วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

นิ่งครั้งนี้ไม่มีตำลึงทอง – ดร.เสรี วงษ์มณฑา

คอลัมน์ ‘คิดเหนือกระแส’ ของดร.เสรี วงษ์มณฑา ใน นสพ.ไทยโพสต์
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักสื่อสารมวลชนและนักการตลาด ได้เขียนเรื่อง ‘นิ่งครั้งนี้ไม่มีตำลึงทอง’ ในคอลัมน์’คิดเหนือกระแส’ของ นสพ.ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 21 มกราคมนี้ อย่างมีประเด็นสำคัญน่าคิดเกี่ยวกับสุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” แต่สุภาษิตดังกล่าวนี้คงไม่สามารถจะใช้ได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ศรัทธา และความน่าเชื่อถือ

คนไทยหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับสุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ซึ่งความหมายก็คือ บางเรื่องพูดไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร สู้นิ่งเสียจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม สุภาษิตดังกล่าวนี้คงไม่สามารถจะใช้ได้ในทุกกรณี บางกรณีถ้าพูดไปอาจจะได้ตำลึงทอง แต่ถ้าหากไม่พูดจะเสียหายมากกว่าสองไพเบี้ย หรืออาจจะเสียมากกว่าตำลึงทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ศรัทธา และความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นยามที่ใครบางคนต้องเผชิญกับเรื่องราวอะไรบางอย่างที่จะมีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง ศรัทธาและความน่าเชื่อถือ อย่าเลือกที่จะเงียบ แต่จะต้องเลือกที่จะพูด เลือกที่จะอธิบายดีกว่า ตำราบอกเอาไว้ว่า “อย่าปล่อยให้สาธารณชนมีความอยากรู้อยากเห็น โดยไม่มีคำตอบ” เพราะเมื่อพวกเขาอยากรู้อยากเห็นแล้ว เขาจะต้องพยายามหาคำตอบ และก็จะมีคนพยายามที่จะหาคำตอบ บางคนก็หาโดยสืบค้นหาข้อมูลที่แท้จริงมาเป็นคำตอบ บางคนก็จะไปขอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำทางความคิดที่มีชื่อเสียง และมักจะเลือกขอความคิดเห็นจากฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับบุคคลในข่าว หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะไปขอข้อมูลจากเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลในข่าว และเมื่อไม่อาจจะหาข้อมูลได้จากวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม คนบางคนก็จะมโนเต้าข่าวเอาเอง แล้วนำเสนอต่อสาธารณชนที่มีความอยากรู้อยากเห็น และถ้าหากนำเสนอดีๆ ก็จะมีคนเชื่อและคล้อยตามการมโนของผู้นำเสนอ ดังนั้นหากแม้นคนที่เป็นบุคคลในข่าวไม่ยอมพูด ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะเงียบหายไป ในทางตรงกันข้าม เรื่องราวที่คนอื่นพูด จริงบ้างเท็จบ้าง จะปรากฏในสื่อเต็มไปหมด ทั้ง on line และ off line

ตามหลักการแล้ว เมื่อเกิดปัญหาที่เรียกว่าวิกฤติ คนที่เป็นผู้เผชิญกับวิกฤติ จะต้องตระหนักรู้ว่าวิกฤติได้เกิดขึ้นแล้ว และจะต้องติดตามว่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤตินั้นรุนแรงขึ้น หรือกำลังจะเงียบหายไป และถ้าหากมันรุนแรงขึ้น ก็ต้องประเมินว่าหากปล่อยให้วิกฤตินั้นรุนแรงขึ้น โดยที่เจ้าตัวไม่คิดจะทำอะไรเลย ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร จะก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากวิกฤตินั้นเป็นเรื่องราวปรากฏใน social media เพราะว่าเรื่องที่ไม่ดีใน social media นั้นจะมีการแบ่งปัน (share) กันเร็วมาก และก็จะมีข้อถึงเป็นแสนเป็นล้านในเวลาอันรวดเร็ว และสาธารณชนเวลานี้ก็มักจะเชื่อข้อความที่ปรากฏในสื่อ on line ได้โดยง่าย และพวกเขาไม่เพียงแต่จะอ่านแล้วเชื่อเท่านั้น พวกเขาจะแบ่งปันไปให้คนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนเสมือนของเขาได้รับรู้ด้วย

ดังนั้นคนที่เจอวิกฤติข่าวร้าย ข่าวลือทั้งหลายที่เป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียง ศรัทธาและความน่าเชื่อถือ อย่าได้นิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าคนไทยลืมง่าย เงียบๆไป เฉยๆไว้ เดี๋ยวก็จะลืมกันไปเอง เพราะบัดนี้ก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า คนไทยไม่ได้ลืมง่ายอย่างที่หลายคนคิด คนไทยไม่ได้สนใจอะไรแบบฉาบฉวย แต่เกาะติดและต้องการตำตอบสำหรับความอยากรู้อยากเห็น ยิ่งเงียบนานเท่าใด เรื่องความอยากรู้อยากเห็นก็จะมากขึ้น การติดตามก็จะเอาจริงเอาจังมากขึ้น เมื่อความจริงไม่ปรากฏ ข่าวลือต่างๆ ก็ตามมาแน่นอน ความเอาจริงเอาจังของนักสืบทั้งหลาย ก็จะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากนาฬิกาเพียงหนึ่งเรือน ปัจจุบันมีมากกว่า 20 เรือนแล้ว แต่ละเรือนมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งชื่อยี่ห้อ ชื่อรุ่นและราคา ตราบใดที่สื่อมวลชนยังไม่ได้คำตอบที่จะนำมาบอกกับประชาชน พวกเขาก็จะเซ้าซี้ถามบุคคลในข่าวไปเรื่อยๆ คนถูกถามอาจจะรำคาญ แต่พวกเขาก็จะไม่ลดละความพยายาม

บางคนอาจจะมองว่าก็แค่นาฬิกาเพียงไม่กี่เรือน จะมาตอแย อะไรกันนักหนา ถ้าหากว่าท่านไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับคนจำนวนมาก เรื่องความโปร่งใส เรื่องความซื้อสัตย์สุจริต ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน เพราะขนาดการรับของขวัญ ยังรับได้ไม่เกิน 3,000 บาท แล้วนาฬิกาที่แต่ละเรือนราคาเป็นแสนเป็นล้าน พวกเขาก็ต้องการหาคำตอบ และจะต้องเป็นคำตอบที่พวกเขาเชื่อว่าสมเหตุสมผลและเป็นจริงได้ ไม่ใช่สักแต่ว่าให้คำตอบ เพราะอยากได้คำตอบกันนัก ก็เลยตอบออกมา แต่เมื่อตอบออกมาแล้ว สื่อก็ดี สาธารณชนก็ดี ฟังแล้ว ดูไม่สมเหตุสมผล พวกเขาก็จะไม่เชื่อ และเมื่อพวกเขาไม่เชื่อ ก็ยิ่งจะมีผลต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของบุคคลที่อยู่ในข่าว ที่สำคัญคือ ถ้าหากจะตอบอย่างที่ตอบออกมานั้น ทำไมต้องรอเวลายาวนานถึงเพียงนี้จึงค่อยตอบ ถ้าหากความเป็นจริงเป็นเหมือนอย่างที่เพิ่มตอบออกมา ก็น่าจะตอบได้ตั้งนานแล้ว จะรออะไรจนถึงวันที่โดนสื่อมวลชนเซ้าซี้ และมีคนด่าทอต่อว่า ล้อเลียนอยู่บนพื้นที่ social media มากมายขนาดนี้

สำหรับคำตอบว่าเพื่อนให้ยืมมาและคืนเพื่อนไปหมดแล้ว ไม่ใช่คำตอบที่คนจะเชื่อได้ง่ายๆ ไม่ใช่คำตอบที่คนจะเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะเมื่อได้ฟังแล้วก็เกิดคำถามตามมามากมาย เพื่อนคนนั้นเป็นใครอยู่ที่ไหน สนิทกันมากแค่ไหน ถึงได้ให้ยืมนาฬิกาแพงๆ ได้แบบนี้ เพื่อนให้ยืมทันทีที่ซื้อนาฬิกาใหม่มา หรือว่าใส่เบื่อแล้วจึงให้ยืม เพื่อนที่ให้ยืมนี้ เขาซื้อนาฬิกามาจากไหน เขาแสดงหลักฐานการซื้อได้หรือไม่ เพื่อนเอ่ยปากให้ยืมเอง หรือว่าคนที่เอามาใส่นั้นเอ่ยปากขอยืม เพื่อนที่ให้ยืมนั้นเป็นคนๆ เดียวที่มีนาฬิกามากมายหรือว่าหลายคน เพื่อนที่ให้ยืมนั้นซื้อนาฬิกามาจากไหน ถ้าเขาเป็นคนชอบนาฬิกาขนาดนั้น ทำไมให้คนอื่นยืม เพื่อนที่ว่านี้เป็นใคร เอ่ยชื่อได้ไหม เป็นเพื่อนกันมานานขนาดไหน สนิทสนมเพียงใด เพื่อนที่ให้ยืมนั้น บัดนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ถ้าตายแล้ว เอาไปคืนกับใครหากยังตอบคำถามเหล่านี้อย่างน่าเชื่อถือไม่ได้ วิกฤติศรัทธาและความน่าเชื่อถือ ก็จะยังคงมีต่อไป และจะส่งผลต่อรัฐบาลโดยรวมด้วย ถ้าอย่างไร ก็น่าจะลองทบทวนดูสักนิดว่า ที่ตอบช้าและได้คำตอบมาแค่นี้ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้หรือไม่ จะกอบกู้ภาพลักษณ์ชื่อเสียงได้หรือไม่การเงียบที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ตำลึงทอง แต่เสียหายหลายตำลึงนะเจ้าคะ.

First posted: 21 มกราคม 2561 | 11:52
Author : ดร.เสรี วงษ์มณฑา