กบฏผู้มีบุญนายศิลา วงศ์สิน (พ.ศ. ๒๕๐๒)
ผู้มีบุญ หรือ ผีบ้าผีบุญ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของภาคอีสานที่มีความเชื่อว่า ท้าวธรรมิกราชจะมาเกิดช่วยเหลือชาวอีสานปราบยุคเข็ญ การที่มี “คนบุญ” มาเกิดนั้นชาวบ้านจะแตกตื่นมาเป็นสานุศิษย์ รวมตัวเป็นองค์กรหรือขบวนการใหญ่บ้างเล็กบ้าง ครั้นได้รวมตัวกันจนเป็นองค์กรใหญ่และมีพฤติกรรมต่อต้านอำนาจรัฐก็เรียกกันว่า “ขบถ” นั่นคือจัดองค์กรแบบรัฐอิสระ มีกำลังอาวุธป้องกันชุมชน บางครั้งถึงขั้นยกกำลังเข้ายึดเมืองอีกด้วย หากผู้มีบุญที่มีบารมีน้อยสานุศิษย์น้อย ความเชื่อความศรัทธาก็จืดจางไปเอง
กรณีดังกล่าวผู้มีบุญหรือผีบ้าผีบุญก็มีปรากฏมาจนถึงสมัย พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ชาวพุทธเชื่อกันว่าเป็นยุคกึ่งพุทธศาสนาหรือเริ่มต้นศาสนาพระศรีอาริย์ ความเชื่อดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับอุดมการณ์ของผู้มีบุญ แม้ว่าในยุคสมัย พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น การศึกษาของชาวอีสานได้เจริญพัฒนามากแล้วก็ตาม แต่ในชนบทยังมีความเชื่อเรื่องผู้มีบุญปรากฏอยู่ทั่วไป ดังกรณี นายศิลา วงศ์สิน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในสมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทางราชการต้องใช้กำลังอาวุธปราบปรามเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ดังนี้
นายศิลา วงศ์สิน หรือ ลาด ละคร (คำแถลงของนายกรัฐมนตรี เรื่องสั่งประหารชีวิตผู้มีบุญ ๒๕๐๒ ใช้สองชื่อคือ นายศิลา วงศ์สิน หรือ นายลาด ละคร) เป็นชาวจังหวัดสกลนคร หรือจังหวัดอุดรธานี เรียนธรรมและไสยศาสตร์ได้มาอยู่ที่อุบลราชธานี รับเข้าทรงรักษาไข้จนมีลูกศิษย์และคนนิยมเลื่อมใส รักษานางประกายแก้วซึ่งอยู่บ้านแก้งไก่เขี่ย อำเภอพิบูลมังสาหาร หายและแต่งงานกับนางประกายแก้ว นายศิลาอ้างว่าตัวเป็นพระศรีอาริย์ (ตามข้อมูลส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่านายศิลา อ้างตัวว่าเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย แต่นายมี ปัทมา สานุศิษย์คนสำคัญอ้างว่า นายศิลาบอกว่าตัวเป็นพระศรีหาเหตุมาแก้ปัญหาในชาตินี้ ชาติหน้าจึงจะเป็นพระศรีอาริย์ และกล่าวว่า ตายวันนี้เกิดพรุ่งนี้เพียง ๒๐ ปี ก็เผยแผ่ศาสนาได้อีก นอกจากอ้างตัวเป็นพระศรีอาริย์แล้ว ในช่วงท้ายของเหตุการณ์ นายศิลายังอ้างตัวว่าเป็นรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย) ต่อไปคนที่เชื่อถือเขาจะไม่ลำบากกันอย่างนี้ เรียนธรรมตัวเดียวก็พอแล้ว นายศิลาได้ชักชวนชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ที่บ้านดอนกลาง อำเภอวารินชำราบ รวมประมาณกว่า ๑๕๐ คน (ซึ่งนายศิลา ไม่ถูกจับเสียก่อน จะมีคนจากอุบลราชธานีตามไปเข้าด้วยอีกมาก) ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวหรือกลางคนและเด็ก ให้ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่หมู่บ้านละหอกมะขามป้อม (ปัจจุบันชื่อหมู่บ้านใหม่ไทยเจริญ อ.