วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ดร.บุญส่ง เลขะกุล ผู้รักป่า ตำนาน”นิยมไพรสมาคม”คันฉ่องส่องยุค”คณะราษฎร”

 

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (15 ธันวาคม พ.ศ. 2450 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ หมอบุญส่ง เป็นแพทย์ ช่างภาพ จิตรกร นักเขียน และอาจารย์ มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย น.พ.บุญส่ง เกิดที่บ้านบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช มัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่โรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2467 เลขประจำตัว 2563 และสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2476 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลมเหสักข์ กรุงเทพมหานคร

ในแต่ละปี เป็นรอบร้อยปีของใครมากมาย แต่คงมีไม่มากคนที่ได้รับการระลึกถึงและให้ความสำคัญ

คนเรามีน้อยคนนักที่จะอยู่ถึงร้อยปี และน้อยยิ่งกว่าที่จะอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นหลัง เว้นเสียจากลูกหลานใกล้ชิดหรือคนในตระกูล

ใครบางคนอาจเป็นแค่คนสำคัญของใครบางคน แต่บางคนเป็นคนสำคัญของทุกคน และรวมไปถึงพืช สัตว์ โลก ธรรมชาติ ฯลฯ

เพียงแต่บางทีคนโดยทั่วไปไม่รับรู้ถึงสิ่งที่เขาทำ และไม่รู้ถึงอานิสงส์ที่ได้รับ

มีคนไทยจำนวนไม่มากที่รู้ว่าเขตป่าอนุรักษ์ในเมืองไทยที่มีให้คนรุ่นเราได้เข้าไปเที่ยวชมศึกษานั้น กำเนิดขึ้นจากการผลักดันของเขา และเป็นคนเดียวกับที่บุกเบิกงานคุ้มครองสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติวิทยาในเมืองไทย

ชีวิตและผลงานของเขาเป็นแรงบันดาลใจของคนจำนวนหนึ่ง แต่ในหมู่คนส่วนใหญ่ไม่มีชื่อเขาอยู่ในความทรงจำ

หากเอ่ยชื่อ หลายคนอาจพอนึกได้

เขาชื่อ บุญส่ง เลขะกุล

เป็นชาวสงขลา เกิดที่บ้านบ่อยาง เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๔๕๐ เป็นหมอรักษาคนไข้อยู่ช่วงหนึ่งหลังจบแพทย์ ส่วนชีวิตอีกร่วมครึ่งศตวรรษต่อจากนั้น เขาทุ่มเทให้การศึกษาและรักษาพงไพร กระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

เมื่อเขายังเด็ก (และโตเป็นนักล่าสัตว์) 

คนเราคงไม่มีใครล่วงรู้ว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นอะไร จนกว่าจะได้เป็น

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติก็คงเช่นกัน เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์ ที่ใครๆ เรียกติดปากว่าหมอ เพราะเขาเคยเป็นนายแพทย์รักษาคนไข้มาก่อน

จากบ้านเกิดที่สงขลา แม่ส่งเด็กชายมาอยู่กับลุงที่เป็นสรรพากรจังหวัดอยู่ที่นครศรีธรรมราช และได้เข้าเรียนชั้นประถมจนถึงมัธยม ๖ ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ร.ร. เบญจมราชูทิศในปัจจุบัน) แล้วมาต่อชั้นมัธยม ๗ และ ๘ ที่โรงเรียนเบญจมบพิตร ที่กรุงเทพฯ โดยมาอยู่กับพี่ชายที่ทำงานอยู่โรงพิมพ์อักษรนิติ สี่แยกบางขุนพรหม

และที่นี่เอง เขาเกือบได้เป็นคนงานในโรงพิมพ์

หมอบุญส่งบันทึกเรื่องราวชีวิตของตัวเองในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นปีที่จบชั้นมัธยม ๘ ว่า “พอสอบชั้น ม. ๘ ได้แล้ว ใครๆ จะให้ผมทำงานที่โรงพิมพ์ แต่ผมกราบเรียนคุณผู้หญิงว่า ผมอยากจะเรียนแพทย์ ท่านก็ตามใจ”

คุณผู้หญิงที่เขาพูดถึง คือภรรยาของนายวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) เจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติ และนักล่าสัตว์ป่าคนหนึ่งในยุคนั้น ทั้งสองสามีภรรยาเป็นผู้ปกครองที่ให้การดูแลเขาอย่างผู้บังเกิดเกล้า

เขาเป็นคนรักการเรียนและรักการอ่าน

เมื่อผู้ปกครองให้ติดตามไปไหนในยามกลางคืน เขาจะเอาหนังสือติดตัวไปอ่านตามเสาไฟข้างถนนด้วยระหว่างรออยู่ที่รถ

ต้นปี ๒๔๗๐ เขาได้เข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปต่อคณะแพทยศาสตร์ที่ศิริราช ในปี ๒๔๗๒ และสอบไล่ได้ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ปลายปี ๒๔๗๕ พร้อมเพื่อนร่วมรุ่นอีก ๑๔ คน

หลังจบแพทย์ หมอบุญส่ง เลขะกุล เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ช่วงหนึ่ง จนปี ๒๔๗๙ จึงไปเช่าอาคารพระคลังข้างที่ ปากตรอกโรงภาษีเก่า (ฝั่งใต้) ถนนเจริญกรุง ตั้งสหการแพทย์ ซึ่งเป็นโพลีคลินิกแห่งแรกของเมืองไทยที่มีแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่างๆ ในที่เดียว

เพื่อนคนหนึ่งที่จบแพทย์ศิริราชมาด้วยกัน เขียนเล่าถึงงานรักษาคนไข้ของหมอบุญส่งในช่วงนี้ว่า

“โดยปรกติหมอบุญส่งรักษาคนไข้อยู่ที่สหการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไปทุกแห่งที่คนไข้ตาม คืนวันหนึ่งหมอบุญส่งมาตะโกนเรียกผู้เขียนไปให้ช่วยคนไข้คลอดยากรายหนึ่ง แถวๆ ถนนตก ยานนาวา เราต้องหิ้วกระเป๋าเครื่องมือไปตามสะพานไม้แคบๆ เมื่อตรวจคนไข้กันแล้ว ก็ช่วยกันทำคลอดโดยใช้คีม ทั้งแม่และเด็กสบายดี เมื่อรอจนปลอดภัยแล้วเราจึงกลับ ปรากฏว่าสามีคนไข้เป็นคนถีบสามล้อ เราจึงตกลงกันว่าจะทำให้ฟรี”

หมอบุญส่งช่วยคนไข้ทำนองนี้ไว้มาก จนเมื่อท่านล้มป่วยลงก็มีคนที่ท่านเคยช่วยเหลือไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนกลับมาเยี่ยมถึงบ้าน ลูกชายคนรองของหมอเขียนเล่าว่า “คุณยายนั่งรถเข็นเข้ามาที่สหการแพทย์ ต้องการพบคุณพ่อ ซึ่งผมเรียนว่าท่านป่วยเป็นอัมพาต คุณยายผู้นี้น้ำตาซึม และยื่นซองสีขาวให้ เน้นว่าให้กับมือคุณพ่อ คุณยายเล่าว่าในสมัยสงครามโลก คุณพ่อขี่ม้าไปเฝ้ารักษาสามีของคุณยายเป็นเวลานาน โดยไม่รับค่าตอบแทน เพราะครอบครัวของคุณยายอยู่ในฐานะลำบาก…จนขณะนี้ครอบครัวของคุณยายมีความสุขสบาย แต่ก็ยังระลึกถึงคุณพ่อเสมอ”

แต่ครั้งยังเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ หมอบุญส่งเป็นเด็กที่ชอบวาดรูป เขียนภาพคาวบอยฝรั่งได้สวยจนมีเพื่อนๆ มาขอซื้อ และเคยเขียนดอกกุหลาบส่งประกวดได้ที่ ๑ จนมีผู้นำไปทำเป็นตราน้ำอบไทย เมื่อกองลูกเสือของโรงเรียนจัดเข้าค่าย เขาชอบการพักแรมนั้นมาก การเดินทางไกลสมัยนั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะต้องเดินทางไปในป่าจริงๆ ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นสัตว์ป่าจำพวกลิง ค่าง กวาง เก้ง ชะนี เป็นที่น่าตื่นเต้น และปลูกฝังความรักธรรมชาติลงในใจเด็กชาย

ต่อมาเมื่อได้เข้าเรียนเตรียมแพทยศาสตร์ในแผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขามีความรู้และสนใจเรื่องธรรมชาติวิทยามากยิ่งขึ้น จนจบแพทย์ก็มักจะหาเวลาออกเที่ยวป่าอยู่บ่อยๆ ซึ่งต่อมาสิ่งนี้ได้กลายเป็นเหมือนกิจกรรมหลักของชีวิต การเข้าป่าแต่ละครั้งอาจใช้เวลา ๒-๓ สัปดาห์หรือมากกว่านั้น คราวหนึ่งหมอบุญส่งเคยเดินตามลำห้วยขาแข้ง จากกาญจนบุรีขึ้นไปจนถึงตาก ทำให้ได้พบกับฝูงควายป่าที่พบเป็นแหล่งสุดท้ายของโลก

หมอบุญส่งเล่าให้อดีตกรรมการนิยมไพรสมาคมท่านหนึ่งฟังว่า ในสมัยที่ท่านเพิ่งทำงานเป็นแพทย์ สัตว์ป่ายังมีอยู่มาก การเข้าป่าไปตามจังหวัดใกล้ๆ มีสัตว์ให้ล่าแล้ว

โดยติดต่อกับชาวบ้านหรือพรานท้องถิ่น ขอเช่าหรือซื้อเกวียนคันละไม่เกิน ๒ บาท ๕๐ สตางค์ ใช้เป็นพาหนะ เวลานั้นยังไม่มีถนน หนทางเข้าสู่ป่ามีเพียงทางเกวียน

การล่าใช้วิธีการตามรอย ทำให้มีโอกาสเที่ยวชมธรรมชาติและผจญภัยในทำนองเกมกีฬาไปด้วย

การเข้าป่าล่าสัตว์ในสมัยนั้นถือเป็นเกมกีฬา และหมอบุญส่งก็นิยามตัวเองและคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกันนี้ไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งว่า นักล่าสัตว์เพื่อการกีฬา

โดยในข้อเขียนชิ้นเดียวกันยังพูดถึงกติกาหลายข้อที่นักล่าสัตว์ถือปฏิบัติ

  • ไม่ยิงสัตว์ตัวเมีย
  • ไม่ยิงสัตว์ที่ยังไม่โตเต็มที่
  • ไม่ยิงทิ้งยิงขว้าง
  • ไม่ยิงอย่างไม่จำกัดจำนวน

การล่าที่เป็นเกมกีฬา จะเลือกล่าเฉพาะแต่ตัวผู้ ตัวใหญ่ เขายาวสวยงาม บางครั้งเห็นรอยตีนใหญ่ แกะรอยตามกันอยู่หลายวัน พอเจอตัวเห็นว่าเขาบิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ยิง และการเข้าป่าในแต่ละเที่ยวเมื่อได้สัตว์ที่ต้องการก็เลิกยิง

ซึ่งหากใครทำผิดธรรมเนียมปฏิบัติ จะถือเป็นการเสียหน้า ใครยิงเอาสัตว์ตัวเมียหรือลูกเล็กเด็กแดง จะถูกเพื่อนฝูงหัวเราะเยาะไยไพให้อับอาย ต้องปกปิดกันจนถึงกับต้องให้สินบนทั้งพรานชาวบ้านและลูกหาบ ในบางหมู่บางพวกถึงกับต้องเสียโต๊ะจีนเลี้ยงเพื่อนด้วย

นักเที่ยวไพรร่วมสมัยเดียวกับหมอบุญส่ง ชื่อ สรศัลย์ แพ่งสภา เขียนเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ พรานในอดีต ชุด อาถรรพ์ป่า-สัญญาพราน ว่า ความสุขสนุกสนานที่แท้จริงอยู่ที่ได้เที่ยวป่า เข้าป่าแล้วไม่ได้ยิงอะไรก็ไม่เสียหาย พรานใหญ่หลายท่านตลอดชีวิตท่องไพรไม่มีท่านใดที่ล่าสัตว์ใหญ่อย่าง กระทิง วัวแดง เกิน ๓ ตัว ส่วนใหญ่จะเพียงตัวเดียว ที่ยิงเกินหนึ่งตัวก็เพราะพบขนาดใหญ่กว่าตัวแรก

ในงานเขียนเรื่อง บุกป่าชัยบาดาล ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนเรื่องป่าคนสำคัญของไทย ก็เล่าเรื่องในทำนองนี้ว่า “พระยาชลมารคพิจารณ์เคยล้มกระทิงใหญ่เพียงตัวเดียว ด้วยเหตุผลว่าหลังจากนั้นท่านไม่เคยพบรอยกระทิงใหญ่กว่านั้น”

ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถือว่าการออกป่าล่าสัตว์ใหญ่เป็นเกมกีฬาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ในแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในอินเดีย พม่า มลายู ซึ่งอังกฤษเข้ามาปกครอง และอินโดจีนที่ปกครองโดยฝรั่งเศส ต่างมีสโมสรนักล่าสัตว์ (Sport Hunting Club) มีการจัดระดับสัตว์เล็กใหญ่และการใช้ปืน กำหนดอาวุธและวิธีการล่าอย่างเป็นเกมกีฬา สมาชิกคนใดได้สัตว์ใหญ่หรือล่าเสือกินคนได้ จะมีการส่งไปลงเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

สรศัลย์ แพ่งสภา เขียนถึงเรื่องการล่าสัตว์ในช่วงนั้นไว้ในงานชุดเดียวกันว่า ก่อนสงคราม การล่าสัตว์เป็นเรื่องปรกติ ฝรั่งที่เข้ามารับราชการ ข้าราชการสถานทูต รวมทั้งพ่อค้าวาณิช ต่างก็ออกป่าล่าสัตว์เป็นการพักผ่อนและคบค้าสมาคมกับพรานไทย

ในเมืองไทยมีพรานที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ มาลัย ชูพินิจ (น้อย อินทนนท์) นักเขียนนามอุโฆษ ฯลฯ รวมทั้งนายวรกิจบรรหาร เจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติ ซึ่งคนหลังสุดนี้ สรศัลย์ แพ่งสภา เล่าว่า ตอนหลังแขวนปืนเพราะกระทิงใหญ่ตัวหนึ่ง

การล่าสัตว์มีกฎเกณฑ์ที่พรานพึงปฏิบัติ แม้ไม่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาศัยสัญญาสุภาพบุรุษเป็นหลัก และพรานต้องให้โอกาสแก่สัตว์ที่บางครั้งก็กลับมาเป็นคู่ต่อสู้

กระทิงใหญ่ตัวสุดท้ายที่ทำให้นายวรกิจบรรหารเลิกเป็นนักล่า เขาเจอมันที่ลาดบัวขาว นครราชสีมา มีพรานเปลี่ยน เป็นผู้ช่วย กระทิงใหญ่สวนเข้าโจมขวิด สองพรานแยกกันเข้าบังไม้ใหญ่คนละต้น คนไหนยิง กระทิงก็สวนไปทางนั้น เข้าขวิดชนิดเขาคร่อมต้นไม้ เลือดกระทิงโชกตัวพรานทั้งคู่ กว่าจะล้มได้ต้องยิงถึง ๑๑ นัด จากนั้นมาเขาก็แขวนปืน โดยบอกว่า ได้พบกระทิงนักสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิตพรานกีฬาแล้ว

หมอบุญส่ง เลขะกุล ก็เคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ มาลัย ชูพินิจ เขียนไว้ในนาม น้อย อินทนนท์ ในหนังสือ ทุ่งโล่งและดงทึบ ชุดที่ ๑ ว่า หมอบุญส่งเผชิญหน้ากับกระทิงป่วยตัวหนึ่งในป่าเมืองกาญจน์ และยิงมันตายในขณะที่มันพุ่งเข้าใส่อย่างหวุดหวิด ในระยะซึ่งเรียกกันว่าเส้นผมเดียว

โดยความสนใจส่วนตัวของหมอบุญส่ง นอกจากเดินป่าล่าสัตว์ด้วยความชื่นชอบธรรมชาติ และตื่นเต้นกับการผจญภัยอย่างนักกีฬาแล้ว เขายังเริ่มเก็บเขาสัตว์ และเก็บตัวอย่างสัตว์ชนิดต่างๆ มาสตัฟฟ์เพื่อการศึกษาและสะสมด้วย

นิยมไพรสมาคม 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศ

เล่ากันว่าขณะที่เมืองหลวงกำลังโดนถล่มอยู่นั้น หมอบุญส่ง เลขะกุล รีบย้ายเขาสัตว์หนีระเบิดก่อนจะอพยพลูกๆ เสียอีก

หมอบุญส่งกับภรรยาชื่อ สุภาพ เลขะกุล มีลูกด้วยกัน ๕ คน แต่บ้านของหมอมีสมาชิกอยู่ร่วม ๔๐-๕๐ คน เป็นญาติพี่น้องลูกหลานของทั้งสองฝ่ายที่มาอยู่เรียนหนังสือ หรือไม่ก็ทำงานที่สหการแพทย์

หลานสาวคนหนึ่งบันทึกถึงหมอบุญส่งและภรรยา ผู้เป็นปู่ย่าของเธอว่า “คุณย่าดูจะมีความสุขมากในแต่ละวันที่ได้เตรียมอะไรให้คุณปู่ คุณย่าเล่าให้ฟังว่าคุณย่ากับคุณปู่ไม่เคยทะเลาะกัน คุณปู่จะนั่งเงียบเสมอ” และ “คุณปู่นอนด้วยท่านอนที่แก้วตาจำได้เสมอ คือนอนกอดหมอนข้างเอียงขวา อาจเป็นเพราะเตียงของคุณย่าอยู่ด้านขวาของเตียงคุณปู่”

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ หมอบุญส่งปลูกบ้านหลังใหญ่ในตรอกโรงภาษีเก่า (ฝั่งเหนือ) ซึ่งต่อมาบ้านหลังนี้ก็คือที่ทำการของนิยมไพรสมาคม

หลังสงคราม ปืนดีๆ หาซื้อได้ง่าย และมีรถจี๊ปเหลือใช้งานจากสงครามอยู่มาก นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนเล่าไว้ในหนังสือ หากป่าไม้ยังอยู่ยั้ง ยืนยง ว่าการท่องเที่ยวเข้าป่าสะดวกมากขึ้น เกวียนเคยไปได้ถึงไหน รถจี๊ปจากยุคสงครามแล่นไปได้ถึงนั่น

นักล่าสัตว์สมัยใหม่นิยมซื้อรถจี๊ปเล็กเหลือใช้จากสงครามมาขับเข้าป่า ใช้ไฟสปอตไลต์ส่องยิงสัตว์ เป็นวิธีล่าที่ง่าย ไม่เหนื่อยกาย คืนหนึ่งแล่นรถส่องไฟยิงสัตว์ไปได้เป็นหลายสิบกิโลเมตร

ยิงอย่างไม่เลือกว่าจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ลูกเล็กเด็กแดง เพราะการส่องไฟยิงมักเห็นแต่ดวงตา แล้วช่วยกันยิงสุ่มเข้าไปคราวละหลายๆ กระบอก และบางครั้งยิงโดยไม่รู้ว่าเป็นสัตว์อะไร วัว ควาย สุนัข แมวของชาวบ้านโดนยิงอยู่บ่อยๆ

ยิงอย่างไม่จำกัดจำนวน ยิงได้ก็ยกขึ้นรถ แล้วส่องไฟยิงกันไปต่อ หากยิงไม่ล้มคาที่ ก็มักจะตามไม่ได้เพราะเป็นยามกลางคืน สัตว์ส่วนมากวิ่งหนีไปตายและเน่าไปเปล่าๆ

นักล่าสัตว์ที่รวยๆ บางคน ยิงจนเหลือกิน เอามาขายเอาเงินเข้ากระเป๋าก็มี

หมอบุญส่งเห็นว่าในยุคนี้ กีฬาล่าสัตว์ซึ่งเคยมีกติกามารยาทได้ถูกทำลายลงหมดแล้ว กลายเป็นการฆาตกรรมทำลายอย่างน่าขายหน้า

“จึงเกิดมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสนใจในเรื่องป่าและสัตว์ป่า บางคนก็สนใจมากไปจนถึงคอนเซอเวชั่นด้วย บุคคลพวกหลังนี้จึงมาปรึกษากันว่า ‘ตายอ่าละวา พวกเราพากันมาแข่งกันทำลายทรัพยากรอันเป็นมรดกของชาติ พากันทำลายป่าอย่างกับเป็นของไร้ค่า พากันทำลายสัตว์ป่าอย่างกับของที่ไม่มีประโยชน์เช่นนี้… หากเราทำลายทรัพยากรหมดสิ้นแล้ว ลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร’ พูดจาปรึกษากันอย่างที่ว่าแล้ว ก็รวมหัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้น เรียกว่า นิยมไพรสมาคม”

ตามรายนามคณะกรรมการสมาคม มีบุคคลชั้นคุณพระคุณหลวง ข้าราชการ ทหาร และผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อในเวลานั้น โดยมีนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เป็นเลขานุการ แต่เป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการ

นายแพทย์นัดดา ศรียาภัย อดีตกรรมการคนหนึ่งของนิยมไพรสมาคม ที่ร่วมงานอยู่กับนายแพทย์บุญส่งจนท่านล้มป่วยครั้งสุดท้าย เชื่อว่าแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติของหมอบุญส่งมาจากการที่มีโอกาสไปสัมผัสความงามของธรรมชาติและองค์ประกอบของธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้าป่าล่าสัตว์

นิยมไพรสมาคมตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๖ โดยใช้บ้านของหมอบุญส่งเป็นที่ทำการ มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่การให้ความคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ในหนังสือ ความฝันที่เป็นจริงของคุณหมอบุญส่ง เรียบเรียงโดย ธนพล สาระนาค ถ่ายทอดข้อเขียนของ กมล โกมลผลิน จิตรกรที่เคยทำงานอยู่กับหมอบุญส่งในยุคหนึ่ง และบอกว่ารู้สึกมีเกียรติที่ได้ร่วมอยู่ในห้องทำงานประวัติศาสตร์นั้น

กมลบรรยายภาพและบรรยากาศในห้องนั้นไว้ในหนังสือ อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ว่า “ห้องโถงใหญ่ เพดานสูง กว้างขวาง เป็นทั้งห้องทำงาน ห้องรับแขก ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหาร ห้องค้นคว้า และห้องรวบรวมตำรา ค่อนข้างอบอ้าว กลิ่นลูกเหม็นในลิ้นชักเก็บตัวอย่างนกโชยอยู่ทั้งวัน บนผนังห้องทั้งสี่ด้านมีเขาสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งเขาเนื้อสมันติดอยู่ทั่วไป ต่ำลงมาเป็นลิ้นชักรวบรวมตำราเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากมาย ส่วนที่รายล้อมอีกสามด้าน คือตู้ลิ้นชักเก็บตัวอย่างนกหลายร้อยชนิด รวมทั้งตัวอย่างสัตว์ชนิดอื่นๆ ทั้งที่เป็นหนังและดองอยู่ในขวด ห้องนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเพื่อการศึกษาค้นคว้า มิใช่เป็นเพียงห้องสะสมซากสัตว์เพื่อประดับบารมี เสียงพัดลมเพดานหมุนแทรกอยู่ในความเงียบสงบ มีโต๊ะยาวซึ่งเต็มไปด้วยตัวอย่างนกชนิดต่างๆ จานผสมสีสำหรับวาดภาพนก กองหนังสือและกองจดหมายมากมายที่จะต้องตอบ มีโคมไฟตั้งโต๊ะอยู่สองดวง ห้องนั้นคือที่ทำงานของหมอบุญส่ง”

หมอบุญส่งกำลังบรรยายให้กับเหล่าลูกเสือที่เข้าร่วมค่ายเยาวชนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙(ภาพ : เจฟฟรีย์ แมคนีลลี)   

นายแพทย์นัดดา ศรียาภัย เล่าด้วยว่า ในบางครั้งห้องนี้ยังใช้เป็นที่ประชุมกรรมการ ห้องบรรยายให้ความรู้ ตลอรับแขกชาวไทยจนถึงชาวต่างชาติ

นายแพทย์โอสถ เลขะกุล ลูกชายคนรองของหมอบุญส่ง เขียนถึงสิ่งที่เห็นภายในบ้านตัวเองว่า “เราจะมีแขกต่างประเทศ นักวิทยาศาสตร์ นักเรียน นักศึกษา มาบ้านเราทุกวัน สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงที่เอื้ออาทรของท่านประกอบด้วยอารมณ์ขัน สนุก และมุกในการพูดของท่านทำให้แขกไม่ต้องการลากลับ ในหลายๆ ครั้ง คุณแม่และพนักงานต้องเข้าครัวทำอาหารเลี้ยงนักเรียนซึ่งขอต่อเวลาฟังการบรรยายออกไปเรื่อยๆ เพราะเด็กไม่ยอมกลับ พวกคุณครูผู้ควบคุมก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร”

และจากในห้องนี้-ห้องโถงในบ้านเลขที่ ๔ ตรอกโรงภาษีเก่า อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร คือสถานที่และจุดตั้งต้นของการสร้างคุณูปการใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติของชาติไทย และส่งให้ชื่อหมอบุญส่ง เลขะกุล ได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของเมืองไทย

วางปืนจับปากกา 

จากอดีตนักล่าสัตว์คนหนึ่ง นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล วางปืนเลิกยิงสัตว์หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงไม่นาน (สงครามยุติ ปี ๒๔๘๘)

หมอบุญส่งเล่าเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตไว้ในบันทึกของอดีตผู้สื่อข่าวคนหนึ่งว่า หลังเข้าป่าปากช่องมา ๒-๓ สัปดาห์ กำลังจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ มีชาวบ้านจากอำเภอปักธงชัย (นครราชสีมา) มาอ้อนวอนให้ไปช่วยล้มช้างโทนเกเรเชือกหนึ่ง

“ผมบอกว่าไม่มีเวลาแล้ว และต้องกลับไปรักษาคนไข้ ชาวบ้านถึงกับก้มลงกราบว่า ‘มีแต่คุณพ่อคนเดียวที่จะช่วยพวกผมได้ ช้างตัวนี้ทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านหมดเนื้อหมดตัวมาหลายปีแล้ว เหยียบคนตายไปหลายคน ปีนี้ทั้งพริกทั้งข้าวไม่มีเหลือเพราะถูกเหยียบย่ำทำลายหมด ถ้าคุณพ่อไม่ช่วย พวกผมคงอดตายและต้องถูกเหยียบตายอีกหลายคน’ เมื่อเสียอ้อนวอนไม่ได้ ผมบอกชาวบ้านว่าจะปลีกเวลาให้ ๒-๓ วัน เพื่อจะไปดูว่าช้างนั้นเกเรจริงหรือไม่”

ชาวบ้านพาหมอไปถึงป่าที่ช้างโทนอาละวาด พบร่องรอยพืชไร่ที่ถูกช้างเหยียบย่ำทำลาย ระหว่างนั้นก็มีชาวบ้านมาบอกว่าช้างเพิ่งพังกระท่อมหลังหนึ่ง และฆ่าผู้หญิงไปคนหนึ่งเมื่อคืนก่อน หมอเดินทางไปดูก็ได้เห็นภาพที่น่าสลดใจ

ชาวบ้านบอกว่าช้างตัวนั้นยังหากินอยู่ใกล้ๆ ทำให้หมอคิดว่าคงจะใช้เวลาไม่นานในการติดตามและหยุดช้างตัวนั้นให้ได้

แต่เอาเข้าจริงหมอบุญส่งต้องใช้เวลาถึง ๑๙ วันไปกับการกรำฝนติดตามช้างตัวนั้นกับพรานคนหนึ่ง ก่อนนั้นก็เคยมีพรานหลายคนตามล่า แต่ไม่มีใครได้เข้าใกล้ ชาวบ้านเชื่อว่ามันเป็นช้างผีสิง

ระหว่างที่ติดตาม หมอบุญส่งก็สังเกตได้ว่า ช้างพลายงางามตัวนั้นดูจะฉลาดมาก คิดอ่านคล้ายคน เข้าใจหลอกล่อคนที่ติดตาม หลายครั้งที่เกือบจะมีโอกาสล้มมัน แต่มันหลบหลีกจนได้

“จนวันสุดท้ายที่ผมบอกกับตัวเองว่า สภาพตนเองคงติดตามต่อไปไม่ไหว เพราะต้องนอนอยู่กับดินแฉะๆ อาศัยรากไม้เป็นหมอน เสื้อผ้าก็เปียกปอนเพราะฝนพรำทั้งวันทั้งคืน พรานนำทางก็ติดกัญชา จะหุงข้าวหรือทำกับข้าวก็ต้องปนกัญชา หากล้มไม่ได้วันนี้ก็ต้องกลับ”

หมอเล่าว่าวันนั้นทุกอย่างดูจะเปลี่ยนไป ฝนหยุดตกเมื่อเขาเริ่มออกตามรอย และพบมันหากินอยู่ใกล้ๆ ที่พัก ดูเหมือนว่ามันมายืนรออยู่ และได้ยิงช้างนัดหนึ่ง

“เมื่อช้างตัวนั้นล้มลง พบว่าตามตัวช้างมีรอยถูกยิงมาหลายนัด ทำให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่ช้างตัวนั้นดุร้าย เมื่อทุกอย่างจบสิ้นลง ฝนตกลงมาอย่างหนักไม่ลืมหูลืมตา มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก ทั้งหนาวทั้งร้อนในเวลาเดียวกัน ในใจชมเชยความชาญฉลาดของมัน และหากว่ามันไม่เป็นอันตรายต่อชาวบ้านแล้ว มันยังคงมีโอกาสท่องเที่ยวหากินต่อไป”

ชาวบ้านตื่นเต้นกับข่าวการล้มช้าง พากันมาดูซากกันมากมาย และกราบไหว้หมอที่ช่วยให้พวกเขาพ้นทุกข์จากความอดอยากและอันตราย

“แต่ผมก็ตั้งสัจจะกับตนเองว่า ช้างพลายโทนตัวนี้เป็นสัตว์ป่าตัวสุดท้ายสำหรับชีวิตการล่า ผมจะเลิกยิงปืนอีกต่อไป ไม่สนใจแม้แต่งางามของมัน”

แล้วหมอก็หันมาจับปากกาเป็นผู้พิทักษ์รักษาชีวิตสัตว์และพงไพรอย่างจริงจังมาตั้งแต่บัดนั้น

งานคอนเซอร์เวชัน (conservation) ที่เกิดจากการริเริ่มของหมอบุญส่ง เลขะกุล ในตอนนั้น อาจนับได้ว่าเป็นการกำเนิดงานอนุรักษ์ธรรมชาติยุคแรกของเมืองไทย ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีคำว่า การอนุรักษ์

งานเผยแพร่ความรู้ถือเป็นกิจกรรมหลักของนิยมไพรสมาคม ซึ่งทำผ่านหลากหลายรูปแบบ อาทิ เขียนเรื่องและนำภาพถ่ายลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ จัดบรรยายประกอบการฉายสไลด์หรือภาพยนตร์ รวมทั้งการออกนิตยสาร นิยมไพร รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ออกในเดือนเมษายน ๒๕๐๑

แม้เมื่อมาเปิดอ่านในปัจจุบัน ในทุกหน้าของแต่ละเล่มยังสัมผัสได้ถึงไฟในตัวคนทำ ในแง่เนื้อหา นอกจากข่าวสารความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและชีวิตสัตว์ทั้งของไทยและในระดับโลกที่เป็นส่วนหลักของเล่ม เรื่องประกอบที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่มีการนำมาสอดแทรกไว้ในแต่ละเล่มก็เข้มข้นและแรงในเชิงเนื้อหาไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพฟ้องเรื่องป่าสงวนที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปกป้องรักษาไว้ได้ ภาพกรรมการผู้หนึ่ง (หมอบุญส่งเอง) หอบหิ้วเขาสัตว์ต่างๆ ซึ่งกำลังสูญพันธุ์จากเมืองไทยไปเที่ยวขอความเป็นธรรมจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งการติดตามประเด็นต่างๆ ของรัฐบาลก็ถูกนำลงพิมพ์เผยแพร่ต่อด้วย

อย่างในเวลานั้นคณะรัฐมนตรีเพิ่งลงมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการปราบปรามการทำลายป่าไม้โดยเด็ดขาด นิยมไพรสมาคมจึงมีหนังสือไปขอทราบความคืบหน้าว่าได้ดำเนินการไปอย่างใดบ้าง เมื่อได้รับหนังสือตอบก็นำมาลงพิมพ์ด้วยแม้ว่าจะยังไม่มีความคืบหน้า “ฉะนั้นเราจึงยังไม่มีข่าวอันใดที่จะเสนอท่านสมาชิก ข้อความพิสดารของหนังสือจากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีดังต่อไปนี้”

หนังสือตอบถูกนำมาลงพิมพ์ทั้งฉบับ แต่ส่วนสำคัญที่ว่ามีความพิสดารอยู่ช่วงท้าย “…กระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณในความสนใจของนิยมไพรสมาคมเป็นอย่างมาก ส่วนการพิจารณาปราบปรามการลักลอบถางป่าซึ่งคณะกรรมการกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเปิดเผย…”

บรรณาธิการหรือผู้อ่าน นิยมไพร คงงงและเข้าใจได้ยาก–ผลการปราบปรามการทำลายป่าเป็นเรื่องไม่สมควรเปิดเผย !

งานเขียนส่วนหนึ่งของหมอบุญส่งก็ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายเดือนฉบับนี้ และต่อมาบางส่วนถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่ม เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่สำคัญมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาตินานาสัตว์, Mammals of Thailand (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย) ฯลฯ

นอกจากนี้นิยมไพรสมาคมยังจัดพิมพ์หนังสือชุดนิยมไพร ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นับสิบเล่มในช่วงปี ๒๔๙๗ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าแต่ละชนิด อาทิ สัตว์ป่าเมืองไทย, วัวแดง, แรดไทย, เนื้อสมัน, สิงห์โต, ยีราฟ, ม้าลาย, ฮิปโปโปเตมัส, ช้าง (ไทย) เป็นต้น


ส่วนงานเขียนชิ้นเอกเล่มหนึ่งของหมอบุญส่ง เรื่อง “ชีวิตของฉันลูกกระทิง” นั้นเคยพิมพ์เป็นตอนครั้งแรกใน ชัยพฤกษ์ เมื่อพิมพ์เป็นหนังสือเล่มก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนในเวลาต่อมา เป็น ๑ ใน ๑๐๐ หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ในโครงการวิจัยของ สกว. และเป็น ๑ ใน ๕๐๐ หนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน ของสมาพันธ์องค์กรเพื่อการพัฒนาหนังสือฯ

และมีพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “หนังสือเกี่ยวกับป่าซึ่งคุณหมอบุญส่งแต่ง เล่มที่ชอบที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง ชีวิตของฉันลูกกระทิง เป็นเรื่องของลูกกระทิงตัวน้อยๆ ที่เที่ยวไปในป่า เที่ยวคุยกับสัตว์ต่างๆ ชนิดที่อยู่ในป่านั้น ทำให้รู้วิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น”

ฝีมือน่าคารวะ 

หน้าแรกของนิตยสาร นิยมไพร ทุกเล่ม เขียนว่า

นิยมไพร เป็นหนังสือรายเดือน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหล่าสัตว์ป่า

และนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ก็ได้ใช้ความเป็นนักเขียนและความรอบรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากการท่องไพรติดตามชีวิตสัตว์ป่า มาถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นต่อๆ มาได้เรียนรู้จนปัจจุบัน เป็นงานเขียนที่หนักแน่นด้วยข้อมูลอย่างคนที่รู้จริง จากการติดตามศึกษาชีวิตสัตว์ด้วยตัวเองมาโดยตรง ฉายภาพชีวิตในราวไพรได้อย่างเห็นภาพ และกระทบใจผู้อ่าน

อย่างงานเขียนเรื่อง “ความรักของแม่กวาง” ที่ตีพิมพ์ใน นิยมไพร ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนเมษายน ๒๕๐๑ หรือเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ถือเป็นงานเขียนที่ครบเครื่องถึงความเป็นวรรณกรรมชั้นดี ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง สำนวนวรรณศิลป์ ฉายภาพการล่าสัตว์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งการแทรกใส่แนวคิดของผู้เขียน และวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

ผู้เขียน (นพ. บุญส่ง เลขะกุล) เปิดเรื่องว่า มีภรรยาของเพื่อนมาหาที่บ้านด้วยสีหน้าที่ไม่สู้ดี หลังไถ่ถามโต้ตอบกันถึงสาเหตุของการมาเยือนแต่เช้าตรู่ พอเร้าความอยากรู้ของผู้อ่านแล้ว ผู้เขียนก็ปล่อยให้คุณสุนีเล่าเรื่องให้ฟัง

คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่แล้วมานี้ อิฉันไปกับพี่เจริญ แล้วก็มีคุณหนุ่ยไปกับคุณนิด ภรรยาของเขาอีกคู่หนึ่ง รวม ๔ คนด้วยกัน ว่าจะไปยิงกวางยิงเก้งที่ป่าเมืองกาญจน์

เราไปรถจี๊ปเล็ก ไปแวะที่หมู่บ้านทุ่งอีหลอก รับเอาคนนำทางที่นั่นไปคนหนึ่งชื่อ ตานิล เราหุงต้มอะไรกินกันที่บ้านตานิล พอดีค่ำเราก็ออกจากทุ่งอีหลอก ข้ามลำตะเพิน ผ่านไปทางพุควาย พุพรม เดือนมืดสนิท เราส่องไฟฉายสปอตไลต์ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่พบตาสัตว์อะไรเลย ตกราวสามถึงสี่ทุ่ม เราก็ไปเลยเขาสิงห์โต พอถึงพุน้ำคัน เราก็พบกับดวงตาอะไรเข้าสองคู่ ดวงตาสีฟ้าจางๆ ครั้งแรกดวงตานั้นอยู่ใกล้ๆ กัน แต่สักประเดี๋ยวดวงตาที่อยู่สูงกว่านั้นวิ่งหายไป เราเอาไฟฉายอีกดวงส่องตามดู เห็นมันวิ่งไปหน่อยหนึ่ง แล้วหยุดดูมาทางเราอีก ชะรอยมันคงจะรออีกตัวหนึ่งซึ่งยังคงยืนตะลึงดูไฟฉายของเราเฉยอยู่

“เป๊บ เป๊บ เป๊บ” เสียงแม่กวางที่วิ่งห่างออกไปนั้นร้องลั่น

“กวาง” เสียงตานิลกระซิบ

“โป้งๆ! โป้งๆ!” เสียงปืนลั่นขึ้นซ้อนๆ กันจากปืนแฝดของคุณเจริญและคุณหนุ่ย คนละ ๒ นัดซ้อน เขายิงตัวที่ยืนอยู่ใกล้ยังไม่ทันหนี

“อยู่แล้วๆ” เสียงตานิลร้องขึ้นเบาๆ ด้วยความดีใจ

คุณเริญก็ขับรถไปที่ที่กวางถูกยิง

เราไปถึงที่ที่เห็นกวางตัวนั้นล้ม แต่แปลกใจเหลือเกิน เรามองหามันไม่พบ ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน

เมื่อหากวางที่ถูกยิงไม่พบ คณะนักล่าก็ขับรถส่องไฟหายิงสัตว์ตัวอื่นต่อไป แต่ไม่พบสักตัว จึงมาหาที่นอนกันใต้โคนไม้ โดยผู้หญิงสองคนนอนบนรถ

ระหว่างที่นอนอยู่ก็ต้องตกใจตื่น เพราะมีคนมายิงปืนอยู่ใกล้ๆ คุณสุนีนึกกลัวลูกหลง จึงชวนคุณนิดลงมานอนบนพื้นข้างล่าง

ต่อจากนั้นผู้เขียนก็สะท้อนภาพตัวละครให้ผู้อ่านได้สะท้อนใจ-ในเรื่องใจเขาใจเรา

คุณนิดลงมาจัดแจงนอนข้างล่างตามที่ดิฉันบอก

“ถึงทีเราเองกลัวจะถูกยิง แต่ถึงทีอ้ายกวางนั่น เรายังส่องยิงมันได้” เสียงคุณนิดว่า

“พูดบ้าๆ อะไรก็ไม่รู้” เสียงคุณหนุ่ยตวาดขึ้น “ขืนพูดบ้าๆ อย่างนี้ ทีหลังฉันจะไม่พามาอีกละ ทำเป็นคนใจอ่อนแล้วริมาเที่ยวป่าทำไม”

เวลาระหว่างค่อนรุ่งของคืนนั้น ผู้เขียนใช้เป็นฉากฉายภาพการล่าสัตว์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านการสนทนาของตัวละครจากเมืองกับพรานท้องถิ่น

“เอ สัตว์ป่าหมู่นี้น้อยลงไปเต็มทีแล้วนะ หรือไง” เสียงคุณหนุ่ยเอ่ยขึ้นก่อน

“ถูกแล้วครับ น้อยลงกว่าแต่ก่อนสักสี่สิบห้าสิบเท่าเห็นจะได้” ตานิลบอก

“ไหงถึงได้น้อยลงไปยังงั้นเล่าตานิล” คุณเริญถาม

“มันจะไม่น้อยลงไปยังไงไหว” ตานิลว่า “มาส่องกันทุกคืน คืนละ ๑๐ คัน ๒๐ คัน สัตว์ป่าที่ไหนมันจะออกลูกมาให้ยิงกันหวาดไหว ดูแต่กระต่ายป่าซีครับ มันออกลูกเร็วยังกะอะไรดี ออกลูกปีละหลายๆ ครอก ครอกละหลายๆ ตัว เมื่อสิบกว่าปีมานี้ตามทุ่งในป่าเมืองกาญจน์มีตั้งแสนๆ แต่เดี๋ยวนี้ซิครับ หาดูสักตัวก็ยังยาก ยิงกันจนหมดป่าไปเลย”

“ถ้าลงกระต่ายหมดป่าได้ละก็ สัตว์อื่นๆ ก็คงหมดไปก่อนเป็นแน่” คุณหนุ่ยพูดขึ้นเปรยๆ

“เมื่อสักสิบปีที่แล้วมานี้ ป่าแถวนี้ยังมีละองละมั่งและเนื้อทรายชุกชุมออก” นายนิลแกเล่าให้ฟัง “พอเลิกสงคราม เรามีรถจี๊บมาใช้เดินป่า ใครๆ ก็ชอบมาส่องไฟยิงสัตว์ สัตว์ป่าก็เลยหมดสิ้นสูญพันธุ์ไปตามๆ กัน ละองละมั่งและเนื้อทรายสูญพันธุ์ไปก่อนสัตว์อื่นๆ เพราะมันไม่รู้จักไปหลบซ่อนอยู่ตามป่ารก ๆ อย่างกับกวางป่า”

“กวางกับอีเก้งนี่ ดูยังมีเหลืออยู่มากไม่ใช่รึ” คุณหนุ่ยถามขึ้น

“ก็มีเหลือไม่มากนักหรอกครับ” ตานิลว่า “ถ้ายังคงยิงกันไม่เลือกตัวผู้ตัวเมีย ไม่เลือกว่าลูกเล็กเด็กแดงอยู่ยังงี้ ผมนึกว่าอีกไม่กี่ปีกวางกับอีเก้งก็คงจะหมดป่าเมืองกาญจน์เหมือนกันแหละครับ”

พูดกันไปพูดกันมาอีกไม่ช้าก็เริ่มมีแสงเงินแสงทองจับเรื่อๆ ขึ้นมาทางขอบฟ้าด้านตะวันออก คุณเริญเอาหม้อสนามลงมาต้มน้ำชงกาแฟ พอดื่มกาแฟร้อนให้อุ่นท้องได้คนละถ้วย พระอาทิตย์สีแดงเข้มดวงเท่ากระด้งยักษ์ก็ค่อยๆ เยี่ยมขอบฟ้าขึ้นมาไรๆ เรารีบจัดแจงข้าวของให้เข้าที่แล้ว ก็สตาร์ทรถบ่ายหน้าไปทางพุน้ำคัน เพื่อค้นหากวางที่เรายิงไว้เมื่อคืนนี้ต่อไป

ไปตั้งต้นจากจุดที่ยิง แล้วเดินตามรอยเลือดไปเรื่อยๆ

เราเดินตามไปได้สัก ๔-๕ เส้น เราก็เห็นตานิลย่อตัวลงแล้วชี้ให้คุณเริญดูอะไรข้างหน้า อิฉันก็มองตามไป เห็นแม่กวางตัวหนึ่งกำลังยืนเลียซากลูกน้อยที่นอนนิ่งอยู่บนพื้นดินข้างหน้าของมัน อิฉันเห็นคุณเริญยกปืนขึ้นประทับ แต่แม่กวางตาไวนั่นเห็นเสียก่อน ก็เผ่นโจนหนีเข้าป่ารกข้างๆ นั้นไป

อิฉันเห็นตานิลโบกมือให้ทุกๆ คนหาที่ซ่อนหลบเข้าหลังพุ่มไม้และต้นไม้ใหญ่ๆ เสร็จแล้วแกก็เด็ดเอาใบไม้ที่ข้างๆ ตัวของแกขึ้นมาเป่า เสียงดัง “แอ๊ แอ๊ แอ๊”

แกเป่าอยู่เช่นนั้นได้สัก ๓-๔ นาที อิฉันก็เห็นแกเอามือชี้ให้คุณเริญดูอะไรที่ข้างๆ พุ่มไม้รกๆ ข้างหน้าอีก คราวนี้ฉันได้เห็นแม่กวางตัวนั้นค่อยๆ ก้าวเท้าออกมาจากพุ่มไม้หนานั่น พอเสียงเป่าดังแอ๊ๆ หนักขึ้น มันก็รีบเดินออกมายังซากลูกของมัน ไม่มีปัญหา มันคงนึกว่าเป็นเสียงลูกของมันร้องเรียก มันคงนึกว่าลูกของมันร้องให้ช่วย มันจึงกล้ากลับเข้ามาหาลูก ทั้งๆ ที่มันรู้ว่ามีคนอยู่ในที่นั้น

“ปัง! ปังๆ!” เสียงปืนจากคุณหนุ่ยและคุณเริญดังลั่นซ้อนๆ ขึ้นอีก

อิฉันเห็นแม่กวางนั่นล้มลงไปบนซากลูกของมัน แต่มันยังไม่ตาย อิฉันเห็นมันผงกหัวขึ้นแล้วมองมาทางพวกเรา ดวงตาของมันเบิกกว้างด้วยความตื่นเต้นตกใจ มันทำหน้าตาทะเลิ่กทะลั่กจะเผ่นหนี แต่ตะโพกของมันหัก ขาของมันก็หัก มันหมดโอกาสที่จะหนีเอาชีวิตรอดเสียแล้ว

“ปัง!” เสียงปืนคุณเริญดังขึ้นอีกนัดหนึ่ง แล้วอิฉันก็เห็นหัวของแม่กวางตัวนั้นล้มพับลงบนดิน เห็นมันดิ้นอยู่อีก ๒-๓ พรืด แล้วก็เงียบไปข้างซากลูกของมันนั่นเอง

อิฉันใจหายหมด ใจหายอย่างบอกอะไรไม่ถูก อนิจจาแม่กวาง แม่กวางผู้น่าสงสาร เรายังจำได้ว่าเมื่อคืนนี้เราเห็นดวงตาของมันทั้งสองตอนที่เราส่องไฟ เราเห็นว่าแม่กวางนี้พยายามจะพาลูกของมันหนี แต่ลูกกวางน้อยนั่นมัวตะลึงพรึงเพริดกับแสงไฟฉาย ลูกกวางจึงถูกยิง พอลูกถูกยิงแล้ว แม่กวางก็คงจะวิ่งแตกตื่นหนีไปด้วยอารามตกใจชั่วแล่นหนึ่ง พอหายตกใจมันก็คงจะเวียนกลับมาเที่ยวหาลูก มาพบซากลูกซึ่งวิ่งไปตายห่างจากที่ที่ถูกยิงสัก ๔-๕ เส้น แล้วมันก็คงจะพยายามลูบเลียลูกน้อย หวังจะให้ลูกฟื้น มันคงยืนเลียยืนปลอบลูบเช่นนั้นมาตลอดคืนจนสว่าง จนพวกเราตามมาเห็นเข้า มันจึงเผ่นหนีไป แต่พอตานิลเป่าใบไม้ทำเสียงเหมือนลูกของมันร้อง มันก็หมดกลัว วิ่งกลับมาหาลูกด้วยจิตใจความรักของแม่ และในที่สุดแม่ผู้รักลูก แม่ผู้กล้าหาญก็พลอยสิ้นชีวิตตามลูกไปด้วยอย่างน่าเศร้าใจ อิฉันเศร้าแสนเศร้า พออิฉันเดินเข้าไปเห็นซากกวางแม่ลูกนั่นชัด เห็นเลือดกำลังไหลรินๆ ออกมาจากหน้าอกและที่คอของแม่กวาง อิฉันก็ปล่อยโฮออกมาเสียงดังลั่น อิฉันร้องไห้ อิฉันร้องไห้อย่างตื้นตันใจ ร้องด้วยความสงสาร สงสารในความรักลูกของแม่กวาง โถ มันคงรักลูกของมัน เช่นเดียวกับที่เรารักลูกๆ ของเรา มันจึงยอมตายอยู่กับลูกของมัน ฉันร้องไห้ ฉันร้องไห้เมื่อนึกถึงลูกของฉัน ฉันรู้แน่ว่าถ้าใครมาทำลูกฉันเช่นนี้ ฉันจะต้องตายตามลูกของฉันเช่นเดียวกับแม่กวางตัวนี้ ฉันร้องไห้ ฉันร้องไห้ ฉันร้องอย่างไม่อายใครทั้งหมด คุณนิดก็พลอยร้องไห้ตามอิฉันไปด้วย

คุณสุนีเล่ามาถึงแค่นี้ก็หยุดสะอื้นเล่าต่ออีกไม่ได้ ต้องควักผ้าเช็ดหน้าออกมาเช็ดน้ำตาจนโชกไปหมดทั้งผืน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีก้อนอะไรมาจุกตันอยู่ที่คอด้วยเหมือนกัน

ผู้เขียนพาผู้อ่านถอยออกมาจากเรื่องเล่าของคุณสุนี กลับมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบันในตอนเช้าที่บ้านของผู้เขียนอีกครั้ง

“เรื่องนี้แหละค่ะ ที่มันทำให้อิฉันเศร้าจนนอนไม่หลับตลอดคืน เคลิ้มจะหลับทีไรก็เห็นภาพแม่กวางตัวนั้นมายืนเรียกลูกของมันคืนจากฉันอยู่เรื่อยๆ อิฉันจึงต้องรีบมาหาคุณหมอตั้งแต่เช้ามืดเช่นนี้”

“แล้วคุณจะให้ผมทำอย่างไรเล่าครับ ทั้งแม่กวางและลูกกวางมันก็ตายไปหมดแล้วนี่” ข้าพเจ้าถาม

“ไอ้ที่มันตายไปแล้วก็แล้วกันเถอะค่ะ นึกไปเสียว่าเวรกรรมทำไว้เพียงแค่นั้น จะไปแก้ไขอะไรอีกไม่ได้” คุณสุนีว่าพลางก็ร้องไห้อีก ทำเอาข้าพเจ้าเองน้ำตาคลอหน่วยไปเช่นเดียวกัน “แต่อิฉันอยากจะช่วยสัตว์ป่าที่ยังคงเหลือ ๆ อยู่ อย่าให้มันต้องเป็นเช่นนั้นอีก”

แล้วข้าพเจ้าในเรื่องก็ตอบคุณสุนีในทำนองจงใจจะให้ได้ยินไปถึงทำเนียบว่า ลำพังใครคนใดคนหนึ่งคงช่วยอะไรได้ไม่มาก รัฐบาลต้องเป็นคนทำจึงจะสำเร็จ

และจบเรื่องด้วยคำวิจารณ์รัฐบาล-ชุดเก่า อย่างแสบสันต์

“แล้วพวกผู้แทนเล่าคะ เขาไม่คิดที่จะช่วยเหลืออะไรบ้างหรือคะ”

“ผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันนี้ จะมีน้ำจิตน้ำใจอย่างไรกันบ้าง ผมยังไม่ทราบดี” ข้าพเจ้าตอบ “ผมเคยพบแต่ผู้แทนราษฎรชุดสมัยรัฐบาลเก่า บางคนท่านก็ดีมาก เห็นใจพวกสัตว์ป่าและทรัพยากรของชาติที่กำลังทรุดโทรมแหลกลาญลง แต่ส่วนมากละก็เหลือรับทีเดียว ส่วนมากมักถือว่าตัวเองเป็นผู้แทนของราษฎร ไม่ใช่ผู้แทนของสัตว์ป่า ราษฎรเป็นผู้เลือก สัตว์ป่าไม่ได้เลือกเขา ฉะนั้นการที่จะไปร้องขอให้เขาออก พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ให้คนฆ่าน้อยลงกว่าเดิม จะไปขอไม่ให้ยิงสัตว์ตัวเมียหรือลูกเล็กเด็กแดงนั้น เขาถือว่าเป็นการไปตัดสิทธิ์ของราษฎร เขาจึงปฏิเสธไม่ยอมช่วยด้วย เขาคงเกรงไปว่าเขาอาจจะเสียเสียงจากบางคนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เขาจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้เลย”

ก่อกำเนิดอุทยานแห่งชาติในเมืองไทย

ไม่ใช่คำตัดพ้อต่อว่าลอยๆ แต่เป็นสิ่งที่ได้พบเห็นจริงจากประสบการณ์ยาวนานที่หมอบุญส่งพยายามผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า

ภาพหมอบุญส่งพาเขาสมัน เขาละองละมั่ง เข้าร้องทุกข์กับพรรคการเมืองแทนสัตว์ป่า เป็นภาพที่ผู้คนยังจำได้ และเคยถูกนำมาทำเป็นภาพปกหนังสือ

แต่ผลก็มักเป็นไปในทำนองที่หมอบันทึกไว้

“พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่านี้ รัฐบาลก่อนๆ ก็ทำท่าว่าจะสนใจมาบ้างตั้งหลายต่อหลายรัฐบาลมาแล้ว พอมีรัฐบาลไหนตั้งใหม่ขึ้นมา ก็ยกเอาเรื่อง พ.ร.บ. นี้ไปดู แล้วก็แก้ไขตัดทอนมาแทบทุกรัฐบาล ได้แต่ตัดทอนนั่น ตัดทอนนี่ แล้วก็แช่เรื่องนิ่งเงียบเสีย ไม่เคยนำเข้าสภาสักที พ.ร.บ. นี้ครั้งแรกมีราวสัก ๓๐ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ถูกตัดสั้นลงรัฐบาลละ ๒-๓ หน้าเรื่อยมา พอมาถึงรัฐบาลพรรคเสรีมนังคศิลาก็ถูกตัดฮวบลงมาอีกจนเหลือตัวกฎหมายแต่เพียงหน้าเดียวเท่านั้น หน้าที่ ๑ เป็นคำนิยามจำกัดความว่า สัตว์ป่าคืออะไร รัฐมนตรีคืออะไร หน้าที่ ๒ จึงเป็นตัวกฎหมาย หน้าที่ ๓ เป็นบทกำหนดโทษ เป็นอันจบกันไป นับว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่สั้นที่สุดในโลกนี้ กฎหมายที่อ่อนแอและเต็มไปด้วยช่องโหว่เช่นนี้ถึงจะออกไปก็เหมือนกับไม่ได้ออกไปเลย ไม่มีประโยชน์อันใดเกิดขึ้น นอกจากจะทำความรำคาญให้เกิดขึ้นเท่านั้น”

ขณะเดียวกันงานอนุรักษ์ในยุคริเริ่มนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคจากผู้เสียผลประโยชน์ รวมทั้งข้าราชการที่สมคบกับนายทุนตัดไม้ จนมีเพื่อนเตือนถึงการทำงานแบบไม่เกรงกลัวของหมอบุญส่ง

ศัลยเวทย์ เลขะกุล ลูกชายคนกลางของหมอบุญส่ง เขียนถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า “แม่ก็เป็นห่วงมาก ที่พ่อสั่งเสียว่าถ้าถูกจับให้ทำยังไง ถ้าถึงตายทำยังไง คุณพ่อไม่กลัวที่จะพูดความจริง”

การทุ่มเทชีวิตให้กับการงานนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในบ้าน หมอบุญส่งก็ยังเป็นพ่อที่ดีของลูกๆ

ภาพคุณหมอบุญส่ง เมื่อครั้งหอบหิ้วเขาสมันและเขาละองละมั่ง
เข้าเรียกร้องให้นักการเมืองออก พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า 

“สำหรับลูกแล้ว คุณพ่อก็คือคุณพ่อของพวกเรา เหมือนพ่อของคนอื่นๆ ที่ดูแลเอาใจใส่ลูกและครอบครัว พ่อกลับมากินข้าวบ้าน ไม่ชอบกินข้าวนอกบ้าน เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก”

จนมาถึงรัฐบาลคณะปฏิวัติ (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ความพยายามของนิยมไพรสมาคมจึงเกิดผลในเชิงรูปธรรม เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๓

การผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ดำเนินควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยกิจกรรมหลังนั้นนิยมไพรสมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๑ ในเบื้องแรกได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ

หมอบุญส่งทำหนังสือตอบไปอีกครั้งเพื่อยืนยันและทำความเข้าใจใหม่ว่า การประกาศป่าสงวนเป็นอุทยานแห่งชาติ ทำได้โดยไม่ต้องมีงบประมาณ

“การที่นิยมไพรสมาคมได้กราบเรียนร้องขอให้ทางกระทรวงรีบดำเนินการเช่นนี้ เพราะว่าทางนิยมไพรสมาคมได้รับคำแก้ตัวหรือคำผัดเพี้ยนของทางราชการที่ไม่อยากทำงานอะไรให้มีภาระเพิ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลก่อนๆ ทุกๆ สมัยมาแล้วว่า ‘ปีนี้ไม่มีงบประมาณ ให้รองบประมาณปีหน้า’ การแก้ตัวทำนองนี้ได้ผ่านไปปีหนึ่งแล้วปีหนึ่งเล่า จนป่าไม้หลายแห่งถูกทำลายจนเตียนโล่ง และสัตว์ป่าบางแห่งก็ถูกล่าหมดไปเป็นป่าๆ ฉะนั้นทางนิยมไพรสมาคมจึงขอกราบเรียนมาว่า การประกาศป่าสงวนป่าใดให้เป็นวนอุทยานนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีงบประมาณเลยก็ทำได้”

ท้ายจดหมายนิยมไพรสมาคมยังเน้นย้ำให้กระทรวงเกษตรรีบจัดการประกาศเทือกเขาที่สำคัญ ๖ แห่ง เป็นวนอุทยานเสียโดยเร็ว ได้แก่ เขาใหญ่ นครราชสีมา เขาสลอบ กาญจนบุรี ภูพาน สกลนคร ทุ่งแสลงหลวง พิษณุโลก เขาคิชฌกูฎ จันทบุรี เขาหลวง นครศรีธรรมราช พื้นที่เหล่านี้ไม่เหมาะแก่การกสิกรรม แต่เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ

หลังเรียกร้องผลักดันกันอย่างเหนื่อยหนักและยาวนาน และก่อนที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติจะประกาศใช้ในเมืองไทย มีเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ว่า หมอบุญส่งชักชวนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูป่าเขาดงพญาเย็นด้วยกัน รวมทั้งลงไปเดินดูพื้นที่กลางป่าเขาใหญ่ แถวๆ ริมหนองขิง มะม่วงต้นที่ว่าคนทั้งสองอาศัยร่มเงาเป็นที่นั่งคุยกันยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

ภาพมุมกว้างที่มองเห็นจากทางอากาศ คือสภาพของป่าเขาใหญ่และดงพญาเย็นที่ถูกบุกเบิกแผ้วถางเว้าแหว่งไปเป็นหย่อม อย่างน่าวิตกว่าผืนป่าที่เคยเห็นว่ากว้างใหญ่ไพศาลนั้นจะต้องหมดสิ้นลงสักวัน

ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย

จะนับว่านี่เป็นผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของนิยมไพรสมาคม ก็คงกล่าวอ้างได้อย่างไม่ขัดเขิน

วัดนิยมไพรวนาราม 

ปลายขั้วอีกด้านของการเรียกร้องการออกกฎหมายจากรัฐบาล

ในภาคส่วนของชาวบ้าน หมอบุญส่ง เลขะกุล จับเอาลักษณะนิสัยใจคอที่อ่อนโยนมีเมตตาของคนไทย และความเป็นพุทธศาสนิกมาใช้เป็นหนทางในการอนุรักษ์ด้วย

โดยการกันพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้เป็นเขตวัด ซึ่งหมอบุญส่งมองว่าประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเมืองไทย ช่องทางที่จะคุ้มครองสัตว์ป่ามีมากกว่าประเทศอื่น

อย่างการทำเขตคุ้มครองนกปากห่างที่วัดไผ่ล้อม ปทุมธานี สร้างวัดนิยมไพรวนาราม ที่ด่านทับตะโก ราชบุรี

โดยแหล่งหลังนี้หมอบุญส่งบันทึกสภาพการณ์และสภาพภูมิประเทศในแถบนั้นไว้ว่า

“ที่ตำบลทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีบึงใหญ่อยู่ ๒ บึง อยู่ใกล้กับลำภาชี บึงหนึ่งยาวราว ๑ กิโลเมตร กว้างราว ๒-๓ เส้น อีกบึงหนึ่งเล็กกว่าหน่อย บึงสองบึงนี้ชาวบ้านมักเรียกกันว่า บึงลำทรายใหญ่ และบึงลำทรายน้อย แต่โดยมากมักเรียกรวมๆ กันว่า บึงลำทราย ที่บึงลำทรายนี้ ในฤดูแล้งมีนกเป็ดน้ำนานาชนิด เช่นเป็ดแดง ซึ่งเป็นเป็ดน้ำชนิดประจำถิ่น เกิดและไข่ในเมืองไทย มาอาศัยและหากินอยู่ในบึงนี้เป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น นอกจากนี้ยังมีเป็ดน้ำชนิดต่างๆ ซึ่งตามธรรมดาวางไข่ในประเทศหนาวเหนือ เช่นไซบีเรียและมองโกเลีย ย้ายถิ่นบินเข้ามาหากินในเมืองไทยในฤดูหนาว แล้วพากันกลับไปวางไข่ในประเทศหนาวเหนือใหม่ ในราวเดือนเมษายน นกเป็ดน้ำเหล่านี้มี เป็ดลาย (Garganey) เป็ดหางแหลม (Pintail) เป็ดโปชาด (Pochard) และเป็ดน้ำชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เป็ดน้ำต่างถิ่นเหล่านี้ได้มาอาศัยหากินในบึงนี้เป็นจำนวนมากๆ เช่นเดียวกัน ตามปรกติ ชาวตำบลทับตะโกมีอาชีพทางตัดไม้ ไม่สนใจในนกเป็ดน้ำเหล่านี้ แต่มีชาวต่างจังหวัดเอารถจี๊ปเข้ามายิงนกเป็ดน้ำเป็นครั้งคราว บางครั้งก็ยิงจนบรรทุกแทบไม่ไหว บางครั้งก็ยิงเล่นจนเน่าเหม็นไปทั่วบึง บางครั้งก็วิดน้ำจนบึงแห้ง ทำให้สาหร่ายและพืชน้ำตายหมด ทำให้เป็ดน้ำไม่มีพืชและลูกกุ้งลูกปลาเป็นอาหารเพียงพอ”

สุรินทร์ เหลือลมัย ที่ริมบึงลำทราย ซึ่งในปัจจุบันเพิ่งถูกขุดลอกกลายเป็นแหล่งน้ำของชุมชน 

