ภายหลังการต่อสู้อย่างกล้าหาญกับลัทธิจักรวรรดินิยมไม่เป็นผล สยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่าสงครามครั้งนี้ ไม่อาจเอาชนะด้วยกำลังพลอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน เพื่อเผชิญศึกทั้ง ๒ ด้านพร้อมๆ กัน ศึกด้านหนึ่งเป็นยุทธวิธีรบทางกายภาพ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการเอาชนะใจศัตรูซึ่งต้องทำคู่กัน นอกเหนือไปกว่านั้น ยังมีความจำเป็นต้องย้ายสมรภูมิเข้าไปในแดนข้าศึก จะได้หาโอกาสคลุกวงใน เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี และเพื่อแสวงหาพันธมิตรในหมู่ข้าศึกด้วยกันเอง ความเหนือชั้นทางทฤษฎี คือความเป็นต่อทางยุทธศาสตร์ แต่แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกทอดทิ้ง ให้ต้องเผชิญหน้าข้าศึกที่ไม่มีวันชนะพร้อมกับทางเลือกให้ยอมแพ้ หรือยอมสวามิภักดิ์ แต่พระองค์กลับทรงตัดสินพระทัยเลือก “ทางที่สาม” ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การรบของไทยโดยสิ้นเชิงนับแต่นั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทบาทของพระมหากษัตริย์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการบริหารภายในประเทศเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์ยังทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการต่างประเทศ และการรบทัพจับศึกอีกด้วย
ถึงแม้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังไม่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่าสยามจะไม่เคยทำสงครามมาก่อน ในทางตรงกันข้าม กองทัพสยามเคยผ่านสมรภูมิในระดับภูมิภาคมาอย่างโชกโชน เช่น ในศึกฮ่อ ศึกเงี้ยว และการศึกกับฝรั่งเศส สมัย ร.ศ. ๑๑๒ และในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสงครามที่เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าบทบาทของกองทัพจะมิได้เป็นเรื่องในทางยุทธวิธีการสู้รบทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องเน้นในเรื่องการรบทางความคิดทฤษฎี เพราะหากไม่มีอาวุธในทางความคิด ก็ยากยิ่งที่จะสามารถเอาชนะได้อย่างเป็นรูปธรรม
มูลเหตุและพื้นฐานของความร้าวฉาน
สยาม-ฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ ๕
ตอนปลายรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งใช้นโยบายขยายอำนาจและอาณาเขตแบบก้าวร้าวดึงดัน ภายหลังที่รู้ว่าตนไม่ถนัดทางการทูตและขาดความสันทัดในการสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลสยาม ทำให้ตนด้อยกว่าอังกฤษ นโยบายอันจาบจ้วงนี้บีบบังคับให้สยามสละดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรและเกาะอีก ๖ เกาะ รวมเป็นเนื้อที่ถึง ๑๒๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) ให้ฝรั่งเศสอย่างน่าเสียดาย
บรรยากาศทางการเมืองระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อเริ่มต้นรัชกาลที่ ๕ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเปราะบาง และไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยปริยาย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) นั้น มหาอำนาจจักรวรรดินิยมกำลังแข่งขันกันขยายอิทธิพลเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มที่ มีผลให้ฝรั่งเศสยึดญวนทั้งประเทศได้ในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ (ค.ศ. ๑๘๘๔) อีก ๒ ปีถัดมา อังกฤษก็ยึดพม่าได้ทั้งหมด และถกเถียงกับสยามเกี่ยวกับเขตแดนรัฐฉาน นอกจากนั้นยังแสดงความสนใจในดินแดนภาคใต้ของสยาม ซึ่งประชิดกับชายแดนของอังกฤษในแหลมมลายูอีกด้วย ความผันแปรทางการเมืองนี้ทำให้สยามมีพรมแดนประชิดกับดินแดนของมหาอำนาจทั้งสองทุกทิศทาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกังวลอย่างยิ่ง เพราะตามพรมแดนไม่มีการปักปันกำหนดเขตให้แน่นอน ข้อบกพร่องนี้เป็นสาเหตุชักจูงให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดความกระหายที่จะรุกล้ำดินแดนสยาม
ปัจจัยที่ทำให้ฝรั่งเศสสนใจดินแดนลาวและเขมรนั้น มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการจะหันเหความสนใจของประชาชนจากความปราชัยของฝรั่งเศสในสงครามกับปรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๗๑) ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น ก็เนื่องจากความสำคัญของชัยภูมิแถบนี้ ทั้งในด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ฝรั่งเศสเชื่อว่าแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านลาว จะใช้เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่จีนภาคใต้ได้ดีกว่าด้านอื่นๆ และเขมรก็เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่จะเป็นฐานที่มั่นปากแม่น้ำโขง ปัญหามีอยู่ว่าทั้งลาวและเขมรบังเอิญเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับสยาม
ฝ่ายสยามเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าถ้ายังไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนของตนจึงว่าจ้างนายแมกคาร์ที (James Macarthy) วิศวกรชาวอังกฤษ เพื่อสำรวจและทำแผนที่บริเวณลาวตอนเหนือ ในเวลาไล่เลี่ยกันฝรั่งเศสก็แต่งตั้งนายปาวี (August Pavie) ขึ้นบ้างเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี (Mission Pavie) เพื่อแข่งกับสยามในการเร่งสำรวจเส้นทางระหว่างตังเกี๋ยกับหลวงพระบาง และแสวงหาลู่ทางเพื่อเตรียมปฏิบัติการในแคว้นสิบสองจุไทด้วย เพื่อป้องกันอธิปไตยของไทยในแคว้นสิบสองจุไท พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จึงเปิดการเจรจากับนายปาวีที่เมืองแถง ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกันตลอดเวลา แม้พระยาสุรศักดิ์มนตรีจะอ้างประวัติศาสตร์และความเป็นจริงที่สยามเคยมีอำนาจปกครองเมืองแถงมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓-๕ ก็ตาม แต่ก็ไร้ผล ฝรั่งเศสยังดื้อดึงที่จะครอบครองแคว้นสิบสองจุไทไว้ต่อไป เนื่องจากสยามต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารต่อกัน จึงจำต้องยอมสูญเสียแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีเนื้อที่ถึง ๘๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ (ค.ศ. ๑๘๘๘) ซึ่งนับเป็นการเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศสครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕(๔)
ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งตั้งนายปาวีเป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ การแต่งตั้งดังกล่าวสร้างความวิตกให้รัฐบาลสยามมาก เนื่องจากนายปาวีเป็นผู้ที่มีความรู้กว้างขวางเกี่ยวกับพงศาวดารเขมรและลาว เพราะเป็นคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้าคณะสำรวจปาวี และเป็นนักจักรวรรดินิยมตัวยงด้วย ต่อมานายปาวียืนยันต่อรัฐบาลสยามว่า ฝรั่งเศสตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่สละสิทธิของญวนเหนือดินแดนเขมร พร้อมกับหันไปใช้นโยบายเรือปืน และใช้กำลังเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับสยาม โดยส่งเรือรบลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลสยามตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เป็นต้นมา หลังจากนั้นก็ส่งทหารเข้าบุกรุกดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นตามจุดต่างๆ อันเป็นชนวนไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
สงครามสมัย ร.ศ. ๑๑๒ สร้างความเสียหายทั้ง ๒ ฝ่าย การปะทะครั้งแรกเกิดที่แก่งเจ๊ก เมืองคำม่วน ริมฝั่งแม่น้ำโขง กลางดึกของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑๒ คน ในจำนวนนี้นายทหารติดยศ ชื่อกรอสกูแรง (Grosgurin) ด้วย ส่วนทหารสยามตาย ๖ คน และจะบานปลายไปสู่การที่ฝรั่งเศสเรียกเรือรบเข้ามาอีก ๒ ลำ ในเย็นวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ การปะทะครั้งหลัง ทหารฝรั่งเศสตาย ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน ทหารสยามตาย ๘ คน บาดเจ็บ ๔๑ คน(๒)
แต่การสู้รบก็ยุติลงโดยกะทันหัน ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ฝ่ายสยามเมื่อรวบรวมสติได้จึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เสียใหม่ ด้วยกระบวนการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหามากกว่าการถลำตัวลึกลงไปสู่สงครามอันยืดเยื้อ ที่สำคัญคือสยามเริ่มเรียนรู้สงครามจากสภาพความเป็นจริงของสงคราม
รัชกาลที่ ๕ ทรงใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวูจริงหรือ?
ภายหลังการยิงปืนใหญ่ปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาสงบลง สยามเริ่มเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถเอาชนะฝรั่งเศสด้วยกำลังพลอีกต่อไป นับแต่นี้เราจะได้เห็นทฤษฎีรบแบบใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ หนึ่งในทฤษฎีนั้นคือยุทธวิธีแบบจีนของซุนวู ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ตำรานี้แน่นอนหรือไม่? บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ชี้ว่ามันเคยถูกใช้จริงๆ แม้ใน ร.ศ. ๑๑๒
ตามบทที่ ๘ ของตำรานี้ ซึ่งคุณเสถียร วีรกุล แปลเป็นไทย กล่าวถึง “นานาวิการ” ซึ่งแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงบิดเบือนต่างๆ อันมิได้เป็นไปตามที่ควรเป็น “ขุนพลผู้ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในหลักนานาวิการ แม้จะรู้ลักษณะภูมิประเทศดีก็ไม่อำนวยผลประโยชน์อย่างใดเลยในการบัญชาทัพ หากไม่รู้วิธีการสู้รบต่อนานาวิการแล้วไซร้ แม้จะซาบซึ้งถึงความได้เปรียบแห่งภูมิประเทศ ก็ไม่อาจใช้กำลังพลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นขุนพลผู้แจ้งในคุณานุคุณแห่งนานาวิการ จึงนับได้ว่า รู้การศึก”
ด้วยเหตุนี้ ความใคร่ครวญของผู้ทรงปัญญา จึงต้องทบทวนอยู่ระหว่างผลได้และผลเสีย
ซุนวูย้ำว่า “ผู้นำทัพ” ที่จะแพ้การยุทธ์นั้น มีจุดอันตรายอยู่ ๕ ประการ คือ
๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้
๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย
๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่น อาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล
๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้
๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ
จากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เราสามารถเข้าใจโดยเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับพระเจ้าอยู่หัวของเรา เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำตำราของซุนวูมาใช้ กล่าวคือ
๑. ผู้ที่คิดแต่จะสู้ฝ่ายเดียว ก็ถูกหมายเอาชีวิตได้ : เมื่อเรือปืนแองกองสตองค์ (L”Inconstance) และโคเมท (Comet) ผ่านสันดอนที่ปากน้ำเข้ามา มันก็แล่นตรงเข้ามากรุงเทพฯ เลย โดยมุ่งหมายที่จะรบต่อไป และถึงแม้จะมีการตั้งรับบนสองฝั่งแม่น้ำ แต่ฝ่ายสยามก็ยุติการยิงโดยสิ้นเชิง โดยหันมากรองสถานการณ์ใหม่ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป? กองทัพสยามมิได้รับคำสั่งให้สู้ตาย ถึงแม้จะสามารถทำได้ และฝ่ายสยามซึ่งมีกำลังมากกว่าย่อมจะสามารถจมเรือฝรั่งเศสได้ แต่การสงครามก็จะขยายวงกว้างเป็นเงาตามตัว
๒. ผู้ที่คอยแต่จะรักษาตัวรอด อาจถูกจับกุมเป็นเชลย : ไม่ปรากฏว่ามีทหารสยามหนีทัพเลย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียกประชุมเสนาบดี เพื่อลำดับเหตุการณ์และหาวิธีแก้ไข ท่ามกลางข่าวลือที่ทหารฝรั่งเศสกุขึ้นว่า พระเจ้าแผ่นดินเตรียมที่จะหลบหนีเอาตัวรอด พร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากของพระองค์
๓. ผู้ที่หุนหันพลันแล่นอาจถูกยั่วเย้าให้หลงกล : ภายหลังการสู้รบไม่เป็นผล มีพระราชดำรัสสั่งให้ยุติการรบทันที ถึงการยุทธ์จะมีเปอร์เซ็นต์ชนะมากกว่าแพ้ แต่ความผลีผลามกลับจะให้ผลตรงกันข้าม ดังนั้นเมื่อนายทหารเดนมาร์กผู้บัญชาการรบ คือพระยาชลยุทธโยธิน (Captain Andre Du Plessis De Richelieu) เกือบจะหลงกลศึก โดยกราบบังคับทูลว่า สยามจะสามารถเผด็จศึกเร็วขึ้น ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งการให้ใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งเข้าชนเรือข้าศึกซึ่งจอดอยู่เฉยๆ ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย แต่ก็ทรงปฏิเสธ เพราะไม่มีพระราชประสงค์ให้การรบทางกายภาพดำเนินต่อไป อันเป็นหลุมพรางของข้าศึก
๔. ผู้ที่คิดแต่ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วของตน อาจถูกเหยียบย่ำใส่ไคล้ : ภายหลังความพ่ายแพ้ในยกแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงขัดขืนดื้อดึงว่าฝ่ายสยามเป็นฝ่ายถูก และควรได้รับความเป็นธรรมจากการที่เรามิได้เป็นผู้เริ่มสงคราม เราจึงน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่มิได้ต้องการสงคราม แต่ถูกบีบคั้นให้เข้าสู่สงคราม การโต้แย้งใดๆ ย่อมฟังไม่ขึ้นในสถานการณ์เช่นนั้น การรบได้เปิดฉากขึ้นแล้วทั้ง ๒ ฝ่าย สิ่งที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วคือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แทนข้ออ้างเรื่องความรักสงบ
๕. ผู้นำทัพที่รักขุนทหารและราษฎร มักจะยุ่งยากใจ : การปกป้องข้าราชสำนักย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำของประมุขแห่งราชสำนักนั้น แต่ในฐานะจอมทัพที่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงดำรงอยู่เช่นกัน มิได้ทำให้ทรงลำเอียงในจิตใจแต่อย่างใด มีหลักฐานเขียนไว้ว่า การยอมความของเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ) ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น เป็นการลงพระนามไปโดยมิได้รับพระราชานุมัติ และเป็นไปได้ที่จะทำการลงไปโดยขัดต่อพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ ซึ่งย่อมจะเป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัยก็ตามที แต่ก็มิได้ทรงใช้อารมณ์ เมื่อตั้งพระสติได้ จึงทรงรับเอาปัญหาทั้งหมด มาจัดการแก้ไขด้วยพระองค์เสียเอง ทั้งยังปรากฏอีกว่า ในการดำเนินการเจรจากับผู้นำประเทศระหว่างเสด็จฯ สู่ทวีปยุโรปนั้น มิได้มีเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ติดตามไปทำหน้าที่ด้วยเลย
ซุนวูเขียนต่อไปว่า “การใช้กำลังทหาร จึงเหมือนหนึ่งธรรมชาติของน้ำ น้ำย่อมจัดกระแส ไหลบ่าไปตามลักษณะภูมิประเทศฉันใด การยุทธ์ก็ต้องเอาชนะกันตามสภาวะข้าศึกฉันนั้น การยุทธ์จึง “ไม่มี” หลักเกณฑ์ตายตัว เฉกเช่นน้ำ ซึ่งหามีรูปลักษณะอันแน่นอนไม่ จึงผู้เอาชนะด้วยปฏิบัติการอันเหมาะสมกับความผันแปรของข้าศึกนั้น เขาคือเทพเจ้าผู้ทรงอิทธิฤทธิ์”
นับจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นต้นไปจนตลอดรัชกาลที่ ๕ เราจะไม่พบว่าสยามใช้กำลังทหารในการรบตามรูปแบบกองทัพที่มีหลักเกณฑ์ตายตัวอีกเลย ยุทธศาสตร์การรบต่อจากนี้ ล้วนเป็นทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดทั้งสิ้น
ความคาดหวังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕
สงครามย่อยๆ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ช่วง ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มตระหนักว่า คงจะเป็นการยากที่สยามจะหวังพึ่งมหาอำนาจยุโรปเช่นอังกฤษ ที่เราเคยเชื่อว่าจะพึ่งได้ เพราะอังกฤษเองก็ยังรุกรานพม่าต่อจากอินเดีย ในขณะที่ฝรั่งเศสก็แข่งขันที่จะฮุบเขมรต่อจากญวนเช่นกัน ทรงเล็งเห็นอีกว่า หากสองมหาอำนาจนี้รอมชอมกันได้เกี่ยวกับเขตแดนของตน ความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยของสยามก็จะได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย พระองค์จึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้มหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี เข้ามามีอิทธิพลและผลประโยชน์ในสยามพร้อมๆ กัน เพื่อคานอำนาจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะทั้ง ๓ ประเทศหลังนี้ก็มีความขัดแย้งอยู่แล้วทั้งกับอังกฤษและฝรั่งเศสในภูมิภาคต่างๆ(๔)
ความหวาดระแวงนี้เกิดขึ้นจริงๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสปรองดองกันได้และอุปโลกน์ให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณานิคมของกันและกันโดยมิได้ปรึกษากับรัฐบาลสยามเลย ความตกลงครั้งนี้เรียก Anglo-French-Declaration 1896
โครงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงอุบัติขึ้น โดยมีประเด็นทางการเมืองเป็นแรงกระตุ้นที่มีน้ำหนักที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่า คือเดนมาร์กและอิตาลี ซึ่งเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง เพื่อกรองสถานการณ์ และเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากพันธมิตรกลุ่มใหม่ คือรัสเซียและเยอรมนี ในเวลาเดียวกันก็เพื่อหาโอกาสเจรจาแก้ไขความเสียเปรียบในสนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ กับทางฝรั่งเศส ทรงเลือกรัสเซียเป็นเป้าหมายหลัก และทรง “คาดหวัง” อย่างมากว่าพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ผู้ที่ทรงรู้จักคุ้นเคยมาก่อน จะทรงช่วยเหลือให้ได้เจรจากับผู้นำฝรั่งเศส และถ้าเป็นไปได้จะได้ขอร้องให้พระเจ้าซาร์เป็นคนกลาง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสเสียเลย(๓)
การมาครั้งนี้ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ทางการเมืองครั้งสำคัญ จึงมีความหมายมากกว่าการเยี่ยมเยือนระดับธรรมดา และถ้าเปิดเผยได้มากกว่านี้ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางไปหาแนวทางเพื่อจัดทำ “ปฏิญญาสยาม” เสียด้วยซ้ำไป นโยบายเชิงรุกในครั้งนี้ หากพิจารณาดีๆ เปรียบเสมือนการตัดไม้ข่มนาม แต่ที่จริงมันคือยุทธวิธีรบรูปแบบใหม่ของการช่วงชิงพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะทางยุทธศาสตร์ จากการที่ตกเป็นรองมาอยู่ในฐานะที่เป็นต่อ โดยช่วงชิงการประชาสัมพันธ์ เป็นแนวทางในการทำศึกแทน
สำหรับพระองค์แล้ว ความพยายามอย่างเป็นขั้นตอนก็คือความได้เปรียบทางการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวตามเงื่อนไขความสุกงอมเชิงนโยบายที่ดำเนินมาอย่างสุขุมและมั่นใจในทางยุทธศาสตร์แล้วก็คือ การทำสงครามจิตวิทยามวลชนรูปแบบหนึ่ง ทรงเล็งเห็นว่ารูปแบบการเมืองอันเป็นเผด็จการสไตล์จักรวรรดินิยม แม้จะเคยอำนวยประโยชน์ในยุคหนึ่ง บัดนี้กำลังกลายเป็นเครื่องรั้งดึงพัฒนาการอันเป็นรูปการใหม่ของการดำเนินนโยบายตามระบบสากล จริงอยู่ว่าในเวลานี้บรรยากาศและเงื่อนไข จะบีบคั้นให้แต่ละฝ่ายเข้าไปสู่มุมอับ จนต้องเผชิญหน้ากันในระดับผู้นำดังเช่นในครั้งนี้ แต่ทุกบรรยากาศและทุกเงื่อนไขก็กำลังได้รับการเยียวยาเอาใจใส่ในระดับหนึ่ง จนเกิดการคลี่คลายตัวของมันเองลงสู่อีกระดับหนึ่ง
ความเคลื่อนไหวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้กระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรงพลันลดอุณหภูมิลงโดยอัตโนมัติ ด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร และโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ พระองค์ทรงคาดหวังว่า ใครและกลุ่มใดที่มีความเข้าใจในเงื่อนไขนี้มากที่สุด ใครและกลุ่มใดที่สามารถเข้าไปยึดกุมกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นฝ่ายกระทำ นั่นหมายถึง สามารถเข้าไปเป็นปัจจัยชี้ขาด และอาจช่วงชิงชัยชนะได้ในสมรภูมินี้(๑)
“นโยบายซ้อนพันธมิตร” สมัยรัชกาลที่ ๕
ถอดแบบมาจากระบบบิสมาร์กจริงหรือ?
หากพิจารณาบริบทของนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วก็จะมองเห็นไม่ยากเลยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างระบบพันธมิตรที่อาจป้องกันสงครามได้ ระบบนี้มีความคล้ายคลึงกับระบบของบิสมาร์กมาก
บิสมาร์ก (Otto Von Bismarck) เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศปรัสเซีย ผู้สามารถกุมอำนาจการบริหารยุโรปไว้ได้ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๕๑-๙๐ อันเป็นแม่แบบของการวางระบบพันธมิตรในทวีปยุโรปสมัยใหม่ ความสำเร็จของบิสมาร์กมิได้ทำให้ปรัสเซียและรัฐบริวารรวมตัวกันได้จนเป็นประเทศแล้วตั้งชื่อใหม่ว่าเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังทำให้พันธมิตรของเยอรมนีมีสภาพเป็นเมืองหน้าด่านที่คอยปกป้องภัยพิบัติต่างๆ ก่อนที่จะมาถึงเยอรมนีอีกด้วย โครงสร้างของเครือข่ายนี้ซับซ้อนมาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะทำความเข้าใจ
การดำเนินนโยบายทางการทูตแบบทับซ้อนของบิสมาร์ก จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์และความมั่นคงของยุโรปให้เป็นไปตามที่เขากำหนด ภายหลังชัยชนะของบิสมาร์กในสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๑ อิทธิพลของฝรั่งเศสก็แทบจะหมดไปในสายตาชาวยุโรป บิสมาร์กต้องการสร้างระบบพันธมิตรขึ้นมาใหม่ โดยมีเยอรมนีเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์นั้น ในปีเดียวกันนั้น บิสมาร์กจึงจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund) ขึ้น โดยมีเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี เป็นแกนนำเพื่อบริหารยุโรปแทนที่ฝรั่งเศส แต่ทั้งๆ ที่สถาปนาตนเองเป็นโต้โผใหญ่ในการนี้ บิสมาร์กก็ยังให้การสนับสนุนอย่างลับๆ กับอังกฤษ ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ของเยอรมนีเอง เขาวางหมากให้อิทธิพลของเยอรมนีแทรกซึมอยู่อย่างเงียบๆ โดยจัดให้ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลีทำสัญญาผูกมัดอังกฤษไว้ตามข้อตกลงฉบับใหม่เรียกข้อตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediteranean Agreement) ข้อตกลงแบบเหยียบเรือสองแคมนี้บิสมาร์กบังคับให้อังกฤษกับพันธมิตรของเยอรมนีรักษาสถานะเดิมของกันและกันต่อไปในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน และจะร่วมมือกันต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียในดินแดนแถบนี้ด้วย ทั้งๆ ที่เยอรมนียังรักษาสัญญาประกันพันธไมตรีให้รัสเซียขยายอิทธิพลอยู่ในบอลข่านได้ ระบบพันธมิตรอันซับซ้อนที่มีบิสมาร์กเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังดังกล่าวนี้ ได้สร้างความยิ่งใหญ่และความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิเยอรมนี และทำให้จักรวรรดิเยอรมนีอยู่รอดปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกันเอง และป้องกันมิให้ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจลุกลามกลายเป็นสงครามได้(๑)
ในทำนองเดียวกัน นโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายที่จะยับยั้งสงครามได้สร้างความสับสนและลำบากใจในการวางตัวของฝ่ายตรงข้ามไม่น้อย กล่าวคือ ในขณะที่ทรงผูกมิตรอย่างเหนียวแน่นไว้กับรัสเซียทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะรัสเซียกำลังเป็นพันธมิตรสำคัญของฝรั่งเศส พระองค์ก็ทรงทาบทามขอการสนับสนุนจากเยอรมนีอีกทางหนึ่ง ก็เพราะเยอรมนีเป็นคู่แข่งของรัสเซีย และเป็นศัตรูของฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน การวางหมากให้เกิดขัดกันทางอิทธิพล สร้างความลำบากใจในการกระจายอำนาจให้อังกฤษและฝรั่งเศสที่ต้องมาขับเคี่ยวกันเองกับ “ทฤษฎีเกม” ของสยาม เกมหนึ่งนั้น คือได้หลักประกันเอกราชจากการทำให้ผลประโยชน์ของคู่แข่งคืออังกฤษและฝรั่งเศสขัดกัน อีกเกมหนึ่งคืออำนวยผลประโยชน์ทางการค้าให้แก่มหาอำนาจอื่นๆ เพื่อสามารถพึ่งพาประเทศเหล่านั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น และนำหลักประกันของชาติเหล่านั้น ไปขัดกับหลักประกันซึ่งได้มาอย่างแสนยากของอังกฤษและฝรั่งเศส การคุกคามสวัสดิภาพทางการเมืองในสยาม จึงมิใช่เรื่องง่ายเหมือนเคย สำหรับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส
การว่าจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา และเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลสยามนั้น ล้วนเป็นกลไกที่ทำให้เครื่องจักรใหญ่ คือ พระบรมราชวิเทโศบายใหม่ในการถ่วงดุลอำนาจ เดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กุศโลบายของสยามก็คือ เลือกเอาชนชาติต่างๆ จากหลายชาติมาร่วมดำเนินนโยบายของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความสำคัญ ก็จะทรงคัดเลือกอย่างระมัดระวัง เช่น นโยบายที่จะไม่จ้างชาวอังกฤษ หรือฝรั่งเศสเข้ามารับราชการทางฝ่ายทหาร แต่จะอาศัยชาวยุโรปประเทศเล็กๆ เช่น เดนมาร์กและอิตาลีแทน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะคุกคามสยาม หรือในกรณีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินนั้น ก็ได้ตั้งเป็นเสมือนหนึ่งนโยบายภายในว่า จะอาศัยบุคคลจากประเทศที่เป็นกลางเท่านั้น เช่น เบลเยียมและอเมริกา แต่ในกรณีของเยอรมนีสยามกลับให้อภิสิทธิ์พิเศษในการว่าจ้างชาวเยอรมันเข้ามาสร้างระบบเดินรถไฟ และแทบจะผูกขาดอยู่กับชาวเยอรมันเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง ทำให้เห็นความลำเอียงในทางปฏิบัติอย่างชัดเจนก็เพื่อสร้างความกังวลให้ฝรั่งเศสเป็นทวีคูณ
การเสด็จไปเยี่ยมบิสมาร์กถึงคฤหาสน์นอกเมือง ทั้งๆ ที่บิสมาร์กเกษียณอายุและออกจากราชการแล้ว รัชกาลที่ ๕ ยังทรงให้ความสำคัญแก่เขาเทียมเท่าผู้นำคนอื่นๆ ชี้เบาะแสความสอดคล้องเชิงนโยบายและความนิยมเยอรมันที่ไม่อาจปกปิดไว้ได้ เราสามารถเห็นวิธีการทูตแบบยอกย้อนของบิสมาร์ก ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นแผนแม่บทของนโยบาย “การทูตนำการทหาร” ของสยามตลอดเวลาในรัชกาลนี้(๑)
มหาอำนาจระดับกลาง และระบบการเมืองอันยืดหยุ่น
ของมหาอำนาจระดับกลาง
นอกจากความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยกับมหาอำนาจขนาดใหญ่อันเป็นนโยบายหลักแล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้นที่สยามก็ติดต่อกับมหาอำนาจขนาดกลางไว้ เป็นทางเลือกอย่างไม่ออกนอกหน้าอีกด้วย ประเทศเล็กๆ ที่ดูไม่มีพิษสงจากภายนอก เช่น เดนมาร์ก อิตาลี และเบลเยียม กลายเป็นความสำเร็จเบื้องต้นข้างหลังนโยบายต่างประเทศที่มีกล่าวถึงน้อยมากในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
โดยเฉพาะ “อิตาลี” นั้น ถึงแม้จะมีผู้นำที่เก็บเนื้อเก็บตัวพอสมควรในหมู่ราชสำนักยุโรปด้วยกัน แต่ชาวอิตาเลียนกลับอยู่แถวหน้าในกิจการด้านการทหาร และการโยธาของสยามประเทศ จึงเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ร่วมหัวจมท้ายอยู่กับสยามอย่างสนิทใจ อิตาลีมิได้อยู่ในสายตาของมหาอำนาจขนาดใหญ่ เพราะอิตาลีไม่เคยแสดงตัวว่าแข่งขันทางด้านแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจดังภาพพจน์ของชาวยุโรปอื่นๆ จึงสามารถดำเนินนโยบายสายกลางอย่างเสมอต้นเสมอปลายในสยามตลอดมา
ความเป็นกลางของอิตาลี และนโยบายที่ยืดหยุ่นตลอดเวลาของประเทศนี้ เป็นปัจจัยภายนอกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการที่อิตาลีมีเครือข่ายราชวงศ์อันเหนียวแน่น และเป็นที่ยอมรับนับถือของราชสำนักยุโรปด้วยกัน ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาอยู่ที่นี่ ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นศูนย์กลางของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นกลางและเป็นมิตรไปด้วย ถึงแม้จุดประสงค์อันซ่อนเร้นจะถูกปิดบังไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น และเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ทฤษฎีซ้อนนโยบายต่างประเทศที่ใช้ได้ผลของประเทศนี้ กล่าวคือถึงแม้อิตาลีจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคี (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก เพื่อที่จะสร้าง “สถานการณ์แบ่งฝ่าย” ให้เกิดขึ้นก็ตาม แต่อิตาลีก็มิได้ล้มเลิกนโยบายเดิมของตน ที่ต้องการแก้แค้นฝรั่งเศสซึ่งแย่งแคว้นตูนิเซียไป (ปัจจุบันคือประเทศตูนิเซีย-ผู้เขียน) เป็นเหตุให้อิตาลีหมดอำนาจลงในทวีปแอฟริกา แต่ภายหลังที่เข้าเป็นพวกในกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีที่มีเยอรมนีเป็นหัวหอกแล้ว อิตาลีกลับมิได้ทำตัวสนับสนุนหลักการของกลุ่มอย่างเต็มใจนัก จนดูเหมือนเป็นสมาชิกแต่เพียงในนาม ก็เพราะยังต้องการรักษาความเป็นกลางไว้ต่อไป มากกว่าการใช้มาตรการตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างจริงจัง ตรงนี้คือลักษณะพิเศษของการเมืองในอิตาลี(๑)
ทว่าความยืดหยุ่นของอิตาลี ทำให้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีไม่ค่อยสามัคคีกันเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะนโยบายหลักเป็นแต่เพียงต้องการล้อมกรอบให้ฝรั่งเศสอยู่อย่างโดดเดี่ยวและหมดอำนาจเท่านั้น ความพยายามดังกล่าวทำให้ต้องทำตัวเหมือนเสือกระดาษ ที่คอยข่มขู่กลุ่มอื่นๆ ให้ตกใจเล่นอยู่เสมอ นอกจากกลุ่มไตรภาคีจะเล่นเกมการเมืองแบบลับๆ ล่อๆ แล้ว ยังคอยกีดกันมิให้ฝ่ายใดรวมตัวกันได้อีก นั่นหมายถึง การทำสงครามจิตวิทยาอยู่ร่ำไป
หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal ฉบับวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ วาดภาพล้อผู้นำกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีทั้งสาม โดยสร้างอนุสาวรีย์ล้อเลียนเป็นรูปพระเจ้าแผ่นดินเยอรมัน ออสเตรีย และอิตาลี ให้มีจมูกงอกยาวเหมือนตัวการ์ตูนพิน้อคคิโอ ซึ่งหมายถึงพวกหน้าไว้หลังหลอกนั่นเอง แต่ถึงแม้กลุ่มมหาอำนาจไตรภาคีจะถูกมองอย่างดูถูกเหยียดหยามเหมือนตัวตลกอยู่เสมอ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงผูกมิตรอยู่กับกลุ่มนี้ด้วยความศรัทธาในความซื่อตรง จากการที่กลุ่มมีนโยบายเปิดเผยและเป็นกลาง โดยเฉพาะแกนนำของกลุ่มคือพระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ผู้เป็นนักสู้เพื่ออุดมการณ์และไม่เคยกลัวใคร ทรงเสนอตัวเองเป็นที่พึ่งแก่สยามในยามยากอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีเป็นฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมนีไม่ต้องการให้กลับมามีอำนาจอีก(๖)
และถึงแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในหมู่ชาวยุโรปด้วยกัน แต่อิตาลีก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจระดับกลางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ด้วยเหตุนี้ คนอิตาเลียนจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้ารับราชการ ตามนโยบายถ่วงดุลอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่แรก ชาวอิตาเลียนได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ในระดับเดียวกับชาวเดนมาร์ก คือให้ดูแลด้านความมั่นคง (การทหาร) ควบคู่ไปกับงานด้านพัฒนาประเทศในยามสงบ (โยธาและศิลปากร) ในขณะที่ชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่ไม่เคยได้รับพระกรุณา
นโยบายเปิดประเทศและเป็นกลางของอิตาลีช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทำให้มีนายทหารอิตาเลียนเดินทางไปแสวงหาโชคลาภตามส่วนต่างๆ ของโลก ในจำนวนนี้มี ๒ คนที่เดินทางเข้ามาในสยาม คือนายเยรินี (G.E. Gerini-ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นพระสารสาสน์พลขันธ์) และนายฟารันโด (Giuseppe Ferrando) สมัครขอเข้ารับราชการในกรมทหารหน้า (ต่อมาเป็นกระทรวงกลาโหม) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้จ้างไว้เป็นครูฝึกทหารหน้าตามแบบยุโรปสมัยใหม่(๕)
นายเยรินีได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและประเทศอิตาลีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านการทหาร ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้นายเยรินีพัฒนากิจการกลาโหมตามแบบยุโรป ถึงขนาดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษา ว่ากันว่านายเยรินีเป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งที่เปิดเผยความตื้นลึกหนาบางด้านกำลังพล และกิจการภายในของมหาอำนาจยุโรปต่อพระเจ้าอยู่หัว บุคลากรจากประเทศมหาอำนาจระดับกลาง ที่ไม่มีเป้าหมายด้านอาณานิคม จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้สยามพัฒนาประเทศได้อย่างมีอิสระและเป็นเอกภาพทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขใหม่ๆ ทางการเมืองที่มหาอำนาจตะวันตกเร่งรัดเข้ามา(๕)
สื่อมวลชนกับการสร้างสถานการณ์ :อาวุธชนิดใหม่ในการรบของรัชกาลที่ ๕
การสื่อสารถือเป็นหัวใจของการทำยุทธศาสตร์มวลชน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสนามรบ การปลุกข่าว การโฆษณาชวนเชื่อ และการปล่อยข่าว เป็นพลังเงียบที่ทรงอานุภาพ สามารถสร้างความสูญเสียเชิงสถานการณ์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้ตลอดเวลา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับยุทธวิธี โดยหันมาใช้การประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในระยะยาว การดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นการรบโดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้มันสมอง จะเรียกว่าการสร้างภาพคงไม่ผิดนัก แต่การสร้างภาพได้ถูกเวลาและสถานที่ มีผลให้ประเทศเล็กๆ เช่นสยามถูกมองว่ามีอิทธิพลแฝงในหมู่ผู้นำชาติมหาอำนาจยุโรปโดยไม่รู้ตัว
ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในรัชกาลที่ ๕ ภาพพระเจ้าแผ่นดินสยาม ๔ ภาพ ถูกถ่ายขึ้นอย่างจงใจและถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ตามสื่อหนังสือพิมพ์ชั้นนำของยุโรป ภาพทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่ามีนัยยะทางการเมือง แต่ที่น่าประหลาดใจคือหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลฝ่ายศัตรูกลับเป็นตัวกลางที่โฆษณาภาพออกไป ย่อมพิสูจน์ความจริงว่าอาวุธชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพถูกนำมาใช้จริงๆ และไม่สามารถปิดบังไว้ได้ในสงครามช่วงชิงพื้นที่ระลอกนี้(๘)
ภาพที่ ๑ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒
ถ่าย ณ วังปีเตอร์ฮอฟ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ เบื้องหลังภาพนี้เกิดจากการที่รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะรับเสด็จรัชกาลที่ ๕ เพราะไม่ต้องการที่จะประนีประนอมด้วย พระเจ้าซาร์ทรงเข้าแทรกแซง โดยขอร้องให้ฝรั่งเศสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะมิตรประเทศของรัสเซีย และพระสหายของพระเจ้าซาร์ มีผลทำให้ฝรั่งเศสยอมตามคำขอร้องโดยดุษณี
ภาพที่ ๒ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ถ่าย ณ ปะรำพิธีชมการซ้อมรบที่ทุ่งแซง กองแต็ง นอกกรุงปารีส เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ แสดงความสมานฉันท์ของผู้นำที่เคยเป็นอริต่อกัน มีผลทำให้ความตึงเครียดซึ่งเป็นผลมาจากกรณีพิพาทของทั้ง ๒ ประเทศ ผ่อนคลายลงในสายตาคนทั่วไป
ภาพที่ ๓ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ กับอดีตอัครมหาเสนาบดีเยอรมัน
ถ่าย ณ ทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์ก ในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้สถานการณ์แบ่งฝ่ายร้อนระอุขึ้นในทันที ทั้งนี้เพราะเยอรมนีเป็นศัตรูหมายเลข ๑ ของฝรั่งเศส การที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพบบิสมาร์กย่อมหมายถึงการผนึกกำลังกับเยอรมนีเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส
ภาพที่ ๔ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ทรงแนะนำให้บิสมาร์กรู้จักคณะผู้ติดตามพระองค์
ถ่ายหน้าทำเนียบที่พำนักของบิสมาร์กในเยอรมนี เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA ของอิตาลี ฉบับวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ มีผลทำให้บรรยากาศแบ่งข้างผ่อนคลายลง ทั้งนี้เพราะอิตาลีเป็นภาคีสำคัญในกลุ่มไตรภาคีพันธมิตร (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำหลัก การวิเคราะห์ของชาวอิตาเลียนจึงทำได้อย่างเสรี และมีแนวโน้มว่าอิตาลีกำลังส่งเสริมสยามอีกต่างหาก ภาพนี้จึงชูประเด็นนโยบายซ้อนพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน มีผลให้สถานะของสยามดีขึ้นในสายตาชาวยุโรปกว่าครึ่งทวีปที่ไม่ชอบฝรั่งเศส
สรุป : สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็คือการสู้รบและความสูญเสีย ที่เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ แม้ในระหว่างที่เหตุการณ์ดำเนินอยู่ ยังมีหลักฐานให้เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาใช้ ช่วยให้การสู้รบยุติลงโดยเร็ว
ต่อมาสยามเริ่มมองเห็นสัจธรรมว่ายุทธวิธีรบแบบโบราณเป็นเรื่องล้าสมัย และไม่ทันต่อความล้ำหน้าของกองทัพจากตะวันตกอีกต่อไป การสู้รบแบบใหม่จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีติดอาวุธทางความคิดแทน จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปยุโรปเพื่อดำเนินยุทธศาสตร์กันชนด้วยพระองค์เองอันเป็นทางเลือกที่ ๓ ซึ่งอาจยุติสงครามได้ ทรงสร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยการวางการทูตนำการทหาร ซึ่งจะกลายเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมที่สุดของการทำสงครามยุคใหม่ ทั้งยังทรงนำอาวุธชนิดใหม่ คือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมาใช้อีกด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗)
ความแข็งแกร่งตามนโยบายซ้อนพันธมิตรของเยอรมนี และความยืดหยุ่นของนโยบายการเมืองในอิตาลี นับเป็นทฤษฎีใหม่ที่สยามทดลองใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนชั้นนำของยุโรปประจำปีนั้นตีแผ่ความสำเร็จเชิงนโยบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเกรียวกราว หลักฐานในหน้าหนังสือพิมพ์จากประเทศฝ่ายศัตรูวิเคราะห์แบบฝืนใจว่า บางที “สยาม” จะเป็น “ฝ่ายชนะ” ในยกนี้
เอกสารประกอบการค้นคว้า
(๑) ไกรฤกษ์ นานา. เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน, ๒๕๔๙.
(๒) แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี. กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ. ๑๑๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๑๙.
(๓) เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒.
(๔) _______. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙.
(๕) เยรินีกับโมเสดแห่งอัจฉริยภาพ, กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘.
(๖) หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal. Paris, 25 October 1896.
(๗) หนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 23 May 1897.
(๘) หนังสือพิมพ์ L”ILLUSTRAZIONE ITALIANA. Rome, 17 October 1897.
ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนสถานะชาวสยาม จาก “แพ้” เป็น “ชนะ”
ต.ค. 24, 2018Historyปิดความเห็น บน ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนสถานะชาวสยาม จาก “แพ้” เป็น “ชนะ”
Previous Postเมื่ออนาคตใหม่เล่นบท สมมุติเทพ?
Next Postบันทึกเรื่องราวของ “ในหลวงรัชกาลที่9” กับต้นกาแฟพลิกฟื้นผืนดินไทย