วันพฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

นายตำรวจเดนมาร์คสละชีพปกป้องเมืองลำปาง! – โรม บุญนาค

เด็กหนุ่มจากเดนมาร์ค วัยเพิ่ง ๒๔ ปี สละยศร้อยตรีทหารเดนมาร์ค ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นตำรวจไทยสมัย ร.๕ เมื่อเกิดกบฏเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่ ฆ่าเจ้าเมืองและข้าราชการอย่างโหดเหี้ยม จากนั้นมุ่งเข้าปล้นเมืองลำปางต่อ ความอัมหิตของเงี้ยวทำให้ข้าราชการแม้แต่ทหารตำรวจ ที่มีหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองของตัวเองกลับพากันถอดเครื่องแบบหนี แต่นายตำรวจหนุ่มต่างชาติไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ที่รับมอบมา ตั้งป้อมสู้ตามหลักยุทธศาสตร์จนเงี้ยวแตกกระเจิง แต่ชะล่าใจไปหน่อยตอนไล่ล่า ถูกซุ่มยิงจนเสียชีวิต ทิ้งแม่แก่ๆที่พึ่งค่าเลี้ยงดูจากลูกไว้ที่บ้านเกิด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระมหากรุณาส่งเงินยังชีพเลี้ยงดูแทนตลอดชีวิต 

ชีวิตที่น่าทึ่งในประวัติศาสตร์ผู้นี้ มีชื่อว่า แฮนส์ มาควอร์ด เย็นเซ็น ซึ่งได้รับการชักชวนจาก นายพันโทพระวาสุเทพ (G.Schau) ชาวเดนมาร์คด้วยกันซึ่งเข้ามาเป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และถูกส่งไปเป็นครูฝึกตำรวจภูธรที่นครเชียงใหม่ มียศนายร้อยเอก

ตอนเกิดกบฏเงี้ยวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกเงี้ยวซึ่งเป็นคนที่อพยพมาจากรัฐฉาน ซึ่งมีทั้งไทยใหญ่และพม่า เกิดความไม่พอใจในการปฏิบัติของข้าราชการไทย ได้บุกเข้ายึดเมืองแพร่ ฆ่าเจ้าเมืองและข้าราชการตายหลายคน จากนั้นก็ได้ใจจะไปยึดเมืองลำปางต่อ พอมีข่าวว่าเงี้ยวจะมาลำปาง ทั่วทั้งเมืองก็พากันขวัญกระเจิง กลัวความโหดเหี้ยมอำมหิตของเงี้ยว 

นายร้อยเอกเย็นเซ็นได้รับคำสั่งจากข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ให้คุมตำรวจ ๕๐ นายเดินทางไปช่วยลำปาง การที่เชียงใหม่ส่งกำลังตำรวจไปให้แค่นั้น ก็เพราะไม่แน่ใจว่าเงี้ยวทางเชียงใหม่จะลุกฮือขึ้นเหมือนกันหรือเปล่า

ร้อยเอกเย็นเซ็นเดินทาง ๔ วันถึงลำปาง และประสานงานกับ หลุยส์ ที เลียวโนเวนซ์ ลูกชายของแหม่มแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯให้ทำป่าไม้สักที่ลำปาง และเกณฑ์ผู้คนมาตั้งรับมือเงี้ยวอยู่ก่อนแล้ว แต่ร้อยเอกเย็นเซ็นพบว่าคนของหลุยส์ล้วนแต่เป็นชาวบ้าน ไม่สันทัดในการสู้รบ จึงให้ช่วยทำป้อมบังเกอร์ที่หัวถนนใหญ่ตอนเข้าเมืองไว้ทุกด้าน

