วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ระบอบกษัตริย์กับประธานาธิบดี – ถาวร เชาว์วิชารัตน์

His Majesty King Bhumibol and President Lyndon B. Johnson during his official visit to Thailand in 1966.

 

๑. เคยมีคนถามผมมาบ่อยๆ เมื่อมีข่าวกรณี ป.อ.มาตรา ๑๑๒ เสมอๆ ว่า ทำไมจึงยังมีคนไม่พอใจกฎหมายฉบับนี้นัก ทั้ง ๆ ที่คนปกติ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไปก็ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนกับกฎหมายนี้แม้แต่น้อย

ความจริงข้อนี้ ผู้ที่ถามก็คงจะรู้ถึงตื้นลึกหนาบางของคนเหล่่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครอยากนำเรื่องเช่นนี้มาพูดอภิปรายกัน ให้กลายเป็นเงื่อนไขให้พูดกันมากความต่อไปอีก และอาจเป็นความไม่สมควร

แต่หากจะกล่าวอย่างย่อๆ สำหรับคำถามข้างต้นนั้น ก็คือ คนเหล่านี้มีความประสงค์ที่จะไม่ให้มีระบอบกษัตริย์ อยู่ในประเทศของเราต่อไป – เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเอง หากแต่เป็นเรื่องอย่างที่ คนโบราณเรียกว่า เป็น “ความลับที่รู้กันทั้งแผ่นดิน” – คือใครๆ ก็รู้อยู่แก่ใจดี เพียงแต่ไม่พูดออกมาเท่านั้น

และหากเป็นเช่นนั้น ระบอบที่จะเข้ามาแทนที่ก็คือ ระบอบประธานาธิบดี

จึงทำให้มี คำถามต่อไปว่า ทำไมจึงมีคนจำนวนหนึ่งอยากเป็นประธานาธิบดีนักหนา ลำพังแต่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ใหญ่น่าดู คับฟ้าคับแผ่นดินมากแล้ว จะต้องเป็นถึงประธานาธิบดีทีเดียวหรือ ระบอบประธานาธิบดีที่ว่านี้ ดีอย่างไรหรือ จึงมีคนคิดจะนำมาแทนที่ระบอบกษัตริย์ที่พวกเราส่วนใหญ๋เห็นว่าดีอยู่แล้ว

อย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาไปมากมายแล้ว เขาก็ปกครองกันด้วยระบอบกษัตริย์ จักรพรรดิ ใต้รัฐธรรมนูญ ก็เห็นประเทศของเขาเจริญก้าวหน้าดีอยู่ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

และท่านที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเหล่านี้ ก็เป็นผู้ทรงเกียรติ มีบารมีเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก
ไม่เคยเห็นมีใครไปดูหมิ่น รังเกียจท่าน และดูจะได้รับการยอมรับมากกว่าประธานาธิบดีบางประเทศเสียอีกด้วยซ้ำ

จริงอยู่ การที่คนเราจะมีความใฝ่ผันที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก และสังคมไทยก็ไม่ได้ได้ขัดขวางกีดกัน ถ้าใครเก่งพอที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศได้ ก็เป็นไป ไม่มีใครว่าอะไร

แล้วการเป็นประธานาธิบดี จะดีกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีตรงไหน ถึงได้มีคนพยายามที่จะล้มล้างระบอบกษัตริย์เพื่อจะให้เกิดระบอบประธานาธิบดีขึ้น

เรื่องพวกนี้เขียนกันสั้น ๆ อาจเข้าใจได้ยาก ถ้าจะให้เข้าใจลึกซึ้ง ต้องเขียนให้ค่อยๆ อ่านกันอย่างละเอียด ไกลไปถึงประวัติศาสตร์การปกครองของโลกว่า ได้ค่อย ๆพัฒนาขึ้นมาจากระบอบกษัตริย์ จนมาเป็นระบอบประธานาธิบดีอได้อย่างไร จึงจะเข้าใจถึง “อำนาจ” ของประธานาธิบดี ที่หลายคนอยากเป็นกันนักหนา – จนตัวสั่น

แต่เรื่องอย่างนี้ ต้องว่ากันยาวๆ – จะลองเขียนดู ถ้าท่านเบื่อกันเมื่อไร ก็บอกด้วย

๒. ความจริง ถ้าจะกล่าวโดยหลักการพื้นฐานแล้ว การปกครองทั้งระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กับ ระบอบประธานาธิบดี นั้น หากผู้ปกครอง (คือตัว
นายกฯ หรือตัวประธานาธิบดี) เป็นคนดี มีความเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ แล้ว ก็จะทำประโยชน์ให้แก่ชาติได้เหมือน ๆ กัน และไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเมื่อใด ที่จับพลัดจับผลู คนในบ้านในเมืองเกิดหลงผิดไปเลือกเอาใครก็ไม่รู้ ที่สติไม่สมประกอบ (ไม่อยากยกตัวอย่าง แต่คงเห็นตัวอย่างอยู่ในโลกทุกวันนี้แล้ว ) ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศของตน หรือบางครั้ง นายกฯ ที่ปกตินั้นแหละ อาจมีความเห็นผิดพลาดไปบ้าง เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดปัญหา

ลองคิดถึงเยอรมันยุคฮิตเลอร์ โรมันยุคจักรพรรดิ เนโร ที่ไม่มีใครทักท้วง โต้แย้ง ดูก็ได้ ว่าเป็นอย่างไร

๓. ในระบอบกษัตริย์นั้น (ไม่ว่าประเทศใด) แม้พระองค์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คือ มิได้ทรงมีพระราชอำนาจในการบริหารปกครองประเทศด้วยพระองค์เองก็ตาม แต่โดยหลักการ ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากที่สุดในแผ่นดิน คือ อำนาจการอนุญาตหรือยินยอมให้มีกฎหมายฉบับต่างๆ ขึ้นใช้ได้ พูดง่ายๆ คือ กฎหมายหลักทั้งหลายที่ตราขึ้นในชั้นต้นจากสภาผู้แทนฯ โดยผู้แทนปวงชน นั้น ต้องนำถวายกราบบังคมทูลต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงพิจารณามีพระราชวินิจฉัย และอนุมัติ คือ ด้วยการลงพระปรมาภิไธย ประทับตราแผ่นดิน แล้วจึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ได้

ถ้าในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย คือ ไม่ทรงเห็นด้วย ใครๆ ก็ไม่อาจนำกฎหมายนั้นไปใช้ได้ – และในบ้านเมืองเราก็เคยมีกรณีเช่นนี้อยู่ แม้ไม่มากนัก เพียงแต่ไม่เป็นข่าว เมื่อท่านไม่ทรงเห็นด้วย
ด้วยเหตุผลใดก็ตาม สภาก็มักยอมตาม คือ ไม่เอาก็ไม่เอา ไปหาทางอื่นกันต่อไป

โดยสภาพเช่นนี้ แม้นายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลจะมีอำนาจวาสนาสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเสนอกฎหมายแล้ว พระมหากษัตริย์ไม่ยอมรับ นายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจทำการในเรื่องนั้น ๆ คือ บริหารงานตามแนวทางแห่งยกร่างกฎหมายนั้นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายถูกยับยั้งโดยพะมหากษัตริย์ ไปแล้ว

ถ้าสมมุติว่า นายกรัฐมนตรีที่ไหนสักคนในระบอบเช่นนี้ คิดการมิชอบ อยากจะออกกฎหมายเพื่อแสวงหา ประโยชน์จากกิจการอันใดอันหนึ่งมาเป็นของตน หรือพวกพ้องของตน หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นด้วย นายกรัฐมนตรี ก็ทำการเช่นนั้น ไปไม่ได้

ผมจึงเคยใช้คำเปรียบเทียบว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรมนูญนั้น ทรงเป็น THE LAST STAND คือ เป็นที่มั่นสุดท้าย ที่ประชาชนจะหวังเป็นที่พึ่งได้ในกรณีที่บ้านเมืองโชคร้าย มีคนไปหลงเลือกคนชั่วๆ เลวๆ ไปเป็นรัฐบาล แล้วก็พยายามไปทำเรื่องเหลวไหล เลวทรามด้วยการตราเป็นกฎหมาย (เพื่อให้ดูว่า ได้ทำการไปโดยชอบธรรม ตามกฎหมาย และจะไม่มีความผิดทีหลัง)

ร่างกฎหมายเช่นว่านี้ก็ อาจถูกพระมหากษัตริย์ ยับยั้ง โต้แย้ง คือไม่ยอมให้ตราเป็นกฎหมายได้ ด้วยการไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ บ้านเมืองก็จะปลอดภัย ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงทรงเสมือนเป็น safety valve หรือกลไกสำคัญที่่จะป้องกันมิให้เกิดจุดเดือดแห่งการปกครองที่อัดอั้น ขึ้นมาได้

แต่ระบบ เซฟตี้ วาลว์ เช่นนี้ ไม่มีอยู่ในระบอบประธานาธิบดี

ในระบอบประธานาธิบดีนั้น ตัวประธานาธิบดีได้รับเลือกมาในชั้นต้น แล้วขึ้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ จากนั้นประธานาธิบดีก็อาจจะมีความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เสนอร่างกฎหมายเข้าสภา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประธานาธิบดีอาจมีวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่งแฝงอยู่ลับๆ (ถ้ามี) ส่งเข้าสภา ซึ่งเป็นพวกเดียวกันให้พิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่ในทางปฏิบัติ สภาก็จะผ่านกฎหมายขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับชั้น จนสุดท้าย ร่างกฎหมายที่สภาเห็นชอบ (แบบยกมือสับสนุนมาเป็นฝักถัี่่่ว) นั้น ก็จะไปถึงมือประธานาธิบดีที่นั่งคอยอยู่ในทำเนียบแล้ว ก็ลงนามเซ็นชื่อ แกร็กลงไป – ทีนี้ก็สามารถจะทำอะไรตามระบอบที่กฎหมาย (ที่ตั้งเรื่องเอง ชงมาเอง นักตะกร้อไทย เรียกว่า
ชงเอง – กินเอง) เพื่อไปใช้ประโยชน์ใดๆ ได้่่ตามใจชอบ – กรณีที่ประธานาธิบดีมีแผนการณ์ที่จะทำการชั่วเช่นนั้นไว้แล้ว – เรียกว่า ฮุบประเทศได้ง่าย ๆ

โดยไม่มี เซฟตี้วาลว์ หรือ the last stand ที่มั่นแห่งสุดท้าย ขวางทางไว้ได้เลย

ระบอบประธานาธิบดี จึงทำให้คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่หากสามารถกระทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมหลงเชื่อหรือเพ้อพกไปว่า เขาเป็นคนดี (ทั้งๆ ที่ไม่จริง) แล้ว กลายเป็นผู้่ขึ้นสู่ตำแหน่งแห่งการมีอำนาจที่จะทำการใด ๆ แล้ว เขาก็อาจทำการใด ๆ ได้ตามใจเขา โดยไม่มีสิ่งใดขัดขวาง ป้องกันสังคมไว้ได้เลย

ระบบประธานาธิบดีจึงอาจดีอยู่สำหรับในสังคมประชาชาติที่ผู้คนทั้งหลายตื่นตัว เข้าใจในระบบ กลไกทางการปกครอง การเมือง รู้จักใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า สมควรจะเลือกคนผู้ใดไปเป็นประธานาธิบดี หรือสนับสนุนพรรคการเมืองใด เพื่อให้หัวหน้าพรรคนั้นๆไปเป็นประธานาธิบดี ทั้งจะต้องมีความสนใจ ใส่ใจ ติดตามข่าวคราว พฤติการณ์แห่งการกระทำของประธานาธิบดีหรือรัฐบาลนั้น ๆ ว่า ได้กระทำไปโดยมีความชั่วร้ายใด ๆ แอบแฝงอยู่หรือไม่

