คณะรัฐมนตรีกัมพูชามีมติวันนี้ (2 ก.พ.) อนุมัติการแก้ไขกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตราเกี่ยวกับความผิดคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่นักสิทธิมนุษยชนวิตกว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานผู้เห็นต่าง
พาย สีพัน โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า บทแก้ไขในกฎหมายอาญาได้รับการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นประธานการประชุม โดยกำหนดห้ามดูหมิ่นต่อสมเด็จพระนโรดม สีหมุนี พระประมุขแห่งกัมพูชา เพื่อรักษาและปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และโทษปรับ ตั้งแต่ 2-10 ล้านเรียลหรือ 15,500- 77,500 บาท
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกล่วงละเมิดได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษต่อผู้ล่วงละเมิด
ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เพิ่งกล่าวว่า จะมีการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดห้ามการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และมุ่งร้ายต่อพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี
สถาบันกษัตริย์ในกัมพูชาลดบทบาทลงเรื่อยๆ ในช่วง 33 ปีที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และเมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2547 พระองค์ทรงเป็นเพียงพระประมุขในด้านพิธีการเท่านั้น และไม่มีบทบาททางการเมืองเหมือนสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ พระราชบิดา ที่ทรงขับเคี่ยวทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน
ด้านนักสิทธิมนุษยชน แสดงความวิตกว่า มาตราความผิดคดีหมิ่นเบื้องสูงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในขณะที่ศาลมักถูกกล่าวหาว่าทำตามใบสั่งของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โดยรัฐบาลอาจใช้จัดการกับผู้เห็นต่าง
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์กร ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ บอกว่า มาตราความผิดหมิ่นเบื้องสูงเป็นการลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรง