วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ประวัติรัชกาลที่ 10
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระนามเดิมของพระองค์ เดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

(สนช. กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามกฎมณเฑียรบาล เมื่อเวลาประมาณ 11:00 น. วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2559) และ สำนักพระราชวัง ออกหมายกำหนดการพระราชพิธีปัญญาสมวาร ร.9 (เป็นทางการแล้ว) พร้อมประกาศให้เรียกพระนามใหม่ ร.10 “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ได้ตั้งแต่ 2 ธ.ค. นี้ เป็นต้นไป

พระราชกรณียกิจ : ด้านทหาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ 30 กรกฏาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเนื่องด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฎิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ ๕ อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตระวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ้งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย

แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง

พระยศทหาร

พ.ศ. 2524 : นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

พ.ศ. 2525 : นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ นายกองเอก กองอาสารักษาดินแดน สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน

พ.ศ. 2526 : พันเอก นาวาเอก และ นาวาอากาศเอก

พ.ศ. 2527 : ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ. 2529 : ผู้บังคับการพิเศษ ประจำกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พ.ศ. 2530 : พลตรี พลเรือตรี และ พลอากาศตรี และผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

พระอัจฉริยภาพ ด้านการบิน (ต่อ)

ตลอดเวลาที่ทรงฝึกบินนั้น แม้จะทรงติดพระราชกิจอื่นๆมากมาย รวมถึงการเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ก็ยังโปรดให้กัปตันทั้งสองนายตามเสด็จไปถวายการบรรยายด้วย โดยทรงใช้เวลาในช่วงกลางคืน 3-4 ชั่วโมง ศึกษาเล่าเรียนอย่างตั้งพระราชหฤทัย และแม้พระองค์จะทรงได้รับศักย์การบินเป็นกัปตันโบอิ้ง 737-400 อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ก็ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำการฝึกบินต่อไป เพื่อให้ทรงมีมาตรฐานเดียวกับกัปตันของการบินไทย ด้วยเหตุนี้ ครูการบินจึงได้จัดหลักสูตรถวายเพิ่มเติม โดยใช้เครื่องบินพระที่นั่ง “บ.ล.11 ข มวก.1/38 หมายเลข 11-111” เป็นหลัก เริ่มจากการบินเส้นทางใกล้ๆเพื่อทำความคุ้นเคยกับเส้นทางบิน จากนั้นจึงทรงทำการบินขึ้นลงที่สนามบินในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทรงฝึกบินด้วยเทคนิคต่างๆเพื่อสะสมประสบการณ์ด้านการบิน

เพื่อให้การฝึกบินมีความสมจริงที่สุด ภายในระยะเวลาการฝึกที่ค่อนข้างจำกัด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงให้ครูการบินสมมุติสถานการณ์ต่างๆขึ้น เช่นกรณีมีสภาพอากาศแปรปรวน หรือมีข้อจำกัดทางการบิน ส่งผลให้การฝึกบินมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 2 ปี ก็ทรงสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทางการบินได้เทียบเท่านักบินของการบินไทย ที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี กว่าจะสั่งสมประสบการณ์ถึงขีดความสามารถเดียวกัน!!

สำหรับการบินไปยังสนามบินต่างประเทศนั้น นอกจากจะทรงทำการฝึกตามหลักสูตรแล้ว ยังได้ทรงขับเครื่องบินเสด็จฯไปเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสต่างๆด้วย รวมถึงการเสด็จฯไปพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และทรงฝึกบินเพิ่มประสบการณ์ไปยังกลุ่มประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศสิงคโปร์, บรูไน, จีน และเวียดนาม

การที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกบินเปลี่ยนแบบกับเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เพราะทรงเล็งเห็นว่า เป็นเครื่องบินพระราชพาหนะที่ถวายการบินอยู่ในปัจจุบัน และเป็นเครื่องบินที่การบินไทยใช้งานอยู่ ที่สำคัญยังทรงมั่นพระทัยด้วยว่า ความรู้ที่ทรงได้รับจะสามารถ นำไปใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างดีเยี่ยม จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้การบินไทยจัดหลักสูตรและครูการบิน ถวายการฝึกบินอย่างเต็มหลักสูตร เช่นเดียวกับการฝึกบินของนักบินบริษัทการบินไทยทุกประการ โดยมี “กัปตันอัษฎาวุธ วัฒนางกูร” ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมนักบิน และ “กัปตันอภิรัตน์ อาทิตย์เที่ยง” หัวหน้าครูการบินสำหรับเครื่องบินโบอิ้งรุ่นดังกล่าว เป็นผู้ถวายการฝึก ซึ่งการฝึกภาควิชาการมีขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.2547 เริ่มทำการฝึกบินเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2547 และเสร็จสิ้นการฝึกบินได้รับศักย์การบิน ในฐานะกัปตันของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ในวันที่ 30 มิ.ย.2549

พระราชกรณียกิจ : ด้านการกีฬา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เองนานัปการ เช่น การพระราชทานไฟพระฤกษ์ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จนำเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดี ซึ่งนักกีฬาของไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความปลาบปลื้มในสิริมงคลและมีขวัญกำลังใจที่จะนำความสำเร็จและนำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติต่อไป และเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน เป็นการเสริมสรางพลังใจให้นักกีฬาเกิดความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานและชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ ทำให้นักกีฬาไทยประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

 

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อแม่ Bike for Mom” และ ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad”

เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศเป็นแขกของพระองค์ รวมปั่นจักรยานอยางพร้อมเพรียงกัน ในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อแม่ Bike For Mom” พระราชทานเสื้อสำหรับใส่ปั่นจักรยาน เข็มกลัดของขวัญที่ระลึก และน้ำดื่ม พระราชทาน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2558 ทรงนำประชาชนปั่นจักรยานพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา เป็นระยะทาง 43 กิโลเมตร มีประชาชนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศเขาร่วมกิจกรรมมากถึง 136,411 คน และสามารถ สร้างสถิติโลก กินเนสส์บุก เวิลด์ เรคคอร์ด ได้สำเร็จ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ส่งเสริมให้ประชาชน ได้ออกกำลังกายให้รางกายสมบูรณ์แข็งแรง ปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกายและเล่นกีฬาตามพระราชปณิธานของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อพอ Bike For DAD” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ทรงมีพระราชปณิธานถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวรัชกาลที 9 ผ่านกิจกรรมปั่นจักรยานอีกครั้ง ทรงเป็นผู้รวมดวงใจของชาวไทยในการสร้างความรักสามัคคี พระราชทานเสื้อสำหรับใส่ปั่นจักรยาน เข็มกลัดของขวัญที่ระลึก และน้ำดื่มพระราชทาน และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2558 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นำประชาชนปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร สร้างความปลื้มปิติและเป็นขวัญกำลังใจใหแก่พสกนิกรเป็นที่ยิ่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 568,427 คน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์และมีพระราชกระแสขอบใจพสกนิกรในกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อพ่อ Bike For DAD” ว่า “ขอขอบใจท่านทั้งหลาย ด้วยความปลาบปลื้มและซาบซึ้งยิ่งนัก การที่ทุกทานได้สำแดง ความสามัคคีและน้ำใจ ตลอดจนความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขและชาติบ้านเมืองนั้น เป็นนิมิตหมายที่ประเสริฐ ประเทศชาติอันเป็น ที่รักของเราทุกคนจะเจริญก้าวหน้าเป็นบ้านที่ร่มเย็นและมั่นคง ก็ด้วยความรักและสามัคคีของคนในชาติ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม งานนี้ได้ประจักษ์แล้วว่าคนไทย “ทำได้” และปลื้มที่สุด ที่ได้เห็นทุกคน “ปั่นเพื่อพ่อ” จากหัวใจ (คือการแสดงออกด้วยการกระทำนั่นเอง)” พระนามาภิไธย 11 ธันวาคม 2558

พระราชกรณียกิจ : ด้านการพระศาสนา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และมีพระราชศรัทธาทรงออกผนวชในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ระหว่างทรงผนวช ทรงศึกษา และปฎิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่างๆ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล ในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ และยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนาอีกมากมาย พระองค์ยังเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เปิดงานเมาริดกลางของศาสนาอิสลาม และร่วมกิจกรรมส่งเสริมคริสต์ศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกซ์ เป็นต้น

พระราชกรณียกิจ : ด้านเกษตรกรรม

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ และ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2529 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่น ๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอ บางนางบวช ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในท้องถิ่นให้ได้มีเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ และนำมาปรับปรุงงานเกษตรกรรมของตนให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัด สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2529 ในการนี้ ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์ การทำนา พันธ์ข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการ ผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ได้ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน ยังความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทในพิธีการวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์การเรีนรู้และพัฒนาด้านการเกษตรกรรมเกษตรวิชญา บ้านกองแหะ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2545 ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ได้ทรงรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ไว้ในพระราชานุเคราะห์และทรงพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ ด้วยทรงประสงค์จะให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี 2549 ได้พระราชทาน ที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแมริม จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นที่สูงให้แก่เกษตรกรอย่างครบวงจรประจำภาคเหนือ ภายใต้ชื่อโครงการเกษตรวิชญา อันเป็นการสานต่อพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

พระราชกรณียกิจ : ด้านการต่างประเทศ

สมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระวิริยะอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปีๆ ละหลายครั้งเช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525 ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ทรงพบ สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2530 ประเทศต่างๆที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง มีอีกเป็นจำนวนมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศใดนั้น จะทรงเตรียมพระองค์ ด้วยการศึกษาเกี่ยวกับประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนอย่างละเอียดทุกครั้ง ระหว่างประทับอยู่ในประเทศดังกล่าว ก็จะทรงมุ่งมั่นสร้างสานเจริญทางพระราชไมตรีและมีความสนพระทัยที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการด้านต่างๆ เพื่อทรงนำกลับมาปรับและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ

พระราชกรณียกิจ : ด้านสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลทีมีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต พระองค์ได้ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของศาลต่างๆในกระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2530 เมื่อประเทศชาติประสบกับภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่ราษฎรผู้ประสบภัยมาโดยตลอด ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมในสถานที่ประสบภัยด้วยพระองค์เอง แม้ในพื้นที่ที่เสี่ยงมาก ทรงติดตามความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด พระราชทานกำลังใจ พระราชทานอาหาร น้ำ ถุงยังชีพ และพระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่เด็กกำพร้าอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ผู้ขาดที่พึ่ง ให้มีบ้านและการศึกษาที่ดี เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 พายุไซโคลนนาร์กิสได้พัดกระหน่ำเข้าสู่ประเทศสหภาพพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายนับแสนราย และมีผู้ประสบภัยอีกนับล้านคน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเกือบทั้งหมดไม่สามารถใช้การได้ พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์ อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสายใยรักแห่งครอบครัว ประกอบด้วย อาหารและเครื่องอุปโภคที่จำเป็น และยังทรงส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน พร้อมเครื่องมือผ่าตัด ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คณะควบคุมป้องกันโรคที่มีประสบการณ์พร้อมเวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์อื่นกว่า 100 คน เป็นคณะที่ 2 ซึ่งสามารถเดินทางเข้าช่วยเหลือทันทีเมื่อประเทศพม่าขอเพิ่มเติม ไม่เพียงเท่านั้นในส่วนของมิตรประเทศซึ่งประสบภัยพิบัติ พระองค์ได้พระราชทานพระราชานุเคราะห์เช่นกัน เช่น ได้เสด็จพระดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9ไปสาธารณรัฐปากีสถาน พระราชทานสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 และพระราชทานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2554

 

พระราชกรณียกิจ : ด้านการศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 โรงเรียนได้แก่โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดนครพนม กำแพงเพชร สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดอุดรธานี สงขลา และ ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าสิริวัณวรี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และในด้านอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) “เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ยากไร้แต่เรียนดี ความประพฤติดี ให้ได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบปริญญาตรี และจนถึงขั้นสูงสุดตามความสามารถของผู้รับทุน เพื่อเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีคุณภาพ” และทรงเน้นย้ำว่า“เมื่อทําโครงการมาแล้ว จําเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทํางานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทํางานต่อเนื่อง..”

พระราชกรณียกิจ : ด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรสจำนวน 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และทรงรับผู้ป่วยยากไร้ไว้ในพระราชานุเคราะห์ เมื่อ พ.ศ. 2537 ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาศพ.ศ. 2550 ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนที่หมู่บ้านสันติ 2 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และเมื่อ พ.ศ. 2554 พระองค์ได้ทรงสนับสนุนโครงการตรวจสุขภาพภิกษุ สามเณร และผู้นำศาสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554