ประชาชนใช้ปืนใหญ่ที่ปล้นออกมาได้จากคลังแสงที่แองวาลิด ยิงถล่มป้อมบาสตีย์ ปืนใหญ่พระนารายณ์ ๒ กระบอกก็ถูกใช้งาน ในคราวนี้ด้วย (ภาพจาก la Révolution 1788-1790)
—–
ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ประเทศฝรั่งเศสขยายอิทธิพลไปทั่วภาคพื้นยุโรป อำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แผ่ขยายไปในวงกว้างเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกแม้ในประเทศสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงขวนขวายที่จะแสดงความนอบน้อมและพึ่งพิงพระบารมีของกษัตริย์ฝรั่งเศส
ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) จึงเป็นยุคของความรุ่งเรืองถึงขีดสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม และการทหาร กองทัพอันเกรียงไกรของฝรั่งเศสเป็นใบเบิกทางไปสู่อำนาจของราชบัลลังก์ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ชัยชนะของกองทัพฝรั่งเศสแน่นอนที่ได้มาก็จากชัยชนะในสมรภูมิรบ
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเป็นวีรบุรุษยอดนิยมของกองทัพ เพราะทรงให้ความสำคัญและดูแลทหารหาญของพระองค์ด้วยความเอาใจใส่ การพัฒนากองทัพ และสวัสดิภาพของทหารทุพพลภาพผู้ขาดที่พึ่งภายหลังการศึกสงคราม
ก่อนหน้ายุคพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทหารฝรั่งเศสผู้ชราภาพหรือพิการจากการสู้รบมักจะถูกทอดทิ้งให้
เผชิญชะตากรรม และมีบั้นปลายชีวิตที่ลำบากแบบคนอนาถาตามลำพัง ทหารเก่าโดยมากกลายเป็นคนตกยากที่สังคมไม่เหลียวแล ในทางทฤษฎีแล้วโบสถ์และคอนแวนต์ผู้ใจบุญมักจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทหารเหล่านี้อย่างไม่เป็นทางการ แต่ทหารส่วนใหญ่กลับผันตัวเองไปเป็นขอทานและคนจรจัด แม้แต่รัฐบาลผู้เคยรับผิดชอบชีวิตทหารกล้าก็ยังไม่มีนโยบายหรือสวัสดิการให้ความช่วยเหลือทหารเก่าอย่างจริงจัง
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผู้การุญได้ยื่นพระหัตถ์เข้ามาปลดทุกข์ทหารผู้ทุพพลภาพของพระองค์ และโอบอ้อมพวกเขาให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายและมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่ลำบากมากนัก
ใน ค.ศ. ๑๖๗๐ พระองค์มีพระราชโองการให้สร้างสถานพักพิงทหารทุพพลภาพ หรือ “แองวาลิด” (Les Invalides) ขึ้นที่ใจกลางกรุงปารีส เพื่อรองรับทหารเก่าผู้ยากไร้และขาดที่พึ่งเหล่านั้น (และเป็นต้นกำเนิดของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกในปัจจุบัน - ผู้เขียน) แองวาลิดได้กลายเป็นอาคารอันโอ่อ่าภูมิฐานด้วยสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระราชวังแวร์ซายส์ของพระองค์ด้วยการออกแบบโดยสถาปนิกคนเดียวกันคือ Hardouin Mansart
แองวาลิดยังค่อยๆ แปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารที่เก็บสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งตกค้างมาจากสมรภูมิหลายสมัยของฝรั่งเศส โดยเฉพาะปืนใหญ่และปืนเล็กยาว ต่อมาก็กลายเป็นคลังแสงขนาดย่อมๆ ของอาวุธที่ปลดระวางเช่นเดียวกับทหารผ่านศึกซึ่งทางการไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน
“แองวาลิด” คงสภาพเป็นคลังแสงขนาดย่อมภายในโรงพยาบาลทหารผ่านศึกตามเจตจำนงของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เรื่อยมาตลอดรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นอกจากเครื่องศัสตราวุธรุ่นเก่าแล้ว ของสะสมส่วนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังถูกนำมาเก็บรักษาไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะขาดความนิยมและไร้ความหมาย ไม่มีความผูกพันทางจิตใจต่อกษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา
ปืนใหญ่พระนารายณ์ถูกลืมไปชั่วคราวเป็นเวลาถึง ๑๐๓ ปี (ค.ศ. ๑๖๘๖-๑๗๘๙) ในขณะที่มีสภาพเป็นของสะสมโบราณประเภทเครื่องศัสตราวุธรุ่นเก่าจากสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เก็บดองไว้ในห้องใต้ดิน ณ แองวาลิด แต่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาสร้างวีรกรรมในสมัยต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖
ประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๔-๙๒) นั้นแตกต่างจากสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยสิ้นเชิง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงถูกประชาชนประณามว่าเป็นทรราชและเป็นผู้ทรยศต่อชาติบ้านเมืองในยุคทรราชย์ที่ลงเอยด้วยการ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ค.ศ. ๑๗๘๙
การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในยุคที่ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างหนัก รัฐบาลอยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลาย อันเป็นปัญหาสะสมมาจากการที่ฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำสงครามหลายครั้งตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ โดยเฉพาะการเข้าร่วมในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๘-๘๓) ซึ่งฝรั่งเศสสนับสนุนฝ่ายอาณานิคมต่อสู้กับอังกฤษ รัฐบาลต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในสงครามครั้งนั้น แต่ก็ต้องประสบความพ่ายแพ้
ซ้ำเติมด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างดาษดื่นของระบบราชการ การใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยในราชสำนักและการกดขี่ข่มเหงขูดรีดภาษีอากรจากราษฎรซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นำไปสู่การปลุกระดมมวลชน นักการเมืองหัวปฏิรูปที่มีความคิดต่อต้านระบอบกษัตริย์ว่าเป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลังความหายนะของบ้านเมือง โดยพุ่งเป้าไปที่ราชวงศ์บูร์บองของพระเจ้าหลุยส์ทุกรัชกาลว่าเป็นต้นเหตุหลัก จึงควรจะถูกกำจัดออกไป เปิดทางให้มีการปกครองประเทศระบอบใหม่ขึ้นมาแทน
ประชาชนผู้ยากไร้และชาวนาทั่วประเทศที่ตกทุกข์ได้ยากมานานนับเป็นผู้ร่วมอยู่ในกองทัพประชาชน
โค่นล้มราชวงศ์ด้วยการปลุกปั่นของผู้นำสายปฏิรูปเห็นว่าต้องระดมคนให้จับอาวุธและเข้ามาพร้อมกันในเมืองหลวงอย่างปารีสให้มากที่สุด โดยก่อหวอดว่าสัญลักษณ์การปกครองแบบเผด็จการของราชวงศ์บูร์บองก็คือ “คุกบาสตีย์” กลางกรุงปารีสอันเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง และสถานที่ทรมานผู้นำมวลชนที่เป็นตัวแทนของราษฎร จึงเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำลายล้างให้ได้เพื่อประกาศชัยชนะของประชาชน และท้าทายอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ อันเป็นวันทำลายป้อมบาสตีย์ (เดิมเป็นป้อมปราการเก่าแก่ สร้างตั้งแต่ ค.ศ. ๑๓๗๐ - ผู้เขียน) นั้น กองทัพประชาชนประกอบด้วยชาวนาและชนชั้นกรรมกร แต่เป็นนักรบมือเปล่าที่ขาดอาวุธ กรูกันเข้าไปภายในตึกแองวาลิด เพราะมีชื่อเสียงว่าเป็นคลังอาวุธขนาดย่อมจากสงครามสมัยก่อน เพื่อปล้นปืนใหญ่และกระสุนดินดำออกไปใช้ทำลายป้อมบาสตีย์
ปืนใหญ่และอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ ที่ยังใช้การได้ดีตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รวมทั้งปืนใหญ่พระนารายณ์ถูกนำออกไปยิงต่อสู้กับกองทัพของรัฐบาลที่รักษาป้อมบาสตีย์อย่างสุดความสามารถ หากทำลายป้อมลงได้กองทัพก็จะเสียขวัญ นั่นหมายความว่าอำนาจของรัฐไม่สามารถจะยับยั้งกองทัพประชาชนได้เลย
เอกสารฉบับหนึ่งของกระทรวงกลาโหมไทย อ้างถึงปืนใหญ่พระนารายณ์ในเหตุการณ์ถล่มป้อมบาสตีย์ว่าเป็นปืนใหญ่ ๒ กระบอก ยาว ๖ ฟุต กลึงด้วยมือและหลอมในเตาไฟ มีปลอกเงินตั้งบนแท่นมีล้อ ฝังลายเงิน อ้างข้อเขียนของนาย Thomas Carlyle ในหนังสือ The French Revolution บทที่ ๖ ว่า
“จอร์เจต์ นายทหารเรือที่เพิ่งเดินทางจากเมืองเบรสต์ กำลังสาละวนอยู่กับปืนใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งต่างฝ่ายก็ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่ซึ่งได้มาอยู่ที่นี่ (ประเทศฝรั่งเศส) เป็นเวลาร้อยปีผ่านมาแล้ว และในเวลาต่อมาพวกเขาได้เข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยกันและได้นำไปใช้ยิงประตูคุกบาสติลเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๑๗๘๙ (พ.ศ. ๒๓๓๒)”
ชั่วเวลาไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมงป้อมบาสตีย์ก็แตก นอกจากนักโทษการเมืองจะหลุดออกมานำกองทัพประชาชนบุกต่อไปยังพระราชวังแวร์ซายส์แล้ว ประชาชนยังได้ปล้นอาวุธเพิ่มอีกจำนวนมากซ่อนอยู่ในป้อมออกมาสมทบในการปฏิวัติครั้งนี้ด้วย
อีกหลายเดือนภายหลังการจลาจลยุติลง อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่รวมทั้งปืนใหญ่พระนารายณ์ที่ถูก
ใช้ในการถล่มป้อมบาสตีย์ก็ถูกนำกลับมาเก็บภายในแองวาลิดเป็นอนุสรณ์สืบต่อลงมาอีกเป็นเวลา ๒๒๕ ปีจนบัดนี้ แองวาลิดกลับมาเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธโบราณที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศส
กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้เขียนลงพื้นที่ด้วยตนเอง ณ พิพิธภัณฑ์ทหารแองวาลิด เพื่อไปขอชมปืนใหญ่พระนารายณ์ตามลายแทงของหนังสือจากกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับคำตอบจากภัณฑารักษ์ (หลายคน) ตอบแบบเดียวกันว่าปืนใหญ่ทั้ง ๒ กระบอกเคยอยู่ที่นี่จริง แต่ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปอยู่ในห้องเก็บของมีค่าที่ไม่อนุญาตให้คนนอกเข้าชมแล้ว และก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนในเวลานี้
ภาพถ่ายเก่าจึงเป็นหลักฐานเดียวที่พบ เลยกลับมารวบรวมข้อมูลส่วนอื่นไว้เพื่อมิให้สูญหายไปด้วยเผื่อว่าวันข้างหน้าของดีจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะกลับมาเผยโฉมให้เห็นอีก ไม่ใช่เป็นแต่คำบอกคำเล่าอ้างของคนโบราณเท่านั้น
ที่มา: คัดจากตอนหนึ่งของบทความเรื่อง “ปืนใหญ่พระนารายณ์ และธงช้างเผือกที่ปารีส เดี๋ยวนี้เหลือเพียงตำนาน” โดย ไกรฤกษ์ นานา