บันทึกแห่งสยาม
“…พวกคณะราษฎร์หัวรุนแรง จบมาจากฝรั่งเศส หัวสมองเห่อบวมไปด้วย “ปฏิวัติฝรั่งเศส” (French Revolution) จะเอาพ่อไปยิงเป้าที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ให้เหตุผลกันว่า อ้ายคนคนนี้ (ทูลกระหม่อมบริพัตร) เอาไว้ไม่ได้ มันเก่ง แข็ง พวกทหารบกทหารเรือเชื่อมือมันมาก ถ้ามันคิดโค่นเรา เราก็แพ้ แต่เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯ ไม่ยอม ท่านว่า “พวกเราคณะราษฎร์ได้ไปสาบานในโบสถ์วัดพระแก้วมรกตว่า จะทำปฏิวัติโดยไม่ให้เลือดตกยางออก ใครจะฆ่าทูลกระหม่อมบริพัตร ต้องข้ามศพกูสองคนไปก่อน”
.
ตอนนั้นทั้งสองเจ้าคุณยังกุมอำนาจทางทหารไว้ ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนแผน พ่อต้องเขียนยกวังบางขุนพรมเป็นของรัฐ และพ่อต้องออกไปจากประเทศไทย ห้ามกลับมาชั่วชีวิต
ตลอดเวลาที่พ่อถูกขัง พวกคนที่เคยมาเป็นแขกประจำ ไม่ว่าจะมีอะไรพากันหายหน้ากันไป มีแต่เจ้าคุณประดิพัทธ์ มาเยี่ยมเราทุกวัน และก็ร้องไห้สงสารพ่อมาก เจ้าคุณบอกเด็จย่าว่า จะต้องเข้าหาพ่อให้ได้ แต่ย่าว่ามันจะไม่ดีสำหรับทั้งตัวเจ้าคุณและทูลกระหม่อม จะเกิดภัยทั้งสองคน
.
ในที่สุด พวกเขาปล่อยพ่อ ท่านแม่และหม่อมแม่ออกมากลับวัง หลวงประดิษฐ์ มาแจกหนังสือเดินทางพร้อมลายเซ็น เราก็เตรียมตัวกันจะออกจากประเทศ ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปไหน…”
.
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ภายหลังจากคณะราษฎรเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินและความเปลี่ยนแปลงภายในวังบางขุนพรหมไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายสง่า ณ ระนอง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องเสด็จออกนอกประเทศและต้องทรงยกวังบางขุนพรหม อันเป็นวังที่ประทับให้กับรัฐบาล ดังที่หม่อมราชวงศ์หญิงพันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งบังเอิญได้ยินและอยู่ในเหตุการณ์ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎร เข้าเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ได้บันทึกไว้ว่า
.
พระยามโนปกรณ์ฯ : ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า อยากให้ใต้ฝ่าพระบาทเสด็จไปประทับต่างประเทศ
ทูลกระหม่อม : ฉันพร้อมที่จะไปเสมอ แต่ถ้าฉันไปก็ต้องเอาครอบครัวไปด้วย
พระยามโนปกรณ์ฯ : แต่ก่อนที่จะเสด็จไป ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานให้ทรงทำอะไรสักอย่างเพื่อแสดงว่าไม่ทรงเกรี้ยวกราดพวกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้
ทูลกระหม่อม : Is this ransom ? (เป็นค่าไถ่ตัวฉันรึ)
พระยามโนปกรณ์ฯ : มิได้พะยะค่ะ แต่ว่าเด็กพวกนั้นหัวรุนแรง ถ้ารั้งบังเหียนไว้ไม่อยู่ บังเหียนจะขาด
ทูลกระหม่อม : แต่ฉันไม่มีเงิน ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่เขาลือกัน และถ้าฉันจะต้องไปอยู่ต่างประเทศฉันก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินถ้าเห็นว่าฉันยังมิได้ทำอะไรพอสำหรับบ้านเมืองก็เอาบ้านฉันไปซิ
พระยามโนปกรณ์ฯ: ข้าพระพุทธเจ้าขอไปปรึกษากันดูก่อน แล้วจะมากราบทูลภายหลัง
.
“…หลังจากนั้นคณะราษฎรได้มากราบทูลว่า ต้องการเงินจำนวนหนึ่งเป็นการช่วยชาติ แต่ทูลกระหม่อมมิได้ทรงมีแม้แต่ ๑ ใน ๑๐๐ ในที่สุดต้องทรงยอมแลกด้วยวังบางขุนพรหม ซึ่งคณะราษฎรกล่าวหาว่าสร้างด้วยเงินรัฐบาล เมื่อพยายามสร้างหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรโอนกรรมสิทธิ์การถือครองวังบางขุนพรหมแล้ว คณะราษฎร์ก็อนุญาตให้ทูลกระหม่อมเสด็จกลับวังได้ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕ และเร่งให้เสด็จออกนอกประเทศในเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันนั้น แต่ออกแถลงการณ์ถึง ๒ ครั้งว่า ทูลกระหม่อมจะเสด็จไปเปลี่ยนพระอิริยาบถต่างประเทศในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๗๕ ทูลกระหม่อมจึงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง ๑๒ ชั่วโมง ไม่มีเวลาแม้แต่จะกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ต้องทรงละทิ้งวังและข้าราชบริพารร่วม ๔๐๐ คนให้ดูแลตนเอง ขบวนเสด็จจากวังบางขุนพรหมแห่ล้อม ไปด้วยรถถังและรถเกราะสุดที่จะประมาณได้ เมื่อประทับบนรถไฟแล้ว มีตำรวจในความควบคุมของพระนรากรบริรักษ์อีกสองกองร้อยตามเสด็จเพื่อควบคุมพระองค์ ทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไป ๙,๐๐๐ บาท ทรงทิ้งความหลังแห่งชีวิตราชการที่ทรงมากว่าครึ่งพระชนม์ชีพเป็นเวลา ๓๐ ปี ไว้ในความทรงจำ ซึ่งค่อยๆ เลือนรางไปตามกฎแห่งธรรมชาติ ทิ้งพระดำรัสประทานแก่คณะราษฎรไว้เพื่อพิสูจน์ความจริงในเวลาต่อมา…”
.
โดยก่อนเสด็จเดินทางออกนอกประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มีลายพระหัตถ์ มอบวังบางขุนพรหมให้กับรัฐบาล มีใจความตอนหนึ่งว่า
.
“อนึ่ง ที่วังบางขุนพรหมนี้มีที่ดินไม่น้อย มีตึกกว้านบ้านเรือนหลายหลัง เป็นที่ตั้งอันดีที่ตกถนนใหญ่ด้านหนึ่ง ตกแม่น้ำด้านหนึ่ง ในพระนครย่านนี้ ยากที่จะหาที่อย่างนี้ได้ ถ้าหากว่ารัฐบาลต้องการจะใช้ เช่น เป็นที่ทำการ หรือ โรงเรียน เป็นต้น ฉันก็ยินดีมอบให้เป็นชาติพลี แต่ต้องขอเวลาพอสมควรที่จะได้ย้ายถอนทรัพย์พัศดุไปไว้ที่อื่น
.
เมื่อได้พลีแรงงาน กำลังกายทำการให้แก่ชาติโดยสุจริตและความหวังดีเป็นเวลาช้านานมาเกือบถึง 30 ปีแล้ว และเมื่อพ้นจากหน้าที่ที่จะทำการให้แก่ชาติด้วยน้ำแรง ยังสละทรัพย์อันมีค่าอย่างสูงให้เป็นชาติพลีอีกชั้นหนึ่งดังนี้แล้ว หากว่าจะยังถูกขึ้นชื่ออยู่ว่าเป็นผู้เอาเปรียบชาติและประชาชนไซร้ ก็เป็นอันสุดปัญญาของฉันที่จะทำให้เห็นใจได้”
(“ประวัติบางขุนพรหม” โดย แถมสุข นุ่มนนท์ ใน “ที่ระลึกในการเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งประเทศไทย 12 กรกฎาคม 2525” หน้า 346)