วันพุธ 15 มกราคม 2025
  • :
  • :
Latest Update

ก.ม.ไซเบอร์ล้วงตับ สปท.ดันชงครม. อ้างยั้งภัยคุกคาม

 

สปท.ด้านสื่อสารมวลชนชง ครม.ปั๊ม ก.ม.ไซเบอร์ ให้นายกฯนั่งประธานกำกับ ดูแลคณะกรรมการไซเบอร์แห่งชาติ ล้วงตับข้อมูลหน่วยงานรัฐ-เอกชน ยับยั้งภัยคุกคามไซเบอร์ ใครขัดขืนไม่ทำตามโทษถึงอาญา ดันใช้ ม.44 ปฏิบัติการด่วน “คำนูณ” ท้วงห่วงละเมิดเสรีภาพประชาชน สปท.ส่อชวดอำนาจมาตรา 44 ติดจรวด ก.ม.ปฏิรูป “วิษณุ” เบรกใช้พร่ำเพรื่อ “เรืองไกร” ยื่น สตง.สอบเรือดำน้ำอีก ปมคู่สัญญา-ใช้เงินผิดวินัยการคลัง จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ครม.ทั้งคณะ นายกฯ อ้อนพยาบาลกำลังแก้ปัญหาให้อยู่วอนอย่าเดินขบวน “วิษณุ” ประชุมร่วม สธ.-สภาพยาบาล-ก.พ.ได้ข้อยุติน่าพอใจ เตรียมชงเรื่องเข้า ครม. คาดแบ่งบรรจุพยาบาลอัตราจ้าง 3 ปี ด้านเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างขู่เคลื่อนไหวถ้ารัฐเพิกเฉย ชมรมพยาบาลน่านแต่งชุดพยาบาลกว่า 300 คนโชว์พลัง

 

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน เร่งเคลื่อนเดินงานเต็มที่ หลังจากชงร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ถูกคัดค้านต่อต้านจากแวดวงสื่อสารมวลชนอย่างหนัก ล่าสุดเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความ มั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ที่ประชุม สปท.พิจารณาส่งให้ ครม.อีกฉบับ

 

สปท.ชงอัพเดตร่าง ก.ม.ไซเบอร์

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญ และเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน สาระสำคัญคือการมีมาตรการป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การสื่อสาร โทรคมนาคม และดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.ฯ ชี้แจงว่า กมธ.นำร่างที่ผ่านความเห็นจาก ครม. มาให้ข้อสังเกตและเสนอให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความ “ไซเบอร์”ให้ครอบคลุมความมั่นคงชาติทุกมิติ ทั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม ดาวเทียม กิจการสาธารณูปโภค สาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงชาติ เศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

 

ติดดาบนายกฯล้วงตับข้อมูลเอกชน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ได้แก้ไขจากเดิมที่มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มีประสิทธิภาพ เพราะนายกฯมีอำนาจกำกับดูแลทุกหน่วยงาน พร้อมยกฐานะสำนักงาน กปช.จากเดิมเป็นนิติบุคคล ที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ให้มีฐานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดย กปช.สามารถมีอำนาจสั่งการหน่วยราชการ และเอกชนให้กระทำการหรือยุติการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ รวมทั้งมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ แต่การดำเนินการเข้าถึงระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้นั้น ต้องได้รับคำสั่งศาลก่อน ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินที่หากไม่ดำเนินการ อาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้กปช. ดำเนินการ เข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังกำหนดบทลงโทษให้มีโทษทางอาญาด้วย จากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ. โดยระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ กมธ.จะเสนอให้นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ให้ตั้งคณะกรรมการกปช.ขึ้นเป็นการชั่วคราว ทำหน้าที่ไปพลางๆก่อน

 

“คำนูณ” ห่วงละเมิดเสรีภาพ ปชช.

จากนั้นสมาชิก สปท.อภิปรายแสดงความเห็น ส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องคำนิยาม “ไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป และการที่ กปช.มีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท.กล่าวว่า มาตรา 44 (3) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ที่ให้ กปช.ดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วนั้น หมายความว่านอกจากจะให้มีอำนาจดักฟังได้แล้ว ยังให้ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสมได้อีก น่าเป็นห่วงว่าการที่ กปช.มีอำนาจสั่งการครอบคลุมไปถึงเอกชนนั้น จะมีหลักประกันอย่างไรว่าอำนาจเหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าอำนาจเหล่านี้จะไม่ก้าวล่วงถึงเนื้อหาในการแสดงออกของประชาชน ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาต่อไป

 

เห็นด้วยบูรณาการเฝ้าระวังไซเบอร์

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช.กล่าวถึงกรณีที่ประชุม สปท. พิจารณาเรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ว่า ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติควรเป็นการตั้งแบบ Top down ไม่ควรมอบหมายกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นผู้ทำ เพราะภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีความซับซ้อน ทั้งในมิติของสังคมเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร จึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเท่านั้น และจะต้องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันทุกภาคส่วน โดยต้องตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ทำหน้าที่วิเคราะห์และสังเคราะห์งานด้านการข่าวไซเบอร์ที่สามารถตอบสนองได้ทันทีต่อทุกสถานการณ์ (realtime) รวมถึงการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการข่าวกรองไซเบอร์ระหว่างประเทศของสำนักงานความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติด้วยศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ เป็นเครือข่าย Cybersecurity ระดับนานาชาติ จะสามารถช่วยในการค้นหาเป้าหมาย แหล่งต้นตอการโจมตีได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และยังมีการแจ้งเตือนแนวโน้มที่จะถูกโจมตีได้อีกด้วย โดยให้มีการตั้งหน่วยงานกลางระดับชาติขึ้นมาเป็นศูนย์เฝ้าระวัง (monitor content) ในสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติจะเหมาะสมที่สุด

 

“วิษณุ” ยังไม่ได้รับร่าง ก.ม.คุมสื่อ

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการเชิญตัวแทนสื่อมวลชนมาพูดคุยหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อพูดคุยหารือร่วมกัน เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังไม่ส่งร่างกฎหมายมาที่รัฐบาล จะไปทำก่อนคงไม่เหมาะสม นอกจากนี้ สปท.ก็ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะส่งร่างกฎหมายมาเมื่อใด แต่ตามขั้นตอนแล้วประธาน สปท.จะส่งมาที่นายกฯ จากนั้นนายกฯ จะส่งให้ตนดำเนินการ อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงนายกฯ แล้วขั้นตอนจะไม่ล่าช้า เพราะจากตึกไทยคู่ฟ้ามาถึงตึกบัญชาการ แค่นาทีเดียวก็ถึงแล้ว ไม่ช้าๆ

 

สปท.ส่อชวด ม.44 เร่งปฏิรูป

นายวิษณุให้สัมภาษณ์กรณี สปท.จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ ว่า ไม่ทราบว่าไปเสนอกันที่ไหน ถ้าเสนอมารัฐบาลก็มีแนวพิจารณาเหมือนกัน อุตส่าห์ออกกฎหมายมาตรา 44 ไปแล้ว และขมวดท้ายว่าให้จัดการออกเป็น พ.ร.บ.ขึ้นมาเพื่อให้หมดสภาพความเป็นมาตรา 44 เพราะฉะนั้นอย่าคิดอะไรให้สวนกลับกัน เข้าใจว่า สปท.เจตนาดี คงมองว่าล่าช้ากลัวว่าจะไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เลือกเอาแต่ที่สำคัญอย่าคิดทำอะไรมากเกินไป ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 หรือตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เราพยายามระมัดระวังการใช้มาตรา 44 ใช้เท่าที่จำเป็น และเมื่อใช้แล้วจะขมวดท้ายว่าไปทำให้เป็น พ.ร.บ.โดยเร็ว วันนี้คำสั่งและประกาศที่ใช้มาตรา 44 มีทั้งเลิกใช้แล้ว และเตรียมจะยกเลิก การจะให้มาเพิ่มอีก 36 ฉบับ เดี๋ยวเอาไว้หารือกันอีกครั้ง 2-3 เดือนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูป ถ้าทำ 36 ฉบับให้เสร็จแล้ว จะเหลืออะไรไว้ให้เขาทำบ้าง แต่ถ้าจะเสนอมาก็ไม่เป็นไร รัฐบาลจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้น

 

กรธ.เตรียมส่ง ก.ม.ลูกฉบับ 3 ให้ สนช.

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. …ว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอะไร เมื่อวันที่ 8 พ.ค. มีตัวแทนศาลอาญามาให้ข้อมูล ได้มีข้อเสนอเพิ่มเข้ามาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในลักษณะไต่สวนคือการเขียนให้ละเอียด ไม่ให้แพ้ชนะด้วยกลวิธี หมายความว่าถ้าจะแพ้หรือจะชนะให้ไปดูข้อเท็จจริงในข้อกฎหมาย ไม่ใช่ไปดูกระบวนพิจารณาคำตกหล่นแล้วก็แพ้ชนะกันไป เช่น ให้ยื่นคำให้การภายใน 7 วัน แต่พอไม่ได้ยื่นภายใน 7 วันแล้วก็แพ้ไป โดย กมธ.จะได้พิจารณาทบทวนกัน และเมื่อเสร็จก็จะได้ส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ 3 ที่ กมธ.ส่งไปให้

 

“เรืองไกร” ยื่น สตง.สอบอีกเรือดำน้ำ

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการ สตง. ขอให้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ว่าการใช้งบประมาณเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยมีนางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 เป็นตัวแทนรับเรื่อง นายเรืองไกรกล่าวว่า ขอให้ สตง. ตรวจสอบว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ใช้วิธีรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจีจริงหรือไม่ เพราะบริษัทไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือ เคยเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลไทยมาก่อน ในลักษณะข้อตกลงระหว่างกองทัพบกกับบริษัทผู้ขายโดยตรง ไม่ใช่กับรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการก่อหนี้ผูกพัน เช่น โครงการจัดหาสะพานยุทธวิธีสนับสนุนหน่วยทหารช่าง วงเงิน 577.50 ล้านบาท มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของรัฐบาลที่ www.cabinet.soc.go.th อย่างไม่ปิดบัง แต่โครงการนี้กลับไม่เปิดเผย อีกทั้งยังเห็นว่าการดำเนินโครงการนี้ใช้จ่ายเงินที่ไม่เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

 

จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ครม.ทั้งคณะ

“ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับเรือดำน้ำในครั้งนี้ผ่านอินเตอร์เน็ต จะพบข้อมูล 3 ชิ้น คือ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไปประเทศจีนเพื่อพิจารณาเรือดำน้ำ เอส 26 ที 2.ข้อสั่งการนายกฯให้ทำเรือดำน้ำขนาดเล็กขึ้นมาเอง และ 3.เรื่องการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม สงสัยว่าข้อมูลเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำหรือไม่ และการที่ พล.อ.ประวิตรทำหนังสือเสนอเข้า ครม.เพื่อรับทราบในวันที่ 7 เม.ย. เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 60 อย่างครบถ้วนหรือไม่ หาก สตง.ไม่ดำเนินการอะไรภายในสองสัปดาห์ ตนจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เอาผิด ครม.ทั้งคณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญมาตรา 244 กรณีไม่ปฏิบัติตามหลักวินัยการเงินการคลัง” นายเรืองไกรกล่าว

 

สตง.สรุปผลสอบเตรียมแถลง

ด้านนางชลาลัยกล่าวว่า สตง.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และจะนำข้อมูลของนายเรืองไกรไปประกอบการตรวจสอบด้วย วันเดียวกันนี้ ผู้ตรวจสอบโครงการนี้จะสรุปผลสอบในเรื่องงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.รับทราบ และพิจารณาว่าจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร และจะแถลงผลสอบอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะเร็วๆนี้

 

“ลุงตู่” อ้อนเข้าใจพยาบาลวิชาชีพ

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพอัตราจ้าง ขู่จะลาออกถ้ารัฐบาลไม่บรรจุรับเป็นข้าราชการว่า เข้าใจและให้ความสำคัญ กำลังดูให้ เรื่องการปฏิรูประบบบุคลากร ต้องดูว่าขาดแคลนเท่าไหร่ และประเมินล่วงหน้า 5-10 ปี ตามแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล โดยจะต้องเป็นพนักงานลูกจ้างชั่วคราวไปก่อน และการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.จะต้องชัดเจนมากขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ตนจะให้หรือไม่ การบรรจุข้าราชการต้องดูอัตราการเกษียณที่มีหลายระดับ เช่น ซีใหญ่ๆเกษียณไปหนึ่งคนก็สามารถบรรจุระดับซีที่น้อยกว่าได้ 3-4 คน ส่วนที่เหลือก็ให้เปิดรับลูกจ้างในส่วนที่ขาด

 

วอนอย่าเคลื่อนไหวเดินขบวน

“ต้องค่อยๆไต่ ไล่ขึ้นมา ไม่ใช่ของเก่าก็เต็ม แล้วเพิ่มของใหม่ไปอีกเรื่อยๆ แต่ต้องมี 3 อย่างคือ ข้าราชการในระบบ ข้าราชการเกษียณอายุ และที่ต้องปรับทดแทน แต่ไม่ใช่ว่าเกษียณเท่าไหร่จะตั้งใหม่เท่านั้น ต้องหาวิธีลดการบรรจุ ไม่ได้หมายความว่าไม่บรรจุเลย แต่ให้ลดระดับซีใหญ่เป็นซีเล็กเพื่อเวียนเข้ามา ระบบต้องเป็นแบบนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาจะเฉลี่ยอย่างไร แต่ที่นำเข้า ครม.วันนั้น คือ ขอเปิดอัตราคราวเดียว 3 ปี ปีละ 3 พัน ซึ่งหากลดได้จะดีกว่าหรือไม่ ผมคิดว่าส่วนนี้สำคัญ ผมให้เป็นพิเศษจะไม่ให้ได้อย่างไร แต่ต้องให้แบบมีหลักเกณฑ์ตามกติกาของทุกกระทรวงที่ต้องเอาคนที่ค้างการบรรจุใส่ไปก่อน ถ้าไม่พอจะเปิดรับอย่างไรก็ว่ามา นโยบายการบริหารกำลังพลต้องเป็นแบบนี้ ผมให้นโยบายไปแล้ว อย่ามาเดินขบวนเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร บรรจุได้ก็บรรจุได้ ไม่ใช่ไม่สำคัญ แหม่จริงๆว่ะ สำคัญทุกเรื่อง ชีวิตคนไม่สำคัญได้อย่างไร ฉะนั้นอย่ามาหากินกับการเมืองกันในวันนี้ ไม่เอาไปเข้าทางคนอีก” นายกฯกล่าว

 

“วิษณุ” จ่อชง ครม. 16 พ.ค.ทยอยรับ

ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯกล่าวหลังประชุมร่วมกับ รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงและผู้บริหาร อุปนายกสภาการพยาบาล เลขาธิการ ก.พ. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กระทรวงการคลัง เพื่อหารือเรื่องการบรรจุข้าราชการพยาบาลวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุขว่า ได้ข้อยุติที่น่าจะแก้ปัญหาได้ ไม่ลำบากต่อภาระงบประมาณ และไม่เดือดร้อนกับพยาบาล มีหลายทางเลือกแต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ด้วยวาจาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ หาก ครม.มีมติไปในแนวทางใดจะทำเอกสารกลับมาให้ ครม.มีมติอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง อาจจะใช้เวลาสักนิด แต่ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากที่กระทรวงสาธารณสุขขอมา 10,992 อัตรา ซึ่งไม่ได้ทั้งหมด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้สรุปตัวเลขไม่เป็นทางการ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีอัตรากำลังที่ว่างสามารถบรรจุพยาบาลได้ราว 2,200 อัตรา ทำให้ตัวเลขที่จะเสนอขอต่อที่ประชุม ครม. เหลือประมาณ 8,900 อัตรา โดยจะแบ่งบรรจุ 3 ปี ที่ประชุมคาดว่าเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพอัตราจ้างน่าจะพอใจ

 

สธ.ยืนยันขอกำลังคนเท่าเดิม

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวหลังการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอัตราบรรจุพยาบาลวิชาชีพอัตราจ้างว่า ปัจจุบันขาดพยาบาลทำงานอีก 8,532 ตำแหน่ง จากที่มีพยาบาลอยู่กว่า 100,000 คน โดยยึดจากภาระงานปริมาณงาน เบื้องต้นการจัดสรรตำแหน่งว่างต่างๆของพยาบาลมี 1,200 ตำแหน่ง ที่จะได้ภายใน 2 เดือนนี้ และอีก 1,000 ตำแหน่ง ที่น่าจะเคลียร์ได้ ดังนั้น สธ.ยืนยันเช่นเดิมว่า จำเป็นต้องขออัตราบรรจุข้าราชการพยาบาลใน 3 ปี ราว 10,000 ตำแหน่ง และคนที่อยู่ในระบบ 100,855 คน ก็ยังลาออกอยู่ การจะดึงคนในระบบได้ก็ต้องให้อยู่ในระบบราชการ หรืออาจต้องจ้างงานแบบอื่นที่จูงใจมากๆ ทั้งนี้ อัตราที่ สธ.เสนอไป 3 ปีประมาณการว่าจะเพียงพอ สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ รู้ปัญหาว่าพยาบาลสมองไหล 3 ช่วง คือ 1.พยาบาลรุ่นใหม่ที่รอจะบรรจุแต่พอไม่ได้ก็ไป 2.อายุราว 40 ปี ลาออกเพราะเงินเดือนน้อย ไม่สามารถเลื่อนชำนาญพิเศษได้ 3.ช่วงใกล้เกษียณอายุราว 50 กว่าปี ลาออกเพราะภาระงานมาก แก้ไขโดยใช้ผู้ช่วยพยาบาลไปช่วยงาน ส่วนหากพยาบาลลาออกจริงๆย่อมต้องกระทบอยู่แล้ว เพราะขณะนี้การทำงานขาดอยู่ในระบบอีก 8,500 คน

 

พยาบาลขู่เคลื่อนไหวถ้าไม่บรรจุ

น.ส.ทิพวรรณ ทับผา ฝ่ายข่าวเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวต่อกรณีดังกล่าวนั้น ขอดูท่าทีของ สธ. และรัฐบาลว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร ขอยืนยันว่าต้องมีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการจำนวนหนึ่งหมื่นกว่าอัตรา โดยทยอยบรรจุทุกปีก็ได้ หากไม่ดำเนินการก็จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป ขณะนี้มีข้อสรุปเรื่องการเคลื่อนไหวเบื้องต้นคือพยาบาลแต่ละจังหวัดรวมตัวกันเพื่อแสดงออกในพื้นที่จังหวัดของตัวเอง โดยมี “น่านโมเดล” เป็นต้นแบบ และในวันที่ 18 พ.ค.ก็จะมีการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบเดียวกันที่ จ.บึงกาฬ

 

ชมรมพยาบาลน่านแสดงพลังโชว์

เย็นวันเดียวกัน บริเวณลานข่วงเมืองน่าน ด้านหน้าวัดภูมินทร์ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน นางรัตนาพร ทองเขียว ประธานชมรมพยาบาลจังหวัดน่าน และนางพิกุลทอง วงค์ธวัช ประธานชมรมพยาบาลชุมชนจังหวัดน่านพร้อมเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพจังหวัดน่าน 15 อำเภอ กว่า 300 คน แต่งชุดพยาบาลมาแสดงพลังประกาศจุดยืนสนับสนุนให้มีการบรรจุตำแหน่งพยาบาลทั่วประเทศพร้อมทั้งร่วมกันเปล่งเสียงร้องเพลง “จำขึ้นใจ” และเพลง “มาร์ชพยาบาล” โดยนางรัตนาพรกล่าวว่า เครือข่ายพยาบาลจังหวัดน่านกังวลต่อมติ ครม. ที่ไม่อนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพใหม่ 10,992 อัตรา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของพยาบาลวิชาชีพอัตราจ้าง หรือลูกจ้างชั่วคราวที่มีภาระงานที่หนักและต้องทุ่มเทอย่างมาก งานด้านการพยาบาลจำเป็นต้องมีคุณภาพและเพียงพอ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้เป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด การรวมตัวแสดงพลังครั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และสนับสนุนให้บรรจุตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ หากพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเสียกำลังใจและพร้อมใจกันลาออกจะส่งผลกระทบต่องานในระบบสุขภาพแน่นอน จากนั้นจึงสลายตัวโดยสงบ

 

“บิ๊กตู่” อารมณ์ดีเดินตลาดคลองผดุงฯ

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทั้งนี้ ก่อนการเข้าประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินไปให้กำลังใจตัวแทนของประเทศไทย ที่จะไปร่วมงานงาน EXPO 2017 ASTANA ที่กรุงแอสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย.-10 ก.ย. จากนั้นได้ชมนิทรรศการ โดยส่องผ่านแว่น Virtural Reality (วีอาร์) เพื่อชมนิทรรศการของคณะตัวแทนประเทศไทยนำมาเสนอ ถึงศักยภาพพลังงานชีวภาพของไทย รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย มาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ต่อมาเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงจากตึกไทยคู่ฟ้าไปเดินตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาลที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพจัดในชื่อ “สุดยอดสินค้า หลากหลายทั่วไทย หาได้ในที่เดียว” โดย พล.อ.ประยุทธ์เดินชี้โน่นชี้นี่คุยกับ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหันมายิ้มให้บรรดาผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี

 

สมช.ชง ครม.แก้มาตรการ รปภ.ชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 พ.ค. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเสนอ ครม.พิจารณาหลักการแก้ไขเพิ่มเติม ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนา สภาพแวดล้อมและภัยคุกคามด้านต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว โดยสาระสำคัญคือแก้ไขการปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือเป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นเอกชนที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้ปฏิบัติตามระเบียบฯด้วย แก้ไขเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคลให้ครอบคลุมผู้ที่อยู่ระหว่างรอว่าจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่สำคัญ หรือทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ

 

คุมเข้มกันความลับราชการรั่วไหล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังแก้ไขแบบบันทึกการรักษาความลับเมื่อเข้ารับภารกิจ แก้ไขถ้อยคำการตรวจสอบประวัติ และพฤติการณ์บุคคลปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับความลับของทางราชการ เป็น “สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ” แก้ไขเพิ่มเติมรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ให้รวมถึงวัสดุครุภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ และระบบสาธารณูปโภค โดยให้พ้นจากการบุกรุกด้วยและให้คำนึงเหตุภยันตรายที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี รวมทั้งเพิ่มเติมการทบทวนและซ้อมแผนการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และจัดให้มีอุปกรณ์เสริม มาตรการรักษาความปลอดภัยตามความเหมาะสม แก้ไขถ้อยคำป้องกันการละเมิด ฝ่าฝืน หรือละเลยทำให้ความลับของทางราชการรั่วไหล กำหนดวิธีการและแนวทางการแจ้งกรณีที่มีการละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ไม่ยอมกันให้ศาลชี้ขาดปมท่อก๊าซ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.มีมติให้อัยการสูงสุด อสส.ยื่นศาลปกครองวินิจฉัยกรณีการคืนท่อก๊าซของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นการขอให้ศาลปกครองพิจารณา ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นว่าคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน หรือกรณีมีข้อเท็จจริงใหม่ที่สามารถยื่นคำขอไปได้ ซึ่งอัยการแนะนำมาจึงได้ยื่นคำร้องไป ส่วนศาลจะรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาล โดยให้ดูเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น ไม่ได้นำมาว่ากันใหม่หมด เรื่องนี้เอกชนเคยยื่นพิจารณาใหม่แล้วหลายหนแต่ศาลไม่รับ และพบว่ายังมีช่องทางบางองค์กรอาจยื่นได้ ไม่ใช่เป็นเพราะ ครม.ไม่ทำตามความเห็น สตง. แต่ตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สตง. ปตท. กระทรวงการคลังมาหารือว่าจะตกลงกันอย่างไร แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ที่สุดเห็นว่าต้องออกมาแบบวิธีการนี้

 

ปชป.เหน็บ “วิษณุ” ทบทวนตัวเอง

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุถึงนักการเมืองว่าใกล้เลือกตั้งใครก็กลัวชาวบ้านจะลืม ว่า แม้ไม่มีการเลือกตั้งนักการเมืองก็ต้องเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน ไม่ใช่ต้องรอให้เป็น ส.ส.ก่อนถึงจะทำหน้าที่ ไม่พบยากเหมือนแม่น้ำ 5 สาย นายวิษณุพูดเหน็บนักการเมืองแทนใคร ทั้งที่ตัวท่านก็อยู่กับนักการเมืองมานานจนได้รับความไว้วางใจจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯตั้งให้เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลยุคนั้น มีบทบาทสำคัญกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จนมีรัฐบาลทหารทั้งสองก็ยังอยู่รับใช้รัฐบาลทหารดีเยี่ยม เรียกว่าบนบกอยู่ได้ ในน้ำอยู่ดี เยี่ยมยอดกว่านักการเมือง นายวิษณุต่างหากควรทบทวนตัวเอง

 

จวก สปท.เชลียร์นายหวังอยู่ต่อ

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีวิจารณ์ผลงานรัฐบาลในรอบ 3 ปีว่า แม่น้ำ 5 สายควรเปิดใจกว้างรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย สิ่งสำคัญที่ คสช. ไม่ทำใน 3 ปีคือไม่ชี้แจงว่า รัฐบาลก่อนสร้างปัญหาและมีผลกระทบใดกับประเทศ จะทำให้ตกเป็นจำเลยสังคมในอนาคต ส่วนที่ สปท.บางคนโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ให้ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงานั้น ขอชี้แจงว่า ที่นักการเมืองพูดเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องชาวบ้าน สังคมได้ประโยชน์จึงต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน แต่ สปท.บางคนที่เชียร์ผู้มีพระคุณซึ่งตั้งเป็น สปท.คงอยากให้เขาเลี้ยงไว้ต่อ เพราะทำหน้าที่ปกป้องเจ้านายได้ดีถือเป็นจุดต่างของนักการเมืองที่เป็นหนี้บุญคุณประชาชน กับคนที่เป็นหนี้บุญคุณนาย

 

ศาลทหารจำคุกยืน “ธวัชชัย” 4 ปีครึ่ง

ที่ศาลทหารสูงสุด องค์คณะตุลาการศาลทหารสูงสุดนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีดำที่ 35/50 ที่ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาคดีซุกระเบิดในรถยนต์หวังลอบสังหารนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่บริเวณสะพานข้ามแยกบางพลัด เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2549 โดยเจ้าหน้าที่จับ 3 ผู้ต้องหาคือจำเลยที่ 1 ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อดีตนายทหารสารบรรณ จำเลยที่ 2 พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ อดีตนายทหาร รปภ.ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และจำเลยที่ 3 พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือเสธ.ตี๋ อดีตนายทหารแผนกการเงิน กอ.รมน. ในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดในครอบครองไม่ได้รับอนุญาต ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 236 และมาตรา 63 รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท โดยศาลพิพากษายืนตามองค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพให้ลงโทษ ร.ท.ธวัชชัยให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท ให้ขังที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จ.นครปฐม

 

ทร.ย้ำจัดซื้อเรือดำน้ำถูกต้อง

พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง สตง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเชิงลึกในโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่า กองทัพเรือได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้วว่าบริษัท ไชน่า ชิปบิวดิ้ง แอนด์ ออฟชอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยงานรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทดำเนินการโครงการจัดหาเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลกับรัฐบาล อย่างถูกต้องแล้ว ส่วนเรื่องงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำในครั้งนี้ ได้รับการจัดสรรและบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และได้ชี้แจงแสดงเอกสารรายละเอียดด้านงบประมาณให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อย่างครบถ้วนทุกประการแล้ว

 

ขอขอบคุณ ไทยรัฐฉบับพิมพ์