วันพฤหัสบดี 31 ตุลาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อ ปี 2526 น้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพ มีใครรู้บ้างว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงช่วยราษฎรของพระองค์อย่างไร?

เนื่องจากกรุงเทพมหานครนั้นอยู่ใกล้บริเวณปากอ่าวปลายแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเส้นทางที่น้ำในแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ดังนั้นเมื่อถึงฤดูฝนน้ำมากเกินพื้นที่แม่น้ำ คู คลอง เขื่อนและฝายจะรับได้ ก็จะเกิดน้ำท่วมน้ำขังต้องระบายลงสู่ทะเล แต่ถ้าปริมาณน้ำมีมากจนระบายลงสู่ทะเลไม่ทันน้ำก็จะมารวมตัวกันท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีน้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วหลายครั้งเช่น เมื่อปีพุทธศักราช 2485 น้ำท่วมกรุงเทพมหานครทั่วไปเป็นเวลานานหลายเดือนจนต้องใช้เรือพายเป็นยานพาหนะ ในระยะนั้นกรุงเทพมหานครมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน และยังไม่เจริญเติบโตมากเหมือนทุกวันนี้ ความเดือดร้อนสูญเสียจึงไม่ร้ายแรงนัก

เมื่อปีพุทธศักราช 2523 ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ฝนตกชุกทั่วทุกภาคของประเทศจนเกิดน้ำท่วมใหญ่บริเวณทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ นานถึง 4 เดือนในระดับที่สูงมาก ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนสาหัส ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาและพระราชทานพระราชดำริ ให้เจ้าหน้าที่นำไปดำเนินการแก้ไข

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2526 เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอีก ครั้งนั้นน้ำท่วมบริเวณเศรษฐกิจชั้นในของกรุงเทพฯ ธนบุรีและรอบนอกทั่วไป รวมทั้งบริเวณด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งเป็นที่ลุ่มใกล้ปากอ่าว บางแห่งระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสและเศรษฐกิจของชาติเสียหายย่อยยับคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้าน จิตใจของประชาชนก็ได้รับความบอบช้ำ เนื่องจากความทุกข์ทรมานที่สูญเสียทรัพย์สินและไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่น้ำท่วม โดยได้เคยพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2523 แล้ว ในคราวนี้ได้ทรงติดตามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและทรงทราบว่าไม่เป็นผล จึงทรงพระกรุณาเข้าช่วยแก้ปัญหา นอกจากทรงใช้แผนที่พิจารณาหาวิธีการต่างๆแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงพระอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาสภาพน้ำท่วม ณ จุดต่างๆถึง 5 ครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา ห่วงใย เอื้ออาทร มีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรได้พ้นจากความเดือดร้อนโดยเร็ว

 

เมื่อ ปี 2526 น้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพ มีใครรู้บ้างว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงช่วยราษฎรของพระองค์อย่างไร?

 

“วันนั้นรถพระที่นั่ง แล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ราวบ่ายสองโมงเศษ

 

ไม่มีหมายกำหนดการ  ไม่มีการปิดถนน

 

แม้แต่ตำรวจท้องที่ ก็ไม่ทราบล่วงหน้า

 

รถยนต์พระที่นั่งชะลอเป็นระยะ ๆ เพื่อทรงตรวจดูระดับน้ำ

 

เมื่อถึงคอสะพานสร้างใหม่ที่คลองลาดกระบัง จึงเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อทรงหารือกับจ้าหน้าที่

 

ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงสะพานคลองหนองบอน รถพระที่นั่งหยุดเพื่อให้พระองค์ ทรงฉายภาพบริเวณน้ำท่วม

 

จนเย็นย่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ จึงทรงนำไฟฉายส่วนพระองค์ออกมาส่องแผนที่ป้องกันน้ำท่วม และแนวพนังกันน้ำอยู่เป็นเวลานาน

 

.กลายเป็นอีกภาพหนึ่งที่สร้างความตื้นตันใจแก่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครอย่างยิ่ง….”

————————————————————

ในวันพุธที่ 8 ตุลาคม ปี2526 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วม บริเวณซอยศูนย์วิจัย บางกะปิ ลาดพร้าว พระโขนง และสำโรง

ในวันที่ 19 ตุลาคม 2526 เสด็จพระราชดำเนินไปโดยเรือของทหารช่าง ณ บริเวณคลองแสนแสบ คลองตัน เพื่อทรงติดตามแก้ปัญหา

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทอดพระเนตรน้ำท่วม
ที่บางกะปิ และบางนา

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพระโขนงและในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี2526 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร บริเวณน้ำท่วมฝั่งธนบุรี

ทุกครั้งและทุกจุดที่เสด็จพระราชดำเนินไป จะพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น เช่น พระราชทานพระราชดำริให้สร้างทำนบที่บริเวณปากคลองบางกะปิ ปรับปรุงท่อลอดถนนบางนาตราด สร้างทำนบปิดคลองต่างๆ สูบน้ำลงสู่คลองสำโรง ขุดลอกคลองเจ๊ก คลองบางจาก คลองบางอ้อน้อย คลองบางอ้อใหญ่ ขุดคลองระบายน้ำข้างทำนบระบายน้ำจากคลองพระยาราชมนตรีลัดอ้อมสู่คลองสนามไชย เพื่อให้รับน้ำลงสู่ทะเลได้รวดเร็ว เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เช่น กองกำลังรักษาพระนคร กรมชลประทาน และกรุงเทพมหานครได้รับสนองพระราชดำริเร่งรีบดำเนินการ ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมสูงลดลงและแห้งไปในที่สุด

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรน้ำท่วม ณ จุดต่างๆ นี้ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องทรงลำบากตรากตรำพระวรกายเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ เช่น ต้องทรงพระดำเนินลุย ย่ำไปในบริเวณน้ำเน่าเสียที่เกิดจากน้ำท่วมขังอยู่นาน ต้องประทับเรือลอดใต้สะพานข้ามคลองที่มีสายไฟที่ผู้บุกรุกเข้าสร้างที่พักอาศัยใต้สะพานต่อไว้ระโยงระยางอย่างไม่ถูกวิธี หรือแม้ต้องทรงยืนพระบาทแช่น้ำในบริเวณน้ำท่วมขังในเวลากลางคืน ต้องใช้ไฟฉายส่องเพื่อทอดพระเนตรแผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหา และยุงจำนวนมากรุมกัดพระวรกาย แมลงกลางคืนบินรบกวน แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาต่อราษฎรที่ได้รับความทุกข์เดือดร้อน และทรงห่วงใยในเศรษฐกิจของชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็มิได้ทรงย่อท้อทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วง ทั้งยังทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสปลอบใจราษฎรที่ถูกน้ำท่วม ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทให้มีความอดทน

ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนั้น ต่างดื่มด่ำในน้ำพระราชหฤทัยและพระกรุณาธิคุณ ทำให้ความรู้สึกทุกข์ร้อน คับแค้นใจมลายหายสูญไป และล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้
———————————————————–

 

 

Cr : บางส่วนจากหนังสือครองใจคน : หลากเหตุผลที่คนไทยรักในหลวง

ที่มา : เพจ นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม