บันทึกเรื่องราวของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” กับต้นกาแฟ ที่พลิกฟื้นแผ่นดินแห่งขุนเขาให้กลายเป็นแหล่งทำกินที่ดีให้ราษฎรเป็นสุข
เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทยและเสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านม้งแม่สาใหม ตำบล โป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นหมู่บ้านชาวเขาแห่งแรกที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมถึงหมู่บ้าน
หน้าหนึ่งจากหนังสือ ตามรอยพระบาทยาตรา
การเสด็จพระราชดำเนินเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 ที่มีรับสั่งไว้ว่า “การไปเที่ยว” ครั้งนั้นเอง ที่เป็นจุดกำเนิดโครงการหลวง การทรงงานพัฒนาชีวิตชาวเขานับสิบๆปี เพื่อยุติการปลูกฝิ่นและพลิกฟื้นแผ่นดินกว่าแสนไร่ ให้กลายเป็นถิ่นปลูกพืชแปลกใหม่นานาพันธุ์ โดยเฉพาะพืชจากต่างประเทศ ที่คนไทยส่วนใหญ่อาจคิดว่าพืชเหล่านี้จะสามารถเติบโตในผืนแผ่นดินไทยได้ อย่างเช่น “กาแฟอราบิก้า” ซึ่งเป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งจากต่างแดน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทานความช่วยเหลือส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้นำมาปลูกเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และได้โปรดให้นักวิชาการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ที่สามารถต้านทานโรคราสนิม ซึ่งเป็นโรคระบาดในกาแฟในเขตร้อนชื่นเช่น ในประเทศไทย และในปัจจุบัน “กาแฟอราบิก้า” เป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดทางภาคเหนือเป็นต้นมา โดยมีโครงการหลวงจากพระราชดำริต่างๆ ในจังหวัดให้การช่วยเหลือ และให้ความรู้ต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย
หม่อมเจ้าภีศเดชรัชนี เล่าเรื่องในหนังสือโครงการหลวงมีความตอนหนึ่งว่า “เมื่อทรงตั้งโครงการหลวงแล้วไม่นานเวลาเสด็จประพาสต้นบนดอยก็ประกอบด้วยการปีนป่ายเขามากในเรื่องนี้ผมถูกพวกในวังที่ต้องเดินตามเสด็จฯ นินทามากมายว่านำเสด็จฯด้วยพระบาทไปเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2 – 3 ต้น ซึ่งก็จริงอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมายและก็เริ่มต้นจาก 2 – 3 ต้นนั่นเอง”
กาแฟ 2 – 3 ต้นที่ว่านั้น มีเรื่องราวย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2517 ลุงพะโย ตาโร อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหล่ม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เล่าว่าตอนนั้นเขายังเป็นคนหนุ่มที่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้คอยรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้ลุงพะโยมีโอกาสเข้าเฝ้าในหลวงอย่างใกล้ชิด
เมล็ดกาแฟอราบิก้า
ลุงพะโยกล่าวว่า เมื่อมีรับสั่งถามถึงต้นกาแฟ จึงได้นำทางไปทอดพระเนตรทรงมีรับสั่งสอนให้มีการใส่ปุ๋ย และนำหญ้ามาใส่โคนต้น เมื่อลุงพะโยนำเมล็ดกาแฟถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ดีและปลูกในพื้นที่ได้จึงมีรับสั่งให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟโดยใช้เมล็ดที่นายพะโยนำมาถวายกลับคืนให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อ ต่อมาโครงการหลวงจึงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟและนำวิธีการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมดังนั้นทางกรมวิชาการเกษตรโดยการสนับสนุนจากระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาผ่านทางโครงการหลวงระหว่างปี พ.ศ. 2517-2522 ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพันธุ์กาแฟอาราบิก้า ที่สามารถต้านทานโรคราสนิมที่ระบาดในแหล่งปลูกภาคเหนือของไทยต่อมาในปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ขุนวาง (ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ในปัจจุบัน) และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับสภาพที่สูงของประเทศไทยเพื่อปลูกทดแทนฝิ่นบนพื้นที่สูง
ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่ เกษตรกร 2,602 ราย และเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตันกาแฟกะลา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงได้เป็นอย่างดี การพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟอราบิก้าของโครงการหลวงได้นำมาต้นแบบการผลิตกาแฟอราบิก้าจากประเทศโคลอมเบียมาใช้เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกับพื้นที่สูงของไทย โดยประเทศโคลัมเบียมีการพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟมายาวนานและได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตกาแฟคุณภาพดีที่สุดของโลกในปัจจุบัน”การปลูกกาแฟของโคลัมเบียจะปลูกบนพื้นที่สูง 1,200-1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิเฉลี่ย 19-21.5 องศาเซลเซียส และจะปลูกต้นกล้วยควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นร่มเงาและรายได้จากกล้วย ร่มเงาจะทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งกาแฟอราบิก้าโคลัมเบีย เป็นกาแฟที่มีชื่อเสียง คุณภาพดี มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย ราคาสูง เป็นพืชที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก”
