วันอาทิตย์ 22 ธันวาคม 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประวัติศาสตร์ ของ”คณะกู้บ้านกู้เมือง”

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

“คลื่นใต้น้ำ”

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เริ่มกระบวนการในอันที่จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) พ้นจากข้อกล่าวหาว่ามีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์และสามารถเดินทางกลับมายังสยามประเทศจากที่ไปศึกษาดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้ ก็ได้มีการคาดคะเนอย่างน้อยในหมู่นักการทูตต่างประเทศตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมแล้วว่า มีทหารบกและทหารเรือที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งจะลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของพระยาพหลฯ

องค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงวิเคราะห์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์พระราชทานนายเจมส์ แบกซเตอร์ (James Baxter) ที่ปรึกษากระทรวงการคลังชาวอังกฤษในเดือนสิงหาคมว่ามีความอัดอั้นตันใจในหมู่บุคคลสามประเภทด้วยกัน[1] ซึ่งทรงจำแนกเป็น หนึ่ง “พวกอนุรักษนิยมแข็งตัว” (Hardened Conservative) ซึ่งยังคงเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีวิเศษ แต่ก็พร้อมที่จะต่อว่าพระองค์หากไม่ทรงตอบสนองต่อความปรารถนาของเขา สอง “พวกนิยมกษัตริย์ในระบอบรัฐธรมนูญ” (Constitutional Monarchists) ซึ่งใคร่ที่จะเห็นบุคคลที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยมเป็นผู้อยู่ในอำนาจ และจึงมีความคิดจะทำการรัฐประหารรัฐบาลของพระยาพหลฯ หากแต่ว่าพวกนี้ไม่มีการจัดองค์กรที่ดีพอและขาดผู้นำ เพราะผู้นำตามความเคยชินของเขาก็คือเจ้านายในพระราชวงศ์ ในส่วนของพระองค์เองนั้นทรงเห็นเป็นมั่นเหมาะว่า “ถ้าเจ้าพยายามจะนำ (พวกเขา) สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะถึงแก่กาลอวสาน” สาม “พวกนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น” (Die-hard Absolute Monarchists) ซึ่งคาดหวังให้พระมหากษัตริย์ทรงรวบรวมทหารหัวเมืองเข้า “ทำสงครามกับทหารกรุงเทพ” เพื่อที่จะได้ทรงทำการปกครองด้วยพระองค์เองอีกครั้ง ซึ่งแนวคิดนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าเป็น “ความบ้าดีๆ นี้เอง” (sheer madness) จึงทรงสรุปว่า “ไม่มีทางหันหลังกลับ จะต้องระดมความพยายามทั้งปวงเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญทำงานให้ได้”

หากแต่ในเมื่อรัฐบาลของพระยาพหลฯ ไม่ขอพระราชทานและไม่มีเจตนาจะขอพระราชทานคำทรงแนะนำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า การทรงขู่ว่าจะทรงสละราชสมบัติอาจเป็นวิธีการเดียวที่จะใช้การได้ กล่าวคือ หากทรงสามารถเสด็จพระราชดำเนินไปให้ห่างไกลเพียงพอจากความเสี่ยงที่จะทรงถูกกักไว้เป็นตัวประกัน (hostage) และโดยการนั้น ทรงมีอิสรภาพพอที่จะทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ ห่างจากฝ่ายต่างๆ ทั้งปวงที่ต้องการให้ทรงทำเช่นนั้นเช่นนี้ การทรงขู่อาจมีโอกาสจะมีประสิทธิผล ในเบื้องท้ายของพระราชบันทึก ทรงไว้ด้วยว่า “เป็นที่น่าเศร้าจริงๆ ที่ประชาชนตั้งความหวังไว้กับพระมหากษัตริย์จนเกินไป ทั้งๆ ที่พระองค์ไม่อาจช่วยเหลือเขาได้มากนัก จะดีกว่าหากประชาชนเข้าใจเร็วขึ้นว่าเขาต้องช่วยตัวเอง” [2]

