บ่อน้ำ”จุฬาลงกรณ์” และศาลาไทย เมืองบาดฮอมบวร์ก(Bad Homburg) ประเทศเยอรมนี สถาปัตยกรรมไทยชิ้นเดียว ที่อยู่บนผืนแผ่นดินยุโรป
บาดฮอมบวร์ก เป็นเมืองในแคว้น Hessen ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตั้งอยู่ทางเหนือค่อนไปทางตะวันตกของนครแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt) ประมาณ 17 กิโลเมตร ที่เชิงเขาเทานุส สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ความเป็นมาของเมืองนี้ ไกรฤกษ์ นานา ได้ถอดความจากเอกสารทางการของเทศบาลนครบาดฮอมบวร์ก ที่พิมพ์เป็นภาษาเยอรมันไว้ว่า “บาดฮอมบวร์ก ถือกำเนิดขึ้นจากเมืองโบราณที่เคยเป็นป่าล่าสัตว์ของเจ้านายปรัสเซียในอดีต จนกระทั่งในคริสตศตวรรษที่ 19 นี้เอง ที่มีการค้นพบว่า ที่นี่เป็นศูนย์รวมของ ‘ตาน้ำใต้บาดาล’ มีคุณสมบัติรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชงัดนัก ประมาณ พ.ศ.2432 พระเจ้าไกเซอร์ เฟรเดอริกที่ 3 เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ได้เสด็จมาที่เมืองนี้แล้ว จึงมีพระดำริให้พัฒนาเมืองขึ้นเป็น ‘สปาหลวง’ แห่งใหม่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้านายปรัสเซียจะแปรพระราชฐานมาประทับพักผ่อน และสรงน้ำแร่วิเศษ ณ ที่นี้ นอกจากนั้นยังมีพระสหายของไกเซอร์อีกหลายพระองค์ก็เคยเสด็จมาที่นี่ พระราชอาคันตุกะเหล่านี้ได้สร้างอนุสรณ์ประจำรัชกาลครอบบ่อน้ำต่าง ๆ ไว้เป็นที่ระลึกในภายหลัง
ในหนังสือตามเสด็จไกลบ้าน ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกการเดินทางตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อ ร.ศ. 126 ได้กล่าวถึงเมืองแห่งนี้ไว้ว่า “บาดฮอมบวร์กเป็นเมืองเล็ก ๆ มีความสำคัญตรงที่มีน้ำแร่ธรรมชาติจากใต้ดิน เหมาะสำหรับรักษาโรคบางชนิดและจากความเห็นที่ว่าน้ำแร่เมืองนี้น่าจะเหมาะกับพระโรค แพทย์จึงกราบบังคมทูล (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ให้เสด็จมาที่นี้ โดยจะมีนายแพทย์ฟอน นอร์เดน คอยเฝ้าฯ ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดที่เมืองนี้
การเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2449 – 2450 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพระราชปรารภที่ว่า “มีพระอาการประชวร ไม่ทรงสบายมานานแล้ว เมื่อได้เสด็จไปประพาสและผ่อนพักตามหัวเมือง ก็กลับทรงพระสำราญไปชั่วคราว แต่ครั้นกลับทรงประพฤติพระราชกิจกรากกรำเข้าก็ดี หรือเวลากระทบถูกฤดูแปรไม่ปรกติก็ดีก็กลับไม่ทรงสบายไปอีก แต่เป็นดังนี้ มาหลายคราว ถึงศกนี้ (พ.ศ.2449) ทรงสังเกตเห็นพระอาการกำเริบขึ้นกว่าแต่ก่อน ดอกเตอร์โบเมอร์ผู้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ตรวจพระอาการ ลงเนื้อเห็นสันนิษฐานว่าโกฐาส (ส่วน) ภายในพระกายไม่เป็นไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนั้นไม่ถูกแก่อากาศชื้น เช่น ในฤดูฝนชุก หรือร้อนจัดเช่นในฤดูคิมหะ (ฤดูร้อน) ในสยามประเทศนี้ จึงเรื้อรังรักษาไม่หายได้ ควรจะเสด็จแปรสถาน ไปหาอากาศประกอบแก่การรักษาพระโรคจึงจะหาย ก็แลตำบลที่จะรักษาพระโรคได้เหมาะดีที่สุด