สถานการณ์ที่น่าเศร้าใจนี้นำมาสู่การระดมบุญจัดสร้างวัด โดยให้มีอาณาเขตครอบคลุมถึงบึงน้ำทั้งสองแห่ง

สุรินทร์ เหลือลมัย เด็กหนุ่มจากสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนั้นมาเรียนต่อที่วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง และได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ช่วงนั้นด้วย เล่าว่า หมอบุญส่งขับรถจี๊ปสิงห์ทะเลทรายมาที่จอมบึงบ่อยๆ จนรู้จักมักคุ้นกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รู้ว่ามีสัตว์น่าสนใจอยู่ที่ไหนก็ไปเฝ้าดู

“บางครั้งพาแหม่มมาดูเลียงผาที่เขาทะลุ คณะของหมอจะขึ้นเขาจากทางหนึ่ง อีกด้านก็ให้ชาวบ้านพากันไล่ราว เดินเรียงหน้ากระดาน เคาะเกราะไม้ต้อนเลียงผามา ฝรั่งส่องกล้องเห็นก็ตื่นเต้น หมอบุญส่งจะมาพักกันที่เรือนรับรองริมทุ่งหลังวิทยาลัย ทุ่งนั้นเรียกว่า ท้องชาตรี มีนกเยอะ คืนเดือนหงายมันจะบินผ่านเป็นกลุ่ม ร้องกิ้วๆๆ เมื่อหมอบุญส่งจะไปถ่ายรูปนกเป็ดน้ำที่บึงลำทราย ที่ด่านทับตะโก ก็ให้นักศึกษาช่วยกันเอาสาหร่ายใส่เข่ง เอาขึ้นรถป่าไปหว่านให้นกลงมากินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ หมอบุญส่งนุ่งผ้าขาวม้าลงไปถ่าย คราวนั้นผมได้ร่วมไปด้วย ช่วงนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่”

บึงลำทรายอยู่ห่างจากจอมบึง (ราชบุรี) ไปทางตะวันตกราว ๑๗ กิโลเมตร การเดินทางไปเยือนที่นั่นอีกครั้งในวันที่ สุรินทร์ เหลือลมัย อยู่ในวัย ๗๐ ปีเต็ม เส้นทางเป็นถนนลาดยางอย่างดีแล้ว

เขาเล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วให้ฟังว่า ในครั้งกระโน้น การเดินทางจากจอมบึงไปยังบึงลำทราย หมอบุญส่งกับคณะต้องนั่งไปบนรถขนซุง ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า รถป่า แล่นไปตามทางดินที่ลึกเป็นร่อง อดีตครูประชาบาลวัยหลังเกษียณ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง บรรยายให้เห็นรายละเอียดของการสัญจรในทำนองติดตลกว่า เป็นการขับรถที่คนขับไม่ต้องทำอะไรมาก สามารถนั่งจุดบุหรี่ใบจากสูบได้ ปล่อยให้รถมันไหลไปเองตามรอยล้อที่เป็นร่องลึก เป็นการเดินทางที่ทุลักทุเล กลางป่าดงที่ยังสมบูรณ์ด้วยแมกไม้และสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะหมู่นกวิหคไพร

ในการเดินทางคราวหนึ่ง หมอบุญส่งคงเผลอนั่งเพลินๆ ใบไผ่ที่โน้มกิ่งลงมาปกคลุมทางบาดเอาที่ใบหน้า ให้เพื่อนร่วมทางได้แซวกันพอหอมปากหอมคอ

“หมอคงมัวแต่ชมนก ไม้มันน้อยใจก็เลยบาดเอา”

ครูสุรินทร์เล่าความหลังเมื่อครั้งยังหนุ่มว่า ตอนนั้นบึงลำทราย บึงน้ำธรรมชาติที่รับน้ำมาจากลำภาชี ยังใสสะอาด ในบึงยังมีปลิง มีเฟินขึ้นตามริมขอบบึง รอบๆ เป็นป่า และมีกล้วยไม้อยู่ตามคาคบไม้

ห่างขึ้นไปเป็นดงหญ้าคา ป่ากล้วย ไร่ละหุ่งของชาวบ้าน บนเนินข้างหมู่บ้านเป็นที่พักสงฆ์ มีหอฉันหลังเดียวตั้งอยู่ข้างต้นโพธิ์ หมอบุญส่งมาเห็นก็เกิดความคิดที่จะสร้างวัด โดยให้มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงบริเวณบึงน้ำอันเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำ เอาจีวรไปห่มไว้ตามต้นไม้ให้รู้ว่าเป็นเขตวัด ซึ่งหมอบุญส่งคาดหวังว่าจะเป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดวัดหนึ่งในเมืองไทย และมีการจัดทอดผ้าป่าหาทุนสร้างวัด

ครูสุรินทร์เล่าว่า ในตอนนั้นแหล่งนกเป็ดน้ำด่านทับตะโกเป็นที่รู้จักของคนในเมืองมากขึ้นแล้ว นักเขียนชื่อดังอย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งเคยเดินทางมากับหมอบุญส่ง ถ่ายรูปนำไปเขียนลง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หลายครั้ง เมื่อแจ้งข่าวการจัดสร้างวัดออกไปในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็มีผู้สนใจร่วมการบุญกันมาก ได้เงินถึง ๓ หมื่นกว่าบาท ซึ่งสมัยเมื่อปี ๒๕๐๑ นับว่าเป็นเงินก้อนโตพอควร

เงินจำนวนดังกล่าวถูกนำมามอบให้พุทธสมาคม ราชบุรี เพื่อจัดสร้างวัดนิยมไพรวนาราม

ปัจจุบันวัดแห่งนั้นตั้งอยู่หัวมุมถนนกลางตำบลด่านทับตะโก ตรงจุดบรรจบของถนนที่มาจากทางจอมบึงและจากด่านมะขามเตี้ย (กาญจนบุรี) ต้นโพธิ์ใหญ่ยังอยู่ ในวัดมีพระอุโบสถหลังใหญ่ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลัง กับกุฏิพระหลายหลัง และพระพุทธรูปกลางแจ้งองค์ใหญ่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

อาณาเขตของวัดเหลืออยู่แค่ทางฟากถนนด้านใน ส่วนฟากถนนด้านตรงกันข้าม ปัจจุบันเป็นบ้านเรือนของชาวบ้านและทิวตึกแถวขนาบไปตามแนวถนน ส่วนบึงลำทรายที่อยู่ห่างออกไปยังที่ลุ่ม ลึกเข้าไปจากถนนราว ๑๐๐ ก้าว กลายเป็นสระน้ำที่ได้รับการขุดลอกใหม่โดยเทศบาลในพื้นที่ แต่ฝูงนกเป็ดน้ำนั้นไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว

ส่วนเขาทะลุที่อยู่ฟากทุ่งนอกตัวอำเภอจอมบึงที่หมอบุญส่งเคยพาคณะมาดูเลียงผานั้น ปัจจุบันเป็นแหล่งระเบิดหิน ภูเขาหายไปราวครึ่งลูกแล้ว

สำนักสงฆ์นิยมไพรวนารามขอจดทะเบียนตั้งเป็นวัดในปี ๒๕๑๔ แต่ด้วยความลืมเลือนของคณะกรรมการวัดในเวลานั้นหรืออย่างไร ชื่อของวัดอย่างเป็นทางการจึงเพี้ยนเป็น วัดนิยมธรรมาราม มาจนปัจจุบัน

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ครูสุรินทร์ เหลือลมัย ตั้งใจว่าจะพยายามเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิมให้ได้ เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่นิยมไพรสมาคม

และเนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี หมอบุญส่ง เลขะกุล ในบัดนี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมแล้ว

คู่มือดูนกเมืองไทย

พร้อมกับการอนุรักษ์นกให้คงอยู่ในธรรมชาติ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ยังมุ่งเผยแพร่ความรู้ให้คนได้รู้จักนกและเห็นประโยชน์ที่จะช่วยกันดูแลรักษาเอาไว้

หลังจัดตั้งนิยมไพรสมาคม หมอบุญส่งจึงคิดทำคู่มือดูนกเมืองไทยขึ้นด้วย

อย่างที่รู้ตั้งแต่ต้น หมอบุญส่งเป็นนายแพทย์ และไม่เคยเล่าเรียนทางสัตววิทยาหรือปักษีวิทยามาโดยตรง

เมื่อต้องวาดภาพนกด้วยตัวเอง หมอก็อาศัยพื้นฐานจากการที่เป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และเคยวาดรูปได้รางวัลชนะเลิศมาก่อนด้วย ในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน และเมื่อจะวาดภาพนกทำหนังสือคู่มือดูนก ท่านก็ลงทุนไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นเรื่องการเขียนภาพจากวิทยาลัยเพาะช่าง

ส่วนเนื้อหาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนกแต่ละชนิด ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ชื่อภาษาไทย รวมทั้งลักษณะเด่น ถิ่นอาศัย และอาหาร ที่ได้จากการค้นคว้าเอกสารและหนังสือต่างๆ รวมทั้งประสบการณ์จากการดูนกของท่านเอง รวบรวมนกในเมืองไทยได้ทั้งสิ้น ๘๒๘ ชนิด ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี ๒๕๑๑ ในชื่อ Bird Guide of Thailand

ถือเป็นคู่มือดูนกเมืองไทยเล่มแรกของไทย

ความสมบูรณ์ถูกต้องของคู่มือดูนกเล่มแรกยังไม่ได้ตามที่คาดหวัง ลักษณะและสีสันของนกบางชนิดยังไม่ตรงตามจริง ทั้งเนื่องจากความไม่ชำนาญในการเขียนภาพของหมอบุญส่งเอง และระบบการพิมพ์ที่ไม่ดีพอ หมอบุญส่งจึงคิดทำคู่มือดูนกเมืองไทย เล่ม ๒ ขึ้น โดยมีอาสาสมัครชาวอเมริกันชื่อ เอ็ดเวิร์ด ดับบลิว. โครนิน จูเนียร์ (Edward W. Cronin, Jr.) มาช่วย ทำให้ข้อมูลรายละเอียดของเนื้อหาทันสมัยขึ้น และช่วยให้ภาษาอังกฤษในหนังสือเล่มนี้ดีขึ้นด้วย

ส่วนเรื่องภาพ หมอบุญส่งได้จิตรกรหนุ่มจากเพาะช่างชื่อ มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ มาช่วยเขียนภาพ

“ตอนนั้นผมวาดรูปนกให้โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เขียนเรื่องโดยหมอบุญส่ง เลขะกุล และคุณกิตติ ทองลงยา” มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ ในวัยกลางคน เล่าเรื่องเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน

“ที่ทำงานผมอยู่ที่จุฬาฯ ใกล้กับบ้านหมอบุญส่งที่บางรัก ผมจึงมักไปดูตัวอย่างนกและหาข้อมูลที่บ้านท่าน สองสามวันแรกที่ไป หมอบุญส่งก็ชวนให้อยู่ทำงานด้วยเลย”

งานที่หมอบุญส่งชวนให้มงคลมาทำ คืองานเขียนภาพประกอบในหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทย และต่อมาก็รวมไปถึงภาพประกอบงานเขียนอื่นๆ ของหมอบุญส่งด้วย อย่างใน ธรรมชาตินานาสัตว์ และหนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ตามสำนวนหมอบุญส่งเรียก สัตว์นม ซึ่งท่านเห็นว่า สั้น เรียกง่าย ได้ความหมาย และตรงกับคำว่า mammals)

มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ ผู้เขียนภาพนกในหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทยฉบับที่ ๒ และ ๓ 
รวมทั้งหนังสือเล่มอื่นๆ ของหมอบุญส่ง ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ป่า 

มงคลลงรายละเอียดในการเขียนภาพนกว่า “ก่อนเขียนต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับนก ต้องเห็นตัวในกรณีที่สามารถหาตัวดูได้ ใช้กล้องดูนกส่องดู บางชนิดดูจากสกินของหมอบุญส่ง”

สกิน (skin) ที่มงคลพูดถึง เป็นซากนกที่ผ่านกรรมวิธีการเก็บที่ช่วยรักษาสภาพของนกได้อย่างดีและถูกต้อง ทั้งขนาดและสีสัน การทำสกินนกเริ่มจากการผ่าซากนก ควักเอาเนื้อข้างในออกหมด กลับหนัง ขูดเนื้อและกระดูกออกเกลี้ยง เหลือแต่หนัง กะโหลก กระดูกปีกและตีน เอาลงแช่ในน้ำยากันเน่า แล้วพลิกหนังกลับตามเดิม ยัดสำลีให้ได้รูปร่างอย่างเดิม เย็บตามรอยแผลที่ผ่า สกินนกจะคงรูปและสีเหมือนตัวนกจริง และถ้าเก็บรักษาดี จะอยู่ได้นานกว่าอายุขัยของนกหลายเท่าตัว

“คืนหนึ่งอาจวาดได้สัก ๓ ตัว ตัวอ่อน ตัวเต็มวัย ตัวกำลังบิน นกแต่ละชนิดจะต้องวาดมากกว่า ๑ ตัว” มงคลเล่าขั้นตอนการทำงานต่อ “ร่างเสร็จก็ลงสี โดยใช้สีโปสเตอร์ แต่เอามาระบายแบบสีน้ำ”

คู่มือดูนกเมืองไทยฉบับที่ ๒ รวบรวมนกเมืองไทยได้ ๘๔๙ ชนิด ตีพิมพ์ออกมาในปี ๒๕๑๗ หลังใช้เวลาทำประมาณ ๒ ปีครึ่ง

มงคลพูดใน พ.ศ. นี้ว่า ในสายตาเขา หมอบุญส่ง เลขะกุล ถือเป็นผู้บุกเบิก และเป็นผู้มีสายตาไกลในเรื่องการอนุรักษ์ “หลายคนอาจมองว่า หมอก็เป็นพราน มีส่วนทำให้สัตว์ป่าหมด แต่ท่านล่าเพื่อการศึกษา เพื่อหาแนวทางที่จะอนุรักษ์ ไม่ใช่ล่าทิ้งขว้าง ท่านเป็นผู้วางรากฐานไว้ให้ผู้สืบทอดต่อ”

และเขายังเคยเขียนถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตัวตนของหมอบุญส่งจากที่เขาได้คลุกคลีอยู่ด้วยว่า “ภายนอกของคุณหมอ หลายคนก็คิดว่าเป็นคนใจเย็น เพราะดูจากลักษณะของการพูดคุย หัวเราะ ทำอะไรช้าๆ แต่แท้ที่จริงแล้วคุณหมอเป็นคนใจร้อนมาก เวลาขับรถก็มักจะขับรถเร็ว ต้องคอยดูทางให้ กลายเป็นเด็กท้ายรถไปเลย เพราะตาคุณหมอจะสอดส่ายดูอะไรสองข้างทางอยู่ตลอดเวลา ง่วงก็ไม่ยอมให้เปลี่ยน ขับรถเองตลอด ชุดเก่งในการออกต่างจังหวัดก็มักจะเป็นเสื้อยืดซาฟารีสีน้ำเงิน หรือไม่ก็เสื้อคอกลม หมวกลาย รองเท้าแตะ ไม่ค่อยจะอาทรเรื่องอาหารการกินเท่าไร”

ต่อมาเมื่อหมอบุญส่งจะจัดทำคู่มือดูนกเมืองไทยฉบับที่ ๓ มงคลก็ยังอยู่ร่วมทำงานด้วย โดยมีจิตรกรจากศิลปากรอีกคนคือ กมล โกมลผลิน มาร่วมวาดรูปด้วย และมี ฟิลิป ดี. ราวด์ (Philip D. Round) มาร่วมเขียนเนื้อหาร่วมกับคุณหมอบุญส่ง

ใช้เวลา ๙ ปี คู่มือดูนกเมืองไทยฉบับที่ ๓ ในชื่อ A Guide to the Birds of Thailand จึงสำเร็จเป็นเล่ม รวบรวมภาพนก ๙๑๕ ชนิด จำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ภาพ ถือเป็นคู่มือดูนกเมืองไทยที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นเล่มที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อแรกที่คิดจะทำหนังสือคู่มือดูนกนั้น หมอบุญส่ง เลขะกุล หวังจะให้ผู้คนได้มองเห็นว่า

“การดูนกเป็นสิ่งที่สวยงามมากกว่าการที่จะฆ่ามัน ธรรมชาติได้สร้างสรรค์นกที่สวยงามมามอบให้แก่เรา และยังประโยชน์แก่เรา รวมทั้งเสียงร้องอันไพเราะที่จะสร้างความสุขให้แก่ทุกคนที่ได้ยิน”

ทุกวันนี้คนรักนกกันมากขึ้น เช่นเดียวกับกระแสการดูนกที่นับวันยิ่งได้รับความนิยม ซึ่งใครก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากการวางรากฐานของหมอบุญส่ง เลขะกุล เมื่อวันวาน

เกียรติยศ และความใฝ่ฝัน

นับทศวรรษหลังการทุ่มเททำงานอย่างเหนื่อยหนัก ชื่อของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เป็นที่รู้จักในวงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตววิทยา ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

ได้รางวัลเหรียญทองในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ จากองค์การทุนของโลกในการคุ้มครองสัตว์ป่า เมื่อปี ๒๕๑๕ และได้รับกุญแจเมืองแซนดิเอโก สหรัฐอเมริกา เป็นเกียรติในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ในปี ๒๕๑๙ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วนศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี ๒๕๒๒

และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ได้รับรางวัลเหรียญทอง เจ. พอล เก็ตตี้ ไวลด์ไลฟ์ คอนเซอร์เวชัน จากองค์การทุนของโลกในการคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นบุคคลลำดับที่ ๔ ที่ได้รางวัลนี้ และนับเป็นคนแรกจากตะวันออกไกล

ถึงตอนนั้น ผลงานด้านการอนุรักษ์ป่าไทยของหมอบุญส่งเป็นที่ยอมรับไปถึงต่างประเทศแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นเด็ก หมอบุญส่งเคยได้เห็นสัตว์สตัฟฟ์จากต่างประเทศ ถูกนำมาจัดแสดงที่National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ข้างสนามหลวง (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เดิมทีคือ The Royal Museum ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ที่ตังอยู่ในบริเวณ วังหน้า)  เป็นสัตว์หาดูยากจำพวก ยีราฟ สิงโต ฮิปโปโปเตมัส ม้าลาย อูฐ กวางเรนเดียร์ สุนัขป่า ไฮยีนา รวมทั้งนกเบิร์ดออฟพาราไดส์ และสัตว์หายากจากหมู่เกาะนิวกินี ซึ่งทำมาโดยผู้มีฝีมือระดับโลก

ภาพเขาไกรลาศสำหรับงานโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบรมมหาราชวัง เชิงเขาไกรลาศตั้งเครื่องประดับต่างๆรวมทั้งสิงโตสต๊าฟที่ทูตฝรั่งเศสนำมาถวายรัชกาลที่ ๔ อีกด้วย ลงสี หนุ่มรัตนะ

หมอบุญส่งย้อนไปสืบประวัติการสตัฟฟ์สัตว์ในเมืองไทยก็พบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้เมืองไทยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสำหรับประชาชนได้ศึกษาหาความรู้อย่างในต่างประเทศ จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการนี้ ในการสร้างThe Royal Museum ที่วังหน้าแต่เนื่องจากในเมืองไทยเวลานั้นยังขาดความรู้ จึงไม่ได้มีการเก็บสะสมตัวอย่างสัตว์ป่าและพืชในเมืองไทย แต่ใช้เงินพระราชทานไปซื้อสัตว์จากต่างประเทศมาเก็บแทน

หมอบุญส่งเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง๒๔๗๕ ไว้ในหนังสือ ธรรมชาตินานาสัตว์ เล่ม ๒ หน้า ๗๑ ว่า

“เนื่องจากคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในสมัยนั้นไม่สนใจต่อธรรมชาติวิทยา สนใจแต่พระพุทธรูปเก่าๆ และวัตถุโบราณสมัยต่างๆ พอเก็บวัตถุโบราณได้มากเข้า ที่ทางที่จะเก็บวัตถุโบราณก็มีไม่พอที่จะเก็บ เห็นว่าสัตว์สตัฟฟ์ต่างๆ นั้นอยู่เปลืองที่ จึงขยับขยายย้ายสัตว์สตัฟฟ์เหล่านั้นไปไว้ตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเพาะช่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมอื่นๆ อีก สัตว์สตัฟฟ์เหล่านี้พอไปอยู่กระจัดกระจายเช่นนั้นก็ไม่มีใครดูแล ถูกเด็กนักเรียนขึ้นขี่เล่นบ้าง ถูกยืมเป็นกระสอบทรายซ้อมมวยเล่นบ้าง ถูกเตะเล่นต่างฟุตบอลบ้าง ไม่ช้าก็พินาศพังเค แล้วก็ถูกลากไปทิ้งลงถังขยะของเทศบาลจนแทบหมดสิ้น มีเหลือชิ้นดีๆ บ้างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังคงเห็นซากเหลืออยู่อีกมากขึ้นที่ในโรงเรียนสวนสุนันทาในปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากกลายเป็นสัตว์หนังกลับ ขนร่วงจวนหมดแล้วทั้งสิ้น การอุบัติขึ้นของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติในสมัยนั้นด้วยเงินทุนพระราชทานก้อนใหญ่ และการล้มเลิกไปอย่างรวดเร็ว จึงกลายเป็นประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าแสนเศร้า”

ในฐานะนักอนุรักษ์ ความฝันที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของหมอบุญส่งก็คือ อยากให้มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเมืองไทย

ตั้งแต่เริ่มตั้งนิยมไพรสมาคมขึ้นมาใหม่ๆ ก็ทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้นที่สวนลุมพินี และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติงบประมาณให้ ๙ ล้านบาท

แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับนำเงินจำนวนดังกล่าวไปสร้างสถานลีลาศแทน !

และในระยะต่อมา ข้อเรียกร้องผลักดันเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของหมอบุญส่งก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนให้ความสนใจ จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

จนร่วมสิบปีหลังการถึงแก่กรรมของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของเมืองไทยจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา บุญส่ง เลขะกุล ตั้งอยู่ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี

“นี่-ที่นี่ทำให้ท่าน” อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ พูดขณะนำเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภายในตึกนั้นเป็นที่จัดแสดงและแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหมอบุญส่งโดยตรงนั้นอยู่ในสามห้องของพื้นที่ชั้น ๒

“ท่านฝากผมไว้ ๓ เรื่อง” อาจารย์จารุจินต์พูดต่อ “หนึ่ง ให้ช่วยตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สอง ช่วยทำหนังสือคู่มือดูนกเป็นภาษาไทย สองอย่างนี้ลุล่วงไปแล้ว และสาม ให้ช่วยเขียนสารานุกรมชื่อสัตว์ไทย ตอนนั้นเราคุยกันว่ากลัวชื่อสัตว์จะหายไปจากระบบ คุณหมอเริ่มทำไว้ ๑๐๐ กว่าชื่อ ผมมาเขียนต่อได้ ๘,๐๐๐ กว่าชื่อแล้ว คาดว่าปีหน้าคงจัดพิมพ์ออกมาได้ มีคนสนใจอยากเป็นผู้พิมพ์มาก แต่ผมคงต้องเสนอกับครอบครัวคุณหมอก่อน”

อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ นับตัวเองเป็นลูกนอกไส้ของหมอบุญส่ง ตอนที่หมอเอ่ยชวนเขาไปอยู่ทำงานด้วยเมื่อปี ๒๕๑๔ ก็ถามว่าจะอยู่แบบลูกหรือลูกจ้าง ถ้าอยู่อย่างลูกจ้างมีเงินเดือน แต่ถ้าอยู่แบบลูกก็ตามแต่จะให้ เขาเลือกอยู่แบบลูก และอยู่กับหมอบุญส่งมาจนกระทั่งท่านล้มป่วยทำงานไม่ได้ จึงไม่เข้าไปให้หมอเห็นอีก เพราะจะทำให้หมอนึกถึงงานที่ยังคั่งค้างแล้วยิ่งเกิดความเครียด แต่เขายังทำงานให้หมอ โดยปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งนี้

“ก็พยายามสืบต่องานของท่าน ท่านเป็นคนสำคัญที่วางพื้นฐานเรื่องธรรมชาติวิทยาไว้ให้เรา ชาติเรายังไม่รู้เรื่องนี้ดี ประเทศไทยรู้น้อยที่สุดในแถบนี้ ทุกวันนี้ผมถือว่ายังช่วยทำงานให้ท่านอยู่ในฐานะนักวิชาการ”

ในสายตาของลูกนอกไส้คนนี้ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เป็นคนไทยคนหนึ่งที่รักชาติจริง อย่างหาคนเหมือนได้ยาก

“ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ท่านพยายามสร้างชาติด้วยเงินตัวเอง ท่านไม่ใช่ข้าราชการ ไม่มีเงินเดือนกิน ออกไปเก็บตัวอย่างสัตว์ ซื้อตำรับตำรา ใช้เงินตัวเองทั้งนั้น ลองหาดูมีกี่คนที่ทำอย่างนี้ คนที่เอาเงินส่วนตัวทุ่มให้ชาติ คนช่วยชาติมีเยอะ แต่คนที่ควักเงินตัวเองด้วยนี่มีน้อยนะ ท่านพยายามสร้างทุกอย่าง ทำหนังสือ สะสมเขาสัตว์ เก็บตัวอย่างนก เคยมีคนมาขอซื้อหลายล้านบาท ท่านบอกไม่ขาย และสั่งครอบครัวว่าห้ามขาย เก็บไว้ให้พิพิธภัณฑ์ของชาติเท่านั้น และตอนนี้ทั้งหมดอยู่ที่นี่”

