กรุงวาติกันเป็นรัฐทางศาสนา สถานที่ต่างๆส่วนใหญ่ เป็นวัด โบสถ์ วิหาร และที่ทำงานของนักบวช จึงมีระเบียบการแต่งกายของผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ โดยอาจแบ่งง่ายๆเป็น2กลุ่มใหญ่ๆคือ
1.การแต่งกายสำหรับผู้เข้าพบพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการ
(Protocol for papal audiences formerly)
2.การแต่งกายสำหรับผู้ร่วมการพบปะฝูงชนของพระสันตะปาปา
หรืออาจแปลไทยเป็นไทยว่า ผู้มาเยือนและพบพระสันตะปาปาอย่างไม่เป็นพิธีการ (Papal Audienence casual)
จะขอพูดถึงแบบที่2ก่อน เพราะเป็นแบบที่เราทั่วไปใครๆก็อาจมีโอกาสนั้นได้ เมื่อเป็นนักท่องเที่ยวหรือแสวงบุญไปเที่ยวทริป อิตาลี วาติกันต่างๆ
? ชาย ?
-กางเกงขายาว เป็นยีนส์ก็ได้
(โดยหลักนี้คือห้ามกางเกงขาสั้น แต่วาติกันเองในหน้าร้อนบางครั้งก็ร้อนมาก มีการผ่อนผันให้ใส่ขาสั้นได้บางครั้ง แต่เราก็ไม่รู้ว่าครั้งไหนเจ้าหน้าที่จะผ่อนผัน ดังนั้นจะสวมกางเกงแบบที่สามารถต่อขาปรับเปลี่ยนสั้นยาวได้ก็สะดวกดี)
-เสื้อยืด หรือเสื้อเชริ์ต ก็ได้
ห้ามเสื้อกล้าม หรือเสื้อไม่มีแขน
-หมวก
ชายที่สวมใส่หมวกใดๆ ให้ถอดเมื่อเข้าสู่บริเวณวิหาร หรือโบสถ์ใดๆ
? หญิง ?
-กางเกง หรือ กระโปรง ต้องไม่สั้นจนเห็นเข่า
-เสื้อต้องไม่ใช่แขนกุดหรือเปิดเผยหัวไหล่ แผ่นหลังใดๆ ในกรณีอากาศร้อนแล้วอยากใส่เสื้อที่คอกว้างมาก สามารถนำผ้าพันคอ หรือผ้าคลุมไหล่คลุมไหล่ไว้ได้
? การแต่งกายสำหรับผู้เข้าพบพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการ ?
(Protocol for papal audiences formerly)
ระเบียบการแต่งกายอย่างเป็นทางการของวาติกัน เขียนไว้นานแล้วและ เดิมใช้กับผู้ที่มาพบพระสันตะปาปาอย่างเป็นทางการ อย่างการทูต การเมือง พิธีการ ซึ่งผู้เข้าพบย่อมรู้ตัวล่วงหน้าและเตรียมตัวมาก่อนนานมากแล้ว
?สุภาพบุรุษ?
มีเสื้อเชริ์ต และเสื้อนอกตามแบบสากลนิยม ชุดดำหรือสีค่อนข้างดำ ควรสวมเทคไท
? สุภาพสตรี ?
ชุดสีดำ ปกปิดหัวไหล่ แขนเสื้อไม่ควรสั้นกว่าครึ่งแขน ไม่เปลือยหลัง กระโปรงที่ยาวคลุมเข่า ห้ามใส่กางเกง เครื่องประดับพอประมาณ รองเท้าสีดำปิดนิ้วเท้าทั้งหมด แนะนำให้สวมหมวกสีดำหรือผ้าคลุมผม
เหตุที่ให้ใช้สีดำเป็นหลัก เพราะโดยหลักความหมายของสีในคริสตศาสนา สีดำ สื่อถึงเคร่งครัดศรัทธา และ ความสุภาพ โดยในแง่ความสุภาพนี้ยังแผ่ความหมายนี้ในชุดสากลถึงปัจจุบันด้วย การคลุมผม ก็สื่อถึงความสุภาพ ถ่อมตน ของสตรี ดังที่มีบันทึกในพระคัมภีร์
? อภิสิทธิ์สีขาว (Le privilège du blanc) ?
เฉพาะสมาชิกราชวงศ์สตรีที่เป็นคาทอลิก สามารถใช้สีขาวแทนสีดำได้
+ มีไว้ แต่ไม่บังคับ +
อนึ่ง การแต่งกายแบบทางการนี้ มีการผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 1980 โดยเริ่มในสมณสมัยพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่2 ดังจะเห็นว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีในรัชกาลที่9 เมื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่23 ทรงสวมฉลองพระองค์ตามระเบียบทุกประการ แต่เมื่อสมเด็จพระเทพฯ(ยศในขณะนั้น) เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่2 ไม่ทรงสวมผ้าคลุมผม
มงซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์ ซึ่งเป็นสมณทูตไทยในวาติกันมาหลายปีเล่าว่า “กฎนี้ผ่อนผันมานานมากแล้ว โพรโตคอลมีเขียนจริง แต่ไม่บังคับแล้ว ยิ่งพระสันตะปาปาฟรังซิส ท่านยิ่งง่ายๆไม่ถือเลย”
ตัวอย่างการผ่อนผันกฎนี้ แบบที่เห็นเด่นชัดด้วยเหตุผลเช่น
1 เมื่อเข้าเฝ้าโดยสวมเครื่องแบบราชการ
2 การใช้เครื่องแต่งกายประจำชาติ หรือเครื่องแต่งกายท้องถิ่น
3 การแต่งกายตามหลักศาสนาของนักบวชศาสนาอื่นๆที่เข้าเฝ้า
ฯลฯ
กล่าวง่ายๆคือ ระเบียบการแต่งกายหรือ Protocol ยังมีอยู่ไม่ได้ยกเลิก แต่ไม่บังคับขนาดไม่แต่งห้ามเข้า(นอกจากกรณีผิดกาละเทศะและไม่สุภาพอย่างชัดเจน)
นอกจากนี้ เราพบว่ามี “การเมือง” และ “การทูต” อยู่ในเครื่องแต่งกายเหล่านี้ด้วย เช่น สมเด็จพระราชินี เอลิซาเบธ แห่งอังกฤษ ในการเข้าพบอย่างเป็นทางการทุกครั้ง จะทรงแต่งครบตามระเบียบทุกครั้ง เพราะนั่นสะท้อนถึงความเป็นระเบียบแบบแผน และ การสืบสานราชประเพณีอันยาวนานของราชวงศ์อังกฤษ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีนักการเมือง หรือเจ้าหญิง ในบางประเทศ จะใช้การออกแบบเครื่องแต่งกายที่ถูกระเบียบแต่นำสมัย เพื่อสื่อถึงความเจริญและทันสมัยของประเทศตน ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่ในระเบียบแบบแผน
นอกจากนี้ ยังมีนักการเมืองหรือสมาชิกราชวงศ์ ที่ตั้งใจใส่ชุดประจำชาติตน เพื่อสื่อสาร อัตลักษณ์ชนชาติตน หรือเพื่อประชาสัมพันธ์ความเป็นชาติของตน เช่นนาง อองซานซูจีจากเมียนมาร์ หรือสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นที่สวมกิโมโน เป็นต้น