วันพุธ 15 มกราคม 2025
  • :
  • :
Latest Update

นเรศวรทำ “ภาชนะจากใบไม้” ทดแทนโฟม..ตามรอยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


สุดยอด!! ม.นเรศวรทำ”ภาชนะจากใบไม้” ทดแทนโฟมดีต่อสุขภาพแถมช่วยลดโลกร้อน!! เจ้าของงานวิจัย เผย!ตามรอยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.๙

ม.นเรศวร วิจัยบรรจุภัณฑ์อาหารจากใบไม้สด ทดแทนกล่องโฟม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดสารก่อมะเร็ง

รศ.ดร.สมร หิรัญประดิษฐกุล ผู้ริเริ่มในการสร้างสรรค์งานวิจัยนี้ และเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเคมี ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ได้กล่าวถึงโครงการวิจัยการจัดทำบรรจุภัณฑ์จากใบไม้ครั้งนี้ว่า

“แท้จริงแล้วเบื้องหลังของการริเริ่มโครงการวิจัยนี้มาจากความปรารถนาดีต่อสุขภาพที่ยั่งยืนของประชาชนในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อเป็นการดำเนินตามรอยแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พ่อหลวงเรา

จึงเป็นเหตุให้อาจารย์พยายามดำเนินการวิจัยนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิดที่ทุกท่านทราบกันอยู่แล้วว่าการใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่มาจากโฟมและพลาสติกต่างๆ หากนำไปใส่อาหารร้อนจะสามารถเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารพิษสไตรีน (Styrene) จะแตกตัวออกมาจากภาชนะที่ทำจากโฟมได้ และมีโอกาสละลายปะปนกับอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งรวมถึงการทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายและระบบประสาทได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ภาชนะจากใบไม้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนคนไทย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณของขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย

ซึ่งการย่อยสลายขยะพลาสติกหนึ่งชิ้นต้องใช้ระยะเวลาอย่างต่ำถึง 500 ปี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการวิจัยครั้งนี้จึงมีส่วนช่วยทั้งในแง่ของสุขภาพ การรักษาสิ่งแวดล้อม และ การลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบันอีกด้วย (Global warming)”

ในช่วงแรกของการวิจัยได้พบปัญหาหลายด้าน ทั้งในด้านวัตถุดิบที่จะนำมาใช้และเทคนิคที่ใช้ในการทำภาชนะ

โดยในช่วงแรกภาชนะใบไม้ที่ทำการทดลองยังไม่คงรูปร่างอย่างสม่ำเสมอทำให้ไม่สามารถนำไปใช้งานในการบรรจุอาหารได้

จะว่าบุญญาพาไปก็ได้ เพราะขณะที่ผู้วิจัยไปช่วยทางวัดเทปูนล้อมรอบองค์เจดีย์ได้ไปพบ “ใบทองกวาว” โดยบังเอิญที่วัดแห่งหนึ่งในวัดสาขาหลวงปู่ชา ที่จังหวัดอยุธยา

จึงได้ขอหลวงพ่อที่วัดมาลองทำการทดลองเพราะท่านว่าที่ปลูกไว้ เพื่อจะนำใบและดอกของต้นมาปรุงเป็นยาสมุนไพร รักษา อาทิ ใบ รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นำมาต้มน้ำขับพยาธิ รักษาริดสีดวง ถอนพิษ ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวด

ซึ่งคิดแล้วว่า หากนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่พื้นฐานของการผลิตไม่มีสารเคมีใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง จะสามารถทำให้คนไทยเราได้ใช้ภาชนะชดเชยโฟมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ได้นำภาชนะจากใบไม้ไปทดลองใช้จริงกับโรงทานของวัด 2 แห่งในวัดสาขาของหลวงปู่ชา เพื่อบรรจุอาหารแล้ว ทั้งยังบรรจุอาหารได้หลากหลายประเภท ไม่มีรั่วซึม !!

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร