ภาณุมาศ ทักษณา เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2015
ผมนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คนกลุ่มหนึ่งต่างชื่นชมยินดีว่าเป็นเรื่องนี้งาม
ขณะที่คนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย เห็นว่าเป็นเรื่องเลวทรามที่คณะราษฎรทำขึ้นมา 2 ตอนแล้ว
และวันนี้ก็มีนำเสนออีก เพราะเห็นการณ์นี้มีอีกหลายมุมที่คนรุ่นใหม่ที่ “ชอบตามแห่” ตามกระแส..
อาจจะยังไม่ทราบว่า ปรีดี พนมยงค์ นั้น หาใช่ผู้วิเศษเลิศเลอไม่ แต่เป็นผู้ฝักใฝ่คอมมูนิสต์รุ่นแรก ๆ ทีเดียว
ผมไม่ใช่ผู้กล่าวหานะครับ แต่ผู้ที่ชี้ชัดในเรื่องนี้คือ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี “ผู้สมรู้ร่วมคิดคนแรก”
ในการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับ ปรีดี พนมยงค์ ต่างหากครับ ที่ระบุอย่างนั้น
ในหนังสือ 100 ปี พระยาพหลฯ หน้า 73 พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ย้อนอดีตความเป็นมาก่อนที่จะมี คณะราษฎร ว่า
“ปฎิสนธิการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้กำเนิดขึ้น ณ กรุงปารีส
โดยนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐมนูธรรม) กับข้าพเจ้าสองคนได้เริ่มก่อหวอด
ร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงเป็นคู่แรกแล้วจึงได้ชักชวนเพื่อนร่วมใจมาได้ 7 ท่าน
รวมทั้ง ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลยสงคราม)เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน
มาประชุมกันเป็นครั้งแรกที่บ้านพักของข้าพเจ้า ที่ 9 Rue Dusommerad เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467
ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ริเริ่มมาตั้งแต่ต้น จึงรู้สึกเป็นหน้าที่ที่ควรจะเขียนบทความเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
เพื่อเป็นการแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเหตุผล ความมุ่งหมาย และการดำเนินการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ผลสำเร็จ ตลอดจนความผิดพลาดทั้งหลายอันเป็นพฤติการณ์ที่จะเป็นแนวทางเสริมสร้างความก้าวหน้า
และเป็นบทเรียนที่จะแก้ไขมิให้มีการกระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งจะเป็นการถ่วงความเจริญของประเทศชาติ
มิให้ล้มลุกคลุกคลานตั้งตัวไม่ติดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
นอกจากนี้จะเป็นการวางรากฐานระบบประชาธิปไตยให้มั่นคง เพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ
และเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพและความผาสุกของประชาชนเป็นที่สุด…” นั่นคือ คำปรารภของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี
ที่หากเปรียบเทียบกับบันทึกของ ปรีดี พนมยงค์ จะเห็นข้อแตกต่างเกี่ยวกับที่ประชุมซึ่ง พล.ท.ประยูร ระบุว่าเป็นบ้านพักของตน
แต่ ปรีดี กลับเรียกว่าหอพักที่เช่าห้องใหญ่ไว้ประชุม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะพูดถึงในวันนี้ครับ
หลังจากปรารภแล้ว พล.ท.ประยูร ก็แยกเล่าเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ เริ่มจาก กำเนิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากความรู้สึกคับข้องใจในสภาพของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ตัวเองไปสัมผัสมา
ตามด้วยความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงที่ระบุชัดข้อหนึ่งคือ
มีกติกาเป็นเอกฉันท์ที่จะเทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ ถือหลักตามประเทศอังกฤษ – แต่ในทางปฏิบัติหาเป็นเช่นนั้นไม่
ไปจนถึงการดำเนินการยึดอำนาจที่กำหนดไว้ 3 ประการคือ การหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการยึดอำนาจ
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมคณะ และ การหาทุนที่จะใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ตรงนี้แหละครับ ที่ พล.ท.ประยูร ชี้ให้เห็นว่า ปรีดี พนมยงค์ ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมูนิสต์ – ท่านเขียนเอาไว้ ดังนี้ครับ…
“ในประการแรก เรื่องการค้นหาความรู้ ได้ไปค้นหนังสือตามร้านขายหนังสือที่สำคัญ ๆ และห้องสมุดหลายแห่ง
ซึ่งมีบทความเกี่ยวกับการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองดังเช่นหนังสือ เคมาล ปาชา
ข้อสังเกตที่เกี่ยวกับการหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการให้ความคิดในการเนินการยึดอำนาจการปกครองนั้น การค้นหาความรู้ไปได้ไม่เท่าไหร่
คุณหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) ก็ได้ก่อกรรมวิบากขึ้นในการพาข้าพเจ้าเข้าไปในข่ายคอมมูนิสต์ คือหนังสือพิมพ์คอมมูนิสต์ ห้องสมุดคอมมูนิสต์และที่ประชุมคอมมูนิสต์
ซึ่งไม่นานนักตำรวจฝรั่งเศสก็เริ่มสนใจติดตามและรายงานพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราไปยังสถานทูตไทยในกรุงปารีสทราบ เป็นเรื่องที่โวยวายและหมายหัวไว้
ข้าพเจ้าได้ต่อว่าคาดคั้นหลวงประดิษฐ์ไว้ว่า ยังไม่ทันคิดการใหญ่ได้กี่วันก็ถูกตำรวจและถูกทางการเพ่งเล็งเสียแล้ว
ขอให้ยุติเรื่องการดำเนินการติดต่อกับองค์การคอมมูนิสต์โดยเด็ดขาด”
ผลจากการกระทำดังกล่าว ปรีดีก็ถูกส่งตัวกลับ
แต่ ปรีดีได้ทูลเกล้าฯถวายฏีกาของพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้รอไว้จนเสร็จการสอบไล่เป็นดอกเตอร์อังครัวท์ รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต
ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ (แต่แทนที่ ปรีดี จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและสำนึกในความเป็นคนไทยแล้วกลับใจเสียใหม่ แต่เปล่าเลย) – พล.ท.ประยูร บันทึกต่อไปว่า
“เมื่อหลวงประดิษฐ์ เดินทางกลับพระนคร ได้ขนเอาตำราลัทธิคอมมูนิสต์เป็นจำนวนมากไปด้วย
คุณหลวงสิริราชไมตรีผู้ร่วมคิดแต่แรกเริ่มได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ
จึงได้โทรเลขไปถึงหลวงประดิษฐในเรือเดินสมุทรที่เมืองโคลัมโบความว่า
ให้ส่งหนังสือศรีอารยะ ซึ่ง พล.ท.ประยูร อธิบายไว้ว่าเป็น ศรีอารยะ คือคำที่หลวงประดิษฐ ใช้แทนคอมมูนิสต์
ต่อมาเดือนเศษก็มีรถแวนนำหนังสือคอมมูนิสต์กองใหญ่มาส่งไว้ที่หน้าประตูบ้านพักข้าพเจ้าพร้อมทั้งมีหมายของตำรวจแจ้งว่า
ข้าพเจ้าเป็นบุคคลไม่พี่ปรารถนา ให้ออกนอกประเทศโดยพลัน ข้าพเจ้าจึงต้องออกไปอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลายเดือน
นั่นคือ บันทึกของคนที่เป็น “คู่หู” คู่แรกที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกเพื่อนอีกคนหนึ่งทำให้ได้รับความเดือดร้อน
เบื้องหลังการปล้นพระราชอำนาจล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ยังมีอีกหลายเรื่อง
แต่ผมจะพยายามนำเสนอบางช่วงที่คิดว่า คนไทยทั้งเก่าและใหม่ควรรับทราบว่าบางคนที่ถูกเชิดนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรครับ !