(บทความนี้ถูกเขียนครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2557) เป็นปีที่ครบ 83ปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบที่อ้างชื่อว่าประชาธิปไตย ในยุคสมัยนั้นประชาชนไทยยังไม่รู้จักคำนี้เลย ทุกคนคิดว่าเป็น “ชื่อลูกชาย” ของนักการเมืองใหญ่สมัยนั้นด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมใดๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น
ในตอนนี้จะชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่ ปรีดี และคณะราษร ในการข่มเหงรังแกพระมหากษัตริย์ไทยต่างๆ นาๆ หลวงประดิษฐ (ปรีดี) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ได้รีบแจกจ่ายใบปลิว และแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อขณะทำการปฏิวัติว่า “ถ้าใครขัดขืนจะทำร้ายเบื้องสูง” ตลอดจนการกระจายเสียงทางวิทยุ
ข้อความในประกาศคณะราษฎร ซึ่งเขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐ วิพากษ์วิจารณ์ ใส่ร้าย พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงมากอย่างลบหลู่พระเกียรติจนไม่อาจนำมากล่าวซ้ำในที่นี้ได้ เนื่องจากเกินกว่าคนไทยจะรับได้ จากนั้นประกาศคณะราษฎร ซึ่งลงนามโดย พระยาพหล , พระยาทรง และพระยาฤทธิ์ ถูกส่งโทรเลขไปให้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วังไกลกังวล หัวหิน มีใจความข่มขู่ว่า “..หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออก และแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น”
ในโทรเลขดังกล่าวข่มขู่ด้วยว่า “หากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย…” อันเป็นถ้อยความข่มขู่พระมหากษัตริย์ที่ยะโสโอหังมาก
วันที่ 23 ตุลาคม 2476 เพื่อความปลอดภัย ข้าราชบริพารพร้อมใจกันพารัชกาลที่ 7 ระหกระเหิน โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายในทะเล ใช้เวลากว่าสองวันจึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา
หม่อมเจ้าอัปษรสมาน ได้ทรงรับหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศของสมเด็จพระราชินีขณะนั้น) ที่ยังพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 1 พรรษา ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไปสงขลาด้วย ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จพรมแดนมลายู ที่อังกฤษควบคุมอยู่ คณะราษฎรมีการฆ่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียชีวิตไปหลายคน
มีการจับกุมและกวาดล้าง จนในระยะนั้นประเทศไทยเป็นระบอบเผด็จการอย่างแท้จริง ไม่มีเค้าโครงระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย คณะราษฎรฝ่ายมีอำนาจ จึงตกลงกันว่าจะไม่ร่วมงานกับพระมหากษัตริย์ จะเลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงแสดงความในพระราชหฤทัยครั้งนั้นว่า
“ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่สะเทือนพระราชหฤทัยมาก พระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติฉบับเต็ม ที่สะท้อนเหตุการณ์ในช่วงนั้น คนไทยในยุคนั้นและในเวลาต่อๆ มาแทบไม่เคยเห็นเพราะไม่ปรากฎแพร่หลายในที่สาธารณะมากนัก
เนื่องจากถูกนักการเมืองปกปิดมาตลอดกว่า 80 ปี ซึ่งทุกอักษรของพระราชหัตถเลขานี้ คนไทยควรทราบ และศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี้คือจารึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ขอให้ตั้งใจอ่านทุกคำ ทุกอักษรแล้วจะเข้าใจพระองค์อย่างถ่องแท้ และเล่าขานกันต่อไปตราบนานเท่านาน
———————————–>
บ้านโนล
แครนลีประเทศอังกฤษ
เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวก ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญ ตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น
เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิ ที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศ และนโยบายต่าง ๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง
เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อมีผู้ก่อการรุนแรงนั้น อ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรโน้มตามความประสงค์ ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ
ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือ ในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง
และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการ และผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย
ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเอง เข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใด
เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทาง ให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วน ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง
จึงเกิดแตกร้าวขึ้นกันเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง
เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียง ก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฎขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน
คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญ มีผลได้เสียแก่พลเมืองรัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆ ของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้ และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วน ภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจ และยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด “ ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ”
ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองให้แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิ
ที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขความสบาย
(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ปร
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
เวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๕ นาที
———————————–>
รัชกาลที่ 7 ทรงเช่าห้องชุด สำหรับสองพระองค์และครอบครัว ในระหว่างนั้นทรงหนังสือพิมพ์ และทรงฟังข่าววิทยุเกี่ยวกับความเป็นไปของสงคราม ซึ่งมีการทิ้งลูกระเบิดที่อังกฤษตลอดเวลา..(น่าเศร้าสุดๆ) บางครั้งทรงพระราชนิพนธ์พระราชประวัติตนเอง อากาศที่นั่นหนาวชื้นมาก พระโรคพระหทัยของพระองค์กำเริบหนัก
ทรงมีพระอาการหอบมาก และเจ็บพระหทัย ทรงอ่อนเพลียมาก จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับไปประทับที่ตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ อีกครั้งหนึ่ง ทรงรับสั่งว่า “ถ้าฉันจะตาย ก็ขอให้ตายสบายๆ ในบ้านช่องของเราเองดีกว่าที่จะมาตายในโรงแรม…” ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์พระราชประวัติของพระองค์เอง
โดยทรงวางแผนว่าจะทรงเล่าตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ ถึงทรงสละราชสมบัติ ด้วยต้องพระประสงค์จะให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ น่าเสียดายที่พระโรค ทำให้ทรงพระนิพนธ์ถึงแค่เมื่อทรงมีพระชนมพรรษา 25 พรรษาเท่านั้น ในช่วงที่เหลือคือช่วง 26 – 47 พรรษา พระองค์พระราชนิพนธ์ไม่จบ..(โถ่ พระราชาทูนหัวของเกล้ากระหม่อม !!)
พ.ศ.2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมปีนั้น พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำทั้งสองพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครอง เป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการต่อไป
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก จึงทรงมีพระราชดำริ จะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของ รัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย
วันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ยังทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทม เป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก จึงรับสั่งกับสมเด็จฯ ว่าหากจะเสด็จไปพระตำหนักเวนคอร์ตก็ได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล คำตรัสครั้งสุดท้ายคือ “จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี”…. “อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์”
สมเด็จฯ จึงเสด็จออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. รัชกาลที่ 7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่มๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์ แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียน ไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้างๆ
หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระหทัยวาย… ไม่มีผู้ใดทราบว่าเวลาใดแน่…นี่หรือ คือสิ่งที่ปรีดี และคณะราษฎร กระทำย่ำยีข่มเหงต่อพระมหากษัตริย์ของไทย สิริรวมพระชนม์มายุพระองค์เพียง 48 พรรษา เท่านั้น และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีพระสงฆ์ รวมทั้ง ไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วย วันที่ 3 มิถุนายน 2484 อัญเชิญพระบรมศพองค์เล็กๆ ของรัชกาลที่ 7 ขึ้นประดิษฐาน บนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมพระบรมศพ
แลเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน ไปยังสุสานโกดเดอร์สกรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน อังกฤษ มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน ขณะกำลังเคลื่อนพระบรมศพ ออกจากพระตำหนัก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล (หน้าต่าง) เป็นการส่วนพระองค์
ทรงกลั้นพระกรรแสงไว้ไม่ไหวอีกต่อไป ทรงรับสั่งว่าเบาๆ ว่า “เขาเอาไปแล้ว” พระบรมศพทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง ฉลองพระองค์สีแดง เช่นกัน ตามที่เคยรับสั่งกับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ให้จัดถวายให้เหมือนกับพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชกาลที่ 4
มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย ผู้เป็นทนายความประจำพระองค์ และเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน ไม่มีพิธีสงฆ์ใดๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในขณะนั้น
มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติ และผู้ใกล้ชิดทั้งไทยและเทศ
พนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้าจนลับตา หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคาร ถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตัน อันเป็นที่ประทับของพระองค์ หลังรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต ช้างเผือกคู่พระบารมีพระองค์ที่อยู่เมืองไทย
ที่ได้มาจากเชียงใหม่ คือ พระเศวตคชเดชน์ดิลก ขณะอายุย่างเข้า 20 ปี เริ่มมีอาการไม่ปกติ และต่อมาในเมืองไทยเกิดอาเพศน้ำท่วมใหญ่ ช้างเผือกคู่พระบารมี ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจากรัฐบาลคณะราษฎร ขาดการเอาใจใส่ เจ็บมากขึ้น ไม่จับหญ้า ในที่สุดก็ล้มลงเสียชีวิตไปตามพระองค์
นี่คือชีวิตจริงๆ ขอพระมหากษัตริย์ไทย ที่ปรีดี กับคณะราษฎร รังแกพระองค์ พระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติฉบับเต็ม รัชกาลที่ 7 มีความชัดเจนมากว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างสมบูรณ์ และไม่ได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง
อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการ และผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น ไม่ได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎร เมื่อพระองค์ได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่ในขณะนั้นก็ไม่ยินยอม
พระองค์จึงไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด “ ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของพระองค์ต่อไปได้ ” จึงมีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของพระองค์อยู่แต่เดิม “ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป” แต่ไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของพระองค์ให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
ในภาพจะเห็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่กำลังทรงสวดมนต์ไหว้พระที่แม้แต่หิ้งพระยังต้องใช้หนังสือรองซ้อนกัน ในพระตำหนักเล็กๆ ของพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ..ลองดูภาพให้ละเอียดว่านี่หรือ คือสิ่งที่ปรีดีและคณะราษฎรกระทำข่มเหงรังแกสถาบันพระมหากษัตริย์ของราษฎรไทยทุกคน
นี่หรือคือข้ออ้างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” มันเป็นธรรมกับพระองค์แล้วหรือ ?? พระมหากษัตริย์บรรพบุรุษของพระองค์เกือบ 50 พระองค์ สร้างบ้าน แปงเมืองสยามนี้มายาวนานกว่า 800 ปี แล้วปรีดีและคณะราษฎร์ ทำความดีอะไรมาจากไหน ?? ถึงได้ข่มเหงรังแกพระองค์ถึงเพียงนี้