ก็มีแต่ในประเทศยุโรป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร เมื่อเดือนมีนาคม 2449 และเสด็จนิวัติพระนคร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2450 รวมเวลาประมาณ 7 เดือน ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้เสด็จประทับรักษา พระวรกายที่เมืองบาดฮอมบวร์กเป็นเวลา 1 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม ถึง 22 กันยายน 2450 ซึ่งเป็นการรักษาพระวรกายด้วยวิธีร่วมสมัย คือ เป็นการรักษาสุขภาพด้วยน้ำหรือที่สมัยปัจจุบันเรียกว่าสปา
การรับเสด็จเป็นไปอย่างสมพระเกียรติยิ่ง ดังพระราชหัตถเลขาความว่า “ในการที่พ่อจะมารักษาตัวเมืองฮอมเบิคนี้ เอมเปอเรอ ทรงเปนพระธุระแขงแรงมาก เสด็จมาเองในเวลาพ่ออยู่ปารีส สั่งเสีย การงานไว้ให้เมืองนี้รับรองแลเปิดให้ไปไหนไปได้เหมือนอย่างรับเสด็จเอมเปอเรอ เพราะฉนั้นบารอน ที่เปนผู้จัดการอาบน้ำจึงได้เอื้อเฟื้อมาก บรรดาตึกรัฐบาล…จนกระทั่ง ถึงร้านราษฎร ห้อยธงช้างทุกหนทุกแห่ง มีคนคอยดูแลโห่ร้องเสมอทุกเวลาที่ออกจากเรือน”
ในการรักษาพระวรกายแพทย์ชาวเยอรมันซึ่งประกอบด้วยโปรเฟสเซอร์เกราซ์ โปรเฟสเซอร์เกรล โปรเฟสเซอร์ฟอน นอร์เดน และโปรเฟสเซอร์เมเยอร์ เป็นผู้ร่วมกันดูแลถวายการตรวจรักษา โดยทุกวัน โปรเฟสเซอร์ฟอน นอร์เดน จะทำการตรวจพระอาการ ถวายยา จากนั้นก็เสด็จไปทรงน้ำที่โรงอาบน้ำไกเซอร์วิลเฮล์มบาด รวมทั้งถวายการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น นวดด้วยไฟฟ้า และห้ามเสวยพระกระยาหารที่มีรสชาติจัด สำหรับผลการรักษาพระวรกาย ซึ่งเป็นผลในรอบ 3 สัปดาห์ พบว่ามีพระอาการดีขึ้น
บ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์(Konig Chulalongkorn)
จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่บาดฮอมบวร์ก เป็นเวลากว่า 1 เดือน จนล่วงเข้าวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือ วันที่ 20 กันยายน ได้มีการจัดงาน เฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นที่วิลล่าที่ประทับ คือ วิลล่าเฟอร์สเตนรูห์(Fiirstnruhe) โดยพระราชโอรสทุกพระองค์ที่ทรงศึกษาอยู่ในยุโรปได้มาเฝ้า ในวันที่ 21 กันยายน ชาวเมืองบาดฮอร์มบวร์ก ได้ถวายบ่อน้ำแร่ เป็นที่ระลึก โดยเสด็จการเปิดบ่อด้วยพระองค์เองและตั้งชื่อว่าบ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์ (Konig ภาษาเยอรมัน หมายถึง King : กษัตริย์ในภาษาอังกฤษ)
ทรงเล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “เวลาเที่ยงไปที่เปิดบ่อ แต่งตัวฟรอกโก๊ต บ่อนี้อยู่ข้างหลังไกซาวิลเลี่ยมบาด เปนทุ่งหญ้า ยังไม่ได้ทำสวนออกไปถึงเข้าได้ลงมือเจาะแต่เดือนเมษายน ลักษณที่เจาะก็เหมือนกับเจาะบ่อน้ำธรรมดา แต่ใช้ท่อทองแดง เจาะช่องตามข้างท่อให้น้ำซึมเข้ามาแล้วฝังถึงเหล็กลงไปพ้นปากท่อ เพื่อจะไม่ให้น้ำจืดเข้าไประคน กับน้ำสปริงนั้น ปากท่อทำเปนรูปใบบัวน้ำเดือดพลั่ง ๆ แต่น้ำที่นี่เปนน้ำเย็นทั้งนั้น ทดลองได้ความว่าเปนน้ำอย่างแรง เข้าตั้งกระโจมสามขาหุ้มผ้าสูงคร่อมอยู่ที่บ่อ แล้วปลูกพลับพลาจตุรมุขหลังหนึ่งมีร้านสำหรับคนร้องเพลง มีคนไปประชุมเปนอันมากผู้มีบันดาศักดิ์อยู่ รอบกระโจมนั้นมีราษฎรเต็มไปทั้งนั้น เวลาแรกไปถึงร้องเพลงจบหนึ่งก่อน แล้วแมร์ตำบลฮอมเบิคอ่านแอดเดรส ให้ชื่อบ่อว่าพุ”โกนิคจุฬาลงกรณ์” แล้วเชิญไปเยี่ยมดูที่บ่อนั้น ตักน้ำขึ้นมาให้ชิม ด้วยถ้วยเงินใบใหญ่แล้วกลับมาที่พลับพลา แมร์เรียกให้เชียร์คือฮุเรแล้วร้องเพลงอิกบทหนึ่ง เปนสิ้นการเปิดบ่อเท่านั้น ถ้าเล่าเช่นนี้ดูเหมือนการนั้นเล็กน้อยเต็มทีแต่ที่จริงอยู่ข้างเปนการใหญ่”
