วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ภาพเขียนฝีพระหัตถ์การออกแบบ ‘จตุโลกบาล’ ภายในห้องพระบรรทมซึ่ง ‘รัชกาลที่ ๘’ สวรรคต

 

 

วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นอีกวันหนึ่งที่ยังความวิปโยคมาสู่พสกนิกรอย่างใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ต้องพระแสงปืนสวรรคต ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง

ห้องพระบรรทมดังกล่าว (ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องทรงพระสำราญ) ตกแต่งด้วยศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เพดานภายในห้องพระบรรทม ถูกดัดแปลงให้เป็นโดมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมเขียนภาพแบบปูนเปียก (Fresco) เป็นภาพจตุโลกบาลตามคติอย่างอินเดีย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ และนายซี ริโกลี เป็นผู้ลงสี แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้แก่

ทิศตะวันออก เขียนภาพพระอินทร์ เทพประจำทิศตะวันออก (บูรพา) ทรงพระภูษาสีน้ำเงิน ทรงวชิราวุธและพระแสงศรในพระหัตถ์ มีคนธรรพ์เล่นดนตรีเป็นเทพบริวาร บริเวณฐานเขียนภาพช้างทรงทั้งสองของพระอินทร์ (ด้านซ้ายคือช้างเอราวัณ ด้านขวาไม่ปรากฏแน่ชัด อาจเป็นช้างคีรีเมขล์ไตรดายุค) และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ศักระ” (ตรงกับภาษาบาลีว่า สักกะ แปลว่าผู้องอาจ) ตามแบบอักษรซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันมีลักษณะเด่นคือพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์อยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมด

ทิศใต้ เขียนภาพพระยม เทพประจำทิศใต้ (ทักษิณ) ทรงพระภูษาสีแดง ทรงกระบองในพระหัตถ์ขวา มีเทพบริวารคือกาลบุรุษ และจิตรคุปต์ (ไทยว่าเจตคุปต์) บริเวณฐานเขียนภาพกระบือ ซึ่งเป็นเทวพาหนะ และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ยมะ”

ทิศตะวันตก เขียนภาพพระวรุณ เทพประจำทิศตะวันตก (ประจิม) ทรงพระภูษาสีฟ้า ทรงสังข์ในพระหัตถ์ขวา มีเทพบริวารถือบังสูรย์ถวาย และมกร (มังกร) เทวพาหนะอยู่ด้านหลัง บริเวณฐานจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “วรุณะ”

ทิศเหนือ เขียนภาพพระอัคนี (แท้จริงพระอัคนีเป็นเทพประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาคเนย์ ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงเขียนภาพพระอัคนีในทิศเหนือ) ทรงหอกในพระหัตถ์ขวา และดอกบัวในพระหัตถ์ซ้าย มีควันไฟเป็นพระรัศมี มีแกะ อันเป็นเทวพาหนะ และกองกูณฑ์ทางด้านขวาและซ้ายของภาพตามลำดับ บริเวณฐานจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “อัคนิ”

ฝีพระหัตถ์การออกแบบชุดนี้ นับเป็นภาพฝีพระหัตถ์อันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งทรงปรับแก้หลายครั้งให้เหมาะสมตามตำราและเหมาะสมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพ (Composition) ซึ่งได้ประจักษ์ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพดังได้แสดงผ่านทางภาพเขียนเหล่านี้

แม้ภายในห้องพระบรรทม จะมีจตุโลกบาลคอยคุ้มเกรงรักษาพระผู้ประทับ ณ ที่นั้น แต่ก็มิอาจจะหยุดยั้งมฤตยูได้ แม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปเป็นเวลากว่า ๗๑ ปีแล้ว แต่ยังคงความโศกาอาดูรในใจของพสกนิกรมิรู้ลืม

น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

(ภาพถ่ายจตุโลกบาลภายในห้องพระบรรทมจากหนังสือ Prince Naris a Siamese Designer โดยผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ พระปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

พระอินทร์ ภาพเขียนด้านทิศตะวันออกของโดมภายในห้องพระบรรทม ใต้ฐานปรากฏ แบบอักษรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าหัวหัวทรงประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และวิธีการใช้คล้ายอักษรอริยกะของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งแบบอักษรดังกล่าวมีลักษณะเด่นคือทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์อยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมดครับ

พระวรุณ ภาพเขียนด้านทิศตะวันตกของโดมภายในห้องพระบรรทม

พระอัคนี ภาพเขียนด้านทิศเหนือของโดมภายในห้องพระบรรทม

พระยม ภาพเขียนด้านทิศใต้ของโดมภายในห้องพระบรรทม

พิมพ์เขียว (blueprint) ภาพพระอินทร์ ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะเห็นว่าพระนามของพระอินทร์เขียนด้วยอักษรโรมันว่า “CAKRA” มิได้เขียนตามแบบอักษรอย่างใหม่ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

พิมพ์เขียว (blueprint) ภาพพระยม ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะเห็นว่าพระนามของพระยมเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “YAMA” มิได้เขียนตามแบบอักษรอย่างใหม่ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

แผนผังโดยสังเขปของชั้นที่สอง พระที่นั่งบรมพิมาน ห้องที่มีคำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็นห้องพระบรรทมซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต

ขอบคุณข้อมูลที่ลึกซึ้งจาก ผู้ดูแลเพจสมเด็จครู