วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ฟองสบู่กับความโลภ (ตอนที่ 1)

ฟองสบู่กับความโลภ (ตอนที่ 1)

โดย นีโอ

นีโอมีข้อสังเกตว่าทุกๆวิกฤติเศรษฐกิจมักจะมีจุดเริ่มที่คล้ายๆกันคือ การเก็งกำไรและไล่ราคาในสินทรัพย์ตัวใดเป็นวงกว้าง  โดยสินทรัพย์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ขอเพียงให้มวลมหาประชาชนแห่กันเข้ามาเก็งกำไรก็เข้าเกณฑ์ใช้ได้  จริงๆธรรมชาติของการเก็งกำไรมันก็อยู่ในสายเลือดเรากันทุกคนนั่นแหล่ะ  มีใครจะไม่อยากได้เงินมาง่ายๆอยากรวยเร็วๆบางหล่ะ

วันนี้จะขอยกคลาสสิคเคสของการเก็งกำไรมาเล่าให้ฟัง  เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบสี่ร้อยปีก่อนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์  ถ้าพูดถึงประเทศนี้เราคงนึกถึงดอกทิวลิปอันเป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวดัทช์กันดี  จริงๆแล้วดอกทิวลิปนี่มีการนำเข้ามาจากประเทศตุรกีในปี ค.ศ. 1593 ด้วยความสวยงามแปลกตาดอกทิวลิปจึงกลายเป็นของเล่นราคาแพงที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง  ต่อมาดอกทิวลิปมีการติดไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดสีผสมจากเดิมที่ดอกทิวลิปมีเพียงแค่สีเดียว  จึงยิ่งทำให้ดอกทิวลิปชนิดนี้กลายเป็นของหายากเป็นที่ต้องการของชาวดัทช์มาก  และแน่นอนที่สุดเมื่อของหายากและมีความต้องการซื้อมากกว่าของที่มีอยู่จริง (Demand มากกว่า Supply) คนจำนวนมากตั้งแต่ชนชั้นสูงไปจนถึง พ่อค้า ช่างฝีมือ ชาวนา ชาวไร่ จึงเข้ามาเก็งกำไรจากกระแสคลั่งดอกทิวลิปเพราะความโลภหวังรวยง่ายรวยเร็ว  ในช่วงที่พีคสุดราคาเพิ่มขึ้นสูงถึง 20 เท่าในช่วงเวลาแค่เดือนเดียว!  เรียกว่ามีบ้านต้องขายบ้านมีรถต้องขายรถมาซื้อดอกทิวลิปกันเลยล่ะ  (สถานะการณ์คล้ายๆหุ้นสื่อสารตัวหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อนเลย ขาหุ้นคงเดาได้ว่านีโอหมายถึงหุ้นตัวไหน)

สภาวะเก็งกำไรขึ้นจุดสูงสุดในปี 1634-1637  เมื่อความคลั่งไคล้ดอกทิวลิปแพร่กระจายไปสู่ชาวดัทช์ทุกชนชั้น  เมื่อการเก็งกำไรไม่ได้เป็นการซื้อขายจริงแต่เป็นการซื้อขายสํญญาล่วงหน้าหรือ Future Contract   (อืม…คนสมัยโบราณเขาก็เก็งกำไรด้วยสัญญาล่วงหน้ามาหลายร้อยปีกันแล้วนะ)  คราวนี้ก็เริ่มมีคนบางคนเห็นว่ามีการเก็งกำไรกันจนเกินปัจจัยพื้นฐานมากไปแล้ว (นีโอขอยืมศัพท์เทคนิคยุคนี้มาใช้หน่อยเพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นภาพยิ่งขึ้น)  จึงเริ่มมีการขายทำกำไร  พอถึงจุดหนึ่ง จึงเกิดแรงขายตามกันทำให้ราคาเริ่มตก  พอราคาเริ่มตกคนก็เริ่มเกิดความกลัวจึงเกิดการ Panic Sell หรือการขายที่เกิดจากความกลัวในทุกราคา  จึงทำให้ราคาลดลงมาเหลือเพียง 10% จากราคาที่ระบุในสัญญาล่วงหน้า  คราวนี้กลายเป็นว่าไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของดอกทิวลิปหรืออยากซื้อสัญญาล่วงหน้ากันแล้ว  ทุกคนอยากขายออกๆ กลายเป็น Supply มากกว่า Demand แต่ไม่มีใครอยากซื้อ!  จึงเกิดปรากฎการณ์ชักดาบกันเป็นวงกว้าง (ไม่ยอมซื้อ-ขายตามตามราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาล่วงหน้า) เรียกได้ว่าแทบไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากฟองสบู่ดอกทิวลิปแตกในคราวนั้น  และเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ก็เข้าสู่สภาวะถดถอยไปหลายปี

บทเรียนจากวิกฤติฟองสบู่ดอกทิวลิปทำให้เรารู้ว่า  ดอกไม้มีไว้สำหรับชื่นชมไม่ใช่มีไว้เก็งกำไร (ฮาๆๆๆ)

thailibertard_2016_12_08thailibertard_2016_12_08a

มาถึงตรงนี้  นีโอเชื่อว่าผู้อ่านคงแอบคิดในใจว่าฝรั่งนี่มันไม่ค่อยจะฉลาดเลยนะ  จะเก็งกำไรอะไรกันนักหนากับแค่ดอกไม้นั่นน่ะ  แต่…พี่ไทยคงลืมไปว่าเมื่อไม่นานมานี้เราเองก็เคยมีกระแส “จตุคามฟีเวอร์”  ในปีพ.ศ. 2549-2550  ซึ่งมีการขายจตุคามรามเทพรุ่นแรกที่ราคาสูงถึง 40 ล้านบาท! จากเดิมที่มีราคาเพียง 49 บาทเท่านั้น  ในช่วงที่พีคสุด 24 แคตตาล้อกของ 7-11 ยังมีจตุคามขาย!  (ตอนนั้นนีโอแอบคิดว่าถ้า 7-11 ทำขายกันเป็นอุตสาหกรรมนี่มันคงใกล้ขาลงเต็มทีแล้ว)  และจริงที่สุด…หลังจากนั้นกระแส “จตุคามฟีเวอร์” ก็ค่อยๆจางหายไปจากความทรงจำของคนไทย  ถึงแม้ฟองสบู่ “จตุคามฟีเวอร์” ไม่ได้ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงแบบฟองสบู่ “ดอกทิวลิป” และแม้ไม่มีการทำสถิติว่าคนเจ๊งจากฟองสบู่ “จตุคามฟีเวอร์” กันมากแค่ไหน  แต่นีโอเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่อาจจะหมดตัวหรือเป็นหนี้เป็นสินจากการเก็งกำไรครั้งนี้

บทเรียนจากฟองสบู่ “จตุคามฟีเวอร์” ทำให้เรารู้ว่า  วัตถุมงคลมีไว้เป็นที่พึ่งทางใจไม่ใช่เอาไว้ค้ากำไร  (ขำๆนะอย่าซีเรียส)

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากฟองสบู่ทั้งสองเหตุการณ์

  • การเก็งกำไรที่เกินจริงในสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมเก็งกำไรจำนวนมาก  ฟองสบู่ก็จะยิ่งโตขึ้นๆจนเมื่อราคาไม่สามารถขยับขึ้นไปอีก  ฟองสบู่ก็จะแตกอย่างรวดเร็ว  และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้าง
  • เมื่อคนเห็นช่องทางการรวยเร็วจึงทำให้มีผู้โดดเข้าเก็งกำไรจำนวนมาก จึงทำให้ราคาสูงกว่าความต้องการจริง  จนกระทั่งจุดหนึ่งกฎธรรมชาติของ Demand และ Supply จะทำหน้าที่  ราคาจะต้องถูกปรับมาที่มูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นเสมอ
  • ความโลภของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด  ไม่ว่าเราจะผ่านฟองสบู่และวิกฤติการณ์เศรษฐกิจมากี่ครั้งก็ตาม  เราก็ยังคงไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเรายังจะมีวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นได้อีกเสมอ  แต่อาจมาในรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ในครั้งต่อไป นีโอจะพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งหลังๆในประวัติศาสตร์และจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าโลกที่เราอยู่ตอนนี้มันเปราะบางเพียงไร  และคนไทยควรตระหนักรู้และเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรบ้าง

http://www.investopedia.com/features/crashes/crashes2.asp

https://tulipcrisis.wordpress.com//tag/ฟองสบู่ทิวลิป/

https://th.wikipedia.org/wiki/จตุคามรามเทพ