สถาปัตยกรรมไทยอันงามสง่า แสดงถึงความเป็นไทยอย่างมีเอกลักษณ์ในแผ่นดินยุโรป ณ เมืองบาดฮอมบวร์ก มีที่มาอันสืบเนื่องจากบ่อน้ำ”โกนิคจุฬาลงกรณ์” ปรากฏรายละเอียดในหนังสือตามเสด็จไกลบ้านว่าหลังจากที่รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากยุโรปได้ประมาณ 2 ปี(พ.ศ.2452) เมืองบาดฮอมบวร์กแจ้งความประสงค์ไว้ว่าจะจัดสร้างศาลาไทยครอบบ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์ขึ้น จึงได้พระราชทานแบบศาลาและสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างส่งไป
พระองค์ใส่พระราชหฤทัยในการออกแบบศาลาครอบบ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์ ทรงพอพระราชหฤทัยในการออกแบบของพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร แต่อนิจจาการทั้งปวงมิได้แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ท่าน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระชนมายุ58 พรรษา เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาได้43 พรรษา
ในการสร้างศาลาไทยที่เกิดความล่าช้าขึ้นเกิดจากความแตกหักเสียหาย ของกระเบื้องมุงหลังคาที่กว่าสองในสามเสียหายจากการเดินทางทางเรือ รวมทั้งชิ้นส่วนในการก่อสร้างอีกหลายสิ่ง ทำให้ศาลาไทยมาสร้างสำเร็จได้ในกลางปี พ.ศ. 2457 และประการที่สอง พิธีเปิดศาลาไทยมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนกในรัชกาลปัจจุบัน เสด็จไปทรงทำพิธีเปิด
แม้ว่าศาลาไทยจะไม่ได้สร้างครอบบ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์ ตามพระราชประสงค์แต่เดิมแต่ถูกย้ายไปสร้าง ให้อยู่ใกล้บ่อน้ำของไกเซอร์ ศาลาไทยและบ่อน้ำโกนิคจุฬาลงกรณ์จึงแยกกันอยู่ในรัศมีประมาณ 500 เมตร แต่ในการเทิดพระเกียรติของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 นั้นยังปรากฏว่าทางประเทศเยอรมนียังได้สร้างถนนเชื่อม Kaiser – Wilhelms – Bad ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยประทับสรงน้ำแร่ กับศาลาไทย (Der Siamesischer Tempel) ถนนนี้มีชื่อว่า Chulalongkornweg (Weg ภาษาเยอรมัน หมายถึง Road ถนน ในภาษาอังกฤษ) เพื่อเฉลิม พระเกียรติแก่อดีตพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็น “พระปิยมหาราช” แม้แต่ในยุโรปแดนไกล
ภายในศาลาไทย มีป้ายหินบันทึกการเสด็จเยือน Bad Homburg ของล้นเกล้าฯหลายพระองค์ป้ายนี้บอกการเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 7
การเสด็จเยือนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
การเสด็จเยือนของทูลกระหม่อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินทร
ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี