วันจันทร์ 25 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ประวัติศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ท่ามกลางความวุ่นวาย ในปี 2475

     ย้อนหลังไปประมาณเกือบ 200 ปี ก่อนนั้นเมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณวังข้างด้านใต้หมด เพียงป้อมอนันตคิรีถนนมหาชัย กำแพงพระราชวังหักตรงไปทางตะวันตกจนถึงป้อมสัตบรรพต ในระหว่าง กำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพน มีบ้านเสนาบดีและวังเจ้าคั่นอยู่หลายบริเวณ 
     ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 2 จึงมีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในพระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง โปรดฯให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบสำหรับเก็บดอกใช้ในราชการ จึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมาและในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลังศุภรัตนยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม

     ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก แต่พระบรมพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯให้จัด ตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในสวนกุหลาบ ตรงตึกคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ว่าพระตำหนักสวนกุหลาบและหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯให้กรมหลวงอดิศรอุดมเดชเสด็จไปประทับอยู่ที่พระ ตำหนักสวนกุหลาบแทนจนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป    
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯ ให้เลือกสรรลูกผู้ดีมาฝึกหัดจัดเป็นกรมทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์ และให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ในราชสำนักสำหรับราชการด้วย และพระองค์เองก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ครั้นเมื่อกรมทหารมหาดเล็กเจริญขึ้นทรงพระราชดำริว่าเชื้อสายราชสกุลชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์มีอยู่มากแต่มักไม่ได้รับการอบรม บางคนประพฤติเสเพลเป็นนักเลงหัวไม้ เมื่อเกิดถ้อยความก็ขึ้นชื่อว่าเชื้อเจ้านายไปรังแกผู้อื่น จึงโปรดให้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ซึ่งมีอายุสมควรจะฝึกหัดเข้าเป็นทหารมหาดเล็ก

     ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ได้ทรงดำริที่จะจัดตั้ง โรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อฝึกหัดหม่อมเจ้า และหม่อมราชวงศ์โดยเฉพาะให้เป็นทหารมหาดเล็ก ทั้งนี้เนื่องจากฐานะ ทหารมหาดเล็กได้เสื่อมไปไม่เหมือนแต่ก่อน ประกอบกับสมัยนั้นราชการกระทรวงต่างๆ เปลี่ยนแปลงแบบแผนเป็น อย่างใหม่ เป็นที่นิยมของคนหนุ่มๆขึ้นมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งมีเพียงทหารมหาดเล็กอย่างเดียว ดังนั้นกรมพระยา ดำรงราชานุภาพจึงคิดว่าควรจะจัดตั้งโรงเรียนจะได้มีผู้สมัครเข้ามามาก กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงนำความเห็น ขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับความเห็นชอบด้วย พระองค์ดำรัสสั่งให้จัดตั้งโรงเรียน ตามที่คิดนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับจะทรงอุดหนุน ครั้นจะเลือกหาที่ตั้งโรงเรียนในโรงเรียน มหาดเล็กก็ไม่มีที่พอแก่การจัด จึงได้เลือกพระตำหนักสวนกุหลาบซึ่งตอนนั้นใช้เป็นคลังรุงรังรกอยู่ไม่เป็นประโยชน์ นัก จึงกราบทูลฯขอก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในที่นั้น อาศัยเหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” เมื่อ พ.ศ. 2425 เป็นต้น 
     
     โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้จัดทั้งการฝึกหัดอย่างทหาร และเรียนแบบสามัญเหมือนโรงเรียนทั้งปวงด้วย ต่อมากิจการงานของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์และบุตรหลานของข้าราชการ สมัครเรียนมากขึ้นทุกทีจนเกินจำนวนตำแหน่งนายทหารมหาดเล็ก ฉะนั้น ณ จุดนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตัดสินพระทัยว่า ถ้าหากเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียนสำหรับข้าราชการทั่วไป จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองยิ่งกว่าเป็นโรงเรียนสำหรับนายทหารมหาดเล็กกรมเดียว และได้เปลี่ยนฐานะนักเรียนจากทหารมาเป็นนักเรียนพลเรือน นอกจากนั้นพระองค์ก็ได้โปรดฯให้สร้างตึกยาวทางพระราชวังด้านใต้ใช้เป็นที่เล่าเรียนและที่อยู่นักเรียนอีกหลังหนึ่งด้วย การตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจึงนับว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อปีระกา พ.ศ. 2427 นั่นเอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2436 จึงขยายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวังและจากเหตุนี้เองจึงเรียกชื่อเพียง“โรงเรียนสวนกุหลาบ” กับได้แยกเป็น 2 แห่ง คือ



โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย
หลังจากออกย้ายจากพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้เคลื่อนย้ายไปยังศาลา 4 หลัง ของวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือเรียกว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือ” เพื่อรอการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งในช่วงนี้มีโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยอยู่ 2 ที่ ซึ่งอีกที่หนึ่งอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบไทยในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ซึ่งโรงเรียนนี้คาดว่าเกิดจากการเคลื่อนย้ายไปยังวัดมหาธาตุนั้นเคลื่อนย้ายไปไม่หมด ต่อมากระทรวงธรรมการได้งบประมาณในการสร้างที่ว่าการกระทรวงใหม่ และกระทรวงต้องการให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดทดลองวิธีสอนและตำราเรียน จึงยกตึกหลังแรกใน 3 หลัง ให้เป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เรียกว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า” ซึ่งจริงๆ กระทรวงต้องการให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษมารวม กันที่นี่ แต่สถานที่คับแคบไป จึงนำมาเฉพาะโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียว และต่อมาในปี พ.ศ. 2452 กระทรวงธรรมการได้ย้ายสถานที่ใหม่ ดังนั้นโรงเรียนสวนกุหลาบจึงต้องย้ายด้วย ซึ่งได้ย้ายไปอาศัยอยู่ ณ บริเวณศาลาวัดมหาธาตุด้านใต้เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กริมคลองมหานาค (“โรงเรียนสวนกุหลาบโรงเลี้ยงเด็กริมคลองมหานาค”) หลังจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยได้ย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ถึง 5 แห่ง โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้กลับมารวมอีกครั้งที่ “ตึกแถวหลังยาววัดราชบูรณะ” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กำหนดเป็นโรงเรียนชั้นอุดมศึกษาแล้วให้ชื่อว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” และการรวมตัวครั้งนี้เป็นการรวม “สวนกุหลาบ” ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งโรงเรียนพระตำหนักสวน กุหลาบฝ่ายอังกฤษด้วย

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ
หลังจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยย้ายออกจากพระบรมหาราชวังไปแล้วแต่โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษยังคงอยู่ในพระบรมหาราชวัง โดยย้ายจากที่เดิมมาอยู่ที่ ตึก 2 หลังริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์ เรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์” ต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ ณ วังพระองค์เจ้าภานุมาศ ซึ่งหมายถึง “วังหน้า” เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า โดยอาศัยเก๋งจีนที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สอน หลังจากอาศัยอยู่ที่นี่ช่วงหนึ่ง โรงเรียนของเราก็ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่สตรีสวนสุนันทาลัย ( ปากคลองตลาด ) เนื่องจากโรงเรียนนี้มนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จำต้องปรับปรุง จึงได้มีการพักการเรียนการสอนไว้ก่อน โรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งยังไม่มีสถานที่แน่นอน จึงได้ย้ายมาเปิดการสอนเป็นชั่วคราว เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย  จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี นาถได้มีหนังสือขอพระราชทานที่โรงเรียนสตรีสุนันทาลัยเพื่อปรับปรุงให้เป็น “โรงเรียนราชินี” โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัยจึงได้ย้ายมารวมอยู่กับโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพราะว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียนครั้งใหญ่ซึ่งใช้งบประมาณในการสร้างโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแห่งใหม่โดยมีข้อตกลงในการก่อสร้าง “ตึกแม้นนฤมิตร์” ซึ่งเป็นตึกเรียนหลังใหม่ และให้ชื่อว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร์” ทั้งนี้โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ามีพระบรมราชโองการให้กรมศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการทำสัญญาก่อสร้าง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์แทนโดยอ้างถึงคำสั่งของปลัดทูลฉลองของกระทรวงธรรมการ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนสวนกุหลาบจึงย้ายมารวมกับโรงเรียนประถมเทพศิรินทร์เรียกว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษเทพศิรินทร์”

          ต่อมาการเดินทางอันยาวนานของ “สวนกุหลาบ” จึงได้สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2454 โดยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็ได้รวมกับฝ่ายไทยและได้แหล่งที่พำนักถาวร พร้อมกับนามว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” ถึงตรงนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบทั้งสองฝ่ายก็ได้มารวมกันอีกครั้งโดยอยู่ในพื้นที่ของวัดราชบูรณะ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างตึกยาวขึ้นเพื่อดำเนินการสอน การที่พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สร้างตึกยาวนี้ทรงมอบให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบโดยใช้งบประมาณของวัดราชบูรณะ ซึ่งในเวลานั้นเงินสร้างตึกให้ชาวบ้านเช่าโดยเปลี่ยนเป็นให้โรงเรียนเช่า เพื่อใช้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ทั้งนี้ด้วยความคิดของเจ้าพระยาเสด็จสุรินทร์ทราธิบดีศิษย์เก่าเลขประจำตัวหมายเลข 2 ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งได้เป็นเสนาบดี กระทรวงธรรมการในขณะนั้น จึงได้เกิดตึกยาวรวมกับนักเรียนสวนกุหลาบจากที่ต่างๆ และในปี พ.ศ. 2453 พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรการก่อสร้างด้วยพระองค์เองก่อนสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 นั่น เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนนี้โดยแท้ นับเป็นมหากรุณาธิคุณแก่ทวยราษฎร์อย่างล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

          การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นที่ไม่คาดคิดว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทยจะมีหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในสมัยนั้นด้วย เมื่อวันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 “คณะราษฎร์” ได้จับตัวพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นตัวประกัน รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย บรรยากาศขณะนั้นตึงเครียดมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก บรรยากาศด้านการเมืองรุนแรงน่าหวาดกลัวแม้กระทั้งในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

          ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นมีรถถังแล่นมาจอดขวางประตูโรงเรียน มีนายทหารและพลเรือน ชื่อนายสงวน ตุลาลักษณ์ ผู้ก่อการได้เข้ามาในโรงเรียนเชิญอาจารย์ใหญ่ซึ่งขณะนั้นคือ อาจารย์เอซี เชอร์ชิล และนักเรียน ม.6-ม.8 เข้าหอประชุมสามัคคยาจารย์สมาคมประกาศว่า ทุกคนได้รับทราบว่าขณะนี้ได้มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ

นักเรียนสวนกุหลาบได้ลุกขึ้นถามว่า “ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นายสงวน ตุลาลักษณ์ตอบว่า “ไม่ต้องถามเวลานี้ ถ้าต้องการรายละเอียดต้องตอบด้วยปืน ขณะนี้ได้จับเจ้านายไปแล้ว” (คำสัมภาษณ์ คุณสมจิตต์ โฆสวรรณะ)

——- อ้างอิง 
จากบทสัมภาษณ์ศิษย์เก่าในหนังสือ “ตำนานสวนกุหลาบ” ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ครั้งสำคัญ เพื่อเฉลิมฉลองโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ในวาระครบ 12 ทศวรรษ ได้มีสัมภาษณ์ สมจิตต์ โฆสุวรรณะ (สก.6487 เข้าเรียน พ.ศ. 2474) 

          บรรยากาศตอนนี้มีความสับสน นักเรียนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์บ้างก็หลบอยู่ตามห้องเรียน บ้างก็กระโดดหนีออกจากโรงเรียนไป ที่เข้าประชุมก็ไม่ค่อยเข้าใจแจ่มชัดนัก แต่การกระทำครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะควบคุมความสงบสุขของครูและนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนใหญ่ และในขณะนั้นถือว่าใกล้ชิดกับราชวงศ์และข้าราชการชั้นสูงของกระทรวงธรรมการนั่นเอง

จากเหตุการณ์ตอนนี้พอสันนิษฐานว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะราษฎร์จำเป็นจะต้องควบคุมสถานการณ์ไว้ เพราะเป็นต้นแบบในด้านต่างๆของโรงเรียนทั่วไป ครูอาจารย์ และ นักเรียน ก็น่าจะเป็นพลังที่จะต่อต้านคณะปฏิวัติ ซึ่งก่อให้เกิดความระส่ำระส่ายที่ยากคณะราษฎร์จะดูแลได้จึงได้ใช้วิธีนำรถถังมาปิดโรงเรียนและควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว
—————————————————

 


( อิงจากบทสัมภาษณ์ ประดิษฐ อเนกานนท์ (ส.ก.6557 เข้าเรียนพ.ศ. 2474) ในหนังสือ “ตึกยาวสอนให้มีความสำนึกในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ตอนปี ๒๔๗๕ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางคณะราษฎร์เอารถถังเข้ามาจอดในโรงเรียนเลย ตอนนั้นผมอยู่ ม.๔ ทหารมาถาม “ใครจะสมัครอยู่คณะราษฎร์บ้าง” ก็ไปกันพรึบเลย”ผมก็ไป เขาเกณฑ์ไปครับ  ก็แต่งลูกเสือถือพลองอยู่ ๗ วัน ไปรักษาการณ์อยู่แถวพระรูปฯ แล้วเขาก็ให้เหรียญปราบกบฎมา”
)   ข้อเท็จจริงบทสัมภาษณ์ ประดิษฐ อเนกานนท์ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะไม่ใช่เรื่องจริง เนื่องจาก เหรียญปราบกบฎนั้น เกิดขึ้นครั้งแรก ใน ปี 2476 ในเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ระหว่างคณะราษฎรและ คณะกู้บ้านกู้เมืองของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

ตัวอย่างเหรียญ ปราบกบฎ ปี  พ.ศ. 2476 ที่ระลึกจากสงครามกลางเมือง 2476 



———————-

          นอกจากนี้ กิจกรรมอีกประการหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนสวนกุหลาบมีบทบาททางการเมือง การปกครอง สมัยนั้นคือการที่ลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีส่วนช่วยรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช ในกรณีของการปราบกบฏบวรเดชนี้ รัฐบาลขณะนั้นได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยให้ส่งอาสาสมัครที่เป็นลูกเสือไปช่วยเป็นกองกำลังด้านลำเลียงกระสุนปืนส่งเสบียงบริเวณบางซื่อบ้าง และหลักสี่ทำหน้าที่เฝ้าคุกเพื่อไม่ให้มีการจราจลบ้าง โดยแต่งกายชุดลูกเสือไปช่วยเป็นพลรบ การสู้รบครั้งนี้มีลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ช่วยเป็นกองกำลังสนับสนุนจนฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่เกียรติยศจากการปราบกบฏครั้งนี้ให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (อยู่ในห้องจาริกานุสรณ์) และนักเรียนรุ่นนั้นทุกคนได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย

ในระยะก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้มีการสร้างอาคารต่างๆเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นแล้วก่อมีอาคารอยู่ 10 หลัง คือ อาคารเรียนหลังยาว ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านมาจนกระทั่งมาจนถึงทุกวันนี้ ตึกวิทยาศาสตร์ชั้นเดียว โรงอาหาร โรงพลศึกษา ตึกหลังกลางและบ้านพักครู ที่พักภารโรง รวม 5 หลัง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นอาคารบางหลัง ได้รับความเสียหายจากลูกระเบิด และเมื่อสงครามสงบก็ได้รับการซ่อมแซมดังนี้คือ อาคารหลังยาว และตึกวิทยาศาสตร์ได้รับการซ่อมแซมจนใช้การได้ดี ส่วนโรงอาหาร โรงพลศึกษา และตึกหลังกลาง นั้นถูกระเบิดเมื่อ 14 กันยายน 2488 ได้รับความเสียหายมากเกินจนเกินกว่าจะซ่อมแซมให้ใช้ได้ดังเดิมได้ 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 ก็ได้สร้างหอประชุมเคียงข้างกับตึกหลังยาวทางด้านวิทยาลัยเพาะช่าง และมีสะพานลอยโยงถึงตึกเรียนหลังยาวด้วย ปีรุ่งขึ้นก็สร้างตึกพลศึกษา ทางด้านทิศตะวันตกใกล้วิทยาศาสตร์และอีก 2 ปีต่อมาก็ได้สร้างโรงอาหารขึ้นใกล้กับตึกพลศึกษา หลังจากนั้นก็ได้สร้างตึกสามัคยาจารย์สมาคม 3 ชั้น แทนที่สามัคยาจารย์สมาคมทางด้านใต้ของโรงเรียน และสุดท้ายก็ได้สร้างอาคารสามัคยาจารย์ 4 ชั้น ติดกับตึกสามัคยาจารย์เดิมขึ้นพร้อมกับอาคารพระเสด็จ ซึ่งสร้างแทนที่ศาลาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อ พ.ศ. 2510

พ.ศ. 2521 สร้างตึกดำรงราชานุภาพบนพื้นที่เดิมซึ่งเป็นโรงอาหารเป็นอาคารเรียน 5 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ต่อมาเมื่อตึกปิยมหาราชานุสรณ์สร้างเสร็จแล้วได้ย้ายโรงอาหารไปชั้นล่างของตึกปิยมหาราชานุสรณ์ ส่วนชั้นล่างของตึกดำรงราชานุภาพได้กั้นเป็นห้องเรียนและห้องโสตทัศนศึกษา

พ.ศ. 2525 เนื่องในโอกาสที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ได้ก่อสร้างตึกปิยมหาราชานุสรณ์ ซึ่งเดิมเป็นอาคารโรงยิมชั้นเดียว ครั้นก่อสร้างเสร็จแล้วได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเปิดตึกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2527

พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์อาคารหลังยาวเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติการศึกษาแห่งชาติ ในปีเดียวกันทางโรงเรียนได้ทำการรื้อถอนอาคารพระเสด็จฯ เพื่อก่อสร้างใหม่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ตั้งอาคารเกิดการทรุดตัวจึงเกรงว่าจะเป็นอันตราย และได้สร้างอาคารพระเสด็จฯขึ้นมาใหม่ เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2535 และในโอกาสนี้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเปิดศาลาพระเสด็จฯ ครั้งนี้ด้วย และในปีเดียวกัน ด้านหลังของอาคารสามัคยาจารย์ทำพิธีเปิดอาคารสุทธิ เพ็งปานซึ่งใช้เป็นที่พักนักกีฬาและสระว่ายน้ำ ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2534

พ.ศ. 2537 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยดำเนินการก่อสร้างอาคารหอประชุมสวนกุหลาบรำลึกหลังใหม่ขึ้น แทนหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมลง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดในวันที่ 8 มีนาคม 2538

พ.ศ. 2538 จุดรวมสำคัญของสวนกุหลาบวิทยาลัยในรอบ 113 ปี คืองาน “สวนกุหลาบวิทยาลัย ใน 12 ทศวรรษ” 8-11 มีนาคม 2538 เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์อันยาวนานของสวนกุหลาบวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การศึกษาชาติ ณ ตึกยาว มีกำหนดเสร็จในปี 2543 พ.ศ. 2541 เหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกเป็นหนที่สอง เมื่อนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กว่า 2,000 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสอบถามข้อข้องใจในเรื่องสาเหตุของการสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนในสมัยนั้น (ผอ.ธานี สมบูรณ์บูรณะ) จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยปรากฏไปตามสื่อต่าง ๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์

พ.ศ. 2547 รื้อสนามกีฬาเอนกประสงค์ “สนามไพศาล” สร้างอาคารเอนกประสงค์ “อาคาร ๑๒๓ ปี สวนกุหลาบ” เปิดใช้เมื่อ ๙ มีนาคม ๒๕๔๙

พ.ศ. 2549 อัญเชิญหลวงพ่อสวนกุหลาบองค์จำลองประดิษฐาน ณ บุษบก ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ณ หน้า อาคาร ๑๒๓ ปี สวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ซึ่งตรงกับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

          จากบทพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ว่า “ประโยชน์ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ นอกจากเป็นบ่อเกิดวิชาคุณของข้าราชการเป็นกันมาก ยังมีประโยชน์แพร่หลายอย่างอื่นอีก ที่เป็นสำคัญคือเมื่อปรากฏว่าจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้ดั่งพระราชประสงค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าสมควรจะจัดการตั้งโรงเรียนเขียนและสอนวิชาให้แพร่หลายออกไปเป็นการศึกษาสำหรับประเทศสยาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คิดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามพระราชอารามหลวงทั้งในกรุงและหัวเมือง” ได้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นบ่อเกิดของความรู้รวมทั้งบุคลากรที่มีความสามารถมากมายเพื่อเผยแพร่วิชาความรู้แก่เยาวชนรุ่นหลังต่อไป

          ปัจจุบันนี้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยก็ได้จัดตั้งมาเป็นเวลากว่า 129 ปีแล้วและก็สามารถผลิตบุคลากรและเยาวชนที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ประเทศชาติเสมอมาโดยตลอด สมกับคำนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งสถานศึกษาแห่งนี้ทุกประการ

 

อ้างอิง 
http://www.skn.ac.th/skn/index.php/2016-09-07-14-40-46/536-2016-09-07-14-26-50