วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

มิถุนา 2475 .. “บาดแผลประวัติศาสตร์ (ตอน 1 – 4)” ในทัศนะของ Padipon Apinyankul

 

 

เมื่อคืนฟัง คุณสันติสุข มะโรงศรี อ่านข่าวตอนค่ำ
คุณสันติสุขกล่าวถึง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบทบ . ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย “พระองค์เจ้าบวรเดช” และ “พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม” ..

ไว้วันหลังจะเล่าเขียนถึงเหตุการณ์นี้ .. เพราะน่าสนใจมาก

น่าสนใจตรงที่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม คือ 1 ในทหารหนุ่ม ที่ถูกชักชวนให้ร่วมปฏิวัติยึดอำนาจในวันที่ 24 มิย.2475 .
แต่ท่าน #ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการยึดอำนาจในวันนั้น

อีกทั้งให้สัญญาลูกผู้ชายว่า จะไม่เปิดเผยความลับในแผนการก่อการนี้ให้ฝ่ายใดได้รับรู้ ..

จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง .. คณะราษฏร ไม่ได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นประชาธิปไตย เหมือนในคำพูดคำแถลง .. เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างตัวบุคคล ..

พ.อ พระยาศรีสิทธิสงคราม ถูก “หักหลัง” จาก พ.ท หลวงพิบูลสงคราม (เป็นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา) ..

สาเหตุมาจาก นายปรีดี พนมยงค์ กับ แผนเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “#สมุดปกเหลือง”

ในเหตุการณ์ ศึก”บวรเดช” .. พ.อ พระยาศรีสิทธิสงคราม ถืออาวุธยืนต่อต้านการบุกของฝ่ายรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จนกระสุนนัดสุดท้าย และคนสุดท้ายที่ยืนหยัดไม่หลบหนีในค่ำคืนนั้น

บาดแผลประวัติศาสตร์ แผลนี้ .. เกิดขึ้นหลังคณะราษฏรยึดอำนาจได้ 1 ปี

ผมจะเขียนเล่าไปตามลำดับเหตุการณ์เรื่อยๆ .. ตามที่ตนเองพอมีความรู้อันน้อยนิด กับความสามารถในการเรียบเรียงอันบางเบา เท่าที่จะทำได้


☆ มิถุนา 2475 .. “บาดแผลประวัติศาสตร์”
(ตอนที่ 1 .. เมื่อโลกล้อมสยาม .. ความเป็นตะวันตกรุกฆาตเข้ามา)
……
เหตุทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆแล้วจะเกิดขึ้นเองได้เลย
มนุษย์ล้วนแล้วมีเหตุจูงใจเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำ
ก่อนจะถึง 2475 ในเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน .. ต้องย้อนไปดูการเปลี่ยนแปลงของสยามประเทศในวงล้อมของชาติตะวันตก ในยุคเข้มข้นที่ต่างพากันล่าอาณานิคมมายังเอเชีย
…..
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ 3 – 5 ของสยามประเทศ ..
อังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลในแถบนี้เป็นอย่างมาก โดยเข้าครอบครองอินเดียวและพม่า .. ส่วนฝรั่งเศสก็ได้รุกเข้ายึดเอาอินโดจีนเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม
ทำให้รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ผลักดันให้มีการปฎิรูปประเทศขึ้น เพื่อความทัดเทียม เพื่อรักษาแผ่นดินให้พ้นจากการเข้ามาครอบครอง นั้นคือช่วงเวลาของ
“การเรียนรู้และลอกเลียนตะวันตก” … นำไปสู่สิ่งที่สังคมไทยเรียกว่า “การปฎิรูปเพื่อทำให้สยามทันสมัย”
และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง..
พระองค์ทรงได้ทำให้ประเทศสยามเป็น “#รัฐชาติ” หนึ่งเดียว .. เป็นการรวมอำนาจที่กระจัดกระจายมาบริหารในลักษณะการเป็นประเทศอย่างแท้จริง … คือ..
-เริ่มสร้าง “เอกรัฐ” .. หมายถึง การรวมเป็น 1 ประเทศ 1 แผ่นดิน ..
โดยการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆ
จากที่เดิมเป็นระบบกินเมือง สืบตำแหน่งตามสายโลหิต ..
เจ้าเมืองมีอิสระปกครองดินแดนตนเอง เก็บภาษีจากประชาชนในท้องที่ปกครองของตน เพียงแต่ต้องส่งส่วยหรือบรรณาการมายังเมืองหลวงใหญ่ที่ตนเองยอมขึ้นตรง ..
ตำแหน่งเจ้าเมือง ซึ่งกินเมืองนั้นๆ ก็ถูกยกเลิกไป .. มาเป็นระบบเทศาภิบาล เกิดเป็นตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ขึ้นมาแทน ..
ตำแหน่งผู้ว่าราชการ จึงกลายเป็น “ข้าราชการ” ของรัฐ โดยเกิดระบบเงินเดือนเป็นสิ่งตอบแทน
ทำให้เมืองอิสระแต่ละเมืองในสมัยนั้น เช่นเมืองเชียงใหม่ เมืองสงขลา เมืองโคราช ฯลฯ.. ถูกรวบรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียว
หัวเมืองเอก หัวเมืองรองต่างๆตั้งแต่เหนือ ตะวันตก ตะวันออก จรดใต้ เมื่อเข้ามารวมกันในแผ่นดินเดียว
เราจึงเรียกแผ่นดินผืนนั้นว่า “#ราชอาณาจักรสยาม
เมื่อต่างเมือง ต่างผู้คน ต่างวัฒนธรรม เข้ามารวมกัน จึงต้องหาวิธีการสร้างความรู้สึก นึกคิด วิถีชีวิตร่วมกัน .. จึงการเป็น “การสร้างชาติ”
การสร้างชาติ เพื่อเป็นปึกแผ่นไปในแนวทางเดียวกัน มีหลากหลายวิธี .. และวิธีที่รัชกาลที่ 5 ทรงทำคือ
-ใช้การศึกษา สร้างชาติ ..
โดยเริ่มมีหลักสูตรการศึกษาจากส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ออกไปยังต่างจังหวัด ใช้ภาษากลางในการสื่อสาร เพื่อทำให้ชนชาติไทยกลุ่มต่างๆทั้งเหนือ อีสาน ใต้ ได้เรียนรู้เข้าใจในสิ่งเดียวกัน
-เริ่มมีระบบการเกณฑ์ทหาร
ตั้งโรงเรียนฝึกทหาร เป็นแบบองค์กรสมัยใหม่ มีกองกำลังทหารสวนกลาง ฝึกแบบชาติตะวันตก เพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ
-เริ่มมีการปฎิรูป “การคลัง” ..
เมื่อยกเลิกระบบเจ้าเมือง ที่ครองอำนาจในหัวเมืองต่างๆ มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เท่ากันตัดระบบการเก็บส่วยของเมืองนั้นๆที่เจ้าเมืองมีอำนาจเก็บ .. มาเป็นระบบภาษีที่ส่งเข้ามายังส่วนกลางเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ
– และอื่นๆอีกมากมาย … ทั้งปรับปรุงระบบศาลยุติธรรม .. สร้างถนนหนทาง สาธารณูปโภคต่างๆ .. มีไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรเลข ธนาคาร และการรถไฟฯ .
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด .เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว …
และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันจึงกลายเป็น “ระบบงาน” ขึ้นมา
เมื่อมีระบบงานมากมายนี้ จึงต้องมีบุคคล หรือกลุ่มบุคลากรที่จะสามารถทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใหม่มากมายเหล่านั้น .. นั้นคือ “#ข้าราชการ
กล่าวกันง่ายๆชัดๆคือ .. ○ ข้าราชการ …ได้เป็น “กลุ่มชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่” ○ . แบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โบราณ ..
สมัยก่อนที่มีเพียง กลุ่มชาวไร่ชาวนา กลุ่มนักรบ กลุ่มทหารต่างชาติ กลุ่มขุนนาง กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มไพร่ กลุ่มทาส ….
การเกิดขึ้นของ “กลุ่มข้าราชการ” นี้แหละ …
ที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับ “การใช้อำนาจ” ในตำแหน่งหน้าที่ของตน
เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ ของแผ่นดิน และประชาชน …
และเพื่อพัฒนาให้ข้าราชการ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะพวกเขาคือกลไกของบริหารงานในกระทรวง ทบวงกรม แบบสมัยใหม่
