อันที่จริงใครหลายคนอาจคิดว่าการปลูกเลี้ยงต้นไม้นั้นมีหลักการดูแลเหมือนๆกันนั่นคือการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
และถ้าหากว่ามีความสนใจขึ้นมาอีกก็จะรู้ว่าดินอย่างไรถึงจะเหมาะกับการปลูก จะเข้าใจวิธีการปรุงดิน วิธีการให้น้ำ การรับแสงน้อยและมากอย่างเหมาะสมเพื่อให้พืชเจริญงอกงามจนให้ดอกผลที่ดี
อันที่จริงหลักการเหล่านั้นในหลักปฏิบัติก็เป็นทฤษฏีคล้ายๆกัน แต่เอาเข้าจริงยัฝมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังซ่อนอยู่ในนั้นอีกมากมายซึ่งแบ่งตามชนิด ประเภทของต้นและพื้นที่ที่ปลูก
เพราะต้นไม้ในที่ที่แตกต่างกันก็ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกัน
ในพื้นที่หนึ่งเราอาจจำเป็นต้องรดน้ำมาก จัดวางพืชให้ได้รับแสงจัด แต่ในอีกพื้นที่อาจต้องการแสงและน้ำน้อย
หลักการประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน คือหลักคิดและวิธีคิดนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อนำมาใช้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันก็จำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ
ให้สังเกตดูอย่างที่ง่ายที่สุดนั้นคือรัฐธรรมนูญในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต่างๆยังมีจำนวนข้อกฏหมายที่ไม่เท่ากันและให้ความสำคัญในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน แต่โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้นไม่แตกต่างกัน
ซึ่งถ้าระบบประชาธิปไตยในที่หนึ่งสามารถใช้ได้เหมือนกันหมดในทุกกฏข้อบังคับในพื้นที่ทางสังคมที่แตกต่างกันได้จริง ผมเชื่อว่าวิธีคิดเช่นนั้นก็เหมือนกับการที่เราเชื่อว่าดินคุณภาพเดียวนี้จะสามารถปลูกพืชได้ดีหมดในพืชทุกอย่าง ทุกประเภท ทุกพื้นที่
อนึ่ง ภาษิตไทยมีอยู่ว่า “ให้เอาเยี่ยงแต่อย่าเอาอย่าง” ซึ่งความหมายนั้นคือ ให้เรียนรู้ให้ดูเป็นตัวอย่างแต่อย่าทำผิดเหมือนกับสิ่งที่ได้เห็นมา
ประชาธิปไตยจึงควรที่จะต้องประกอบไปด้วยปัญญา ไม่ใช่ยึดแต่หลักการแล้วยืนหัวชนฝาว่าประชาธิปไตยในความคิดของฉันหรือทฤษฏีที่ฉันไปร่ำเรียนมาเท่านั้นที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง
ไม่เช่นนั้นนานไปต้นไม้ที่เพียรปลูกก็จะไม่ได้ผลและย่อมไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น จนในที่สุดต้นก็อาจจะแคระเกร็นจนตายซากแล้วจะหาว่าไม่เตือน
Olympia