ความตอนหนึ่งในหนังสือหนังสือ “รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร”ความตอนหนึ่งว่า
“ในท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่สับสนและวุ่นวายในปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งมวลเป็นปกติโดยไม่ทรงหวั่นไหว โดยเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่ และเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรทั้งราษฎรชาวเขาเผ่าต่างๆ กับประชาชนซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มตามที่ทรงปฏิบัติเสมอมาทุกปี ครั้งนั้นเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงกระทำเช่นนี้เป็นปกติ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งฝ่าฝุ่นแดงและความลุ่มดอนของถนนในสมัยนั้นออกเยี่ยมราษฎรอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่
ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จฯ เสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรซึ่งเป็นชาวเขาบนดอยอินทนนท์ ในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาครั้งนี้ หลังจากเสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง แล้ว พระองค์และสมเด็จฯ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ไปตามไหล่เขาที่สูงบ้างต่ำบ้างเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เพื่อทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านอังกาน้อย และทรงพระดำเนินต่อไปอีก 2 กิโลเมตร เพื่อพระราชทานไก่พันธุ์โร้ดไอส์แลนด์เร็ดและผ้าห่มให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านท่าฝั่งเช่นเดียวกับที่บ้านอังกาน้อย
ต่อจากนั้นยังทรงพระดำเนินต่อไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร จนถึงไร่กาแฟที่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้ รวมเป็นระยะทางที่ทรงพระดำเนินทั้งสิ้นในบ่ายวันนั้นประมาณ ๖ กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟที่มีต้นกาแฟให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเพียงต้นเดียว
เสร็จจากการทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นเดียวแล้ว พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ ยังต้องทรงพระดำเนินกลับออกไปยังรถยนต์พระที่นั่งที่จอดไว้ที่แยกปากทางเข้าบ้านอังกาน้อย รวมเป็นระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทในวันนั้นประมาณ ๑๒ กิโลเมตร แล้วพระเจ้าอยู่หัวยังต้องทรงขับรถยนต์พระที่นั่งกลับด้วยพระองค์เองอีกจนถึงพระตำหนักด้วย…”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความสงสัยให้กับคณะและผู้ที่ติดตามพระองค์เป็นอันมากว่าเหตุไฉนพระองค์จึงต้องทรงดั้นด้นเดินทางเป็นระยะทางไกลมากมายขนาดนั้นเพื่อไปทอดพระเนตรเพียงแค่ต้นกาแฟต้นเล็กๆ ต้นเดียวซึ่งพระองค์ก็น่าจะทราบความฉงนสงสัยที่ว่านี้จึงได้มีพระราชกระแสกับข้าราชบริพาร ที่อยู่ในขบวนเสด็จฯ ที่ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของพระองค์ ด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาว่า
“…แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้า สำหรับกะเหรี่ยง… จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟ จึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น”
ปรากฏว่าปีต่อมา ราษฎรชาวกะเหรี่ยง ดอยอินทนนท์ขายกาแฟ ได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปี สูงกว่าที่เคยขายฝิ่นได้ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาบรรดาชาวเขาก็ได้ร่วมมือกันกับภาครัฐเริ่มต้นปลูกและพัฒนาเมล็ดกาแฟกันอย่างจริงจังจนทให้กาแฟของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกดังเช่นทุกวันนี้แถมยังเป็นการช่วยกำจัดการปลูกฝิ่นในบ้านเราและสร้างอาชีพให้กับชาวเขาและชาวบ้านสืบไป จึงนับเป็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยภูเขาและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลกมิเคยลืมเลือน
นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯที่ทรงเมตตาแก่ชาวไทยภูเขาที่ห่างไกลความเจริญ จนเป็นที่ซาบซึ้งและปลื้มปิติยินดีอย่างที่สุดที่ทำให้คนยากไร้ได้มีชีวิตที่ดี มีผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดมากมายและหาเลี้ยงชีพของตนเองได้
ปวงข้าพระเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้จัดทำ เว็บไซต์ healthandcuisine.com
เรียบเรียงโดย Admin Pak Kimji