จึงเกิดการไปศึกษาต่อเพื่อเพิ่มความรู้ .. โดยเป็นการไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ด้วยกันทั้งสิ้น
นักเรียนนอกยุคแรก .. จึงเป็นนักเรียนนอก “ข้าราชการ” “ทุนหลวง” ..
พวกเขายิ่งเห็นโลกภายนอกที่เป็นโลกตะวันตกมาก .. ก็ยิ่งรู้สึกถึงความด้อยพัฒนาของสยาม .. เกิดอคติและการดูแคลนต่อระบบการปกครองของสยาม ..
ไม่มีใครรู้สึกถึงความเป็นไท เลย .. ,
น้ำพริกปลาทูที่เคยกินตั้งแต่เด็ก รสก็เริ่มกร่อย แลอับอายกว่าเนยก้อนบนขนมปัง
มันจึงเป็นยุคที่ “#เรียนรู้และลอกเลียนตะวันตก” อย่างแท้จริง ..
จนผ่านมาทุกวันนี้ .. ประเทศไทยเราก็ยังคงหลงใหล ลอกเลียนไปกับสิ่งที่ตะวันตกบอก .
เราจึงไม่มีอารยธรรมที่เข้มแข็งเหมือน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น .. , .. เรายังเชื่อมั่นในระบบตะวันตกมากกว่าเชื่อมั่นในวัฒนธรรมตนเอง
สิ่งที่ รัชกาลที่ 3 ได้ทรงตรัสไว้ในอดีต จึงเป็นเพียงสายลมแผ่วเบา ที่ผ่านหูไปแบบไม่ได้ยินก็คือ
○ การงานสิ่งใดของเขา(ฝรั่ง) ที่คิดจะควรร่ำเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา .. แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ….○
สมัยรัชกาลที่ 5 .. พระองค์ได้เริ่มต้นทรงส่งบุตรหลาน ข้าราชการไทย ด้วยทุนหลวงให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
พระองค์คงมองทะลุเข้าใจนิสัยของคนไทย ที่ชมชอบนิยมของฝรั่ง มากกว่าสิ่งที่สยามมีหรือควรสร้างขึ้นเอง
พระองค์จึงได้ ทรงตักเตือนนักเรียนไทยในต่างประเทศว่า
และกลุ่มนักปฏิวัติ ก็คือคณะ “ข้าราชการทุนหลวง” ที่ไปเรียนเมืองนอกกลุ่มนั้น ไฟในอกของพวกเขาถูกปกคลุมไปด้วยความรู้และทฤษฎีตะวันตก ..
โลกยุโรปและโลกเอเชีย ในกลางศตวรรษที่ 19 .. จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของ .. ประชาธิปไตย ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ ..
เต็มไปด้วยระบบเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม …
ช่วงเวลานั้นเป็นยุคที่ “ทฤษฎี” เกิดขึ้นมากมาย
ทฤษฎีที่รอให้คนบนโลกนำมันไปใช้พิสูจน์ผลลัพธ์ ..
กลุ่มข้าราชการนักเรียนนอก .. เมื่อเห็นตำราระบบระบอบอะไรต่างๆ ก็เหมือนคล้ายดังตนเองได้แก้วสารพัดนึกอยู่ในมือขวา แล้วมือซ้ายคล้ายถือตรีศูลไว้เพื่อการต่อสู้แย่งชิง .. หัวใจเปล่งพองอัดแน่นด้วยความกระหาย
ประเทศสยาม .. จึงเป็นแหล่งทดลองทฤษฎีเหล่านี้ได้ดีที่สุด
☆ มิถุนา 2475 บาดแผลประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2)
….
ย้อนไป ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2469 ณ บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ด ..
มีคณะคนหนุ่ม 7 คน ร่วมสนทนาเหตุการณ์โลกและเหตุการณ์บ้านเมืองติดต่อกัน 4 คืน 5 วัน ,
ในวันนั้น ถือเป็นการฉลองวันเกิดครบรอบ 30 ปีของ นายประยูร ภมรมนตรี คราวเดียวกันด้วย
กลุ่มบุคคลทั้ง 7 ประกอบด้วย
1. ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
2.ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
3.ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
4.ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
5.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
6.จรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
7.แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
เป้าหมายของการประชุมครั้งนั้นคือ การคิด เปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ .. พวกเขาเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ..
โดยแบ่งทีมออกเป็น 2 สาย.. คือ สายพลเรือน และสายทหาร
ทั้ง 2 สาย ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานคนในเมืองสยาม รวมถึงชักชวนกลุ่มทหารให้เข้าร่วมและเตรียมการ ..
วันใดที่จะยึดอำนาจก็สามารถระดมคนได้ทันที
คำว่า “#คณะราษฎร” .. เป็นคำที่นายปรีดี พนมยงค์ เลือกคำขึ้นมาใช้ .. เพื่อปลุกเร้าในการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอ้างเหตุแห่งการปฎิวัติ ..
การสร้างความชอบธรรมในทางการเมือง ก็คือ ต้องพยายามทำให้อีกฝ่ายหมดความชอบธรรม ด้วยถ้อยคำที่จูงใจชักชวนหรือใส่ร้ายป้ายสี โดยอาศัยเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมาขยายผล. มันเป็นกลวิธีทางการเมือที่มีมาทุกยุค ทุกสมัย ทุกชาติ
คำว่า คณะราษฎร จึงหยิบมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า abasis’es หรืออังกฤษคือ the lowly , abased .. หมายถึง กลุ่มคนที่ถูกกดให้ด้อยค่า
นายปรีดี ให้ความหมายของคณะราษฎร ดังนี้ .. คือกลุ่มพลเมืองสยามส่วนมาก ที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ดังนั้น ความหมายแฝงของคำว่า ราษฎร .. จึงเกิดเป็น”#ปม” ในหัวใจขึ้น ในหมู่นักเรียนนอกสมัยนั้น .. ปมนี้ลามขยายจนถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางกลุ่มในยุคสมัยนี้
ความหมายของคำว่า ราษฎร ของพวกเขา .. ต่างกับความหมายของชาวบ้านมาก ตรงที่ >
ชาวบ้านไม่รู้สึกว่า มันคือ “ปม” ที่ข่มให้หัวใจได้อดสูตรงไหน ?
….
บรรยากาศของการศึกษาในวิชากฎหมาย และวิชาทหารในห้วงเวลานั้นของข้าราชการนักเรียนนอก .. อบอวลไปด้วยสถานการณ์โลกยุคที่เกิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งแรงกระตุ้นของคนวัยหนุ่มทั้งหลาย
โลกในตอนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ :
– : ฝรั่งเศส .. > เพิ่งผ่านการ “ปฎิวัติฝรั่งเศส” มา (1789 และ 1848) ล้มล้างระบบกษัตริย์ , พระเจ้าหลุยส์และพระราชินี ถูกสำเร็จโทษด้วย “กิโยติน” .. (กิโยติน คือเครื่องประหารบั่นศรีษะ) และฝรั่งเศสได้กลายเป็นประเทศในระบบ “สาธารณรัฐ” (Republic) เรื่อยมานับแต่นั้น
ในวันที่คณะราษฏร ประชุมกันที่กรุงปารีส ในอยู่ในช่วงเวลาของ “สาธารณรัฐฝรั่งเศส 3” .. (สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีหลายเวอร์ชั่น ตั้งแต่ สาธารณรัฐ 1 … เรื่อยมาถึง 4 และ 5)
– : รัสเซีย .. > มีการเปลี่ยนแปลงจากการ “ปฏิวัติรัสเซีย” ในปี 1917 (พ.ศ.2460) .. เกิดการสังหารโหดครอบครัว พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ,
ทลายระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง แล้วเกิดระบบ “สหภาพโซเวียต” ขึ้นมาแทน .. จนท้ายที่สุดอำนาจมาอยู่ในมือของ “วลาดิมีร์ เลนิน” .. ผู้กำเนิด “พรรคคอมมิวนิสต์” ขึ้น
– : ญี่ปุ่น .. > หลังจากปฏิรูปเมจิ 1868 (พ.ศ. 2411) ที่พระมหากษัตริย์ได้อำนาจเต็มจากพวกโชกุล (นักรบ) (ราวสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) .. ญี่ปุ่นก็รุ่งเรืองก้าวไกลจนสามารถขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทัดเทียมพวกยุโรปได้ ..
และต่อมาญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกาบีบให้เปิดประเทศ จึงเปลี่ยนแปลงระบบกษัตริย์ มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญในปี 2433
– : จีน .. > เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ 1911 (พ.ศ. 2454) ..
ซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ .. จักรพรรดิปูยี องค์สุดท้ายก็ถูกญี่ปุ่นเชิญตัวไป เป็นการสิ้นสุดระบบจักรพรรดิที่มีมากว่า 2,000 ปี …
ช่วงเวลาของโลกขณะนั้นเป็นช่วงคึกคักของระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์
ซุนยัดเซ็น หยวนซื่อไข่ เจียงไคเช็ค เหมาเจอตุง ..คือตัวละครประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเส้นเวลาต่อเนื่องของประวัติศาสตร์
ทั้งหมดคือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรอบโลก รอบประเทศสยาม ..
มีหรือ ? .. ที่ชนชั้นนำของสยามในเวลานั้นจะไม่รับรู้เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ..
มีหรือ ? .. ที่คณะผู้ก่อการทั้ง 7 .. จะไม่ถูกกระแสของโลกโน้มเอียงให้ไปในแนวทางการเปลี่ยนแปลงโลกในขณะนั้น
ส่วนความคิดของคณะราษฎรที่ใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” มาเรียกแทนความคิดในการเปลี่ยนแปลงระบบนั้น เป็นอย่างที่เรียกหากันหรือไม่ ?
บริบทเวลาในขณะนั้น คำว่า “ประชาธิปไตยของคณะราษฎร” ยังไม่ชัดเจน ยังไม่เข้าใจกันถ่องแท้ถ้วนถี่ … อันดูได้จาก “#เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่นายปรีดี พนมยงค์ ร่างขึ้น ..
เค้าโครงเศรษฐกิจนี้ คือ #จุดแตกหักในสังคมไทย .. คือบาดแผลใหญ่ ที่ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงตำหนิและสละราชสมบัติ ออกจากสยามไป
….
จากบันทึกภายหลัง .. ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน ของพลโท ประยูร ภมรมนตรี .. ระบุว่า
เมื่อครั้ง ร.ท.ประยูร ได้ควบคุมตัวสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระยานครสวรรค์พินิต (ผู้เลี้ยงดูและส่งให้เรียนหนังสือ) ได้บอกว่า
ข้อเขียน “วรรคสุดท้ายของคำประกาศยึดอำนาจ” ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี) เขียนขึ้นคือ “จะนำประชาชนให้ไปสู่ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐสุด ซึ่งเรียกว่าศรีอารยะนั้น ก็จะเกิดแก่ราษฎรทั่วหน้า”
อันคำว่า “#ศรีอารยะ” เป็นคำแฝงที่คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมใช้แทนคำว่า “#คอมมูนิสต์
มีข้อมูลบันทึกว่า ..
ที่จริงรัชกาลที่ 7 เตรียมมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนคนสยามไว้แล้ว .. โดยการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาชาวฝรั่ง .. กำลังเตรียมความพร้อม ..
กระนั้นคณะราษฎร ก็ “ชิงสุกก่อนหาม” ชิงปฏิวัติตัดโอกาสนี้ไปเสียก่อน
❤ ถ้าให้เวลาพระองค์สักนิด พระองค์จะเป็นกษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย โดยไม่เกิดบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ♡
เสียงคำเตือนที่ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ฯ .. เมื่อครั้งถูกควบคุมตัว ดังแว่ว .. แต่ชัดเจนเป็นจริงขึ้นว่า
● “ถึงแม้จะทำสำเร็จ ก็ระวังเถอะ วันหนึ่งจะฆ่ากันเองตายเหมือนประเทศฝรั่งเศส .. สุดท้ายก็เอา กิโยติน มาตัดคอกันเอง ระวังนะ คิดตรงนี้รอบคอบกันหรือยัง” ●
 
มีการประชุมหารือก่อนหน้าจะลงมือก่อการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติ 3-4 ครั้ง .. จากเดิมกำหนดว่าจะเป็นวันที่ 19 มิถุนายน ก็เลื่อนมาเป็น 22 มิถุนายน .. จนสุดท้ายก็สุกงอมในวันที่ 24 มิถุนายน .. ช้ากว่านี้ข่าวอาจจะรั่วไหล
การปฏิบัติงานครั้งนี้ .. เกิดจากฝีมือของ “#สี่ทหารเสือ” กองทัพบก..
นายปรีดี พนมยงค์ เป็นเพียงพลเรือน บารมียังไม่ได้รับการยอมรับในสายทหาร อิทธิพลความนับถือมาไม่ถึงกองทัพบก ..
มีเพียงนายประยูร ภมรมนตรี เท่านั้น ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสายกองทัพ กับสายพลเรือน
สี่ทหารเสือ ที่เป็นแกนหลักเข้าทำการปฏิวัติยึดอำนาจในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน ก็คือ
– พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
– พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
– พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
– พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ)
ทั้ง 4 คนนี้ .. คนที่เป็น “มันสมอง” ในการวางแผน “ลวง” ปฏิวัติยึดอำนาจ คือ .. #พันเอกพระยาทรงสุรเดช ..
ท่านผู้นี้บทเรียนประวัติศาสตร์ถูกละเลยที่จะกล่าวถึง .. ถูกละเลยทำไม ด้วยเหตุผลอันใด ? . ?
มีการยกย่องให้เนื้อหา ให้น้ำหนักไปที่ นายปรีดี พนมยงค์ มากที่สุด .. ตามมาด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พระยาพหลพลพยุหเสนา .. และคนอื่นๆ .. ,
ทั้งๆที่ พันเอกพระยาทรงสุรเดช คือตัวเต็งอันดับหนึ่งในการถูกเชิญเป็น “นายกรัฐมนตรี” หลายครั้ง แต่พันเอกพระยาทรงสุรเดช “ปฏิเสธรับ”ทุกครั้ง ..
ท่านเป็น #นายทหารอาชีพ
#ท่านเป็นคู่ปรับที่จอมพล_ป. พิบูลสงคราม หวั่นเกรงที่สุด
การปฏิวัติยึดอำนาจทุกแห่งบนโลกใบนี้ ล้วนต้องใช้กองกำลังติดอาวุธ .. ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหาร หรือกองกำลังประชาชน .. สยามในขณะนั้นก็เช่นกัน .. แต่ในกลุ่มทหารหนุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมปฏิวัติครั้งนี้ .. ไม่ได้อยู่ในเส้นทางของ “กองทหารคุมกำลัง”เลย … มีเพียงคนเดียวคือพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ …
-พระยาพหลพยุหเสนา .. เป็น จเรทหารบก
-พระประศาสน์พิทยายุทธ .. เป็น ผู้อำนวยการแผนก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
-พระยาฤทธิอัคเนย์ .. เป็น “ผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์” .. ○ นี้คือกองกำลัง ที่มีความสามารถในการรบ กองเดียวที่คณะราษฎรมี ○
-และพระยาทรงสุรเดช .. เป็น “อาจารย์ใหญ่” ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธการศึกษาทหารบก .. สอนนักเรียนนายร้อย .. สอนให้คิดมากกว่าจำ .. ปรับปรุงหลักสูตรวิชาทหารตลอดเวลาให้ทันสมัย … จึงเป็นที่ยกย่องและเชื่อถือของกลุ่มทหารทุกฝ่าย
การปฏิวัติครั้งนี้ เมื่อไม่มีกองกำลังรบ อยู่ในมือ .. ดูท่าจะล้มเหลวตั้งแต่แรก … ทั้งคณะทหารและคณะราษฎรดูแล้วคงจนด้วยหนทางจะสำเร็จได้ ..
แต่ข้อเสียเปรียบนี้ ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับมันสมอง ของพระยาทรงสุรเดช “#อาจารย์ผู้เรืองวิชา” ของเหล่าทหารน้อยใหญ่แห่งกองทัพบกไทย
“แผนลวง” จึงถูกกำหนดขึ้นในใจ โดยไม่มีใครรู้แมัแต่คนเดียว .. อาศัยแต่ความเชื่อมั่นในตัว พระยาทรงสุรเดช เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ มีการประชุมร่วมกัน ..
แผนการถูกกำหนดขึ้นหลายแผน .. ทั้งการบุกจับรัชกาลที่ 7 ในตอนค่ำคืน .. บุกล้อมเชื้อพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ตามบ้าน ตามวังต่างๆ ที่มีอำนาจ แล้วบีบบังคับให้เซ็นหนังสือสละอำนาจ ..
แต่ทุกแผนต้องใช้กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการฝึกมา .. ต้องใช้กองกำลังทหารจำนวนมาก .. ฝ่ายคณะราษฎรไม่มี ..
รวมถึงความเสี่ยงในการ “ตอบโต้” ของคณะเจ้า .. รวมทั้งการ “สูญเสียที่เกิดขึ้น” .. ตรงนื้ทำให้คณะราษฏร ต้องเลื่อนแผนการครั้งแล้วครั้งเล่า
ในบางตำรา บางความคิดของคนบางกลุ่ม เขียนบอกว่า .. การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 .. คณะราษฏรนั้น ไม่ต้องการใช้กำลังทหาร เพื่อทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ไม่ต้องการสร้างความอับยศ หมิ่นพระเกียรติ์ในหลวงรัชกาลที่ 7 …
“นั้นเป็นเพียงคำกล่าวที่ทำให้คณะราษฏรดูดีเท่านั้น” ..
แท้ที่จริงคือคณะราษฏร ไม่มีกองกำลังรบ .. ที่แท้จริง
ถ้าขืนบุกเข้าไป โดนสวนกลับแน่ๆ .. ผลก็คือความพ่ายแพ้ … จากการปฏิวัติ .. ก็จะกลายเป็น “#กบฏ” ทันที
ตรงนี้คือข้อเท็จจริง ที่คณะราษฏร ไม่กล้ายอมรับต่อประชาชน
พระยาทรงสุรเดช .. จึงบอกว่าต้องรอโอกาสให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงแปรพระราชฐาน ไปยังหัวหิน .. นายพลทหารที่คุมกำลังก็เดินทางติดตามไปด้วย .. เวลานั้นเป็นช่วงจังหวะที่มีการสาธิตการยิงปืนใหญ่พอดี
เมื่อในหลวงไม่อยู่ .. พวกเขาจะบุกจับ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” .. ผู้มีอำนาจในการสั่งการอันดับ 2 รองจากในหลวงรัชกาลที่ 7 … เพื่อเป็น 1 ในตัวประกันหลายๆคน ซึ่งเป็นเป้าหมายในการ “#ขู่” บีบบังคับในหลวงรัชกาลที่ 7
เมื่อแผนการนี้ ทุกคนเห็นชอบ .. แต่คำถามคือ จะเอากองกำลังที่ไหนออกมายึดอำนาจ เอามาอย่างไรถึงไม่ถูกสงสัย หรือถูกต่อต้านขัดขวางซะก่อน
ไม่มีใครรู้วิธีการดึงกองกำลังทหารออกมาในครั้งนี้ นอกจากพระยาทรงสุรเดชเพียงคนเดียว .. ทุกคนก็ได้แต่ทำตามคำสั่ง ..
แม้ทุกคนจะไม่มั่นใจว่าสำเร็จหรือไม่ .. แต่มันคือแผนเดียวที่มี
ก่อนหน้านั้น เย็นวันที่ 23 พระยาทรงสุรเดช ได้แจ้งไปยังผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยว่า เช้าวันที่ 24 ให้นำนักเรียนทหารมา “เดินสวนสนาม” พร้อมอาวุธเพื่อฝึกซ้อมรบยุทธวิธีต่อสู้กับรถถัง ,
จากนั้นก็ไปพบกับผู้บังคับการทหารช่างอีก 2 นาย .. บอกให้นำทหารช่าง ออกมาเดินสวนสนาม ชมวิธีการฝึกซ้อมรบ
จุดนัดพบเพื่อสวนสนาม คือ “หน้าพระลานบรมรูปทรงม้า”
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ แล้วหยุดคิด .. ทำให้เข้าใจได้ว่า สมัยนั้น พระยาทรงสุรเดช ในฐาน “อาจารย์” ผู้ปรับปรุงหลักสูตรนักเรียนนายร้อยให้ทันสมัย .. #มีความน่านับถือและเชื่อถืออย่างมาก ทำให้ทหารทุกเหล่าต่างๆยอมรับเชื่อฟังกันได้หมดใจ .. ,
ความเชื่อถือ ความเคารพ .. มีประโยชน์มากกว่ากองกำลังที่บังคับบัญชาโดยตำแหน่งเท่านั้น .. ,
พระยาทรงสุรเดช ต้องมีบุคลิกของความ “เชื่อมั่น” อย่างมาก ปรากฏประกายลักษณะออกมาในเวลาพูดคุย ท่าทาง น้ำเสียง .. ถึงหาญกล้าใช้ “#แผนลวง” แบบนี้ขึ้นได้ ..
สมัยก่อน ผู้คนยกย่องบุคคลที่มีความรู้ความสามารถกันจริงๆ ..
ต่างกับสมัยนี้ เงินกลับคือสิ่งที่เชื่อถือ มากกว่าความสามารถของบุคคล
จีนถึงมีคำกล่าวเปรียบเปรยอำนาจเงินว่า มันสามารถ “#จ้างผีโม่แป้ง” ได้ ..
เมื่อแผนทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม ..
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน … 05.00 ..คณะผู้ก่อการทหารทุกคนก็ออกจากบ้านพัก ทำตามคำสั่งที่ได้รับจากพระยาทรงสุรเดช ,
4 ทหารเสือ .. แยกเป็น 3 กับ 1 .. คือ
3 ทหารเสือ ประกอบด้วย พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระประศาสน์พิทยายุทธ ..
เช้ามืดวันนั้นเดินตรงไปยัง “กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์” (ปัจจุบันคือ สี่แยกเกียกกาย) แล้วตะโกนเสียงดังขึ้นว่า ..
“ผู้บังคับกองรักษาการณ์ … อยู่ไหน .. เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้”
พระยาพหลพลพยุหเสนา ตรงเข้าใช้กรรไกรตัดเหล็กที่เตรียมไว้ ตัดโซ่กุญแจคลังอาวุธ แล้วกวาดเอากระสุนออกมา
อีก 1 ทหารเสือ คือ พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้บังคับการ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ .. กองกำลังที่แท้จริงในแผนลวง ก็รออยู่ในที่มั่น ,
พอเห็น 3 ทหารเสือ นำรถเกราะ และกลุ่มทหารจากกรมทหารม้าผ่านมา .. ก็พากันมุ่งหน้าสู่สนามหน้าพระลาน .. ตรงนั้นมีนักเรียนนายร้อยทหาร และทหารช่างบางส่วน .. ยืนรอพร้อมที่จะสวนสนามแล้ว
อีกด้านหนึ่งของแผนนี้ เช้าวันเดียวกัน
-ทหารกลุ่มหนึ่ง ถูกส่งเข้าควบคุมไปรษณีย์โทรเลข .. ไม่ให้มีการส่งข่าวถึงกัน ตัดการสื่อสารทุกอย่าง
-ทหารกลุ่มหนึ่ง ก็บุกเข้าไปจับ “เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครในเวลานั้น ..
-ด้านในหลวง ร.7 ยังอยู่ที่หัวหิน … , ต่อมาอีกวัน ในหลวงก็ได้รับโทรเลข … ถึงการยึดอำนาจครั้งนี้ โดยมีพระญาติ และเชื้อพระวงศ์ เป็นตัวประกัน
พระองค์ยอมแพ้อย่างเต็มใจ ..
เพราะ “#อำนาจ” ไม่อาจเปลี่ยนพระหทัยที่ดีงามของพระองค์ไปได้ ..
ลองคิดดู ถ้าพระองค์เห็นอำนาจสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด … และเกิดการปฏิเสธคำขู่ (ซึ่งพระองค์มีสิทธิที่จะทำได้)
ย่อมทำให้กองกำลังทหารหัวเมืองส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้ว่าเกิดกบฏ และไม่เห็นด้วยวิธีการนี้ จะเข้าร่วมรบปราบปรามอย่างแน่นอน …
ถ้าพระองค์ทำเช่นนั้น คณะราษฏร จะกลายเป็นผู้ก่อชนวน “สงครามกลางเมืองขึ้น” .. จะไม่เหลือแม้ธุรีดินให้ฝั่งร่าง
พิจารณาจากความคิดในใจของในหลวงรัชกาลที่ 7 .. คงมี 2 ประการ..
-1 . นั้นคือ .. ต้องการเปลี่ยนประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว .. หมายมั่นให้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเหมือนอังกฤษ ..
-2 . นั้นคือ .. พวกเขา(คณะราษฏร) ก็คือคนไทย .. พระองค์ไม่ต้องการเลือดของคนไทยให้หลั่งลงดิน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใด
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อกองทหารเข้าประจำการที่หน้าพระลาน ,
พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ขึ้นอ่านประกาศคณะราษฏร ฉบับแรก ซึ่งได้เตรียมการมาล่วงหน้ามาแล้ว …
ในประกาศที่นายปรีดี พนมยงค์ ร่างขึ้นมีถ้อยคำอันรุนแรง มุ่งโจมตีไปยังรัชกาลที่ 7 อย่างไม่เป็นธรรม ..
มีประโยคที่น่าพิจารณาใคร่ครวญ .. ถึงจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ … ขอคัดมาให้ดูย่อๆบางส่วนคือ
“ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ .. ก็จำเป็นที่ต้องหา
#ประมุขของประเทศจะเป็น#บุคคลสามัญ” .. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา …
และข้อความประโยคต่อมา จนถึงคำสุดท้าย ว่า …
“ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพ พ้นจากการเป็นไพร่เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า “#ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
(คำว่า “ศรีอาริยะ” นั้น .. เป็นคำเขียนแฝงของความหมายว่า “#คอมมูนิสต์” .. ซึ่งพลโทประยูร ภมรมนตรี 1ในคณะผู้ก่อการ ได้ออกมายอมรับภายหลัง)
….
ชัยชนะ “แผนลวง” ของการยึดอำนาจครั้งนี้ ..
พระยาทรงสุรเดช บอกเล่าในเวลาต่อมาว่า
“เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ? .. , ..เปล่าเลย ?
ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร #ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย?
ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และ #ข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ !
เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายัง #ไม่เคยถูก (#ลวง) เช่นนั้น .. เขาโดนเป็นครั้งแรก .. “
ตรงนี้ .. ต้องคารวะแก่การมองขาด .. ของท่านพระยาทรงสุรเดชจริงๆ .. 🙏
….
ใครจะไปรู้อนาคตได้ว่า …
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ จาก .. แผนลวง การยึดอำนาจ .. จะก่อเกิดเป็น “แผนหักหลัง แย่งชิงอำนาจกันเอง” .. อย่างต่อเนื่อง
ใครจะไปรู้อนาคตได้ว่า ..
ครั้งเมื่อปฏิวัติสำเร็จ .. รัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศ์หลายพระองค์ ต้องถูกบีบ ถูกไล่ หนีภัยไปใช้ชีวิตที่เหลือในต่างประเทศ …
“กรงกรรม” บ่วงนี้ .. จะกลับย้อนส่งให้ชีวิตปั้นปลายของผู้ปฏิวัติ 2475 .. ล้วนต้องลี้ภัย ตายต่างแดนทั้งสิ้นเช่นกัน
….

หลังคณะราษฎรยึดอำนาจ โดยการหลอกทหารให้ออกมารวมพลสวนสนาม
พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา ขึ้นบนรถ อ่านประกาศคณะราษฏรฉบับที่ 1 ที่เขียนโดย หลวงประดิษฐ์ ปรีดี พนมยงค์ ..

ปรีดี .. ข้าราชการกฎหมาย นักศึกษาปริญญาเอกฝรั่งเศส กลับเลือกใช้คำ ตัวอักษร .. เขียนประนามใส่ร้ายหยามเกียรติต่อในหลวงรัชกาลที่ 7 อย่างรุนแรงมาก ..

วันที่ 26 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากหัวหินถึงพระนคร .. คณะราษฏร ก็ได้เข้าเฝ้าเพื่อขอกราบพระราชทานอภัยโทษ , ร. 7 ทรงต่อว่าการกระทำดังกล่าวว่า

“เปรียบเหมือนการนำผ้าที่จะเอาไปทำธงชาติ แต่กลับนำมาเหยียบย่ำให้เปรอะเปื้อนเสียก่อน แล้วค่อยชักธงชาติขึ้น”

พระยาทรงสุรเดช หัวหน้าคณะทหารผู้คิดแผนลวงในการยึดอำนาจ ได้ไปเข้าเฝ้าด้วย .. และหลวงประดิษฐ์ฯ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวายให้ลงนาม .

ในหลวงทรงอ่านข้อความในรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็หันไปถามพระยาทรงสุรเดชว่า “ได้อ่านหรือยัง”
พระยาทรงสุรเดชตอบ “ยังไม่ได้อ่าน”

ในหลวงหันไปถาม ร.ท ประยูร ว่า “อ่านยัง”
ร.ท ประยูร ตอบ “ยังไม่ได้อ่าน เพราะไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง” .. แล้วกล่าวต่อ “แต่ทราบว่า ท่านพระยาทรงสุรเดชได้กำชับหลวงประดิษฐ์ ว่าให้ร่างแบบของอังกฤษที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”

ในหลวงรัชกาลที่ 7 .. ตรัสว่า “ก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน .. แต่ทำไมต้องใช้คำแทนคำเสนาบดีว่า .. #คณะกรรมการราษฏร .. เป็นคำแบบรัสเซียใช้ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ .. “

พระยาทรงสุรเดช อึ้ง .. กราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพผิดที่ไม่ได้อ่านมาก่อน ขอพระราชทานอภัยโทษ ขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ ให้เป็นไปตามพระประสงค์ทุกประการ”

ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตรัสว่า “ถ้าพระยาทรงฯ รับรองว่าจะไปแก้ไขใหม่ ฉันก็ยอมเชื่อพระยาทรงฯ แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้หัวเด็ดตีนขาด ฉันก็จะไม่เซ็น” .. จบคำตรัส พระองค์ก็เสด็จขึ้น …

หลังคณะราษฏร ตกตะลึง เดินออกมา .. พระยาทรงสุรเดชที่อดกลั้นอารมณ์โกรธต่อหน้าพระพักตร์ ก็หันมาชี้หน้าต่อว่าหลวงประดิษฐ์ฯ (นายปรีดี) เค้นเสียงว่า
“คุณหลวงทำป่นปี้หมด ไม่ทำตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทำอะไรนอกเรื่อง ฉิบหายหมดแล้ว”

นับจากนั้น .. ความขัดแย้ง ความระแวง ความไม่พอใจ … ก็ก่อตัวเป็นเมฆดำใหญ่ ระหว่างคณะราษฏรฝ่ายทหารกลุ่มหนึ่ง .. กับคณะราษฏรฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯกลุ่มหนึ่ง

ระบอบประชาธิปไตยที่เคยตกลงกันไว้ มันเริ่มเฉไฉออกนอกทาง ..
#หรือแท้จริงมันมิได้มีจุดประสงค์นั้นมาแต่ต้น ? ..
….
โปรดติดตาม .. ตอนต่อไป
✍️✍️✍️

padipon.apinyankul

 

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3892828967410422&id=100000500716912