วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ยุคคณะราษฎร “เพียงคิดต่างก็ติดโทษตายในคุกนรกกลางทะเล” รำลึกตึกแดงในเรือนจำตะรุเตา

ผู้เรียบเรียง พิสิษฐิกุล แก้วงาม

“นักโทษการเมือง”

โดยทั่วไปแล้วความผิดทางการเมืองนั้นไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใด นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดในทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย อย่างไรเสียในสภาวการณ์ที่เป็นจริงปรากฏว่านักโทษการเมืองนั้นเป็นคำที่มีใช้ และมีบุคคลที่ถูกเรียกว่าเป็นนักโทษการเมืองอยู่จริง ในกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิ มาตรา 9 พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 กล่าวว่า

“รัฐบาลไทยอาจพิจารณาส่งบุคคลข้ามแดน เพื่อการฟ้องร้องหรือรับโทษตามคำพิพากษาของศาลในความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจดำเนินคดีของประเทศผู้ร้องขอให้แก่ประเทศนั้น ๆ ตามคำร้องขอได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไทย หรือมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร

(2) กรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เมื่อประเทศผู้ร้องขอได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทยในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง ไม่หมายความรวมถึงความผิดดังต่อไปนี้

(ก) การปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท
(ข) การฆ่าประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือ สมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น
(ค) การกระทำความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

ความผิดทางทหาร หมายความว่า ความผิดอาญาทางทหารโดยเฉพาะและมิใช่ความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไป”

ในอดีตเกาะเต่าใช้เป็นที่คุมขังของนักโทษการเมือง รุ่นกบฏบวรเดช หลายคนถูกย้ายจากเกาะตะรุเตามาเกาะเต่า ด้วยเหตุผลว่านี่คือเกาะกลางทะเลอ่าวไทยที่ตั้งโดดเดี่ยว มีน้ำทะเลกว้างไกลเป็นรั้วกั้นกักกันอิสรภาพ พ.ศ.2476 ประวัติศาสตร์ของเกาะเต่าถูกบันทึกไว้ว่าเกาะเต่าคือเกาะแห่งความโหดร้ายเพราะใช้เป็นที่คุมขังของนักโทษการเมืองครั้งเมื่อเกิดสงครามแปซิฟิกขึ้น ทางรัฐบาลกลัวว่าอังกฤษจะมาชิงตัวนักโทษการเมืองไปจากเกาะตะรุเตา เพราะที่ตั้งเกาะตะรุเตาอยู่ชายแดนฝั่งมหาสมุทรอินเดียจึงย้ายนักโทษคดีการเมือง จากเกาะตะรุเตามาที่เกาะเต่า นักโทษทุกคนจะถูกตีตรวน ส่งขึ้นโบกี้รถไฟจากสถานีรถไฟกันตังตอนเช้าไปถึงสถานีท่าข้ามจังหวัดสุราษฏร์ธานีในตอนเย็น และจากสถานีท่าข้ามก็ลงเรือไปยังบ้านดอน เพื่อพักแรมที่คุกสุราษฏร์ธานี พักผ่อนกันไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องนำตัวไปลงเรือเชวงศักดิ์สงครามผ่านเกาะสมุย เกาะพะงัน มุ่งต่อไปเกาะเต่า

ช่วงเดือนแรกที่นักโทษการเมืองไปถึง ขาดแคลนแหล่งน้ำมากเพราะถังน้ำใหญ่จุ 3,000 แกลลอนได้พังทลายลง พัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการเกาะปฏิบัติต่อนักโทษดี เพราะถือว่าเป็นนักโทษการเมือง จึงอนุญาตให้ไปตกปลาหาพืชผักมาป็นอาหารได้ แต่กักกันเฉพาะในตอนกลางคืน อีกไม่นานอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้สั่งย้ายโดยเห็นว่าปล่อยปละละเลยนักโทษการเมืองมากไป พัศดีคนใหม่มาแทน นักโทษกลุ่มนี้ถูกคุมขังตลอด ห้ามหาผัก ตกปลา ส่งผลให้นักโทษอดอยากและเป็นไข้ นักโทษการเมืองแทบทุกคนเป็นไข้จับสั่น ยิ่งไปกว่านั้นนักโทษการเมืองยังถูกเกณฑ์ให้ไปทำงานในป่าเยี่ยงกรรมกร โดยแบ่งออกเป็นหมู่ๆละ 5 ถึง 6 คน งานที่ทำคือ ถางป่า โค่นต้นไม้ ทำถนน ฯลฯ

มีการสันนิษฐานกันว่า อันที่จริงแล้วโทษของนักโทษการเมืองนั้น ทางการตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษในวาระพิเศษต่างๆ เหลือโทษอีกเพียงสองปีเศษๆ ซึ่งหากพ้นโทษมีชีวิตรอดกลับไปได้ อาจเป็นเสี้ยนหนามรัฐบาลจึงหาเหตุให้ตายที่เกาะเต่าด้วยการทำงานหนัก ขณะที่เป็นไข้จับสั่น ยามีน้อย อดอยากอาหาร แต่ละคนจบสิ้นชีวิตลงต่อหน้าเพื่อนนักโทษ โชคดีที่ท่านสอ เสถบุตร ท่านใช้วิธีหากเป็นไข้จับสั่นแล้วรีบกินยาคราวละมากๆให้หาย ซึ่งก็คือยาแอตตาบรินและควินิน จนท้ายที่สุดก่อนฤดูมรสุมจะมาถึงในปี พ.ศ.2487 ฝนเริ่มตกหนัก ไข้จับสั่นก็กำเริบหนัก ยาที่มีเล็กน้อยก็เกือบจะไม่มีรักษา เสื้อผ้าขาด ต่างก็พากันจดหมายด่วนฝากถึงญาติพี่น้อง ขอให้ส่งยาควินินน้ำ ยาฉีดควินิน แอตตาบริน รอให้ทันเรือเสบียงเที่ยวสุดท้ายก่อนที่เรือจะหยุดเดินทางในช่วงฤดูมรสุม

วันหนึ่งมีเครื่องบินมาบินเหนือเกาะ สร้างความสงสัยให้แก่นักโทษ จน 3 สัปดาห์ต่อมาจึงรู้ว่า นักบินผู้นั้นมาบอกให้รู้ว่านักโทษการเมืองได้รับการอภัยโทษ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะแพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาเรื่องการสร้างเมืองหลวงที่เพชรบูรณ์ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน คณะรัฐมนตรีใหม่ได้มีมติให้กราบบังคมทูลพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมืองในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 และคดีกบฏ พ.ศ. 2481 ปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2487

เกาะเต่าเป็นเกาะเล็กๆโดดเดี่ยวกลางอ่าวไทยห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่โดยรอบเป็นเกาะซึ่งเต่าตนุขึ้นไปวางไข่ และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลยดังนั้นเมื่อเกิดสงครามแปซิฟิกขึ้นรัฐบาลเกรงว่าอังกฤษอาจจะมาช่วงชิงตัวนักโทษการเมือง หนีไปจากเกาะตะรุเตา ซึ่งอยู่ชายแดนฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้จึงได้ตั้งงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับทำการหักร้างถางป่า สร้างเกาะเต่าเป็นสถานกักกันนักโทษการเมืองโดยเฉพาะนักโทษสามัญมีแต่พวกที่มาช่วยเจ้าหน้าที่เรือนจำทำงาน หุงต้มในครัวทำความสะอาดและรับใช้ครอบครัวพัศดี และเจ้าหน้าที่เรือนจำเท่านั้นโรงขังได้สร้างอย่างแน่นหนาอยู่ ภายในรั้วรอบขอบชิด ส่วนบ้านพักของผู้อำนวยการเกาะ เจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สร้างอย่างสวยงามทันสมัย มีถังเก็บน้ำใหญ่จุน้ำได้ ถึง 3,000 แกลลอน

แต่ขณะที่นักโทษการเมืองไปถึงนั้นปรากฏว่าถังน้ำใหญ่นี้ได้ พังทลายลงจนใช้การไม่ได้นั่นแสดงให้เห็นชัดว่าเกาะเต่าไม่มีแหล่งน้ำและนักโทษการเมืองจะต้องประสพกับปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทางการค่ายคุมขังได้ขุดบ่อเล็ก ๆ ขึ้นแทน เมื่อนักโทษการเมือง 54 คนต้องใช้น้ำพร้อมกันในเวลาจำกัด น้ำไหลซึมออกมาไม่พอที่จะใช้ได้ทั่วถึง นักโทษการเมืองจึงต้องซื้อน้ำอาบน้ำ กินด้วยราคาแพง ในระยะเดือนแรกที่ไปถึงที่นั่น พัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการเกาะได้ให้เกียรติ และปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองอย่างดีตามแบบฉบับที่ควรปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง คือ ในตอนกลางวันอนุญาตให้นักโทษการเมืองออกจากบริเวณรั้วท่องเที่ยว ไปตกปลาหาพืชผักเป็นอาหารได้โดยเสรี ในเวลากลางคืนจึงได้จำกัดให้นักโทษการเมืองอยู่ในบริเวณรั้วกั้น แต่เพียงชั่วเวลาไม่นาน การปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองดีเกินไปยังผลให้พัศดีเพี้ยนผู้นี้ต้องถูกสั่งย้ายจากเกาะเต่าโดยพันตำรวจเอกพระกล้ากลาง สมร(มงคล หงสไกร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้นเห็นว่า เป็นการปล่อยปละนักโทษการเมืองเกินไป ร้อยตรีพยอม เปรมเดชา ได้มาเป็นพัศดีแทน โดยมี จ่าผ่อน หนูรักษา เป็นผู้ช่วย ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง เขาก็สั่งกักขังนักโทษการเมืองไว้ในเรือนขังในเวลา กลางคืน และกักให้อยู่ในบริเวณรั้วในเวลากลางวัน นักโทษการเมืองจึงหมดโอกาสที่จะไปตกปลา หาหอย หาปู และพืชผักมาเป็นอาหาร จำต้องกินอาหารอันแร้นแค้น ละขาดคุณภาพซึ่งทางเรือนจำจัดหาให้ ร่างกายจึงขาด อาหารและผ่ายผอมอ่อนแอ จนไม่อาจต้านทานต่อเชื้อไข้จับสั่นที่เป็นมาแล้วจากเกาะตะรุเตา เมื่อได้รับเชื้อใหม่อันร้ายแรงของเกาะเต่าซึ่งเป็นที่ที่เพิ่งหักร้างถางพงใหม่ๆและฝนตกชื้นเสมอ นักโทษการเมืองจึงเป็น ไข้จับสั่นกันแทบทุกคน ความคับแค้นประการสำคัญที่สุดก็คือการติดต่อส่งข่าวคราวทางจดหมายกับญาติ เป็นไปด้วย ความลำบากอย่างยิ่ง เพราะเรือไม่มีเชื้อเพลิงทั้งเรือดำน้ำทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยุ่มย่ามมากขึ้น

เรือเสบียงจึงเดินทางมาเกาะเต่าเพียงเดือนละครั้งแต่มีน้อยครั้งที่จะมีจดหมายถึง นักโทษการเมืองทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็สุดจะเดาพัศดีพยอมได้ชี้แจงว่าจดหมายต่าง ๆ ที่ส่งไปถึงญาตินั้นจะต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่เรือนจำเสียก่อน อย่างไรก็ตามนักโทษการเมืองแทบจะไม่ได้รับจดหมายหรือข่าวคราวตอบจากญาติเลย นั่นหมายถึงการขาดแคลนเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค และที่ร้ายที่สุดคือการขาดแคลนยาที่จะใช้บำบัดรักษาโรค ทางการเรือนจำก็ไม่ยอมจ่ายยาหรือดูแลรักษาแต่ประการใด ข้าวของเงินทองที่ญาติส่งไปให้ ก็หายตกหล่นเสียเป็นส่วนใหญ่

เรือเสบียงจึงเดินทางมาเกาะเต่าเพียงเดือนละครั้งแต่มีน้อยครั้งที่จะมีจดหมายถึง นักโทษการเมืองทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็สุดจะเดาพัศดีพยอมได้ชี้แจงว่าจดหมายต่างๆที่ส่งไปถึงญาตินั้นจะต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่เรือนจำเสียก่อน อย่างไรก็ตามนักโทษการเมืองแทบจะไม่ได้รับจดหมายหรือข่าวคราวตอบจากญาติเลย นั่นหมายถึงการขาดแคลนเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค และที่ร้ายที่สุดคือการขาดแคลนยาที่จะใช้บำบัดรักษาโรคทางการเรือนจำก็ไม่ยอมจ่ายยาหรือดูแลรักษา แต่ประการใด ข้าวของเงินทองที่ญาติส่งไปให้ ก็หายตกหล่นเสียเป็นส่วนใหญ่

นักโทษการเมืองแทบไม่ได้รับเครื่องอุปโภคบริโภค และยาที่ทางบ้านส่งไปเลย มารดาของ สอเสถบุตร ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะส่งของไปให้บุตรชายแต่ของเหล่านั้นก็ไปไม่ถึงยาเท่าที่จะหาได้นั้นได้จากการต้องซื้อจากเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วยราคาแพงลิบลิ่ว ซึ่งยานั้นอาจเป็นยาซึ่งญาติของ นักโทษการเมืองนั่นเองที่ส่งไปให้

ต่อมาพระกล้ากลางสมร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้นักโทษการเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งหมด ทำงานกรรมกรเช่นเดียวกับนักโทษสามัญ ทั้งนี้เป็นการผิดกฎของเรือนจำที่ว่า นักโทษการเมือง ซึ่งถือกันว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมย่อมได้รับการยกเว้นมิให้ต้องทำงานกรรมกร หากให้ทำงานช่วยเจ้าหน้าที่ ควบคุมงาน หรือทำงานกี่ยวกับหนังสือ หรือการบัญชีเท่านั้น เบื้องหลังของคำสั่งนี้ก็คือ การทำงานกรรมกร จะทำให้นักโทษการเมืองได้มีโอกาสออกกำลังกาย อันเป็นการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บให้เบาบางลง ในการทำงาน กรรมกรนั้น นักโทษการเมืองได้ถูกเกณฑ์ให้ออกไปทำงานในป่า โดยแบ่งออกเป็นหมู่ๆ หมู่ละ 5 คนบ้าง 6 คนบ้าง งานที่ถูกกำหนดให้ทำนั้นมีทั้ง ทำถนน ถางป่า โค่นต้นไม้ ดายหญ้า ปราบที่สำหรับทำไร่ถั่ว และไร่มันสำปะหลังซึ่งผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้เป็นสมบัติของค่ายคุมขังทั้งสิ้น อันการกลั่นแกล้งให้นักโทษการเมืองต้องทำงานหนัก กรำแดดกรำฝนในขณะที่เป็นไข้จับสั่น ตลอดจน การตัดหนทางมิให้ญาติได้มีโอกาสส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคไปให้นักโทษการเมืองนั้น เป็นเสมือน คำสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองโดยแท้ เพราะการขาดแคลนเงิน อาหาร ยารักษาโรคในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อไข้จับสั่นอันร้ายแรงย่อมหมายถึงความตาย อันที่จริงแล้ว นักโทษการเมืองเท่าที่เหลืออยู่นี้ ล้วนเป็นผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อได้รับการลดหย่อนโทษในวาระพิเศษต่างๆประกอบกับเป็นผู้ ประพฤติตนดี โทษที่ได้รับจึงเหลือเวลาอีกเพียงสองปีเศษๆเท่านั้น ดังนั้นหากพวกนักโทษการเมืองรุ่นนี้ได้รับ การปลดปล่อยให้พ้นโทษ ก็อาจจะกลับมาเป็นเสี้ยนหนามของรัฐบาลขณะนั้นได้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะตัดไฟแต่ต้นลม ก็คือ กลั่นแกล้งและบีบคั้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้นักโทษการเมืองรุ่นนี้ ต้องมีอันเป็นไป จนสูญสิ้นชีวิตที่เกาะเต่า ด้วยพิษไข้จับสั่นและความอดอยาก

ผลของการออกไปกรำแดดกรำฝนทำงานหนักในป่า ในระหว่างฤดูฝนของปี 2486 นั้นเอง ทำให้นักโทษการเมืองซึ่งไม่เคยกับการทำงานหนัก ร่างกายขาดอาหารผ่ายผอมอ่อนแอ และมีเชื้อไข้จับสั่นอยู่แล้วได้รับเชื้อไข้ป่าหรือไข้จับสั่นอย่างร้ายแรงเข้าอีกจึงกำเริบหนัก และระบาดแพร่หลายไปอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ชีวิตของนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นไปถึงหกคน ในช่วงระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์ คนแรกที่ต้องสิ้นชีวิต บนเกาะเต่าด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง คือ ร้อยเอกหลวงจักรโยธิน (ม.ล.บุษ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ขณะที่ หลวงจักรโยธินไข้ขึ้นสูง ดิ้นทุรนทุรายพร่ำเพ้อเรียกหาแต่ลูกเมีย อาการหนักอยู่ในขั้นอันตราย พระยาจินดา จักรรัตน์ ได้บริจาคยาฉีดแอตตาบรินให้หนึ่งหลอด อาการก็ยังไม่ทุเลาลง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร จึงประทานยาแคมเฟอร์ให้อีกหนึ่งหลอดก็หาประโยชน์อะไรมิได้ ด้วยหลวงจักรฯได้สิ้นชีวิตลงในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาพระแสงสิทธิการติดตามหลวงจักรฯไปเป็นคนที่สองด้วยไข้จับสั่นอีกเช่นกัน ต่อมา อ่ำ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา “แม่น้ำโขง”ก็ได้จบชีวิตลงเป็นคนที่สามด้วยโรคท้องมานโรคนี้ได้ก่อความทุกข์ทรมานให้แก่อ่ำ บุญไทยอย่างยิ่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม นายแพทย์ซึ่งเป็นนักโทษต้องคดีฆ่าภรรยาตายได้เดินทางไปเกาะเต่าพร้อมกับเรือเชวงศักดิ์สงครามเพื่อทำการเจาะท้องให้ อ่ำ บุญไทยจนท้องยุบเป็นปกติ แต่เพียงระยะเวลาไม่กี่วันท้องของอ่ำกลับโตใหญ่ขึ้นอีกเมื่อไม่มีนายแพทย์เจาะท้องให้อ่ำจึงใช้ตะปูซึ่งฝน จนแหลมเจาะท้องของตนเองอีกหลายครั้งหลายหน จนในที่สุดเขาก็สิ้นสุดชีวิตและสิ้นความทรมานทั้งปวง

คนที่สี่ที่สิ้นชีวิตด้วยไข้จับสั่นในเวลาไล่เลี่ยกับอ่ำ บุญไทย ก็คือ สิบโทศาสตร์ คชกุล ศาสตร์เป็นคนตัวคนเดียว ไม่เคยมีญาติพี่น้อง หรือผู้หนึ่งผู้ใดส่งเสียเขา ตลอดเวลาที่เขาต้องโทษ ภรรยาของ เขาได้ทอดทิ้งเขาไปในทันที ที่เขาต้องถูกจำคุก สอ เสถบุตร ได้ให้ความอุปการะช่วยเหลือแก่ศาสตร์ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องเงิน เสื้อผ้า อาหารการกินและยา “ไทยน้อย” ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องค่ายคุมขังนักโทษการเมืองว่า “ความเป็นอยู่ของเราในค่าย ได้มีพื้นฐานอยู่ในคติที่ว่า ตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนเท่ากับลอยคออยู่ในห้วงมหาสมุทร อีเมตินเม็ดหนึ่งหรือควินินเม็ดหนึ่ง หมายถึง ชีวิต ในที่นี้เราน่าจะอนุโมทนาแก่น้ำใจอันงดงามของ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งช่วยทั้งยา เงินและอาหารแก่ ศาสตร์ เพื่อจะประคับประคองชีวิตของเขา ไว้จนสุดความสามารถ ตลอดจนเสื้อผ้าก็พยายามว่าจ้างคนซักฟอกให้ตามสมควร แต่ในที่สุด ศาสตร์ก็ต้อง จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ”สอ เสถบุตร เล่าว่าในสภาพแวดล้อมอันคับแค้น ซึ่งขาดทั้งยาและอาหารเช่นนั้นการให้ยาแก่เพื่อนซึ่ง กำลังจะตาย อาจหมายถึงความตายของตัวเองในเวลาต่อไปเมื่อหมดยา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ยากยิ่งระหว่างมนุษยธรรมกับสัญชาตญาณของการอยู่รอดนักโทษการเมืองทุกคนต้องระวังสุขภาพและใช้วิธีบำบัดรักษาโรคด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่เรือนจำมิได้ เหลียวแลหรือให้การบำบัดรักษาแต่อย่างใด ยาควินินแอตตาบริน หรืออิเมตินแต่ละเม็ดมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคนการมียาโดยจำกัดทำให้แต่ละคนใช้วิธีบำบัดรักษาตนเองด้วยวิธีต่างๆกัน บางคนแบ่งยากิน ทีละน้อยแต่กินเรื่อยๆจึงเกิดอาการชินกับยาและยาก็มีไม่มากพอที่จะบำบัด

โรคซึ่งเป็นอยู่อย่างร้ายแรงให้หายขาดได้ บางคนเวลาที่เป็นน้อยอยู่ ถนอมยาไว้ไม่ยอมกิน พอเป็นมากถึงขั้นเพ้อคลั่งยาก็เอาไว้ไม่อยู่ เช่นในราย ของพระแสงสิทธิการ เมื่อพระแสงฯสิ้นชีวิตลงนั้น มียาแอตตาบรินและควินิน ซ่อนอยู่ใต้หมอนและใต้ที่นอน เป็นจำนวนมาก ส่วนสอ เสถบุตร นั้นได้ใช้วิธีที่ว่า โดยปกติเขาจะไม่กินยาป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าโรคไข้จับสั่น กำเริบขึ้นเมื่อใด เขาก็รีบกินยาอย่างเต็มที่ เพื่อให้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ สอ เสถบุตร ทั้งที่ตัวเล็ก บอบบางจึงรอดชีวิตจากไข้จับสั่นของเกาะเต่ามาได้ในระหว่างที่ความตายกำลังคุกคามนักโทษการเมืองบนเกาะเต่าอยู่นั้น หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน์ และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่ในเรือนจำบางขวางในคดีพยายามก่อการกบฏ พ.ศ.2481 ถูกทางการรัฐบาลขณะนั้น เห็นว่าเป็นบุคคลประเภทหัวแข็ง ไม่เข็ดหลาบ อันจะเป็นเสี้ยนหนาม แก่รัฐบาลได้ ทางราชการจึงได้มีคำสั่งเนรเทศบุคคลทั้งสอง ให้มาร่วมความทุกข์ทรมานและความตายกับนักโทษการเมืองที่เกาะเต่า

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ อดีตนายทหารอากาศผู้นี้ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ได้เคยต้องโทษในคดี กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 มาแล้ว และได้รับการปลดปล่อยให้พ้นโทษไปในปี พ.ศ.2480 และต่อมา ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ก็ถูกจับกุมอีก ถูกฟ้องร้องและต้อง คำพิพากษาของศาลพิเศษให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีพยายามก่อการกบฏ พ.ศ. 2481 อันเป็นคดีเดียวกันกับร้อยโทเณร ตาละลักษณ์ และนักโทษการเมืองอีก 17 คน ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตในเรือนจำบางขวาง ภาพที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ประสพเมื่อแรกไปถึงเกาะเต่านั้น ทำให้เขา ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะมันเป็นภาพของเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จริง แทบทุกคนผอมจนมีแต่หนัง หุ้มกระดูก หน้าซีดเซียวแววตาแห้งแล้งอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้าตัวสั่นสะท้าน บางคนก็ดิ้นทุรนทุราย ผ้าผ่อนหลุดรุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนโวยวายด้วยพิษไข้ขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปื้อนเปรอะบริเวณที่นอนอยู่ บางคนก็นั่งซึมดวงตาเหม่อลอย บางคนก็นอนขดห่มผ้าตัวสั่นราวกับลูกนก ผู้มาใหม่ทั้งสองสำนึกทันทีว่า ตนถูกส่งเข้ามาอยู่ในแดนแห่งความตายร่วมกับนักโทษการเมืองในคดีกบฏ พ.ศ.2476

 

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์เองในเวลาต่อมาก็เกือบจะสูญสิ้นชีวิตด้วยพิษไข้ขึ้นสมองถ้าหากมิได้รับพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงจากหม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร พระองค์ท่านได้ทรงเสียสละอย่างยิ่งโดยประทานยาฉีดซึ่งมีเหลืออยู่เพียงสองสามหลอดสุดท้ายของพระองค์เพื่อช่วยชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคลไว้ต่อมาไม่นาน หลวงโจมพลล้าน อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเพชรบุรีผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีก็มีอาการเพียบหนักเขาพร่ำเพ้อดิ้นทุรนทุรายด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง และเฝ้าแต่พร่ำรำพันเรียกหาลูกเมียตลอดเวลาจนสิ้นใจไปในตอนพลบค่ำวันหนึ่ง หลังจากนั้นไม่กี่วัน เผื่อน ปุณฑนิก ก็ตายลงโดยกะทันหันเป็น คนที่หก

การที่เพื่อนนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นชีวิตไปถึงหกคนในชั่วระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์ทำลายขวัญนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่อย่างยิ่ง เมื่อถึงที่สุดแห่งความคับแค้น คนบางคนก็ทิ้งศักดิ์ศรีของตน ลืมยศถาบรรดาศักดิ์ และเกียรติยศหมดสิ้น เผยให้เห็นถึงแก่นแท้อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว และรู้จักแต่การรักษาตัวรอดเป็นยอดดีการศึกษาที่ได้รับมาอย่างดีไม่อาจจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนบางคนได้นักโทษการเมืองบางคนถึงกับยอมลดตัวลงมาประจบประแจงกราบกรานขอความกรุณาต่อผู้คน เพื่อให้ได้มาซึ่ง อภิสิทธิ์และความสะดวกสบายต่าง ๆ เหนือคนอื่น ด้วยการเป็นสายให้เจ้าหน้าที่คอยสอดแนมความเป็นไปตลอดจนนำเรื่องราวที่เพื่อนนักโทษการเมืองคุยกันไปฟ้องเจ้าหน้าที่เพื่อหาความดีความชอบ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างก่อให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้น นักโทษการเมืองคนใดหรือหมู่ใดคณะใดวางตัวเฉย ไม่ยอมประจบประแจงหรือให้สินจ้างแก่เจ้าหน้าที่ จึงดูเหมือนว่าเป็น พวกหัวแข็งไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ได้รับความบีบคั้นกลั่นแกล้งให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น

เมื่อเรือเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเคยเป็นเรือเสบียงเดินระหว่างสุราษฎร์ธานีกับเกาะเต่าต้องหยุดเดิน เพราะขาดน้ำมัน ทางการเรือนจำจึงได้นำเรือไชโยซึ่งต้องฟืนเป็นเชื้อเพลิงมาเดินแทน นักโทษการเมืองชุดที่ได้ รับคำสั่งให้ไปโค่นต้นไม้ตัดฟืนเตรียมไว้ป้อนเรือไชโยมี สอ เสถบุตรหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ปรุง สุเสวี ประเสริฐ คชมหิทธิ์ และแผ้ว แสงส่งสูง ด้วยเหตุที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเกาะเต่าเป็นภูเขา ต้นไม้ใหญ่จึงขึ้น อยู่ตามไหล่เขา เมื่อนักโทษการเมืองช่วยกันโค่นต้นไม้ลงแล้ว ก็ต้องช่วยกันงัดให้ไม้กลิ้งลงมาตามไหล่เขา จนถึงชายทะเล แล้วจึงผ่าออกเป็นดุ้นฟืนขนาดยาวประมาณ 65 ซม. นักโทษการเมืองคณะนี้ จึงได้รับสมญา ว่า “กลุ่มช้าง

ครั้นแล้วในระหว่างระยะเวลาแห่งความลำบากยากแค้นแสนสาหัสนั้นเองวันหนึ่งก็ได้มีเครื่องบินลำหนึ่งมาบินทักษิณาวรรตอยู่เหนือเกาะ ขณะที่บินวนอยู่นั้นนักบินก็โบกมือให้นักโทษการเมืองเสมือนจะเป็นสัญญาณบอกกล่าวอะไรสักอย่างหนึ่งนักโทษการเมืองพากันถกเถียงถึงเรื่องเครื่องบินลำนั้นอยู่เป็นเวลากว่าสามสัปดาห์จึงได้ความจริงที่นักบินใจบุญผู้นั้นได้มาบอกใบ้ให้ทราบความจริงอันนั้นก็คือนักโทษการเมืองได้รับพระราชทาน อภัยโทษ เนื่องจากได้มีการเปลี่ยน รัฐบาลใหม่โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่แพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาเรื่องการสร้าง นครเพชรบูรณ์ ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ และสร้างพุทธบุรี ที่จังหวัดสระบุรี นายควง อภัยวงศ์ ได้มาเป็นรัฐมนตรีแทน และคณะรัฐมนตรีใหม่ได้มีมติให้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมือง ทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และคดีกบฏ พ.ศ.2481 ทางการกำหนดให้มีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 ความหวังและกำลังใจก็พลันบังเกิดขึ้นทันทีนักโทษการเมืองดูเต็มไปด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และมีชีวิตชีวาความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูจะหายไปราวปลิดทิ้งบรรดาเจ้าหน้าที่เรือนจำต่างๆก็ดูเปลี่ยนท่าทีไปโดยฉับพลันกิริยาท่าทางตลอดจนถ้อย คำพูดจาก็ดูเต็มไปด้วยความเคารพนบนอบเสียงเรียกขาน คุณหลวงคุณพระท่านเจ้าคุณใต้เท้าขอรับกระผมดังอยู่ทั่วไป แทนถ้อยคำเสียดสีเกรี้ยวกราด ผู้คุมบางคนก็ขอฝากเนื้อฝากตัวประจบประแจงท่านนักโทษการเมืองที่มีหวังว่า จะได้กลับไปเป็นใหญ่เป็นโต นักโทษการเมืองได้รับคำสั่งให้เตรียมตัวออกเดินทางจากเกาะเต่าไปยังคุกเมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อรอเวลาปลดปล่อยที่นั่นปัญหามีอยู่ว่าเมื่อได้รับการปลดปล่อยแล้วนักโทษการเมืองจะเอาเงินที่ไหน ซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่แทน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอันขาดกะรุ่งกะริ่งใกล้สภาพอนาจารของตน นักโทษการเมืองจะเอาเงินที่ไหนหาอาหารรับประทานระหว่างการเดินทางและจะเอาเงินที่ไหน เป็นค่ารถจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปบ้านของตนมิหนำซ้ำบางคนก็ยังไม่แน่ใจว่าบ้านที่ตนเคยอยู่นั้น จะถูกลูกระเบิดไป หรือเปล่า ที่คุกเมืองสุราษฎร์ธานีผู้คุมได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางนำสินค้าซึ่งเป็นของเก่าติดตัวนักโทษการเมืองไปขายให้แก่ประชาชน ด้วยเหตุที่ขณะนั้นเป็นเวลาสงครามเครื่องอุปโภคต่างๆขาดแคลน และราคาแพงอย่างยิ่งเมื่อนักโทษการเมืองซึ่งหูหนวก

ตาบอดต่อภาวะความเป็นไปของโลก ภายนอกขายของในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อประชาชนจึงพากันหลั่งไหลเบียดเสียดไปซื้อของดีราคาถูก ที่ประตูเรือน จำราวกับตลาดนัด ปรุงสุเสวีขายสายสร้อยทอง หนักหนึ่งบาท ไปด้วยราคา 40 บาท ก็ดีใจว่า ตั้ง 18 บาท เพราะเมื่อซื้อมานั้นซื้อด้วย ราคาเพียง 22 บาท อันที่จริงราคาทองขณะนั้น บาทละ 400 กว่าบาท สอเสถบุตรและแผ้วแสงสูงส่งขายมุ้งไปในราคาหลังละ 40 บาทส่วนหม่อมเจ้า สิทธิพรกฤดากรทรงขายผ้าห่มสักหลาดอย่างดีใหม่เอี่ยมไปในราคา 80 บาท ก็ดีพระทัยว่าขายได้ราคา แต่พอหนึ่งชั่วโมงให้หลังจีนเจ้าของร้านตัดเสื้อกางเกง ก็วิ่งมาขอซื้ออีกโดยเสนอให้ ราคาถึงผืนละ1,000 บาท แต่พระองค์ท่าน ก็ไม่มีจะขายให้แล้วในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2487 อันเป็นวันที่นักโทษการเมืองได้รับปลดปล่อยนั้นทั่วทั้งตลาดเมืองสุราษฎร์ธานีขวักไขว่ไปด้วยอดีตนักโทษการเมืองในสภาพเครื่องแต่งกายอันน่าขันระคนน่าสงสารบางคนสวมเสื้อขาดกะรุ่งกะริ่ง

บางคนสวมรองเท้าซึ่งเกือบจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นรองเท้าโดยที่พื้นข้างล่างโหว่จนแทบจะรองรับเท้าไว้ไม่ได้ บางคนสวมหมวกซึ่งเป็นรูพรุนไปหมดสมัยนิยมของเครื่องแต่งกายได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงการนุ่งผ้าม่วง หรือนุ่งกางเกงแพรแล้วใส่เสื้อนอกคอปิดกระดุมห้าเม็ดได้หายไปหมดสิ้นจากสมัยนิยมอดีตนักโทษการเมืองตัดสินใจไม่ถูกว่าตนควรจะซื้อเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่อย่างไรดี ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ และขุนศิริโยธินได้ไปซื้อกางเกงขาสั้นตัดเย็บด้วยผ้าทอด้วยใยสังเคราะห์ โดยเห็นว่ามีลวดลายสวยเหมือนผ้าสักหลาดและซื้อเสื้อโปโลกับหมวกกันแดดแต่เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสร็จแล้ว และเดินฝ่าแสงแดดอันร้อนแรงจะไปขึ้นรถไฟก็เกิดอาการคันไปทั้งตัวจนทนไม่ได้ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายกลับไปสวมชุดนักโทษ ตามเดิม ที่สถานีเพชรบุรี ได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากนำข้าวห่อ และขนมหม้อแกงหลายสิบถาดมาเลี้ยงต้อนรับพร้อมกับอวยชัยให้แก่อดีตนักโทษการเมืองทุกคน ในระหว่างทางได้มีเพื่อนผู้อารีคนหนึ่งนำเสื้อนอก แบบสากลมาให้ สอ เสถบุตร สวมใส่ สอ เสถบุตรเล่าว่า เขามีความรู้สึกเคอะเขินชอบกลหลังจากที่มิได้สวมใส่ เสื้อนอกมาเป็นเวลากว่าสิบปี ณ สถานีรถไฟบางกอกน้อย ธนบุรี คุณมานิต วสุวัต เป็นมิตรคนแรกที่รอรับ สอ เสถบุตรอยู่ พร้อมกับ เสนอให้ตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง”แก่สอ เสถบุตร

ที่มา

ตะรุเตาอดีตเรือนจำกลางทะเล ว่าที่ ร.ต.สนิทศักดิ์ สนิทศักดิ์ นาวิกศาสตร์ ปีที่ 91 เล่มที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

เกาะเต่า แหล่งพักนักโทษการเมือง http://www.kohtaocenter.com/kohtao/thaiatkohtaopass3.htm

เกาะเต่าตำนสนแห่งเกาะนรก http://www.oceansmile.com/Ktao/kohtao1.htm

ภาพอุปกรณ์ที่นักโทษใช้ในการทำงานแรงงานทาส ในเรือนจำกลางทะเล เกาะตะลุเตา