วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว

ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9
เสด็จพระราชดำเนิน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2489

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ป็นมูลนิธิบรรเทาภัย ที่มาจาก คณะเก็บศพไต้ฮงกง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2452 โดยพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ 12 คน มีจุดประสงค์เพื่อเก็บศพไร้ญาติทุกภาษาและนำไปฝังที่ป่าช้าทุ่งวัดดอน ถนนเจริญกรุง ที่ชาวจีนได้เรี่ยไรเงินซื้อไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 นักธุรกิจจีนได้ร่วมกับบรรดาสมาคมและหนังสือพิมพ์จีน ระดมความคิดปฏิรูปคณะเก็บศพไต้ฮงกงขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียน (ทุน 2,000 บาท) จัดตั้งเป็นมูลนิธิในนาม “ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” เป็นมูลนิธิลำดับที่ 11 ของประเทศสยาม

คณะกรรมการบริหารมูลนิธิชุดแรก มีนายเหียกวงเอี่ยมเป็นประธาน และมีนายแต้โหงวเล้า หรือนายอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นรองประธาน (อายุเพียง 24 ปีขณะนั้น) ขยายวัตถุประสงค์จากเดิมที่เก็บศพไร้ญาติเพียงอย่างเดียว ไปสู่การบำเพ็ญทานทั่วไปและรักษาพยาบาลผู้อนาถายากไร้ไม่จำกัดเชื้อชาติ ต่อมาในทศวรรษ 2480 ประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่สงบ จากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นรุกรานชาติต่าง ๆ นับจากจีน แผ่ขยายวงออกไป นายเหียกวงเอี่ยมผู้มีบทบาทต่อต้านการรุกรานของจีนของญี่ปุ่นถูกลอบสังหารเสียชีวิต นายอุเทน เตชะไพบูลย์จึงรับหน้าที่ต่อ

ในระหว่างปี พ.ศ. 2487-88 ภัยสงครามทางอากาศรุนแรงขึ้น ทำให้ในกรุงเทพฯ ถูกระเบิดทำลาย ระบบสาธารณูปโภคถูกทำลายเช่นกัน มูลนิธิเป็นธุระเสาะหาน้ำสะอาดมาบรรเทาความขาดแคลน และยังจัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทางอากาศ และเก็บศพเหยื่อสงครามและผู้ตายไร้ญาติกว่าหมื่นศพ (ตลอดทั้งสงคราม)

งานสังคมสงเคราะห์ที่สำคัญและถือเป็นประเพณีบุญของมูลนิธิมายาวนาน คือ งานทิ้งกระจาด ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเทศกาลสารทจีน มีผู้ร่วมรับทานกว่า 70,000 คนต่อปี ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล นอกเหนือจากบริการหลักที่โรงพยาบาลหัวเฉียว (ขนาด 750 เตียง) แล้วยังมีบริการหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลหัวเฉียว ออกไปให้บริการแก่ผู้ยากไร้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ทั้งในยามปกติและยามประสบสาธารณภัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
หลังจากที่มูลนิธิดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์มานานกว่า 4 ทศวรรษ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิมีมติขยายวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคนด้วย จึงเกิดแนวคิดที่มาของสถาบันอุดมศึกษานามพระราชทาน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปิดสอนรวม 13 คณะ นับถึงปัจจุบันมูลนิธินี้อยู่คู่กับสยามตั้งแต่แรกก่อตั้งมีอายุยาวนาน
กว่า 108 ปี