ซึ่งวิธีนี้ ไม่เหมาะสมเลยกับสังคมที่คนเข้าใจแต่เพียงว่า อำนาจแห่งประชาธิปไตยของประชาชน คือการไปลงคะแนนเสียงเลืัอกตั้งในคูหาเลือกตั้ง แล้วก็แล้วกัน แล้วปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามเรื่องตามราว ตามยถากรรม เพราะถือว่าตนไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรง

แม้แต่รัฐมนตรีจะไปตั้งคนที่เคยต้องโทษ หรือเคยถูกตั้งข้อสงสัยอย่างร้ายแรงในสังคมว่า ได้เคยโกงกินในหน้าที่ราชการอย่างขนานใหญ่มาแล้ว มาเป็นที่ปรึกษา ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร หรือทำอะไรได้ –
นายกฯ เองก็เห็นยังเฉยๆ อยู่สำหรับการกระทำอันเป็นการตบหน้าประชาชนเช่นนี้ – สังคมเช่นนี้ ถ้าขืนมีประธานาธิบดี ก็คงยุ่ง หากรัฐมนตรีที่มีที่ปรึกษาเช่นนี้ เสนอร่างกฎหมายให้พิจารณา จะเป็นอย่างไร

ดังนั้น ประเทศที่คนยังเป็นอยู่เช่นนี้ คือ
ไม่กระตือรือร้นในทางการเมือง (อาจมีบ้างบางส่วน แต่เป็นเพียงส่วนน้อย) ระบบประธานาธิบดีที่มีอำนาจล้นฟ้าก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อสังคมประเทศได้ ด้วยวิธีการเสนอกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

๔. นั่นเป็นข้อเปรียบเทียบเบื้องต้นง่ายๆ พอให้เห็นว่า ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ (ที่ เรา อังกฤษ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอีกหลายประเทศใช้อยู่) นั้น มีข้อดีแตกต่างจากระบอบประธานาธิบดีอย่างไร

และคนที่กระเหี้ยนกระหือที่จะให้มีระบอบประธานาธิบดีให้ได้ ด้วยการล้มระบอบกษัตริย์เสียก่อน นั้น กำลังคิดอะไรอยู่ในใจ

ที่ว่านี้มิใช่เป็นการดูหมิ่นน้ำใจไทย หรือความคิดทางการเมืองของคนไทย แต่วิญญูชนก็เห็นๆ อยู่ หรือแม้แต่ ณ เวลานี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งโลกทั่วไปก็รับว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังคงมีปัญหากับประธานาธิบดีของตนขึ้นมา (่จนถึงกับอดีตลูกน้อง ต้องออกมาเขียนหนังสือแฉว่า เคยทำอะไรแย่ๆ ไว้บ้าง ผมได้มาแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่าน) – แม้เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงนานๆ ครั้งก็ตาม แต่โดยระบบ เราก็คงเห็นข้อเด่นข้อด้อยของระบบทั้งสองนี้ได้

ผมมีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า สังคมไทยยังไม่พร้อม และไม่จำเป็นแต่อย่างใด ที่จะมีการปกครองในระบอบประธานาธิบดี เรายังคงต้องรักษาระบอบการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ ของเราอย่างที่เป็นอยู่นี้ ต่อไปอีกนาน หรือตลอดไป

คนเราอาจมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมคิดอย่างไร ต้องการอะไร คนส่วนน้อยก็ไม่ควรจะทำการใด ๆที่เป็นการขัดขวางความคิดเช่นนั้น

มิฉะนั้น ก็จะไม่เป็นวิถีทางแห่งประชาธิปไตย เช่นกัน