ประชาคมโลกเรียกร้องให้สืบหาความจริงกรณีที่ชาวปาเลสไตน์กว่า 60 คนถูกกองทัพอิสราเอลสังหารหมู่ระหว่างการชุมนุมประท้วงบริเวณพรมแดนฉนวนกาซา ในเหตุรุนแรงระลอกใหม่ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากการที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตประจำอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลมเมื่อวันที่ 14 พ.ค.
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ละทิ้งจุดยืนทางการทูตที่อเมริกายึดถือมานานหลายสิบปีด้วยการประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ปีที่แล้ว และพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในเยรูซาเลมก็ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งรัฐอิสราเอลพอดิบพอดี
สำหรับชาวปาเลสไตน์ถือว่าวันที่ 15 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันรำลึกถึง “Nakba” หรือ “หายนะ” ที่ชนชาติปาเลสไตน์กว่า 700,000 คนต้องหนีตายหรือถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานของตนในสงครามปี 1948 พร้อมๆ กับการถือกำเนิดของรัฐอิสราเอล
อิสราเอลได้เข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกในปี 1967 และต่อมาก็ได้ผนวกเยรูซาเลมตะวันออกเข้าด้วยกัน โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากนานาประเทศ
สถานะของเยรูซาเลมซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ 3 ศาสนา ได้แก่ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม ถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและยุ่งยากที่สุดในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยฝ่ายอิสราเอลถือว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง “อันจะแบ่งแยกมิได้” ของชาวยิว ขณะที่ปาเลสไตน์ก็ต้องการได้เยรูซาเลมฝั่งตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐในอนาคตของพวกเขา
ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคนชุมนุมใกล้พรมแดนเพื่อประท้วงพิธีเปิดสถานทูตอเมริกัน และมีผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆ ขว้างปาก้อนหินและพยายามรื้อทำลายสิ่งกีดขวาง ขณะที่พลซุ่มยิงอิสราเอลซุ่มอยู่อีกด้านของพรมแดน
กองทัพอิสราเอลอ้างว่า “ผู้ก่อจลาจล” ชาวปาเลสไตน์พยายามที่จะทำลายรั้วกั้นชายแดนเมื่อวันจันทร์ (14) และมีผู้นำวัตถุระเบิดประมาณ 10 ลูกกับระเบิดเพลิงอีกจำนวนหนึ่งมาใช้โจมตีทหารอิสราเอล ซึ่งเป็นเหตุให้กองทัพจำเป็นต้องสลายการจลาจล และยิงตอบโต้ด้วยกระสุนจริง
อย่างไรก็ตาม พิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามแผน โดยมีแขกเหรื่อและบุคคลสำคัญเข้าร่วมประมาณ 800 คน รวมถึง อิวานกา ทรัมป์ และ เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรสาวและบุตรเขยคนสนิทของผู้นำสหรัฐฯ
ทรัมป์ ปราศรัยผ่านคลิปวิดีโอที่บันทึกเอาไว้ล่วงหน้าว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลก็เยินยอ ทรัมป์ ว่าการยอมรับประวัติศาสตร์ของผู้นำสหรัฐฯ ก็คือการสร้างประวัติศาสตร์
กระทรวงสาธารณสุขประจำฉนวนกาซาแถลงว่า เฉพาะวันจันทร์ (14) วันเดียวมีพลเมืองกาซาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกสังหารไปร่วม 60 ชีวิต ส่วนใหญ่ถูกยิงโดยสไนเปอร์ และมีเด็กทารกวัย 8 เดือนคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการสูดดมแก๊สน้ำตา
เหตุปะทะครั้งนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 2,400 คน ทำให้วันดังกล่าวกลายเป็นวันนองเลือดที่สุดในความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ ถัดจากสงครามกาซาเมื่อปี 2014
รายงานระบุว่า ทหารอิสราเอลได้ฆ่าชาวปาเลสไตน์ไปแล้วถึง 116 คน ตั้งแต่การประท้วงแถบพรมแดนกาซา – อิสราเอลเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.
กองทัพอิสราเอลแถลงเมื่อวันอังคาร (15) ว่าผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 24 คนเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธฮามาส และ อิสลามิก ญิฮาด แต่ถึงกระนั้นองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรวมถึงอังกฤษ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระสืบหาความจริง ขณะที่นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษเตือนให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ
ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ออกมาประณามกองทัพอิสราเอลว่าเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงปาเลสไตน์ ส่วนประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีได้สั่งให้ทูตอิสราเอลประจำกรุงอังการาเดินทางออกจากประเทศชั่วคราว พร้อมกล่าวหาทางการยิวว่ากำลัง “ก่อการร้ายโดยรัฐ” (state terror) และ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide)
อิสราเอลตอบโต้ด้วยการสั่งขับกงสุลตุรกีประจำนครเยรูซาเลมออกนอกประเทศแบบไม่กำหนดระยะเวลา และ เนทันยาฮู ยังทวีตข้อความวิจารณ์ แอร์โดอัน ว่าเป็นผู้สนับสนุนขบวนการอิสลามิสต์ฮามาสซึ่งถูกตราหน้าเป็นองค์กรก่อการร้าย “จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขานั่นแหละเชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้ายและสังหารหมู่ที่สุด”
เนทันยาฮู อ้างว่าพวกฮามาสในฉนวนกาซามีเจตนาเอาชีวิตพลเรือนมาเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็อ้างว่ากลุ่มฮามาสจงใจใช้พิธีเปิดสถานทูตอเมริกันในเยรูซาเลมเป็นบริบทยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ขณะที่โฆษกหญิง ฮีทเธอร์ เนาเอิร์ท ย้ำว่า สหรัฐฯ รู้สึกเศร้าสลดกับความสูญเสียของทุกฝ่าย แต่ “อิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเอง” พร้อมปฏิเสธที่จะเชื่อมโยงเหตุรุนแรงคราวนี้กับการย้ายสถานทูตอเมริกัน
นักการทูตเผยว่า สหรัฐฯ ได้ใช้สิทธิ์วีโตขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นแถลงเรียกร้องขอคณะทำงานอิสระเข้ามาไต่สวนเหตุนองเลือดครั้งนี้
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ระบุว่า วอชิงตันยังมีความหวังว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะคืบหน้าต่อไปได้ แม้จะต้องเผชิญความโกรธเกรี้ยวจากรัฐอาหรับก็ตาม ขณะที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันผ่านสื่อในอเมริกาว่ากระบวนการสันติภาพยิว-ปาเลสไตน์นั้น “ยังไม่ตาย”