วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

พระมหากษัตริย์ที่แท้จริง(Un vrai Roi) แปลโดย ไกรฤกษ์ นานา

อ.ไกรฤกษ์ นานา ผู้แปลเรื่อง’พระมหากษัตริย์ที่แท้จริง(Un vrai Roi)’ที่หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเขียนถึงรัชกาลที่5 นำลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม บทความนี้ได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้และพระปรีชาสามารถที่ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้นำเอกราชที่แท้จริง

“นักการเมืองยุโรปคุยกันนักหนาว่ารู้จักคิงจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดี บางคนรู้ลึกขนาดว่า พระองค์มีชายาถึง ๘๐๐ คน บางคนก็ว่าพระองค์จะอภิเษกกับพระขนิษฐาเท่านั้น แต่ทว่าคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสก็ยื้อแย่งประเทศของพระองค์อย่างไม่เป็นผลเท่าไหร่ และก็ยังไม่มีใครฮุบประเทศนี้ได้จริงจังเสียที ขนาดส่งเรือรบเข้าไปถึงกลางใจเมืองหลวง แต่ด้วยกลการเมืองที่เดอะคิงใช้หลอกล่อพวกเรา เรือรบเหล่านั้นก็ต้องถอยทัพออกมาหมด พร้อมกับเงิน (ค่าไถ่) ที่พระองค์มอบให้เราเพียงหยิบมือ ช่างเป็นเรื่องประหลาดเหลือเชื่อ แทนที่เราจะตั้งหน้ารบกันจริงๆ เรากลับต้องตั้งต้นคืนดีกันเพราะการที่เราได้เขมรมาไว้ในครอบครอง ฝรั่งเศสก็กลายเป็นเพื่อนบ้านของสยามไปโดยปริยาย เราได้สมบัติจากนครวัดมาไว้เชยชมมากมายแล้วก็จริง แต่ก็ยังเอื้อมไปไม่ถึงตัวนครวัดที่เป็นต้นตอของสมบัติเหล่านั้น ทำให้เราดูคล้ายแมลงหวี่ยุ่งๆ ที่คอยสร้างความรำคาญให้วัว แต่ก็ทำอะไรวัวไม่ได้ และแล้วฝรั่งเศสก็สูญเสียจันทบูรไป ทุกครั้งที่มีการลงนามในกระดาษเราก็จะพูดว่ามันเป็นชัยชนะทางการทูตร่ำไป แต่ที่แท้แล้วเราไม่เคยชนะอะไรเลย ฝรั่งเศสต้องสูญเงินเท่าไหร่เพื่อแลกกับผืนแผ่นดินที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันเหล่านั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) เราทุ่มเงินหลายล้านฟรังก์เพื่อพัฒนาท่าเรือเมืองตราด ที่ทดแทนจันทบูรมาได้ โดยที่เราวาดฝันไว้ว่ามันจะกลายเป็นเมืองท่า Le Havre อันยิ่งใหญ่ แต่แล้วมันก็กลายเป็นภาพลวงตาทั้งเพ ดูตามแผนที่มันช่างเป็นทำเลสุดวิเศษ แต่ที่จริงต้องใช้เวลาเดินเท้าเป็นวันๆ กว่าจะเข้าไปถึงมัน

ผู้ชนะที่แท้จริงน่าจะเป็นเดอะคิง พระองค์สามารถทำให้เราถอยออกไปได้แบบถอนรากถอนโคน การสิ้นสุดอำนาจของฝรั่งเศสในดินแดนของพระองค์ไม่ใช่เหตุบังเอิญ พระองค์รายล้อมไปด้วยพันธมิตรที่ไม่น้อยหน้าใครในยุโรป คือปรินซ์วัลเดอมาร์ ผู้มีพระชายาเป็นเจ้าหญิงชาวฝรั่งเศส คือปรินเซสมารี ปรินซ์วัลเดอมาร์ เป็นพระเชษฐาของจักรพรรดินีมารียา ฟีโยโดรอฟนา (เจ้าฟ้าหญิงดัคมาร์แห่งเดนมาร์ก) ของรัสเซีย ทำให้เดาได้ไม่ยากนักว่าใครคือผู้ปกป้องราชอาณาจักรเล็กๆ นี้ มันเป็นความกดดันสำหรับฝรั่งเศสในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ (เรื่องคืนเขมรส่วนใน-ผู้เขียน) ซึ่งถึงแม้ฝรั่งเศสจะเดินหน้าไปก่อน แต่แท้ที่จริงกลับเป็นเดนมาร์กที่แซงหน้าเราขึ้นไป เห็นได้ชัดจากผลประโยชน์ของชาวเดนมาร์กจำนวนมหาศาลที่ฝังรากอยู่ได้อย่างมั่นคง ในธุรกิจเหมืองแร่ การเดินเรือ สัมปทานรถรางไฟฟ้า และอื่นๆ ในขณะที่มีชาวฝรั่งเศสเพียง ๑ คน รับราชการอยู่ในราชสำนักสยาม (หมายถึง นายชอร์ช ปาดูซ์ ที่ปรึกษากฎหมายชาวฝรั่งเศส-ผู้เขียน) สยามก็ว่าจ้าง ๘๗ อังกฤษ, ๕๐ เยอรมัน, ๓๘ เดนมาร์ก, ๘ เบลเยียม, ๗ อิตาเลียน และที่เหลือเป็นชาวญี่ปุ่น อย่างนี้หรือที่เรียกชัยชนะทางการเมืองของฝรั่งเศส?

ขณะนี้ฝรั่งเศสกำลังถอยหลังมาอยู่ที่จุดศูนย์ เราได้แต่ความเกลียดชังในขณะที่ชาวเดนมาร์กได้หน้า พวกเราหมดสิ้นแล้วในสยาม ถ้าจะมีอะไรเหลืออยู่คงเป็นเจ้าหญิงมารี ออเล-อง เท่านั้น ที่จะช่วยผลักดันทางอ้อมให้สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นจริงขึ้นมา การที่จะได้เขมรส่วนในกลับมาเป็นของเราเท่ากับเรียกขวัญกำลังใจทั้งหมดที่ฝรั่งเศสทุ่มเทลงไปในเขมรคืนมาด้วย

คิงจุฬาลงกรณ์ได้ทรงกระทำทุกอย่างเพื่อปกป้องประชาชนของพระองค์ การยอมเสียสละแผ่นดินเขมรที่เหลืออยู่ ๔๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และประชากร ๒๘๐,๐๐๐ คน ทำให้พระองค์เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในลุ่มแม่น้ำ (เจ้าพระยา) อันกว้างใหญ่ ม.ปิชอง และ ม.ดูตัสตาร์ อธิบายว่ามันอาจจะเป็นภารกิจขั้นตอนสุดท้ายที่เราทำได้ แต่ความสำเร็จก็อาจจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าหญิงมารีจะไม่ใช้อิทธิพลของเธอกับพระเจ้ากรุงสยาม ผลที่สุดสยามก็พบเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของชาวสยาม คิงจุฬาลงกรณ์ที่จะกลับมาเยือนยุโรปอีกครั้งกำลังเสด็จมาในนามของผู้นำที่เป็นเอกราชจริงๆ” (๑๖)