อาจารย์จาจุรินต์ นภีตะภัฏ ผู้เปรียบตัวเองว่าเป็นเหมืนลูกนอกไส้ของหมอบุญส่ง 
และเป็นผู้สานงานต่อจากหมอบุญส่ง 

สิ่งที่อาจารย์จารุจินต์พูดถึง เก็บอยู่ในสามห้องบนชั้น ๒ ของอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ได้แก่ ห้องเขาสัตว์ ห้องสมุด ห้องนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ในห้องเขาสัตว์นั้น เขาสัตว์ป่าทั้งของไทยและต่างประเทศจัดแสดงอยู่เป็นร้อยเขา อย่างน่าตื่นตาและน่าอัศจรรย์ใจ เขากระทิงที่ใหญ่ขนาดเท่าโคนขาคน ชวนให้นึกไปถึงว่าตัวของมันจะมีขนาดสักเท่าไหน กับเขาวัวแดงที่ดูมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่มีข้อแตกต่างที่หน้าผาก กระดูกหน้าผากวัวแดงจะนูนเต็ม ส่วนของกระทิงจะเว้าเข้าข้างใน เขาควายป่าที่ยาวโค้งเข้าหากันอย่างได้รูปราวโค้งพระจันทร์ เขากวางป่าหลากหลายแบบ ทั้งที่มีลักษณะที่ดีและที่นิยมใช้เป็นยา และอย่างไม่น่าเชื่อว่าเขากวางขนาดใหญ่ที่แตกแขนงแทงยอดออกมามากมายนั้นถูกสร้างขึ้นในปีเดียว เพราะกวางจะทิ้งเขาผลัดใหม่ในทุกฤดูหนาว เช่นเดียวกับละมั่งที่จัดอยู่สัตว์กลุ่มกวาง แต่เขาละอง (ใช้เรียกตัวผู้) ละมั่งไม่แตกแขนงมากอย่างเขากวางป่า แต่เป็นแท่งยาวขึ้นบน ปลายโค้งมาข้างหน้าแผ่ออกแบน อาจมีตุ่มแหลมสั้นๆ เขาสัตว์บางชนิดอย่างสมันที่แตกแขนงแบ่งคู่ต่อกันออกไปเรื่อยเป็นโครงรูปทรงกลมคล้ายซี่สุ่ม เราไม่มีโอกาสได้เห็นตัวของมันอีกแล้ว แม้แต่คุณหมอบุญส่งผู้เป็นเจ้าของเขาก็ไม่ได้เห็น เพราะมันสูญพันธุ์ไปหลายสิบปีแล้ว เหลือแต่ซากเขาและคำบอกเล่าให้คนรุ่นเราได้แต่นึกเสียดาย เขาสมัน ๑๘ คู่นี้ หมอบุญส่งบันทึกว่าได้รับโอนมาจากพระยาวาสุเทพ (E.W. Trotter)

เขาสัตว์ที่เคยอยู่ในห้องทำงานของหมอบุญส่ง ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่ห้องเขาสัตว์ 
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ปทุมธานี 

อาจารย์จารุจินต์ให้ข้อมูลว่า เขาสัตว์ทั้งหลายนี้หมอบุญส่งไม่ได้ล่าเองทั้งหมด แต่เกินครึ่งได้มาจากการแลกเปลี่ยน เหมือนการแลกเปลี่ยนแสตมป์กันในหมู่นักสะสม โดยเฉพาะที่เป็นเขาสัตว์ของต่างประเทศ ชิ้นเด่นๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดงไว้ ได้แก่ มูส ที่เขาเป็นแผ่นกางกว้างเหมือนปีกนก กวางเรนเดียร์ ที่เขาแตกแขนงออกมากจนแทบเกินจะนับจำนวน แกะ เขาม้วนขดข้างหู แพะและสัตว์จากท้องทุ่งแอฟริกา เขาบิดเป็นข้อเป็นเกลียว

วัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ปัจจุบันเขารับผิดชอบดูแลสกินนกหลายพันตัวที่หมอบุญส่งทำไว้ 



เขาสัตว์ทั้งหมดนี้เคยติดอยู่บนผนังห้องทำงานที่บ้านหมอบุญส่งมาก่อน เมื่อมาจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มันถูกนำมาจัดไว้บนแผงโลหะโปร่งแยกเป็นหมวดหมู่

ส่วนที่เป็นห้องสมุด เป็นเหมือนการจำลองภาพห้องทำงานของหมอบุญส่ง หนังสือและเอกสารทั้งหมดที่หมอบุญส่งเคยใช้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้ทางธรรมชาติวิทยานับสิบๆ ตู้ ถูกนำมาจัดไว้ในห้องนี้ รวมทั้งโต๊ะขนาดใหญ่สองตัวต่อกันที่เคยเป็นที่นั่งทำงานของหมอบุญส่ง ก็ถูกนำมาวางไว้กลางห้องด้วย อาจารย์จารุจินต์พูดให้ฟังเล่น ๆ ด้วยว่า หลายเล่มเป็นตำราที่กลายเป็นหนังสือหายากแล้วในปัจจุบัน แม้แต่ในประเทศที่จัดพิมพ์ ถ้าขายไปก็คงได้หลายล้านบาท

สกินนกนานาชนิดที่หมอบุญส่งทำไว้ และใช้เป็นแบบในการวาดภาพประกอบหนังสือคู่มือดูนก ปัจจุบันเก็บอยู่ในห้องนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มี วัชระ สงวนสมบัติ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

“เมื่อผมเข้ามาทำงานที่นี่ในตำแหน่งนักวิชาการนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม งานแรกที่ได้ทำคือดูแลตัวอย่างนกของหมอบุญส่ง ที่ครอบครัวบริจาคให้หลังหมอเสียชีวิต” นักวิชาการหนุ่มกล่าวอย่างภาคภูมิใจกับงานที่เขาทำ “ผมไม่เคยรู้จักตัวหมอบุญส่ง เคยแต่อ่านหนังสือที่ท่านเขียน แล้วมาได้ใช้ ได้หยิบจับสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ สกินนก ๓,๙๐๐ กว่าตัวนี้เป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ เป็นแบบรูปนกในหนังสือเบิร์ดไกด์ ที่เราเคยเห็นภาพจากในหนังสือ แล้วมาได้หยิบจับก็ตื่นเต้น”

นอกจากงานเขียนเรื่องธรรมชาติและชีวิตสัตว์จำนวนมากที่ทำให้คนได้รู้และให้คนรักธรรมชาติ วัชระยังเห็นว่าตัวตนของหมอบุญส่งยังเป็นต้นแบบให้คนจำนวนหนึ่งด้วย

“เราเอาแบบอย่างจากหมอโดยไม่รู้ตัว ในการทำงานอย่างสนุก หมอทำโดยไม่คิดถึงตัวเองเท่าไร ทำเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ ไม่คิดว่าตัวเองจะได้อะไร

“แต่ตอนนี้หมอบุญส่งเหมือนกำลังจะถูกลืม” วัชระพูดถึงสิ่งที่เป็นอยู่จริงในปีที่ ๑๐๐ ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งสวนกับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ตื่นตัวมากขึ้น แต่ชื่อหมอบุญส่งกลับเป็นที่รู้จักกันเพียงในวงแคบๆ

สิ่งที่เขาเห็นว่าควรจะทำในเวลานี้จึงอยู่ที่การทำอย่างไรให้ชื่อหมอบุญส่งยังอยู่ ไม่ตายไปจากโลก ให้คนหยิบหนังสือของหมอขึ้นมาอ่าน เพื่อที่จะทำให้เกิดนักอนุรักษ์รุ่นต่อๆ ไป

อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ก็คงมองเห็นในสิ่งเดียวกันนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านทำไปแล้วคือการฝากชื่อหมอไว้ในชื่อสัตว์ป่า

“การนำชื่อใครมาตั้งชื่อพืชหรือสัตว์ ถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุด”

ทำให้ชื่อของใครคนนั้นอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ต่อไปอีกนาน แม้เขาจะจากโลกนี้ไปแล้ว

บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะวางใจอย่างไม่คลางแคลง กับการที่ใครสักคนผู้เคยเหนี่ยวไกสังหารสัตว์ป่ามานับไม่ถ้วน หันกลับมาป่าวประกาศการอนุรักษ์ธรรมชาติ ฝาบ้านของเขาเต็มไปด้วยเขาสัตว์หายาก ยังไม่นับซากสัตว์ป่านานาชนิด และภาพถ่ายเขากับซากสัตว์ใหญ่จำพวกวัวแดง กระทิง ฯลฯ ที่เขาล้มมันกับมือ ซึ่งเคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปในวงกว้าง ล้วนแต่เป็นภูมิหลังที่ชวนให้กังขากับการยกย่องเขาในฐานะบิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย

คนหนุ่มที่เดินตามแนวทางที่หมอบุญส่งวางไว้อย่าง วัชระ สงวนสมบัติ มองเรื่องนี้ว่า “หมอบุญส่งเป็นนักล่ามาก่อนจริง เคยยิงสัตว์ที่หายากในตอนนี้ มีการเผยแพร่ภาพหมอบุญส่งกับสัตว์ที่ล่าได้ ท่านมีหัวกระทิงที่เขาใหญ่กว่าคนอื่นเขา แต่ท่านได้ตัวที่เขายาวกว่าคนอื่นเพราะอะไร ก็เพราะไม่ยิงตัวเล็ก หรือตัวเมีย พรานสมัยก่อนมีสปิริต และการล่าสัตว์ถือเป็นกีฬา เป็นงานอดิเรกที่ทุกคนทำได้ แต่หมอบุญส่งมีที่พิเศษคือการเก็บข้อมูลรายละเอียด ท่านเป็นคนที่สนใจธรรมชาติมากๆ จึงรู้เรื่องพวกนี้ และเมื่อรู้ถึงความสำคัญก็เลิก ไม่เท่านั้นหมอยังหาทางเผยแพร่ไม่ให้คนล่าสัตว์ แค่คนกลับใจเขายังยกย่อง แต่หมอทำมากกว่านั้น ไม่แค่หยุด แต่กลับพยายามสร้าง ถ้าไม่มีหมอ นักอนุรักษ์รุ่นต่อมาอาจไม่มีโอกาส เพราะนักธรรมชาติวิทยาในปัจจุบันล้วนมาจากหมอบุญส่ง หมอตายไปแล้วยังมีคนพร้อมจะทำงานต่อเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ”

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ มองในเรื่องเดียวกันว่า หมอบุญส่ง เลขะกุล เป็นคนแรกที่สร้างองค์ความรู้เรื่องธรรมชาติวิทยาให้แก่สังคมไทย ปลุกกระแสให้เห็นคุณค่าของสัตว์ป่าขึ้นมาได้ด้วยพลังใจและความสามารถอย่างสูง ซึ่งถ้าไม่มีหมอบุญส่ง เราก็คงไม่รู้จักไพรมากเท่านี้ และวงการอนุรักษ์จะเริ่มเมื่อใดก็คงไม่มีใครบอกได้

ส่วนการพลิกเปลี่ยนชีวิตจากการเข้าป่าล่าสัตว์มาเป็นนักอนุรักษ์นั้น นพ. รังสฤษฎ์มองตามทัศนะของเขาว่า

“ผมไม่เชื่อว่าท่านสนุกกับการฆ่าสัตว์ คงเป็นเด็กซนคนหนึ่งที่สนใจธรรมชาติ ท่านคงชอบใช้ชีวิตกลางป่า เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ แต่กิจกรรมสมัยนั้นมันเป็นกระแสเรื่องการล่าสัตว์ ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วคนที่กลับมาเป็นอย่างนี้ได้ การยิงแต่ละครั้งท่านคงไม่มีความสุข”

ขณะที่อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ พูดอย่างราบเรียบในน้ำเสียงธรรมดาว่า “ท่านก็แค่คนที่ทำงานตามยุคสมัย ตอนนั้นการล่าสัตว์เป็นเกมกีฬา หมอบุญส่งทำไปตามยุคสมัยของท่าน พอเริ่มเห็นว่าสัตว์เริ่มจะหมด ก็หันกลับมาอนุรักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรได้รับเกียรติและการยกย่อง”

โลกและชีวิตใครแต่ละคนเป็นเรื่องซับซ้อนย้อนยอกยิ่งนัก จึงไม่ง่ายกับการจะตัดสินใครหรือสิ่งใดจากปรากฏการณ์หรือความนึกคิดเพียงชั่วแล่นผิวเผิน

ครั้งหนึ่งหมอบุญส่งบอกกับ มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ ว่า “งานอนุรักษ์ไม่ใช่ว่าทำไปเพื่อเก็บรักษาไว้เพียงอย่างเดียว รักษามันไว้ให้มาก แล้วใช้มันอย่างคุ้มค่า และใช้อย่างฉลาดให้ยาวนานที่สุด”

และหมอบอกกับคนรุ่นหลังด้วยชีวิตทั้งชีวิตว่า การที่ใครสักคนเคยเป็นนักล่าก็ไม่หมายถึงการเป็นผู้ทำลายล้างเสมอไป