ในวันที่ ๔ สิงหาคม หลังจากที่ร้อยเอกเย็นเซ็นมาถึงลำปางได้ ๖ วันพวกเงี้ยวก็มาถึง ด้วยความฮึกเหิมที่มีชัยมาตลอด ประกาศว่าจะฆ่าเฉพาะข้าราชการไทยเท่านั้น และยังมีเงี้ยวจากเมืองลอง เมืองสอง สมทบมาด้วยมีกำลังถึง ๔๐๐ คน หลายคนสักยันต์เต็มตัวดำมืดตั้งแต่คอจรดข้อเท้า เชื่อมั่นว่าอยู่ยงคงกะพันยิงฟันไม่เข้า เดินดาหน้าเข้ามาเต็มถนนด้วยความลำพองใจ ตำรวจของนายร้อยเอกเย็นเซ็นที่ซุ่มอยู่ในบังเกอร์จึงเลือกยิงเอาตามสบาย พวกเงี้ยวก็ไม่กลัวตาย ดาหน้าเข้ามาเป็นศพแล้วศพเล่า พยายามอยู่ ๒ ชั่วโมงก็ไม่สามารถาฝ่าด่านได้ จึงต้องยอมถอยไป โดยตำรวจไทยของนายร้อยเอกเย็นเซ็นไม่มีใครเป็นอันตรายแม้แต่คนเดียว แต่เหลือกระสุนคนละ ๕๐ นัดเท่านั้น

ส่วนด้านอื่นๆ ปรากฏว่าทหารตำรวจส่วนใหญ่และข้าราชการ พากันถอดเครื่องแบบหนีกันไปก่อนเงี้ยวจะมาถึงแล้ว เคราะห์ดีที่ไม่มีการโจมตีทางด้านนั้น

เมื่อมีข่าวว่าเงี้ยวจะเข้าโจมตีอีกในวันรุ่งขึ้น ร้อยเอกเย็นเซ็นจึงให้อพยพเจ้าหลวงกับสตรีและเด็ก พร้อมขนเงินในคลังไปอยู่ที่บ้านของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เพราะพอมีกำลังคุ้มกันได้ ส่วนที่ยังขนไม่หมดก็จัดตำรวจเฝ้าไว้ แต่เมื่อไปขนอีกเที่ยว ก็พบว่าตำรวจที่เฝ้าหายตัวไป เงินในคลังถูกปล้นไปหมด เมืองทั้งเมืองเป็นเมืองร้าง ร้อยเอกเย็นเซ็นทราบว่ามีตำรวจจำนวนหนึ่งกำลังเดินทางหนีไปเชียงใหม่ จึงขี่ม้าไปตามนำกับมาได้ ๕๐ คน แต่รุ่งขึ้นก็ไม่มีการโจมตีจากเงี้ยวอีก คงเข็ดขยาดที่ตายกันเป็นเบือ

หลังจากพ่ายแพ้อย่างยับเยินไปแล้ว พวกเงี้ยวได้รวบรวมกำลังคนก่อกำเริบขึ้นอีกในต้นเดือนตุลาคม ยกกำลังจากเชียงคำเข้าพะเยาและงาว มีจุดหมายจะเข้าปล้นลำปางอีก

พระยาอนุชิตชาญชัย แม่ทัพที่ลำปาง ได้สั่งให้นายร้อยเอกเย็นเซ็นคุมตำรวจภูธร ๘๐ นายไปปราบเงี้ยวที่พะเยา และให้ทหาร ๔๐๐ คนตามไปในวันรุ่งขึ้น

นายร้อยเอกเย็นเซ็นไปถึงบ้านแม่กาในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พอข้ามน้ำแม่กาไปก็พบเงี้ยวจากพะเยา ขุดสนามเพลาะริมฝั่งห้วยเกี๋ยงที่ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กาเตรียมรับอยู่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ยิงเข้าใส่กัน ฝ่ายไทยยิงเงี้ยวตายไป ๑๐ คน บาดเจ็บมีรอยเลือดไปตามรายทางอีกมาก นายร้อยเอกเย็นเซ็นปักหลักอยู่หลังต้นไม้ใหญ่ ห่างจากสะพานข้ามห้วยเกี๋ยงราว ๓๐๐ เมตร พวกเงี้ยวได้คืบคลานมาตามพงหญ้า แล้วลอบยิงนายร้อยเอกเย็นเซ็นถูกอกซ้ายถึง ๓ นัดเสียชีวิตตรงนั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรับสั่งถึงการตายของนายร้อยเอกเย็นเซ็นในวัย ๒๔ นี้ว่า

“แต่ที่จริงซึ่งนายร้อยเอกเย็นเซ็นตายนี้เหนจะเปนด้วยกล้าเกินไป อย่างเช่นเคยสำแดงเดชมาแล้ว คือชักดาบออกวิ่งหน้าทหารอย่างทหารฝรั่ง แต่ไอ้พวกนี้มันสนัดแอบยิง ซุ่มยิง คราวก่อนข้างฝ่ายเงี้ยวเปนผู้มาตีในที่แจ้ง คราวนี้อยู่ในสนามเพลาะ เราเปนผู้ไปตีอยู่ในที่แจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายเรามีผู้ใดตาย นอกจากนายร้อยเอกเย็นเซ็นคนเดียว”

ศพของนายร้อยเอกเย็นเซ็นมีการประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ ในฐานะวีรบุรุษผู้ปกป้องเมืองลำปาง โดยมีทั้งพิธีพุทธและพิธีคริสต์แล้ว จึงนำไปฝัง ณ สุสานอเมริกันในเมืองลำปาง โดยมีแท่งศิลาและป้ายจารึกไว้ว่า

“นายร้อยเอกเย็นเซ็น ชาวเดนมาร์ค อายุ ๒๔ ปี เปนตำรวจภูธรมณฑลพายัพ ถึงแก่กรรมเวลาต่อสู้กับผู้ร้ายเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ศก ๑๒๑ ที่ตำบลบ้านแม่กา แขวงเมืองพะเยา”

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๑ สุสานนี้ถูกปิดเพื่อนำพื้นที่ไปใช้อย่างอื่น ศพถูกย้าย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ ได้ย้ายเฉพาะแท่งศิลาเหนือหลุมฝังศพไปยังสุสานชาวต่างประเทศที่เชียงใหม่ มีคำจารึกเป็นภาษาอังกฤษ ไว้ว่า

อนุสาวรีย์
ของ
แฮนส์ มาควอร์ด เย็นเซ็น
นายร้อยเอกในกองตำรวจภูธร
เกิดในเดนมาร์ค ๑๘๗๘
เสียชีวิตโดยโจร ที่บ้านแม่กา พะเยา
เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๑๙๐๒

และสถานที่ซึ่งนายร้อยเอกเย็นเซ็นเสียชีวิตที่ห้วยเกี๋ยง บ้านแม่กา ใต้พะเยาลงมา ๑๑ ก.ม. ตรงหลัก ก.ม.ที่ ๗๒๕.๖ จากกรุงเทพฯ ห่างจากถนนไป ๑๐๐ เมตร ก็มีอนุสาวรีย์ของร้อยเอกเย็นเซ็นด้วยเช่นกัน

กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ พระอนุชา ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯถึงการเสียชีวิตของนายร้อยเอกเย็นเซ็น ซึ่งมีแม่ชราที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูอยู่ที่เดนมาร์ค เพราะพ่อเพิ่งเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยยังชีพปีละ ๓,๐๐๐ บาทให้แก่แม่ของนายร้อยเอกเย็นเซ็น จนกระทั่งถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๘๑ สมัยรัชกาลที่ ๘

ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ ทรงพระราชนิพนธ์โคลง ๔ สุภาพ ๒ บท ในลิลิตพายัพ สดุดีวีรกรรมของนายร้อยเอกเย็นเซ็น ไว้ว่า

ตอนบ่ายขับม้าผ่านแลเห็น
ที่ตำรวจร้อยเอกเย็นเซ่นม้วย
เพราะไล่รุกเงี้ยวเปนสามารถ
สนองเดชภูเบศวร์ด้วยชีพครั้งจำเปน
เย็นเซ่นเดนมาร์คเชื้อชาติไฉน
สวามิภักดิ์ตราบบรรลัยชีพได้
ควรเราที่เปนไทยจำเยี่ยง
ผิวะเหตุโอกาสไซร้เกิดแล้วไป่สยอง

อนุสรณ์ร้อยเอกเย็นเซ็นที่แม่กา

อนุสรณ์ร้อยเอกเย็นเซ็นที่แม่กา

 

ชาวต่างชาติแวะไปชมกันเสมอ

ชาวต่างชาติแวะไปชมกันเสมอ

 

ป้ายบอกทางริมถนนเข้าอนุสาวรีย์ร้อยเอกเย็นเซ็น

ป้ายบอกทางริมถนนเข้าอนุสาวรีย์ร้อยเอกเย็นเซ็น