โดยสรุป วิเคราะห์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระอาพระราชหฤทัยว่า ไม่มีพลังส่วนใดเลยในหมู่ประชาชนที่มีการจัดองค์กรหรือความมุ่งมั่นพอที่จะสกัดคณะราษฎรซึ่งทรงเห็นว่ามีแนวโน้มสู่คณาธิปไตย (การปกครองโดยคณะบุคคล) และสาธารณรัฐ (การปกครองโดยไม่มีกษัตริย์) แต่ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์สยาม ทรงตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบของพระองค์ที่จะต้องทรงบากบั่นพยายามต่อไปให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นระบบกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญอย่างที่อำนวยให้พระมหากษัตริย์ทรงสามารถปกป้องคุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชนได้จนกว่าจะถึงวาระที่ประชาชนสามารถทำเองได้ ซึ่งพระราชภารกิจนี้เป็นสิ่งที่ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้ในพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อต้นรัชกาล

 

เหตุการณ์ “กบฎบวรเดช”

ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เพียง ๑๐ วันหลังจากที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งได้เดินทางกลับมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมซึ่งในพ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ทรงลาออกจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะไม่พอพระทัยที่มีการตัดงบประมาณของกองทัพ ได้นำทัพของกลุ่มซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” จากแหล่งรวมกำลังที่นครราชสีมามาประชิดพระนครที่ทุ่งดอนเมือง ในวันเดียวกันนั้นเอง พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารซึ่งถูกปลดออกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีหนังสือถึงพระยาพหลฯ ยื่นคำขาดให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ได้ประกาศไว้ กลับสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เช่นเพิกเฉยปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และจัดการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมา ทั้งนี้ ที่กล่าวว่าหมิ่นพระบรมราชานุภาพนั้นคือการที่นายถวัติ ฤทธิเดช เลขานุการสมาคมกรรมกรรถราง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าทรงหมิ่นประมาทผู้นำกรรมกรไว้ในพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม[3]

ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ทำตามคำยื่นคำขาด แต่ได้ออกแถลงการณ์ในวันรุ่งขึ้นว่าคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็น “ผู้ก่อการจราจล” และในวันต่อมาว่าเป็น “กบฎ” พร้อมกันนั้นหลวงพิบูลสงครามได้ทำการปราบปรามอย่างเด็ดขาดด้วยการนำทหารบกรุก ส่วนทหารเรือภายใต้นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ถอนทัพเรือออกไปที่ปากอ่าวไทย ไม่ยอมยิงปืนใหญ่ใส่คณะกู้บ้านกู้เมือง ในขณะที่หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ กมลนาวิน) นายทหารเรือคนสำคัญของคณะราษฎรถูกกักตัวอยู่ที่วังปารุสกวัน กองบัญชาการของพระยาพหลฯ

คณะกู้บ้านกู้เมืองนั้นเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เหนียวแน่นนักระหว่างทหารหัวเมืองซึ่งจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาสิทธิสงครามและพวก อีกทั้งพลเรือน (รวมทั้งหม่อมเจ้า ๒-๓ พระองค์) ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะชาติซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งคณะการเมืองมาก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ ดังนั้น จึงคล้ายกับว่าเป็นแนวร่วมระหว่างกลุ่มซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเรียกคำข้างต้นว่าเป็น “พวกนิยมกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ” กับ “พวกนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างถอนตัวไม่ขึ้น” คณะกู้บ้านกู้เมือง ตั้งความหวังไว้ด้วยว่าทหารบกบางส่วนในกรุงเทพฯ ซึ่งภักดีต่อพระยาทรงสุรเดชจะให้การสนับสนุน หากแต่ว่าทหารบกส่วนนี้ได้วางเฉยและเป็นทีว่าได้ปล่อยข่าวแผนการของคณะกู้บ้านกู้เมืองให้หลวงพิบูลสงครามทราบ[4] นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่าย “กบฏ” มีกำลังน้อยกว่าที่คาด

ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเริ่มรุก คณะกู้บ้านกู้เมืองโดยพระองค์เจ้าบวรเดชได้ประกาศ “หลักความมุ่งหมาย ๖ ประการ” ของตน ความโดยสังเขปว่า ๑. ต้องจัดการให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน ๒. ต้องดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง คือการตั้งและการถอดถอนคณะรัฐบาลเป็นไปโดยเสียงหมู่มาก ไม่ใช่โดยการจับอาวุธ และต้องยอมให้มีคณะการเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ๓. ต้องแยกข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองออกจากกัน ๔. ให้ถือคุณวุฒิความสามารถเป็นหลักในการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือข้อรังเกียจ ๕. ให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ (ประเภทแต่งตั้ง) และ ๖. การปกครองกองทัพบกต้องมีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น ไม่ให้กำลังมีภาพใหญ่อยู่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง[5]

ตั้งข้อสังเกตได้ว่า หลักความมุ่งหมาย ๖ ประการนี้เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดและความต้องการที่มีไม่เหมือนกันในคณะกู้บ้านกู้เมืองเอง โดยข้อที่ ๑ และข้อที่ ๕ ดูจะเป็นความพยายามที่จะสื่อว่าการยกกำลังพลมาเป็นไปเพื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความมุ่งหมายที่จะดึงพระองค์เป็นพวกหรือไม่ก็ที่จะผูกมัดพระองค์ ข้อที่ ๒ นั้น ในเมื่อคณะกู้บ้านกู้เมืองเองได้นำกองกำลังทหารมายื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก ข้อนี้จึงดูไม่จริงใจ หากแต่ว่าการที่ต้องการให้มีคณะการเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายก็แสดงถึงความพร้อมที่จะเล่นเกมตามระบอบรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลยอมที่จะเจรจาต่อรอง ส่วนข้ออื่นๆ นั้น แม้ว่าจะมีความชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตย ก็มองภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้ว่าเป็นกลเม็ดในการระดมความสนับสนุนจากข้าราชการประจำ และเพื่อที่จะปรับสนามการแข่งขันทางการเมืองให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากกว่าที่เป็นอยู่[6]

แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการจะเจรจาต่อรองด้วย และได้ประกาศกฎอัยการศึกและนำกำลังเข้าปราบปรามฝ่าย “กบฏ” ในขณะเดียวกัน พระยาพหลฯ ได้ส่งความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่หัวหินเกี่ยวกับการกบฏและรายงานให้ทรงทราบถึงสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังทำอยู่ พร้อมกันนี้ได้เชิญเสด็จฯ กลับสู่พระนคร

 

บทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงเผชิญกับภาวะทางสองแพร่ง ทั้งนี้เพราะทั้งสองฝ่ายตั้งความหวังวาพระองค์จะทรงเลือกสนับสนุนฝ่ายของตน ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่าตนเป็น “รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตามรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็ดูจะกำลังแสวงหาสนามการแข่งขันทางการเมืองที่ยุติธรรมและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งกำลังที่ถูกระดมมาก็เชื่อตามที่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงทำให้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ข้างเขา

จึงชัดเจนว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงอยู่ว่าจะเกิดขึ้น คือการมีเจ้านายทำการลุกขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาล ได้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่ได้พระราชทานความสนับสนุน และได้ทรงเตือนพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ให้ทรงมีส่วนในการกระทำการ เพราะจะนำมาซึ่งความหายนะของสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น ก่อนหน้านั้นไม่นานพระองค์ได้ตัดสินพระราชหฤทัยไม่เสด็จฯ ไปยังพระราชวังบางปะอินที่อยุธยาเพื่อพระราชทานพระกฐินหลวงตามราชประเพณีซึ่งทรงปฏิบัติเป็นประจำ เพราะทรงเกรงว่าหากทหารหัวเมืองยกทัพผ่านลงมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะกักพระองค์ไว้เป็น “ตัวประกัน”[7][8] อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าพระองค์ทรงมีส่วนรู้เห็นในแผนการของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง และมี “เรื่องบอกเล่า” ของกลุ่มคณะราษฎรว่าพระราชทานทุนทรัพย์สนับสนุน[9]

