สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
TPBS เป็นหน่วยงานที่ใช้เงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ในลักษณะของ earmarked tax หรือ sin tax ที่เก็บจากภาษีสรรสามิตปีละกว่า 2 พันล้านบาท
ที่มาของทีวีเสรีแบบ TPBS นั้นจริง ๆ แล้วมาจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เกิดการต่อต้านรัฐประหารพลเอกสุจินดา คราประยูรที่จะสืบทอดอำนาจ ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีสื่อหรือหนังสือพิมพ์ใดรายงานเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ม็อบมือถือ และเมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ลงทำให้ นายอานันท์ ปันยารชุนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และได้ตั้ง ITV ขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่ทีวีเสรี
แต่แล้วสื่อเสรีก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบของทักษิณ ชินวัตรเกิดการซื้อหุ้นเข้ามาครอบครองกิจการและเข้ามาควบคุมการผลิตข่าวและการผลิตรายการ จนท้ายที่สุด ITV ก็อยู่ไม่ได้ เกิดกบฏ ITV ซึ่งก็คือพนักงาน ITV เก่าที่ลุกขึ้นมาต่อสื้อเรื่องการครอบงำสื่อ ITV ขาดทุนย่อยยับแทบล้มละลายและกลายสภาพมาเป็น TITV ก่อนที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์จะทำตามคำแนะนำของสมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ตั้งทีวีเสรี ที่ไม่ต้องหาโฆษณาแต่ได้เงินกินเปล่าในนามของ TPBS จาก Sin Tax ปีละประมาณ 2000 ล้าน
ปัญหาของ TPBS มีดังนี้
1. ภาวะที่ไม่ต้องทำอะไรให้ดีเลยก็เลยทำให้ TPBS ถึงห่วยไม่มีคนดู ไม่มีโฆษณา จัด rating ได้บ๊วยหรือเกือบบ๊วยของตารางก็สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องคิดปรับปรุงอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะอ้วนพีและมีงบประมาณล้นเหลือเฟือฟายท่ามกลางกระแสดิจิทัลที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์กำลังยากแค้นแสนสาหัส ในวงการนักข่าวนักหนังสือพิมพ์นั้นต่างก็กลัวที่จะตกงาน สิ่งพิมพ์ทยอยปิดกิจการ และสถานีโทรทัศน์ที่มีจำนวนมากกว่าจำนวนนิ้วมือและนิ้วเท้ารวมกัน ทำให้แข่งกันเองสูง ตลาดมีขนาดจำกัด เลยพากันล้มหายตายจากไปมาก แม้แต่ช่องที่เรตติ้งดี ๆ พอแยกเป็น TV digital สามช่อง เช่น ช่องสาม มีสามช่องก็กำไรหดตัวลงอย่างน่ากลัวและไม่แน่ว่าจะอยู่ต่อไปได้
ในเรื่องนี้ TPBS ไม่ได้เดือดร้อนใดๆ เพราะถึงทำรายการได้ห่วยจนคนดูส่ายหน้าแค่ไหนก็ไม่จำเป็นต้องเดือดร้อน ใช้เงินภาษีประชาชนไปได้ตลอด เป็นเสือนอนกิน
2. เงินเดือนพนักงานและผู้บริหาร TPBS สูงกว่าเพื่อนร่วมวิชาชีพในวงการสื่อ ซึ่งในทุกวันนี้อย่าว่าแต่ได้เงินมากหรือน้อยเลย ขอแค่ว่าพรุ่งนี้ไม่ตกงานก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับวงการสื่อ ดิฉันก็ปิดไป อมรินทร์ทีวีก็ขายไปให้คุณเจริญ สิริวัฒนภักดีไปแล้ว หนังสือพิมพ์ ทีวี นิตยสาร Old media กำลังจะล้มหายตายจาก เท่ากับว่า TPBS เป็นเสือนอนกินภาษีของประชาชนโดยผลงานจะห่วยอย่างไรก็ได้ เราไม่มีความจำเป็นต้องเอาเงินภาษีนับพันล้านของประชาชนไปเลี้ยงเสืออ้วนที่ไม่ทำหน้าที่และไม่มีหน้าที่อีกแล้ว
3. TPBS มีการใช้เงินไม่ถูกต้อง เช่น เอาเงินไปซื้อหุ้นกู้ CPF โดยผิดระเบียบและกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จนผอ TPBS คนก่อนต้องลาออกไป ถือว่าใช้เงินอีลุ่ยฉุยแฉก ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ ยุบทิ้งแล้วเอาเงินสองพันล้านไปให้โรงพยาบาลที่กำลังลำบากอย่างยิ่งน่าจะดีกว่า หรือถ้าเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ เช่น ASTV News1 นี่ใช้เงินเดือนหนึ่งไม่เกิน 20 ล้านบาทแน่นอน ปีหนึ่ง ๆ เงินเท่านี้ทำสถานีโทรทัศน์ดี ๆ ที่มีคนดูมากกว่านี้ได้ 20-30 สถานีอย่างแน่นอน ไม่ใช่ช่องเดียว ว่าแต่ว่าช่องเยาวชนที่ กสทช. ขอให้ TPBS ทำทำไมจึงยังไม่เกิดจนป่านนี้ ทั้ง ๆ ที่มีเงินมากกว่าเพื่อน ช่องทีวีเยาวชนไม่มีกำไรมากนัก TPBS มีเงินถุงเงินถังน่าจะทำได้ก่อนใคร เพราะมีเงินใช้โดยไม่ต้องหา
4. การสรรหาผู้บริหาร เป็นในลักษณะพวกพ้อง นายเก่าอยู่ สสส. มีเรื่องอื้อฉาวผลประโยชน์ทับซ้อน เลยชิงลาออก หนีบเอาลูกน้องมาด้วย มา TPBS เป็น รอง ผอ. ในขณะที่สรรหาก็มี NGO ตระกูล ส เข้าไปนั่งเป็นกรรมการสรรหาอยู่มากมาย เช่น นางบุญยืน ศิริธรรม และ สสส. ก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการสรรหาด้วย ตาหมอฟันลาออกมา ก็มีการดันสามีของรอง ผอ. ที่ตัวเองหนีบมาเป็นผู้จัดการ สสส. พอตาหมอฟันซื้อหุ้นกู้อื้อฉาว ก็ชิงลาออกอีกเช่นกัน คราวนี้ภรรยาที่สามีเป็นผู้จัดการ สสส. ปัจจุบัน ก็เลยดันตัวเอง โดยมี สสส. ช่วยผลักดันเพราะเป็นกรรมการสรรหา ผลการสรรหาไม่โปร่งใส ไม่สง่างามก็ตะแบงกันต่อไป น้ำเน่ายิ่งกว่านักการเมือง สองคนผัวเมียคุม Sin tax ภาษีของประชาชนไปกว่า หกพันล้าน และเอาเงินเหล่านี้ไปให้ NGO ทำงานและมีฐานเสียงทางการเมืองตระกูล ส
5. ความจำเป็นของสื่อเสรีไม่มีอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้ Social media ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Line, Facebook หรือ Youtube เอง ประชาชนเป็นสื่อเสรีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียเงินให้แม้แต่บาทเดียว แล้วมีเหตุผลอะไรที่จะต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปให้จ้าง NGO มาผลิตรายการให้ TPBS ที่ไม่มีคนดู ปีละ 2000 ล้านบาท ถ้าจะทำจริง ๆ จัดประกวดให้ประชาชนนำเสนอข่าวให้รางวัลประชาชนที่เป็นสื่อเสรีที่ทำสื่อและทำข่าวหรือสารคดีที่มีคุณภาพได้ จัดประกวดได้ผลงานดีกว่า TPBS ผลิตเองหรือจ้าง NGO ผลิตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอนและใช้เงินรางวัลปีหนึ่งไม่ถึง 10 ล้านด้วยซ้ำไปและจะมีคนชมมากกว่าด้วย ให้ประชาชนประกวดแข่งกันทำรายการโทรทัศน์บน Youtube ก็ได้ เสียดายเงินที่ใช้ไม่คุ้มค่ากว่าปีละ 2000 ล้านแล้วเงินเหลือจนต้องไปลงทุนในหุ้นกู้ CPF ตั้งเกือบ 200 ล้านบาท
ณ นาทีนี้ความชอบธรรมของ TPBS ได้หมดลงไปแล้ว กรณีอื้อฉาวเรื่องการซื้อหุ้นกู้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขและกรรมการบอร์ด TPBS ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรใด ๆ ทั้งการสรรหาผู้บริหารใหม่ก็ยังมีแต่ความอื้อฉาว หากเข้าไปตรวจการใช้เงินจริง ๆ คงพบสิ่งที่ผิดปกติอีกมาก
ทางที่ดีที่สุดคือการใช้มาตรา 44 ยุบ TPBS เสียเถิด จะเกิดผลดีต่อประเทศชาติมากที่สุด ไม่มีใครเสียอะไร นอกจากพนักงาน TPBS จะตกงานและ NGO จะขาดรายได้ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นอภิสิทธิชนคนส่วนน้อยของประเทศ ที่รัฐบาลไม่ควรให้อภิสิทธิมากจนเกินไป จัดการเสียเถิดครับ
https://mgronline.com/daily/detail/9600000125345