วันพฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เบื้องแรก “ประชาธิปไตย” ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ เป็นยุคที่มีการล่าอาณานิคมจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะการแผ่อำนาจของ อังกฤษและฝรั่งเศส มายังอินโดจีน

เนื่องจากความเชื่อในลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งมองว่าการล่าอาณานิคมนั้นเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะเป็นภาระของคนผิวขาวที่จะทำให้ คนผิวเหลือง ผิวดำ และผิวแดงน้ำตาล เป็นอารยชนขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการอ้างเพื่อเข้ามากดขี่ขูดรีดชาวพื้นเมืองในประเทศต่างๆ เท่านั้น

หนึ่งในข้ออ้างในการล่าอาณานิคม คือการเข้าไปสร้างความศิวิไลซ์ให้ชนพื้นเมือง ความศิวิไลซ์ ที่ว่าคือการลดบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ท้องถิ่นด้วยการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฏหมายและการปกครองให้ประเทศนั้นๆ กลายเป็นสาธารณรัฐ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ได้พยายามมุ่งเปลี่ยนสยามให้เป็น “สหพันธรัฐอินโดจีน”

ต้นศตวรรษที่ 20 ทรงได้รับการจัดให้เป็น 1 ในผู้นำของ 16 ชาติผู้จะชี้นำโลก (โปรดสังเกตว่าพระองค์ประทับพระที่นั่งที่มีหมายเลข 6)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยอันตรายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและทรงพยายามอย่างยิ่งในอันที่จะหาหนทางให้รอดพ้นจากภัยคุกคามนั้น จึงทรงพยายามให้สยามรีบพัฒนาชาติเพื่อรองรับกระแสตะวันตกที่กำลังเข้ามา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ พระองค์ทรงส่งเจ้าฟ้าหลายพระองค์และสามัญชนที่เรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในเวลานั้น เพื่อจะผลิตปัญญาชนให้เพียงพอต่อการพัฒนาชาติ ควบคู่กับการพัฒนาชาติให้เป็นอารยะในความหมายของตะวันตก ความหวังประการเดียวคือรอคอยคนรุ่นใหม่ ที่ทรงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำวิทยาการสมัยใหม่กลับเข้ามา พร้อมกับความรู้เท่าทันเหตุการณ์

ท่ามกลางการตีวัวกระทบคราดผ่านสื่อไปมาระหว่าง เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและอังกฤษ ยังปรากฎการล้อเลียนในหนังสือพิมพ์ของโลกตะวันตกโจมตีภาพลักษณ์ของ สถาบันพระมหากษัตริย์สยาม อันเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงสยามที่ชัดเจนขึ้น

อีกทั้งโลกในเวลานั้นได้รับอิทธิพลจากการปฎิวัติฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๒ และ การเมืองที่ผันผวนในยุโรป โดยเฉพาะการต่อสู้กันระหว่างนักการเมืองฝรั่งเศสในระบบประชาธิปไตย แบบ รีพับลิก* กันมาโดยตลอด

แม้ว่า การปฎิวัติฝรั่งเศส จะมีเบื้องหลังและนำไปสู่ยุคมืดของฝรั่งเศสเนื่องจากความชั่วร้ายของนักปฎิวัติ อย่าง มากซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ ก็ตาม แต่การปฎิวัติฝรั่งเศสก็ถูกตั้งเป็นต้นแบบในการ”คัดง้าง”ราชสำนักในหลากหลายประเทศ

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้แนวคิดประชาธิปไตยที่ ”สับสนอลหม่าน” กลายเป็นสิ่งที่”ดูทันสมัย- ดูมี อารยะ” ตามวิธี”ซอฟฟ์ พาวเวอร์” ซึ่งเป็นกระแสที่ราชสำนักสยามต้องจับตาในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริในการปฎิรูปชาติครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๑๑ และแบ่งช่วงการปฎิรูปเป็นสองห้วงเวลาคือ ช่วง ปี พ.ศ.๒๔๑๖ – พ.ศ๒๔๑๙ และ อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๕๓

ห้วงแรก (พ.ศ.๒๔๑๖ – พ.ศ๒๔๑๙) ได้เริ่มจัดตั้ง สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ในวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๗ โดยมี สมาชิก ๑๒ พระองค์/คน โดยมีรัชกาลที่๕ ทรงเป็นประธาน

สภาดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการ ปรึกษาหารือในการปฏิบัติเพือให้เกิดความสุจริต ยุติธรรม และเพื่อถ่วงดุลอำนาจ สามารถขัดขวางการใช้อำนาจของขุนนางต่างๆที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อแผ่นดิน และดึงอำนาจจากขุนนางบางส่วน(เสนาบดีเก่า)ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครอง

ต่อมามีการตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๗ โดยมี สมาชิก ๔๙ คน มีหน้าที่ในการช่วยกันให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน
แม้ว่าระบบดังกล่าวอาจจะไม่ราบรื่นเพราะเป็นเรื่องใหม่และยังเป็นการขัดอำนาจของเสนาบดี แต่เพราะการปฎิรูปดังกล่าวนี้ จึงทำให้ รอดจากการคุกคามของชาติตะวันตก ด้วยเหตุว่าประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ ศิวิไลซ์ได้ด้วยตนเองนั่นเอ

ช่วง พ.ศ.๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งศาลหลวงขึ้นและพระราชทานนามว่า “ศาลสถิตย์ยุติธรรม” เพื่อเฉลิมฉลองให้ทันกับงานฉลองพระนครครบรอบ ๑๐๐ปี

ในช่วง ปีพ.ศ.๒๔๒๗ (ร.ศ.๑๐๓) พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในฐานะอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสได้ทรงทำรายงานสถานการณ์ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับภัยของชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องราชอาณาจักรพม่า เสียเอกราชแก่อังกฤษ เรียกในครั้งนั้นว่า “หนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน”

โดยมีการอ้างว่า มหาอำนาจยุโรปจะยึดประเทศสยามหาก สยามนั้นยังไม่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ร่วมลงนามในหนังสือดังกล่าวรวม ๑๑ ท่านล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการไทย ประจำสถานทูตอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลความคิดจากโลกตะวันตก


แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดไม่ถูกตอบสนองเพราะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มองเห็นว่า สามารถใช้การ “คอเวอนเมนต์รีฟอม”( การปฎิรูปการเมืองการปกครอง) ในการแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ขุนนางหัวก้าวหน้าดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์แล้วไปชักชวนให้ผู้อื่นร่วมลงชื่อด้วย การเข้าชื่อกันถวายความเห็นถือว่าไม่เป็นการเหมาะสม เข้าทำนองเรียกร้อง

ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เองทรงบันทึกไว้ว่า พระองค์พลาดไป ! เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถามความเห็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เพียงคนเดียว จึงไม่ควรไปให้คนอื่นร่วมลงชื่อด้วย

วิกฤติการณ์ (ร.ศ.๑๑๒) พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นความขัดแย้งจากการพยายามล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่แผ่มาทางเวียดนาม จุดอันตรายที่เกิดขึ้นคือวิกฤติการณ์ปากน้ำ เรือรบฝรั่งเศสกับทหารเรือสยามยิงกันสนั่นหวั่นไหว เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้“เกือบสูญเสียทุกอย่างที่เป็นสยาม” แต่เพราะเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสะสมเอาไว้ได้ใช้ไถ่บ้านเมือง จึงทำให้สยามรอดจากการล่าอาณานิคมได้หวุดหวิด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิรูปการเมืองการปกครอง ห้วงที่สอง (พ.ศ.๒๔๓๕ – ๒๔๕๓) โดยการพัฒนาการบริหารราชการส่วนกลาง จัดตั้ง ๑๒ กระทรวง ได้แก่
๑. กระทรวงมหาดไทย
๒. กระทรวงกลาโหม
๓. กระทรวงการต่างประเทศ
๔. กระทรวงนครบาล
๕. กระทรวงวังฯ
๖. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
๗. กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ
๘. กระทรวงยุติธรรม
๙. กระทรวงยุทธนาธิการ
๑๐. กระทรวงธรรมการ
๑๑. กระทรวงโยธาธิการ
๑๒. กระทรวงมุรธาธร
และโปรดฯให้จัดระเบียบบริหารราชการหัวเมืองใหม่ ยกเลิกเมืองพระยามหานคร ชั้นเอก โท ตรี จัตวา และหัวเมืองประเทศราช โดยจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล

 

ในกรณีของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสุขาภิบาล ในการจัดระเบียบชุมชน

มีการจ้างชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา เช่น ดร. โรลัง ยัคมินส์ ชาวเบลเยี่ยม ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามมานุกูลกิจ

นายโตกีจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น พระยามหิธรรมนูปกรณ์โกศลคุณ, นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวศรีลังกา ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น พระยาอรรถการประสิทธิ์

ได้โปรดฯให้ตั้ง กองร่างกฎหมาย สำหรับทำหน้าที่ตรวจสอบชำระบรรดาพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ได้ ตัวบทกฎหมายที่ทันสมัยตามแบบอารยประเทศ โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธาน

– ตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวง ยุติธรรมเป็นผู้อำนวยการ ด้วยเหตุนี้ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จึงได้รับการว่าเป็น พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย

– ยกเลิกการลงโทษแบบจารีตนครบาล จากผลการปฏิรูปการศาลและการชำระกฎหมายให้ทันสมัย ทำให้ การพิจารณาคดีแบบจารีตและวิธีลงโทษแบบป่าเถื่อนทารุณต่าง ๆ ได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้การเลิกระบบทาส-ไพร่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฎิรูปทางสังคมในสมัยนั้น และการปฏิรูปการคมนาคม ถือว่าเป็นการพลิกโฉมหน้าประเทศสยามไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตามช่วงภายหลัง พ.ศ. ๒๔๔๕ มีกลุ่มคนบางจำพวกที่มักเขียนบทความบิดเบือนประวัติศาสตร์ใส่ร้ายป้ายสี ราชสำนักสยาม เช่น “เทียนวรรณ” และ “กศร. กุหลาบ” ซึ่งเป็นนักเขียน ที่มี”เบื้องหลัง” และมีพฤติกรรมทำให้เชื่อได้ว่าเป็น “ซอฟฟ์ พาวเวอร์” ของตะวันตก โดยหยิบเรื่อง ประวัติศาสตร์สังคมที่บิดเบือนและการเร่งรัดให้มี ประชาธิปไตยแบบตะวันตก เหล่านั้นมาโจมตีราชสำนักสยามโดยตลอด

ใช่ว่าราชสำนักสยาม และสังคมขุนนางจะไม่เคยมีความคิดเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเลย เพราะมีร่องรอยปรากฏว่า มีการพูดถึงกันมาก่อน ตั้งแต่ ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ก่อนการปฎิรูปห้วงที่สองแล้ว)

โดยเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๐ มาตรา เรียกว่าร่าง พระราชกฤษฎีกาที่ ๑ ว่าด้วยประเพณีกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการให้มีกฎหมายกำหนดขอบเขตพระบรมเดชานุภาพของพระองค์

ช่วงภายหลัง พ.ศ. ๒๔๔๕ มีการเรียกร้องให้มีการปกครองแบบรัฐสภา ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีในอามแผ่นดิน” ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะอธิบายแนวความคิดอันเป็นพื้นฐานของพระราโชบายของพระองค์เกี่ยวกับการปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง ทั้งเป็นการชี้แจงด้วยว่าเหตุใดพระองค์จึงยังไม่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยให้เป็นไปตามแบบฉบับของประเทศในยุโรปโดยทันที เช่น

“เพราะฉะนั้นจะป่วยการกล่าวไปถึงความคิดที่จะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในหมู่คนซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคนเท่านั้น …

ถ้าจะจัดตั้งปาลิเมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลปาตีขึ้นในเวลาที่บ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใด ไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้า…
ส่วนเมืองเราราษฎรไม่มีความปรารถนาอยากจะเปลี่ยนแปลงอันใด
การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้นกลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยากเปลี่ยนแปลง
ถ้าจะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฎรเป็นประมาณในเวลานี้แล้ว
ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ที่เดียว คงจะเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้น”

จากพระบรมราชธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของพระองค์ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐสภา พระองค์จึงไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ทรงยอมรับว่า การปกครองของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่จะมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญในภายหน้า ถึงกับมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า

“ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กล่าวคือ ฉันจะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น”

พระราชดำรัสนี้ทรงกล่าวในที่ประชุมเสนาบดี ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา พ.ศ.๒๔๕๓ อ้างอิง ว.ช.ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้าฯ (พระนคร : ผดุงชาติ, ๒๕๐๕), หน้า ๔๖.

จากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนี้ แม้ว่าประชาธิปไตย จะยังไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรม แต่ก็พบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างช้าๆ และมีความเคลื่อนไหวมาตลอดช่วงยุคสมัยแม้ว่าจะมีสะดุดลงไปบ้างก็ตาม จึงถือได้ว่าประชาธิปไตยในยุคหลังได้กำเนิดเริ่มต้นจากการวางรากฐานจากยุคสมัยนี้ ทั้งนั้น

———โปรดติดตามตอนต่อไป——–

ขอบคุณข้อมูลจาก สับปะรด Zapparod.com

หากจะพูดถึงต้นกำเนิดประชาธิปไตยนั้น คงต้องกล่าวว่ายังมีนักประชาธิปไตยในปัจจุบัน หลายคนที่หลงเข้าใจผิดไปมากมายว่า ประชาธ…

โพสต์โดย สับปะรด Zapparod.com บน 23 มิถุนายน 2017