แต่โดยที่ทั้งสองฝ่ายที่กำลังจะรบกันอยู่ได้ออกประกาศและกราบบังคมทูลว่าจงรักภักดีต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตัดสินพระราชหฤทัยประทับอยู่ที่หัวหินต่อไป ไม่เสด็จฯ กลับพระนคร พร้อมกันนั้นได้ทรงเสนอพระองค์เป็น “คนกลาง” ในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรบกัน หากแต่ว่าไม่นานต่อมาการรบพุ่งกันได้เริ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระราชหฤทัยยิ่งนักที่คนไทยด้วยกันรบกันเอง โดยมีการเสียเลือดเนื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สิ่งเดียวที่พระองค์ทรงสามารถทำได้ในขณะนั้นก็คือการรักษาพระองค์ให้ปลอดภัยด้วยกองทหารรักษาวังที่มีจำนวนไม่มาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันโดยมีพระองค์เป็น “คนกลาง” รวม ๕ ครั้ง แต่ละครั้งฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญกับการท้าทายที่ร้ายแรงที่สุดต่อความอยู่รอดของตน อีกทั้งมีความแคลงใจว่าพระองค์ทรงเป็นกลางจริงหรือไม่[10] รัฐบาลได้ส่งผู้แทนไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ กลับพระนครเช่นเดิม

ครั้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ทิ้งใบปลิวจากเครื่องบินกราบบังคมทูลว่าฝ่ายตนกำลังจะยอมแพ้ ซึ่งอาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะโน้มน้าวให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตัดสินพระราชหฤทัยเข้าข้างฝ่ายตน หลังจากนั้นไม่นาน กำลังทหารที่เพชรบุรีใกล้ที่ประทับหัวหิน ซึ่งยากที่จะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองหรือจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ยอมจำนนต่อกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล เปิดทางให้ผู้แทนรัฐบาลคนที่สองเดินทางผ่านไปหัวหินเพื่อเข้าเฝ้าฯ[11]

ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พระยานิติศาสตร์ไพศาล (วัน จามรมานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนรัฐบาล ได้ไปถึงหัวหิน แต่ยังไม่ได้เฝ้าฯ ค่ำวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เจ้านายที่เป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้เสด็จฯ โดยกะทันหันด้วยเรือยนต์พระที่นั่ง “ศรวรุณ”ลำเล็ก ซึ่งจุคนได้ไม่ถึง ๒๐ คน มุ่งหน้าไปทางใต้สู่สงขลา นับว่าอาจต้องทรงเผชิญกับภัยธรรมชาติจากคลื่นลมกลางทะเลในความมืด ปรากฏตามบันทึกของนาวาเอกหลวงประติยัตินาวายุทธิ์ (เฉียบ แสง-ชูโต) ผู้ทำหน้าที่กัปตันเรือว่า ในระหว่างทางมีเรือทหารเรือตามมา แต่ได้ยอมให้เรือศรวรุณเดินทางต่อไปได้ แต่ติดตามอยู่ห่างๆ เรือศรวรุณเผชิญกับภาวะน้ำมันหมด ต้องส่งคนขึ้นบกไปหาที่ชุมพร การเดินทางใช้เวลาถึง ๒ วันครึ่ง จึงเสด็จฯ ถึงสงขลา[12] และเข้าประทับที่พระตำหนักเขาน้อย ที่ประทับเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศว์ อดีตอุปราช ซึ่งสมุหเทศาภิบาลพำนักอยู่ในขณะนั้น ส่วนเจ้านายซึ่งประทับอยู่ตามตำหนักส่วนพระองค์ต่างๆ ที่หัวหินและข้าราชบริพารในพระองค์ที่เหลือ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวัง ได้ทรงยึดรถไฟได้ขบวนหนึ่งให้เป็นพาหนะเดินทางไปยังสงขลาตามพระราชกระแสรับสั่ง และถึงก่อนที่จะเสด็จฯ ถึง[13]

เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงยอมรับต่อเซอร์ อาร์. ฮอลแลนด์ และนายเจมส์ แบกซเตอร์ ผู้ที่รัฐบาลได้อนุญาตให้เข้าเฝ้าฯ ได้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่ได้เสด็จฯ คืนสู่พระนครจากสงขลาแล้ว ว่าแม้ว่าเหตุการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจุดยืนของพระองค์ในวิกฤตการณ์นั้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่กระนั้น พระองค์ทรงถูกตำหนิจากทุกฝ่าย ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีความแคลงใจอยู่ ได้แสดงความไม่เกรงพระทัยโดยไม่ยอมรับข้อเสนอของพระองค์ที่จะทรงเป็น “คนกลาง” ในการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าฝ่ายของเขากำลังประสบชัยชนะในการรบ ส่วนฝ่าย กบฏ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่บ้างหากพระองค์เจ้าบวรเดชไม่ได้ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ตำหนิพระองค์ว่าไม่ทรงสนับสนุนพวกตนและจึงได้นำพวกตนสู่ความปราชัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายต่อไปว่า หากพระองค์ได้พระราชทานความสนับสนุนแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเท่ากับว่าได้ทรง “ลงมาสู่เวทีการเมือง” และ “อาจได้นำอันตรายใหญ่หลวงมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์” อีกทั้งยังจะทรงเป็น “หมากเบี้ย” (pawn) ในอุ้งมือของฝ่ายที่สามารถควบคุมพระองค์ไว้ได้ แต่จากที่ทรงปฏิบัติไปนั้น ผู้คนดูจะพร้อมมากขึ้นที่จะเชื่อว่าพระองค์ “ทรงมีความจริงจังมุ่งมั่นที่จะคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นใหม่”[14]

สรุปรวมได้ว่า องค์ประชาธิปก ชายชาติทหาร ได้ตัดสินพระราชหฤทัยไม่ทรงยอมมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการสู้รบและความรุนแรงระหว่างคนไทยด้วยกัน ทรงพยายามหาทางแก้ไขความขัดแย้งรุนแรงด้วยสันติวิธี ด้วยการทรงขอให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจากัน แต่เมื่อทรงได้รับการปฏิเสธ ได้ทรงยอมเสี่ยงกับภัยธรรมชาติกลางทะเลในความมืด มากกว่าที่จะทรงยอมเสี่ยงกับการต้องทรงตกเป็น “ตัวประกัน” ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของชาติ (หัวโขนที่ทรงอยู่) ได้มีระยะห่างจากความขัดแย้งและความรุนแรงนั้น และหลีกเลี่ยงการที่จะทรงถูกกักไว้เป็น “ตัวประกัน” ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะได้ธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะได้มีโอกาสปรับเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญต่อไป ดังที่เป็นพระราชประสงค์มาโดยตลอด

แต่ก็วิเคราะห์ไปในทางตรงกันข้ามได้ว่า พระราชสถานะของพระองค์อ่อนแอลงอย่างมาก เพราะนอกจากจะทรงถูกตำหนิจากทุกฝ่ายแล้ว ยังทรงถูกมองว่าทรงอ่อนแอตรงที่ “ทรงหนี”[15] เหตุการณ์ที่ตามมา

ครั้นถึงวันที่ ๒๓-๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จในการรุกไล่ฝ่ายกบฏให้พ่ายไป พระยาสิทธิสงครามถึงแก่กรรมในสนามรบ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงหลบหนีไปยังดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการการปราบปรามได้รับการยกยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ พระยาพหลฯ และนายทหารกลุ่มหนุ่มมีความฮึกเหิม และได้จัดการจับกุมคุมขังฝ่ายกบฏไว้ประมาณ ๖๐๐ คน

วันที่ ๒๕ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชกระแสแนะนำรัฐบาลว่า เพื่อเป็นการยุติการจลาจลอย่างละมุนละม่อม “เป็นการสมควรที่รัฐบาลจะประกาศอภัยโทษให้แก่ผู้ร่วมก่อการจลาจล ตลอดจนนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว” แต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างหลักการที่ว่าจำต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเสียก่อน จึงจะพิจารณาให้อภัยโทษได้[16][17] ซึ่งก็ไม่ผิด

หากแต่ ครั้นวันที่ ๒๙ ตุลาคม รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้น (พร้อมด้วยคณะกรรมการอัยการพิเศษสำหรับฟ้องคดี) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกบฏ และจลาจล ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นทหารหรือพลเรือน มีวิธีการพิจารณาเช่นเดียวกับศาลทหาร คำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาดไม่มีอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาไม่มีทนายความแก้ต่าง รวมความว่าไม่ได้เป็นศาลสถิตยุติธรรมปกติ และนับว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม (The rule of law) ท้ายที่สุด คือเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ในบรรดาผู้ที่ถูกจับ ๖๐๐ คน มีการส่งฟ้อง ๓๑๘ คน พบว่ามีความผิดต้องโทษ ๒๙๖ คน ในจำนวนนั้นต้องโทษประหารชีวิต ๖ คน จำคุกตลอดชีวิต ๒๔๔ คน[18][19][20]

วันที่ ๕ พฤศจิกายน รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๖ เพิ่มขึ้นมา ว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษผู้ที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แม้เพียงด้วยการคบคิด ทำความตกลง หรือเตรียมการ มีความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ ๓-๒๐ ปี หรือปรับ ๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การไต่สวนให้กระทำโดยคณะกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ถ้าพบว่ามีความผิด จะให้มีโทษกักบริเวณได้เป็นเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี[21] นับเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่ใช้ศาลใดเลย และนับเป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้จับกุมได้อย่าง “เหวี่ยงแห”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามธรรมเนียมการปกครองของสยาม ทรงเป็น “เจ้าชีวิต” ผู้ทรงสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะสั่งประหารชีวิตผู้ใด ทรงปฏิเสธที่จะทรงสั่งประหารชีวิตตามคำตัดสิน เรื่องจึงค้างคาอยู่จนกระทั่งหลังการทรงสละราชสมบัติ จึงได้มีการพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นถูกเนรเทศไปเกาะตารุเตา[22]

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่สงขลานั้น ฝ่ายรัฐบาลได้ไล่จับกุมหรือตามตัวผู้ที่เห็นว่าพัวพันกับการกบฎและการถวายงานเมื่อเสด็จฯ ไปประทับที่นั่น เช่น หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวัง ในวาระนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงแนะนำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตอภิรัฐมนตรี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ พระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จออกไปนอกประเทศ โดยได้เสด็จไปประทับที่ปีนัง[23][24]

นอกจากนั้น คดีที่นายถวัติ ฤทธิเดช ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในคดีอาญาต่อสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๕ ของรัฐธรรมนูญฯ ชั่วคราว ไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ “ฉบับถาวร” มาตรา ๓ ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงกลายเป็นว่าอัยการฟ้องนายถวัติว่าเป็นกบฏและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายถวัติได้ร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง แต่สภาไม่รับไว้พิจารณา นายถวัติจึงได้เดินทางไปเฝ้าฯ ที่สงขลาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งก็ได้พระราชทาน ส่วนอัยการถูกย้ายไปอยู่จังหวัดห่างไกล[25]

การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยทางอ้อมได้สิ้นสุดลง มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ ๔๑.๕ ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ มา ๗๘ คน[26] รัฐบาลต้องการให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระนครเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๗๘ คนเท่ากัน และทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และได้กราบบังคมทูลว่าถ้าเสด็จฯ กลับ ก็จะยอมให้เสด็จฯ ไปผ่าต้อกระจกในพระเนตรซ้ายครั้งที่ ๒ ที่ยุโรป เป็นการต่อเนื่องจากที่ได้ผ่าครั้งที่หนึ่งแล้วที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔[27] ตามกำหนดที่วางไว้เดิม คือในเดือนมกราคมถัดมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงต่อรองว่าผู้ใดที่ได้ถวายงานในครั้งการเสด็จฯ มาสงขลา อย่าให้ได้มีโทษ รัฐบาลก็รับจะทำตามพระราชประสงค์[28] จึงได้เสด็จฯ คืนสู่พระนคร โดยเสด็จฯ ออกจากสงขลาด้วยเรือ “หมุยหนำ” ของบริษัทอีสต์เอเชียติค ซึ่งผ่านสงขลามาจากฮ่องกงเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม และเสด็จฯ ถึงพระนครในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมระยะเวลาซึ่งประทับอยู่ที่สงขลา ๔๗ คืน[29] ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน[30]

การณ์จึงดูเหมือนว่าได้มีการประนีประนอมกันในระดับหนึ่งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลและคณะราษฎร

 

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A