู้รบในซีเรียเกิดบานปลายควบคุมกันไม่อยู่ กองทหารรัสเซียก็อาจจะเข้ามาร่วมทำศึกด้วยได้เหมือนกัน

กองกำลังทั้งหมดเหล่านี้ต่างกำลังประกอบอาวุธให้ตนเองด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ชนิดต่างๆ จำนวนมากมายมหาศาลในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้แน่ใจได้ว่าหากเกิดการสู้รบใดๆ ขึ้นมาก็จะเป็นการทำศึกที่เข้มข้นดุเดือด, นองเลือด, และก่อให้เกิดการทำลายล้างอย่างน่าสยดสยอง

ทั้งนี้อิหร่านกำลังได้รับอาวุธสมัยใหม่ชนิดต่างๆ จากรัสเซีย ขณะที่ตัวเองก็เป็นเจ้าของอุตสาหกรรมอาวุธที่เป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว ในทางกลับกัน อิหร่านยังกำลังซัปพลายอาวุธสมัยใหม่ให้ระบอบปกครองอัสซาด และถูกกล่าวหาตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ลำเลียงอาวุธปล่อยชนิดต่างๆ ตลอดจนเครื่องกระสุนอื่นๆ ไปให้แก่พวกฮิซบอลเลาะห์

ส่วนทางอิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย, และยูเออี ก็เป็นผู้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อันซับซ้อนทันสมัยของอเมริกันมูลค่าระดับหลายหมื่นล้านดอลลาร์มานานแล้ว โดยที่ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งให้สัญญาที่จะซัปพลายพวกเขาเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมาย

นี่หมายความว่าทันทีที่ชนวนถูกจุดขึ้นมา สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 3 ก็อาจจะลุกลามบานปลายยกระดับไปอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้งในหมู่พลเรือนและทหารเป็นจำนวนมาก แล้วก็ทำให้เกิดกระแสผู้อพยพหลั่งไหลออกไปหาที่ปลอดภัยระลอกใหม่ขึ้นมา

สหรัฐฯและพวกพันธมิตรจะต้องพยายามทำให้สมรรถนะในการทำสงครามของอิหร่านกลายเป็นอัมพาตไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นภารกิจที่จะต้องอาศัยการถล่มโจมตีทางอากาศและใช้จรวดอาวุธปล่อยระลอกแล้วระลอกเล่า โดยที่แน่ใจได้เลยว่าบางส่วนจะตกใส่อาคารสถานที่ในย่านที่มีผู้คนพำนักอาศัยกันหนาแน่น

ส่วนอิหร่านและพวกพันธมิตรก็จะต้องหาทางตอบโต้ด้วยการเข้าโจมตีบรรดาเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงๆ ในอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งนครใหญ่แห่งต่างๆ และพวกสถานที่ตั้งทางด้านน้ำมันทั้งหลาย สามารถคาดหมายได้ว่าพวกพันธมิตรชีอะห์ของอิหร่านที่อยู่ในอิรัก, เยเมน, และที่อื่นๆ น่าจะเปิดการโจมตีของพวกเขาเองต่อกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯนี้ ในทันทีที่สงครามระเบิดขึ้นมา

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะนำไปสู่แห่งหนใด แน่นอนทีเดียวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดทายพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่ประวัติศาสตร์ของยุคศตวรรษที่ 21 นี้บ่งชี้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตามที มันจะไม่เป็นไปตามแผนการที่พวกนายพลผู้บัญชาการทั้งหลาย (หรือพวกพลเรือนที่เป็นคนกำกับดูแลพวกเขา) วางแผนเอาไว้อย่างระมัดระวัง และก็จะไม่ยุติลงอย่างที่คาดหวังเอาไว้หรือมีการจบลงได้อย่างสวยสดงดงาม

แล้วก้อกรณีชนิดไหนหรือเหตุการณ์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอันใดจะกลายเป็นตัวจุดชนวนสงครามเช่นนี้ขึ้นมา นี่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำนายได้อย่างแน่นอนชัดเจนเช่นเดียวกัน กระนั้นก็ตามที ดูจะเป็นที่ปรากฏชัดว่าสืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ปฏิเสธโยนทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้

โลกของเราก็ดูเหมือนกำลังเคลื่อนขยับใกล้เข้าไปเรื่อยๆ ทุกขณะ จนกระทั่งเมื่อไปถึงชั่วเวลาใดชั่วเวลาหนึ่งซึ่งประกายไฟที่ถูกต้องเหมาะเจาะ จะจุดระเบิดทำให้สายชนวนแห่งเหตุการณ์อันต่อเนื่องเป็นสาย นำไปสู่ความเป็นศัตรูกันอย่างเต็มขั้นขึ้นในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจลองสมมุติลองจินตนาการดูเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่ การปะทะสู้รบกันระหว่างกองทหารอิสราเอลกับกองทหารของอิหร่านซึ่งเข้าไปอยู่ในซีเรีย มีการระบุกันว่าฝ่ายอิหร่านได้จัดตั้งค่ายขึ้นมาหลายแห่งที่ประเทศนั้นทั้งเพื่อให้การสนับสนุนระบอบปกครองอัสวาดและเพื่อแอบลักลอบลำเลียงอาวุธไปให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา อิสราเอลก็ได้จัดส่งฝูงเครื่องบินไอพ่นเข้าไปโจมตีสถานที่เช่นนี้หลายๆ แห่ง ภายหลังจากมีการยิงจรวดเข้าไปยังบริเวณที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) ซึ่งอิสราเอลยึดครองอยู่ โดยที่กล่าวกันว่าพวกที่ยิงคือทหารอิหร่านในซีเรีย

แน่นอนทีเดียวว่าการโจมตีของอิสราเอลยังจะเกิดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า ในเมื่ออิหร่านพยายามกระทำตามแรงขับดันของตนในการสถาปนาและควบคุมพื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า “สะพานบก” (land bridge) ที่ข้ามจากอิหร่านผ่านอิรักและซีเรียไปถึงเลบานอน

ประกายไฟจุดชนวนสงครามใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ได้แก่การชนกันหรือเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ขึ้นมาระหว่างเรือของนาวีอเมริกันกับเรือของนาวีอิหร่านในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเรือรบของทั้งสองฝ่ายมีการแล่นเข้าใกล้กันในลักษณะแสดงความก้าวร้าวเข้าใส่กันอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่าลักษณะของการปะทะในเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร แต่การขยายตัวบานปลายอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นการแสดงความเป็นศัตรูกันอย่างเต็มขั้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นมาได้โดยที่แทบไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้าใดๆ เลย!