ผู้ถูกจับตายคนแรกสังเวยการเริ่มต้นของยุคทมิฬ
.
รุ่งเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขณะพระยาพหลเริ่มอ่านประกาศปฏิวัติ ให้ทหารที่ถูกหลอกมารวมกันบนลานพระบรมรูปทรงม้าโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ฟัง แต่ก่อนที่ท่านจะจบด้วยเสียงอันดังว่า “ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนแล้ว ขอให้ก้าวเท้าออกมาข้างหน้า หนึ่งก้าว” นั้น พันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับการกองพันที่ ๓ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งที่กองบังคับการตั้งอยู่เชิงสะพานมัฆวาน และได้แอบเข้าไปสังเกตุการณ์การชุมนุมด้วย ได้รีบหลบออกไปก่อนแล้วตั้งแต่เดาเรื่องถูก
เมื่อรีบกลับเข้าไปในกองพัน แล้วโทรศัพท์รายงานพลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ผู้บังคับบัญชากองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ แต่สายโทรศัพท์ถูกตัดขาดติดต่อไม่ได้ ส่วนตัวพระยาเสนาเองก็ถูกคณะราษฎร์ส่งทหารไปจับตัวที่บ้านพักนอกกรมทหาร และถูกร้อยโท ขุนศรีศรากร ยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บก่อนจะถูกจับกุมตัวไป
พันตรีหลวงราญรณกาจ จึงสั่งการให้จัดกำลังทหารหนึ่งกองร้อยออกไปยังเชิงสะพานมัฆวานและเตรียมต่อสู้ แต่พอได้เห็นใบปลิว และทราบข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว จึงได้ถอนกำลังกลับเข้าที่ตั้งไป
หลวงราญยังอยู่ในราชการไปได้อีกหน่อยหนึ่งจึงถูกปลดออกโดยไม่มีเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ ต้องไปทำงานเป็นผู้จัดการโรงหนังเฉลิมนคร อยู่แถวคลองถม
หกปีต่อมา หลังจากพันเอกพระยาพหลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อหลีกทางให้พันเอกหลวงพิบูลสงครามเข้าบริหารราชการได้เพียงเดือนเดียว รัฐบาลก็เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเสี้ยนหนามทางการเมืองทันที โดยพันตำรวจเอกหลวงอดุลยเดชจรัส เพื่อนนักเรียนนายร้อยคู่หูรุ่นเดียวกับหลวงพิบูลได้ออกคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบพร้อมกันทุกสายในเช้ามืดของวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๘๒ เพื่อจับเป็นผู้ต้องสงสัยจำนวน ๕๑ คน และจับตาย ๓ คน
หลวงราญถูกสันติบาลกาหัวไว้นานแล้วว่าเป็นฝ่ายเจ้า จึงได้โดนคำสั่งจับตายในครั้งนี้ด้วย
เช้าวันนั้น หลวงราญเพิ่งจะตื่นนอนอยู่ในชุดโสร่ง เมื่อตำรวจนำโดยร้อยตำรวจเอก หลวงจุลกะรัตนากรไปถึงบ้านที่เช่าอยู่ข้างวัดโสมนัส หลวงราญออกมาเปิดประตูต้อนรับตำรวจและเชิญให้เข้ามาในบ้าน เมื่อหลวงจุลกะยื่นหมายจับให้อ่าน หลวงราญก็ขอเวลาไปเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อยก่อน ขอให้ตำรวจนั่งรอในห้องรับแขกสักครู่
ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกในเวลาต่อมากล่าวว่า “หลวงราญกลับออกมาก็เดินรี่เข้าหาหลวงจุล แล้วกระตุกปืนจากเอวออกมาจ่อจะยิง ตำรวจคนหนึ่งเห็นเข้าก่อน จึงปัดปืนให้ออกจากทาง และร้องเตือนให้หลวงจุลทราบ ปืนสั้นของหลวงราญได้ลั่นกระสุนออกไป ๓ นัด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสองคนได้แก่ ส.ต.ต.สด ศรีสุขภู่ และ ส.ต.ต.วิชิต แสงศรี เกิดชุลมุนกันอยู่นั้น ตำรวจที่เหลือจึงยิงตอบโต้ ๕ นัดซ้อน ถูกหลวงราญถึงแก่ความตาย”
ญาติพี่น้องสกุลวินิจฉัยกุลของหลวงราญรณกาจเขียนไว้ เป็นคนละเรื่องเดียวกันว่า พอเดินเข้าไปในห้องแล้ว ตำรวจก็เปลี่ยนใจ เดินตามเข้าไป แล้วยิงหลวงราญตายขณะกำลังแต่งตัวอยู่ ต่อหน้าลูกและเมีย
ไม่มีใครทราบว่าพันตรีหลวงราญรณกาจได้ไปกระทำความผิดอะไร จึงถูกตำรวจออกหมายจับ จนกระทั่งต่อมาศาลพิเศษ ๒๔๘๒ มีคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า หลวงราญรณกาจร่วมกับนายดาบพวง พลนาวีพี่เมียของพระยาทรงสุรเดช จ้างวานนายยัง ประไพศรี ให้ไปดักยิงหลวงพิบูลที่ตลาดศรีย่าน แต่กระทำการไม่สำเร็จเพราะตำรวจสืบทราบ และได้ไปดักรออยู่ นายยังจึงได้หลบหนีไป แล้วภายหลังถูกตำรวจตามไปจับที่จังหวัดนนทบุรี นายยังต่อสู้จึงถูกตำรวจยิงตาย
นายดาบพวง พลนาวี เป็นพี่ชายแท้ๆของคุณหญิงห่วง ภรรยาพระยาทรงสุรเดช ตนเองทำงานที่กรมรถไฟหลวงแต่อาศัยบ้านของน้องเขยและน้องสาวอยู่ที่ถนนประดิพัทธ์ จึงถูกสันติบาลรวบมาไว้ก่อน แล้วหาข้อหายัดให้ทีหลัง เมื่อหาไม่ได้จริงๆก็ใช้วิสามัญฆาตกรรมหลวงราญให้เป็นประโยชน์เพื่อชี้แจงต่อสังคมว่าหลวงราญมีความผิดอะไร แต่เพื่อจะได้ยิงนกทีเดียวให้ได้สองตัว ก็ต้องลากเรื่องนี้ไปเกี่ยวกับนายดาบพวงด้วย
อัยการก็ได้จัดให้สิบเอกสองคนที่เคยเป็นลูกน้องเก่าหลวงราญมาเบิกความเป็นพยาน กล่าวหาอดีตนายคล้ายๆกันว่า ได้ชักชวนตนเข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง “โดยจับพวกที่สำคัญๆ เช่นหลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงสินธุสงครามชัย หลวงอดุลเดชจรัสมาฆ่าเสีย พวกที่เป็นหัวหน้าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มี พระยาทรงสุรเดช พระยาเทพหัสดินทร์ พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ พระสิทธิเรืองเดชพล และพระปกเกล้าฯ ส่วนการเงินพระปกเกล้าฯจะออกให้หมด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จะตั้งพวกเราเป็นคณะรัฐบาลต่อไป และจะเชิญพระปกเกล้าฯเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเอาพระยาทรงสุรเดชมาเป็นนายกรัฐมนตรี…” ไม่มีถ้อยคำสักแอ๊ะเดียวที่เอ่ยชื่อนายดาบพวง พลนาวี จำเลยตัวเป็นๆที่ยืนอยู่บนคอก
ขบวนการอยุติธรรมดูเหมือนจะมั่นใจว่า โดยเหตุผลข้างบน ประชาชนที่อ่านพบจะเห็นด้วยว่า ความผิดของหลวงราญรณกาจสมควรต่อโทษจับตายที่ตำรวจจัดการไปแล้ว ส่วนรายชื่อจำเลยอื่นๆที่ถูกพาดพิง บัดเดี๋ยวศาลก็จะเชือดเป็นรายต่อๆไป
พยานโจทก์ปากสำคัญที่สุดอีกปากหนึ่ง เบิกความว่าชื่อสิบโทชื้น จันทรกร เคยเป็นทหารในกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ซึ่งมีหลวงราญรณกาจเป็นผู้บังคับบัญชา พอหลวงราญโดนให้ออกจากราชการไปแล้ว ได้ไปทำงานที่โรงภาพยนตร์เฉลิมนคร แล้วชวนหมู่ชื้นไปเป็นนักเลงคุ้มกันโรงหนัง หลวงราญสั่งให้ต่อยโจ๋คนนึงที่มาก่อเรื่อง แต่พอเจ้าของโรงหนังทราบเข้าก็ไล่หมู่ออก หลวงราญต้องเป็นผู้รับภาระจ่ายเงินให้หมู่ครั้งละห้าบาทสิบบาท
หมู่ชื้นให้การต่อไปว่าวันหนึ่งหลวงราญเรียกไปบอกว่า เวลานี้รัฐบาลเป็นเผด็จการ พวกของเราที่เป็น ส.ส.ไปปากแข็งเข้าเขาเลยยุบสภาเสีย ตนจึงได้รับงบมา ๕๐๐๐ บาท ให้หาคนไปยิงหลวงพิบูลสงคราม แล้วถามหมู่ชื้นว่าเอาไหม หมู่บอกไม่กล้า แต่ก็แนะนำนายยังนักย่องเบาให้ หลวงราญจึงให้ไปตามนายยังมา ตอนที่พามาพบนั้นเห็นหลวงราญนั่งอยู่กับนายดาบพวง พลนาวี คุยตกลงราคาค่าตัวกันแล้วหลวงราญก็มอบปืนพกบรรจุกระสุนเต็มลูกโม่ กับเงินค่ารถ ๑๐๐ บาท ให้นายยังไปดักยิงหลวงพิบูลบริเวณเกียกกาย ซึ่งหลวงพิบูลพักอาศัยอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ย่านนั้น สามสี่วันต่อมานายยังมาบอกกับหมู่ว่าไปคอยดักยิงแล้วแต่ไม่สำเร็จ
โธ่เอ๋ย มันจะสำเร็จได้ไง หลวงพิบูลไปไหนมาไหนในรถประจำตำแหน่ง ไม่ได้เดินมารอขึ้นรถเมล์
ต่อมาในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๑ เวลาราว ๑๔ น. หมู่ชื้นบอกนายยังมาหาที่บ้าน แล้วจ๊ะเอ๋กับดาบพวงซึ่งก็มาด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน หมู่ได้ยินดาบพวงพูดกับนายยังว่า หลวงราญสั่งให้มาบอกว่าคืนพรุ่งนี้กับมะรืนนี้ หลวงพิบูลจะผ่านไปทางตลาดศรีย่านในเวลาหัวค่ำ ให้นายยังไปคอยดักยิงอีกครั้ง
อันนี้ก็ไม่เนียน ที่ว่าหลวงพิบูลจะผ่านไปทางตลาดศรีย่านไม่ได้แปลว่าหลวงพิบูลจะพาท่านผู้หญิงละเอียดไปเดินจ่ายตลาดก็หาไม่ ท่านก็นั่งรถไปตามถนนสามเสนโดยวิ่งผ่านตลาดตามปกตินั่นแหละ และนี่ระบุว่าเป็นเวลาหัวค่ำด้วย ขนาดสว่างๆ หากจะดักยิงก็ควรจะเอามือปืนกลไปด้วยกันสักห้าหกคนเป็นอย่างน้อย ซุ่มรอตรงทางที่รถจะต้องชะลอความเร็วเข้าแยกเกียกกาย แล้วช่วยกันระดมยิงเหมือนในหนังฝรั่ง ยิงกันคนละสิบยี่สิบนัดมันต้องถูกเข้าสักนัดแหละน่า
แต่เชื่อไหมครับ ตามท้องเรื่องที่สันติบาลผูกขึ้นนี้ ไอ้ยังตีนแมวคนนั้นก็ดันทุรังเอาปืนพกไปรอยิงหลวงพิบูลอยู่หน้าตลาดศรีย่านที่แสนจะพลุกพ่านจริงๆด้วย จนกระทั่งตำรวจเกือบจับตัวได้ก่อนจะลงมือปฏิบัติการ
จากเรื่องข้างบนนี้ ผมนำความจากการอ่านที่อื่นมาปะติดปะต่อกัน ประมวลได้ว่าที่หมู่ชื้นเบิกความก็เรื่องหนึ่ง เรื่องที่เป็นข่าวจริงๆก็อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ตำรวจพบคนร้ายที่ตามล่าอยู่ปรากฏตัวในตลาดศรีย่าน จึงพยายามเข้าจับกุมแล้วพลาด เกิดยิงกันขึ้นจนตำรวจบาดเจ็บ แล้วคนร้ายนั้นก็อาศัยความชุลมุนหนีไปได้ข่าวหนึ่ง
และอีกข่าวหนึ่งในไม่กี่วันต่อมา หนังสือพิมพ์รายงานว่าตำรวจวิสามัญโจรกระจอกลักเล็กขโมยน้อยคนหนึ่งตายที่นนทบุรี พบว่าชื่อนายยัง
แล้วข่าวทั้งสองก็เงียบไปจนกระทั่งมาปรากฏเรื่องใหม่ในศาลว่า นายยังไปคอยดักยิงหลวงพิบูลสงครามหน้าตลาดศรีย่านตามสั่ง ตำรวจตามไปพบแล้วพยายามเข้าจับกุม นายยังสะบัดหลุดแล้วใช้ปืนยิงตำรวจบาดเจ็บ เสียงปืนทำให้ประชาชนแตกตื่น นายยังอาศัยความชุลมุนหนีไปได้ แล้วหนีไปหลบซ่อนที่นนทบุรี แต่สุดท้ายเสียท่าโดนตำรวจจับตาย
ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดแล้วใน “ภูตปกรณัม ศาลพิเศษอยุติธรรม ๒๔๘๒” (๕) ตอน คดีที่มีโทษถึงตายเพราะเป็นญาติของศัตรู
ตามระโยงนี้ครับ
.
https://www.facebook.com/1174884455908584/posts/1422062031190824/
.
สันติบาลได้ผูกเรื่องเท็จ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างหลวงราญรณกาจ-สิบโทชื้น-นายดาบพวง-พระยาทรงสุรเดช ให้เชื่อมโยงกันสลับซับซ้อน หวังให้คนอ่านหนังสือพิมพ์สมัยนั้นมึนจนอ่านไม่จบ แต่เชื่อไว้ก่อนว่าคงจะจริงตามตำรวจว่า
ส่วนศาลพิเศษก็มีธงตั้งอยู่แล้ว คดีนี้ นายดาบพวง พลนาวีถูกพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต เป็น ๑ ใน ๑๘ ศพที่สังเวยความโหดร้ายของสองเกลอ ผู้เผด็จการที่คิดว่า รักชาติที่ถูกต้องวิธีของฉันเท่านั้น ใครที่เห็นต่างย่อมผิด และสมควรตาย
.
ภาพพันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)ซึ่งเพิ่งปรากฏต่อสาธารณะ จากเฟซของคุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ ผู้ให้อนุญาตผมนำมาเผยแพร่
พบหลักฐานปฐมภูมิ
หลังจากที่ผมนำเสนอเรื่อง “ผู้ถูกจับตายคนแรกสังเวยการเริ่มต้นของยุคทมิฬ” อันเป็นเรื่องราวของ พันตรีหลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล) ผู้บังคับการกองพันที่ ๓ (เอกสารใหม่เขียนว่า ๒) กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วสองสามวัน ก็ได้รับการติดต่อจากผู้อ่านท่านหนึ่งว่ามีเอกสารเรื่องราวของหลวงราญในวันที่ถูกตำรวจจับตาย เขียนโดยน้องชายต่างบิดาผู้มีความใกล้ชิดสนิทสนม ต้องการให้อ่านกันในหมู่ญาติ แต่ด้วยความกรุณาของท่าน ผมจึงได้รับภาพที่ถ่ายจากต้นฉบับตัวพิมพ์ดีดในหน้าที่เกี่ยวข้องมาเผยแพร่ต่อ ตามที่ท่านได้อนุญาตไว้
ก่อนที่จะถึงข้อความตามบันทึก ผมขอบรรยายสรุปความรู้ที่มี เพื่อรองพื้นความเข้าใจอันดีให้ทราบดังนี้นะครับ
เป็นความรู้ใหม่ว่า พันตรีหลวงราญรณกาจเป็นนักเรียนรายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับพันเอกพระยาทรงสุรเดช ๑ ใน ๔ ทหารเสือคณะราษฎร ผู้เป็นเสนาธิการวางแผนยุทธศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ ในเช้าของวันที่ยึดอำนาจ
พระยาทรงคือผู้ที่ประสบพบเห็นความบกพร่องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปรารถนาธรรมนูญการปกครองประเทศที่พระปกเกล้าฯมีพระราชประสงค์จะพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวสยามในคราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี เมื่อถูกคณะอภิรัฐมนตรี(คล้ายๆคณะองค์มนตรี แต่มีอำนาจมากกว่า)ทัดทานไว้ ก็มีความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับราษฎรไทยที่มีการศึกษาแทบจะทุกคน ครั้นพันเอกพระยาพหลโยธิน เพื่อนนักเรียนนายร้อยเยอรมันมาชวนไปคุยกับคณะนักเรียนเก่าฝรั่งเศสของนายปรีดีก็เลยสนใจ เมื่อตกลงกันได้ว่าหากยึดอำนาจแล้ว จะให้สยามมีรัฐธรรมนูญแบบประเทศอังกฤษ พระยาทรงก็ตกลงเข้าร่วม โดยดึงพันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธมาเป็นเสือตัวที่ ๓ และ ๔ ตอนนั้นพันตรีหลวงพิบูลสงครามฝ่ายนายปรีดียังไม่ถูกนับว่าเป็นเสือ
สี่ทหารเสือสัญญาต่อกันว่า หากสยามมีรัฐธรรมนูญ มีสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว พวกตนจะนำทหารจะกลับเข้ากรมกอง ปล่อยให้นักการเมืองเขาทำหน้าที่กันไปในสภา ทว่าเจตนารมณ์นี้ผู้ก่อการสายทหารรุ่นหนุ่มซึ่งมีหลวงพิบูลเป็นหัวโจกไม่เห็นด้วย
ต่อมาคณะราษฎรเกิดขัดแย้งกับพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่านายปรีดีไปลอกแบบของรัสเซียมา พระยาทรงก็นำพระราชกระแสมาต่อว่านายปรีดีอย่างรุนแรง ทำให้เกิดรอยร้าวในคณะผู้ก่อการ จบยกนั้นที่นายปรีดีถูกรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขอร้องแกมบังคับให้ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสแบบไม่มีกำหนดกลับ
เมื่อหลวงพิบูลไปกล่อมพระยาพหลมาเป็นฝ่ายตนได้ ก็ปฎิวัติเงียบพระยามโน แล้วดันพระยาพหลขึ้นไปเป็นนายกแทน รัฐบาลใหม่เรียกนายปรีดีให้กลับคืนสู่สยาม แล้วเกิดกบฎบวรเดชซึ่งหลวงพิบูลแม่ทัพใหญ่ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ พระยาทรงถูกเพ่งเล็งว่ารู้เห็นเป็นใจกับฝ่ายเจ้า จึงถูกริดรอนอำนาจหน้าที่ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองทั้งสิ้น
พระยาทรงก็ยอมหลบให้โดยดี สุดท้ายขอย้ายตนเองไปตั้งโรงเรียนรบชั้นสูงอยู่ถึงเชียงใหม่ หลวงพิบูลก็ยังเชื่อว่าไปซุ่มเพื่อหาทางมาโค่นล้มตน ครั้นถูกคนบ้าชื่อนายพุ่มบุกเข้าไปยิงถึงกลางท้องสนามหลวงหลังฟุตบอลเลิก หลวงพิบูลก็ปักใจเชื่อว่าเกิดจากการจ้างวานของพระยาทรงและฝ่ายเจ้าผู้สูญเสียอำนาจ ในที่สุดก็นำมาซึ่งการกวาดล้างขนานใหญ่ ที่เรียกว่า กบฏพระยาทรง หรือกบฎ ๒๔๘๒
พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธถูกจับหมด แต่ด้วยเหตุที่ผู้ก่อการคณะราษฎรได้เคยสาบานไว้ว่าจะไม่ฆ่าแกงกัน ทั้งสามจึงถูกเนรเทศให้ไปลำบากตายเอง แต่ลูกน้อง หรือแม้แต่เจ้านายชั้นสูง ถ้ามีสายลับรายงานว่าใครไปเกี่ยวข้องกับพระยาทรง ก็ไม่อันต้องสืบสวนว่าจะเท็จหรือจริง จับมาขังตะรางไว้ก่อน แล้วจัดข้อหาให้ทีหลังเพื่อส่งขึ้นศาลพิเศษ ให้พิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตสองสถานเท่านั้น ที่มีผู้หลุดโทษไปแค่ ๖ เพราะตำรวจหมดปัญญาที่จะหาเนื้อความมาให้พยานเท็จปรักปรำในศาลได้
ในจำนวนผู้ถูกประหารชีวิต ๑๘ คน ยังไม่รวมผู้ถูกจับตาย ๓ คน ในวันดีเดย์ที่ตำรวจระดมพลจับผู้ต้องสงสัยทั้งมวล พันตรีหลวงราญรณกาจเป็นหนึ่งในนั้น ความจริงความผิดของท่านที่ทำให้ต้องตายเป็นประเดิมก็คือ บังอาจคิดจะต่อต้านการปฏิวัติในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ เป็นเพื่อนทหารร่วมรุ่นกับพระยาทรงสุรเดช
ในเรื่องที่แล้วผมเล่า ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกในเวลาต่อมากล่าวว่า
“หลวงราญกลับออกมาก็เดินรี่เข้าหาหลวงจุล แล้วกระตุกปืนจากเอวออกมาจ่อจะยิง ตำรวจคนหนึ่งเห็นเข้าก่อน จึงปัดปืนให้ออกจากทาง และร้องเตือนให้หลวงจุลทราบ ปืนสั้นของหลวงราญได้ลั่นกระสุนออกไป ๓ นัด ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสองคนได้แก่ ส.ต.ต.สด ศรีสุขภู่ และ ส.ต.ต.วิชิต แสงศรี เกิดชุลมุนกันอยู่นั้น ตำรวจที่เหลือจึงยิงตอบโต้ ๕ นัดซ้อน ถูกหลวงราญถึงแก่ความตาย”
แต่ญาติพี่น้องสกุลวินิจฉัยกุลของหลวงราญรณกาจเขียนไว้ เป็นคนละเรื่องเดียวกันว่า พอเดินเข้าไปในห้องแล้ว ตำรวจก็เปลี่ยนใจ เดินตามเข้าไป แล้วยิงหลวงราญตายขณะกำลังแต่งตัวอยู่ ต่อหน้าลูกและเมีย
ตามหลักฐานในเอกสารปฐมภูมิที่พบใหม่นี้ สันติบาลชื่อร้อยตำรวจเอก ขุนสมัครพลกิจ คือผู้ยิงหลวงราญทางด้านหลังด้วยปืนกลมือ ในขณะที่หลวงราญกำลังเดินไปเข้าห้องนอน หลังจากขอไปแต่งตัวให้เรียบร้อยเพื่อที่จะไปกับตำรวจตามหมายจับ รูกระสุนนับได้ ๑๔ นัด แล้วตำรวจก็โยนปืนพกให้ศพ ๑ กระบอก เพื่อสร้างหลักฐานเท็จว่าผู้ต้องหาพยายามใช้อาวุธต่อสู้
ต้นฉบับดังกล่าว