วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

วินทร์ เลียววาริณ ชวนคนไทยใช้ภาษาไทยแบบเชยๆ ก็เท่ได้ ถ้ารู้จักใช้

หั้ย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ให้

อะรัย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน อะไร

ยังงัย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ยังไง

ทำมัย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ทำไม

หัวจัย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน หัวใจ

เทอ จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน เธอ

จิงๆ จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน จริงๆ

น้ำป่าว จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน น้ำเปล่า

เปน จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน เป็น

ทำงานเสด จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ทำงานเสร็จ

ขี้เกียด จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ขี้เกียจ

โรงนั๋ง จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน โรงหนัง

ไม่อาว จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ไม่เอา

ไปไหนกาน จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ไปไหนกัน

ไปเที่ยวหาดซาย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ไปเที่ยวหาดทราย

ไม่ซาบ จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ไม่ทราบ

ขอบคุน จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ขอบคุณ

ยุติทาม จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ยุติธรรม

ลายระเอียด จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน รายละเอียด

หน้ารัก จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน น่ารัก

ทัมจัยมั่ยด้าย จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ทำใจไม่ได้

นาริกา จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน นาฬิกา

พุ่งนี้ จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน พรุ่งนี้

ไคร จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน ใคร

เปี่ยนไป จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน เปลี่ยนไป

จัมไม่ได้ จะเหนื่อยขึ้นมากไหมหากเขียน จำไม่ได้

ฯลฯ

ถึงจะเหนื่อยขึ้น เราก็ยอมใช่ไหม เพราะเราเป็นคนไทย ถ้าเราไม่รักษาดูแลภาษาไทย ใครจะทำ? คนลาว? คนเขมร? คนพม่า? คนญี่ปุ่น? คนเกาหลี? คนอังกฤษ? คนฟินแลนด์? คนรัสเซีย? คนเอสกิโม? มนุษย์ต่างดาว?

.…………………

วินทร์ เลียววาริณ

 

กระทู้ ‘จะเหนื่อยคึ่นมากไม๋หากเขียนหั้ยถูก’ ดูเหมือนจะกระตุกต่อมอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย!

บางคนเข้าใจว่าผมต่อต้านภาษาพูดวัยรุ่นและภาษาสแลง นั่นไม่ใช่สาระของบทความ ประเด็นของกระทู้นี้คือเราควรใช้ภาษาเขียนให้ถูก

คนจำนวนมากมีความเชื่อว่า อะไรที่แตกต่างคือเท่หรือ cool

การเขียนผิดโดยตั้งใจก็เหมือนกล่องเสียงปกติ แต่ตั้งใจพูดไม่ชัด หรือเท้าปกติ แต่ตั้งใจเดินกะเผลก ไม่ได้เท่ตรงไหน

ในชีวิตปกติ การพูดย่อเป็นเรื่องธรรมดา การพูดแผลง เล่นคำเพื้ยนก็เป็นเรื่องธรรมดา ผมเองพูดกับเพื่อนก็ยังใช้ เช่น “จะบร้าหรือ?” “มึงจะฟรุ้งฟริ้งไปมั้ย?” “เอาเรยยยย เพ่” ฯลฯ นี่คือการเล่น บางครั้งก็เล่นกับผู้อ่านอย่างนี้ โดยหวังว่าผู้อ่านรู้ว่านี่ล้อเล่นนะ

การสะกดผิดเพราะไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แก้ไขได้ แต่หากเขียนโดยเข้าใจว่านี่คือภาษาที่ถูกแล้ว หรือไม่แยแสกับกติกาเลย เพราะกูคือศูนย์กลางของจักรวาล ก็เป็นหน้าที่เราต้องบอก

บอกแล้วไม่สนใจทำ ก็ตามสบายเลยพี่ เพราะผมไม่ใช่เจ้าของภาษาไทยแต่เพียงผู้เดียว

บางครั้งบอกไปแล้วก็โดนด่าสวนกลับมา ดังที่เกิดขึ้นกับกรณี ‘ทาน-กิน’ เมื่อปีที่แล้ว

ครั้งนั้นผมบอกว่า ทาน ไม่ได้แปลว่ากิน ทานแปลว่าให้ทาน ไปเปิดพจนานุกรมดูได้ ก็มีคนด่าว่าผมดัดจริต ไม่รู้หรือว่าภาษามันดิ้นได้ วิวัฒนาการได้ บลา บลา บลา มาเป็นชุด ก็ไม่โกรธอะไร เพราะรู้ว่าใช้จนชินไปแล้ว แต่ความเคยชินไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างในการพูดผิดเขียนผิดต่อไปมิใช่หรือ?

แน่นอนผมรู้ว่าภาษามีวิวัฒนาการ ดิ้นได้ และแน่นอนผมก็ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงมีหลายแบบ เราควรมองออกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นความเปลี่ยนแปลงตามวัย หรือว่าชั่วคราว หรือว่าเป็นเซลล์มะเร็งที่เกาะนาน

ถ้าทำประชามติ แล้วคนไทยทั้งประเทศเห็นพ้องต้องกันว่า ใช้ภาษากันตามใจฉันอย่างนี้แล้ว เมืองไทยมันช่างมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งตะมุตะมิดีจุงเบย ก็ go ahead ต่อให้ ม. 44 ก็หยุดไม่อยู่หรอก

ในฐานะคนทำงานศิลปะและการออกแบบ ผมมองง่ายๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ดีควรทำให้สิ่งนั้นงดงามขึ้น

เราทาสีบ้าน ตกแต่งปรับปรุงก็เพื่อให้มันงามขึ้น เราเปลี่ยนทรงผมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ดูดีขึ้น หรือไม่ใช่?

.…………………

หลายคนให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงว่าภาษาของเรารุ่มร่าม ก็ขอใช้แบบไม่รุ่มร่าม ยกตัวอย่างคำว่า จริง ขอสะกดว่าจิง เพราะตัว ร ไม่ออกเสียง

ก็มีเหตุผลน่ารับฟัง แต่หากเราใช้ตรรกะแบบนี้ เราก็คงต้องรื้อถอนแทบทุกเรื่องในโลก ไม่เพียงแต่ภาษา เราคงต้องตัดลายบัว กนก ในงานสถาปัตยกรรมไทยออกให้หมด เพราะมันไม่ใช่โครงสร้างรับน้ำหนัก ตัดบัวและลวดลายทิ้งไป บ้านก็ไม่พัง

ถ้าปฏิเสธคำว่าจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในคำควบกล้ำไม่แท้จำนวนมากในภาษาไทย ก็ต้องปฏิเสธอีกหลายๆ คำ เช่น ไซร้ เศร้าสร้อย ศรี ศรัทธา เสริมสร้าง สระ สรง สร่าง ฯลฯ เหล่านี้ตัว ร ไม่ออกเสียงทั้งสิ้น

และยังต้องรื้อคำทิ้งอีกเป็นยวงที่ ทร ออกเสียงเป็น ซ เช่น ทรง ทราบ ทราม ทราย แทรก ทรุด โทรม มัทรี อินทรี นนทรี ฯลฯ

ไหนๆ ก็ไหน ตัดตัวหนังสือทิ้งอีกหลายตัวได้เลย ไม่กระทบต่อการสื่อสารแต่อย่างใด ตัด ซ ทิ้ง แล้วใช้ ส แทนก็ยังไปได้ ศ ษ ฑ ก็ตัดทิ้งได้

นี่ไม่ได้พูดเล่น ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ ก็จะรู้ว่าในยุคจอมพล ป. เราทำอย่างนี้มาแล้ว ออกเป็นกฎหมาย อักษรไทยหายไปเป็นยวง

หลังจอมพล ป. ตกจากอำนาจ เราก็ยกเลิกกฎหมายนั้น หันมาใช้ของเก่า

เพราะอะไร?

เพราะของเก่างามกว่า!

หากคนใช้ภาษาอังกฤษคิดอย่างนี้ ก็คงต้องรื้อใหญ่เช่นกัน เพราะภาษาอังกฤษก็เต็มไปด้วยคำที่มีอักษรไม่ออกเสียง subtle, pneumonia, Wednesday, Ptolemy, edge, bridge, honest, ghost, heir, hour ฯลฯ

ถามว่าแล้วทำไมคนโบราณจึงออกแบบภาษารุ่มร่ามอย่างนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ก็เขาออกแบบมาอย่างนี้ เหมือนกับที่คนโบราณออกแบบอาคารไทยมีบัว มีลวดลาย มีกนก และสารพัดรายละเอียด มันเป็นดีไซน์อย่างนี้

แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องรสนิยมและความงาม

ภาษาไทยอาจมีบางจุดที่ดูรุ่มร่าม เชย ไม่เท่ แต่มันออกแบบมาอย่างนี้ ตกแต่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุค มันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด มันเป็นเรื่องการสืบทอดรากวัฒนธรรม

ธงชาติไทยมีสามสี แดง ขาว น้ำเงิน ถ้าเราจะเติมสีฟ้าเข้าไปในสีแดงสักนิดเพื่อความแท่ เติมเหลืองสักนิดเข้าไปในน้ำเงินเพื่อความมัน ก็ทำได้ แต่เราคงไม่เรียกธงสีม่วง-ขาว-เขียวว่าธงชาติไทยกระมัง

การสร้างคำใหม่ที่หวือหวาเพื่อความสนุก เพิ่มสีสันชั่วครั้งชั่วคราวเป็นเรื่องรับได้ และควรทำด้วยซ้ำ แต่มันควรอยู่ในขอบเขตที่เราคุมได้ และเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไร ทว่าเมื่อไรก็ตามที่เรานึกจะเปลี่ยนเพียงเพราะกูอยากเปลี่ยน ยึดมั่นถือมั่นว่ามันคือความถูกต้อง ไม่แยแสสนใจว่าเรามาจากไหน ทำไมเราจึงเป็นอย่างนี้ มันก็อาจเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง

ผมทำงานใช้ความคิดสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต จากประสบการณ์ผมพบว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องเท่ แต่ความเท่ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์

ความเท่ไม่ได้อยู่เราใช้ภาษาเพี้ยน ความเท่อยู่ในตัวเรา อยู่ในสาระที่เราทำ ไม่ใช่เปลือกที่บิดเบี้ยว

ใช้ภาษาไทยแบบเชยๆ ก็เท่ได้ ถ้ารู้จักใช้

.…………………

วินทร์ เลียววาริณ