หนองบุนนาก) ตำบลสารภี อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นเป็นหมู่บ้านป่า อยู่ห่างจากตัวอำเภอ ๒๗ กิโลเมตร นายศิลา อ้างกับพรรคพวกว่าที่ไปอยู่ที่ใหม่เพราะที่ใหม่นี้คือเมืองปางเวร อยู่แล้วจะใช้กรรมใช้เวรหมดไป หลังจากมาอยู่นายศิลา และพรรคพวกก็ถางป่าตัดไม้ไผ่ในป่ามาปลูกกระท่อมโดยมีกระท่อมนายศิลาอยู่กลางกระท่อมพรรคพวกล้อมรอบ รวมทั้งหมด ๑๓ หลัง นายศิลากับพวกไม่ยอมจดทะเบียนสำมะโนครัวกับผู้ใหญ่บ้าน ตั้งคุ้มของตนอยู่โดยอิสระ ในตอนกลางวันมีการประชุมกัน คนที่เข้าประชุมนั่งหลับตาทำสมาธิพนมมือว่าคำ “พุทโธ” เร็วๆ ต่อกันไปทั้งวัน นายศิลาและนางประกายแก้ว ภริยานั้งเป็นประธาน คนไหนว่าไม่ได้จะถูกนายศิลาเอาหวายเคาะหัว ส่วนสมาชิกอีกพวกหนึ่งไปปลูกผักฟักทอง แตง พริก มะเขือ หรือหาของป่าแบบรวมหมู่ เนื่องจากพวกนายศิลาอพยพมาอยู่ใหม่จึงต้องซื้อข้าวกิน ปรากฏว่ามีเงินจับจ่ายใช้สอยสะดวก เพราะนายศิลาให้ชาวบ้านสานุศิษย์ที่มีทรัพย์สินขายนาและโรงสีที่อุบลราชธานี แล้วเอาเงินให้เขา เขาแบ่งปันให้เสมอกันทุกครอบครัว นายศิลาโฆษณาว่าใครไปอยู่กับจะสบาย มีอยู่มีกิน ปรากฏว่าชาวบ้านละหอกมะขามป้อมที่ยากจนที่สุดหนึ่งครอบครัวไปเข้าด้วย และยังมีชาวบ้านละหอกมะขามป้อมนิยมสนใจอยากเข้าด้วยอีก ตกตอนเย็นนายศิลาจะพาพรรคพวกโดยเฉพาะพวกผู้หญิงไปเก็บดอกไม้ คือ ดอกยอป่า มาร้อยทำเป็นต่างขัน ๕ ขัน ๘ แล้วมาประชุมรวมกันหมด ตอนกลางคืนจุดเทียนสว่างบูชาเทวรูปที่ขุดได้มาจากปราสาทโบราณ ทุกวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ มีพิธีเปลี่ยนคู่ คือชายและหญิงจะจับคู่เปลี่ยนใหม่ ชายสนใจหญิงคนไหนก็เอาผ้าไปคล้องคอและได้ไปจนถึงรอบใหม่อีก ๗ วันต่อมา แต่หญิงสาวทุกคนก่อนที่จะมีคู่ต้องไปหลับนอนกับนายศิลาครั้งแรกครั้งหนึ่ง ถือเป็นพิธีล้างบาป ไม่มีหญิงคนใดรังเกียจ ต่างเรียกนายศิลาเป็นพ่อ
เหตุการณ์รู้ถึงหูฝ่ายบ้านเมือง เมื่อคณะของนายศิลาไปขุดเมืองเก่าใกล้หมู่บ้านเพื่อค้นหาไหเงินไหทอง (ข้อมูลในเรื่องสาเหตุที่นายอำเภอมาสอบสวนนายศิลานี้ยังขัดกันอยู่ นายมีเล่าว่านายอำเภอมาเพราะนายศิลาใช้ให้พรรคพวกไปขุดเมืองเก่าหาไหเงินไหทอง ส่วนนางเจริญ หางกระโทก เล่าว่านายอำเภอมาเพราะนายศิลาใช้ให้พรรคพวกไปเปิดหนองน้ำเพื่อจับปลามากิน ชาวบ้านกลัวว่าน้ำจะแห้ง จึงไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านไปแจ้งนายอำเภอ ผู้เขียนเลือกที่จะเชื่อตามนายมีในกรณีนี้ เพราะคิดว่านายศิลาเป็นผู้มาอยู่ใหม่ ต้องการชาวบ้านเป็นพรรคพวก จึงไม่น่าที่จะไปทำการใดขัดใจชาวบ้าน)
นายอำเภอ (เลิศ พุกกะรัตน์) และพวกอีก ๘ คน เดินทางมาที่คุ้มของนายศิลา ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ นายอำเภอและพวกมีอาวุธปืนทุกคน นายศิลาไม่ยอมไป นายอำเภอจะใส่กุญแจมือ นายศิลาร้องบอกพรรคพวกว่า เขาจะเอาพ่อไปแล้ว ลูกจะอยู่กับใคร จะไม่ช่วยพ่อหรือ พรรคพวกนายศิลาก็กรูกันเอากระบองมีตะปูแหลมโดยรอบซึ่งเตรียมทำไว้ ตีนายอำเภอกับพวก นายอำเภอยิงนายศิลา แต่ไปถูกคนแก่อายุ ๙๕ ปี พวกนายศิลาตาย นายอำเภอกับพวกตาย ๕ คน พวกนายศิลาเอาศพไปกองไว้หน้าคุ้มแล้วโห่ร้องไชโยกันถือว่าปราบมารได้ (นายมีเล่าเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อนายอำเภอมาสอบสวนก็เรียกเงินนายศิลา นายศิลาไม่ยอมให้ นายอำเภอจึงเอาตัวนายศิลาไป แต่นางเจริญ หางกระโทก ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่นายมีเล่าหรือไม่ ส่วนที่ว่านายอำเภอยิงนายศิลา แต่กระสุนไปถูกคนแก่อายุ ๙๕ ปี พวกนายศิลา นางเจริญ หางกระโทก ก็ไม่ได้ระบุแต่เบื้องหลังนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ากรณีน่าจะเป็นเช่นนั้นจริง) วันรุ่งขึ้น พลตำรวจจัตวามุข ศรีสมบูรณ์ นำเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ ๔๐ คน และชาวบ้านอีก ๒ หมู่บ้าน มีปืนประมาณ ๑๐๐ กระบอกเข้าล้อมจับ ปรากฏว่านายศิลากับพรรคพวกคนสนิทประมาณ ๑๐ คน หลบหนีไปก่อนแล้ว พวกนายศิลาที่เหลืออยู่ไม่มีอาวุธ ตำรวจยิงชาวบ้านในคุ้มของนายศิลาตาย ๑๒ คน มีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย จับได้ ๔๔ คน ก่อนหนีนายศิลาแจกหมากกันอาวุธให้ชาวบ้านให้ชาวบ้านในคุ้มของเขาและบอกว่าไม่ต้องกลัวปืน ถ้าเจ้าหน้าที่ยิงมากระสุนจะกลายเป็นดอกบัวไฟบูชาพวกเขา หรือมิฉะนั้นก็จะกลับเป็นลูกศรกลับไปปักอกคนที่ยิง ต่อมาในวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ เจ้าหน้าที่จับตัวนายศิลา นางประกายแก้วและพรรคพวกที่หนีไปได้ ขณะที่กำลังเดินทางผ่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี เข้าสู่ประเทศลาว นายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้ประหารชีวิตนายศิลา วงศ์สิน เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๒ ที่ป่าช้าจีน จังหวัดนครราชสีมา ส่วนพรรคพวกนายศิลาหลายคน เช่น นายมี ปัทมาและนายน้อย แก้วแรมเดือน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต (ตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ระบุว่านายศิลากับพวกมีปืนยิงเร็วและปืนเก็บเสียง
ดู พิมพ์ไทย ๓๑ พฤษภาคม ๑, ๒ และ ๔ มิถุนายน ๒๕๐๒ สยามนิกร ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๒ และ สิทธฺเดช จันทรศิริ และ คณะกรุข่าวดังในรอบ ๒๐ ปี (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว ๒๕๒๑) หน้า ๔๙-๕๔ สำหรับรายละเอียดทางด้านเจ้าหน้าที่ผู้เข้าปราบปราม และเรื่องการจับและประหารนายศิลา ข้อมูลมาจาก นายสิทธิเดช จันทรศิริ และคณะ กรุข่าวดังในรอบ ๒๐ ปี (กรุงเทพฯ : เรือนแก้ว ๒๕๒๑) และ สยามนิกร ๒๑, ๒๓ มิถุนายน ๒๕๐๒
ผู้เรียบเรียง : ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ที่มา : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