วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย

พระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไทย

พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพเป็นราชประเพณีที่มีความสำคัญ อย่างยิ่งเพราะเป็นการเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดต่อพระมหากษัตริย์ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพที่อวตารลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข และเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์เมื่อสวรรคต แบบแผนพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน มีที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างตามยุคสมัย หรือตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์

ปกติแล้ว พระราชพิธีพระบรมศพจะจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ใช้เวลาเตรียมการนานหลายเดือน มีรายละเอียดซับซ้อนและประกอบด้วยหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การสรงน้ำพระบรมศพ (การอาบน้ำศพ) การสุกำพระบรมศพ (การห่อและมัดตราสังข์)และการอัญเชิญพระบรมศพสู่พระบรมโกศ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นพิธีที่เป็นการภายในเท่านั้น ปัจจุบันสถานที่ประกอบพิธีข้างต้นคือ พระที่นั่งพิมานรัตยา ภายในพระบรมมหาราชวัง อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งงานพระบรมศพพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีประชาชนจำนวนมากต้องการถวายน้ำสรงเพื่อแสดงความรักความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนสามารถถวายน้ำสรงพระบรมศพที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังได้เป็นครั้งแรก และยังสืบต่อมาจนถึงครั้งปัจจุบัน

(งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ต่อไปจึงอัญเชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดลภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล โดยพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำทุกวัน จนครบ ๑๐๐ วัน แต่ละวันมีการสวดพระอภิธรรมโดยพระพิธีธรรม ด้วยทำนองสวดเฉพาะที่เรียกว่า ทำนองหลวง นอกจากนี้ พบว่ามีการทำพิธีกงเต็กหลวงเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ดวงพระวิญญาณพระมหากษัตริย์ แม้ว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่พิธีนี้ยังคงปฏิบัติต่อมาถึงปัจจุบัน

ในอดีตเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต มีธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติ เช่น การโกนผมไว้ทุกข์  นางร้องไห้ และธรรมเนียมการแต่งกายไว้ทุกข์ในอดีตที่มีการใช้สีขาว ดำ และน้ำเงิน เพื่อบ่งบอกสถานะของผู้มาร่วมงานกับผู้เสียชีวิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกไป

ขั้นตอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการจัดงานพระบรมศพ คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรืองานออกพระเมรุขั้นตอนนี้จะเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง และเครื่องประกอบอื่นๆ เช่น พระโกศไม้จันทน์ เครื่องฟืนไม้จันทน์ พระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ และผอบบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลการสร้างพระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงจะแตกต่างกันตามยุคสมัย เป็นงานสร้างสรรค์ตามแรงบันดาลใจของช่างโดยยึดคติโบราณที่สืบทอดกันมาเป็นแบบแผน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึง ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑ – ๔) นิยมสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่โตเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย พระเมรุมาศหรือพระเมรุใหญ่ ครอบด้านนอก และพระเมรุทองหรือพระเมรุน้อย อยู่ด้านใน สำหรับพระเมรุมาศที่ทำสถิติสูงที่สุด ได้แก่ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดารสมัยอยุธยาว่า

(พระเมรุมาศใหญ่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔)

ขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา (๑๔ เมตร) ๒ ศอก (๑ เมตร) โดยสูง ๒ เส้น (๘๐ เมตร) ๑๑ วาศอกคืบ (๒๓ เมตร) มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้นประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่าง  สรรพด้วยพระเมรุทิศ พระเมรุราย แลสามสร้าง”  (หมายเหตุ : ๑ วา เท่ากับ ๒ เมตร)

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งว่า

 ต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคน และเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ ว่าผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใดจึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร  ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป

(พระเมรุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การปรับลดขนาดพระเมรุมาศในพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ ๕ ในครั้งนี้ กลายเป็นแบบแผนของงานออกพระเมรุมาศที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระเมรุมาศจขนาดเล็กลงคงเหลือแต่พระเมรุน้อยเท่านั้น และเป็นไปโดยประหยัด แต่ยังคงไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีและสมพระเกียรติตามพระราชอิสริยยศของพระบรมศพ

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ราชรถและราชยานต่างๆ ที่ต้องใช้ในริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ จะได้รับการบูรณะและตกแต่งให้พร้อมสำหรับอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ โรงเก็บราชรถในพระราชวังถูกไฟไหม้จนหมด และยังไม่มีการสร้างใหม่เพื่อใช้ในการพระเมรุ ดังนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดฯให้สร้างราชรถขึ้นมา ๗ องค์ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ.๒๓๓๙ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ (รถที่นั่งรอง) ราชรถน้อยทั้ง ๓ และราชรถเชิญเครื่องหอม ๒ (ไม่พบในปัจจุบัน)

(งานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ขั้นตอนต่อไปหลังจากสร้างพระเมรุมาศแล้วเสร็จ คือ การอัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศโดยริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ จากนั้นเป็นการถวายพระเพลิงพระบรมศพในช่วงเย็น และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวังในวันรุ่งขึ้น