ความไม่รู้จักพอนั้น ฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นมานักต่อนักแล้ว เพราะมีเท่าไรไม่รู้จักพอ ต้องวิ่งหาด้วยวิธีการต่างๆ แม้กระทั่งในทางที่ไม่สุจริต หรือในทางที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ของตนก็ดี อาศัยหน้าที่ของคนอื่นก็ดี เป็นเครื่องช่วยจัดการให้
ก่อนสิ้นปีเก่าในไม่ช้านี้จึงอยากพูดถึงเรื่องนี้
เพราะคนไม่รู้จักพอนั้น นอกจากจะก่อปัญหาให้กับตนเองแล้ว ยังเป็นปัญหากระทบไปถึงคนอื่นๆด้วยจากผลของการกระทำจากคนไม่รู้จักพอ โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการบ้านเมืองในทุกระดับ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากอดีตที่ผ่านมาใกล้ๆนี้และขณะนี้
คนที่ไม่รู้จักพอก็เหมือนกับคนหิวอยู่ตลอดเวลา ต้องหาโน่นหานี่มากินตลอดเวลา กลายเป็นคนโลภไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งความโลภนี่แหละที่ทำให้กลายเป็นคนทุจริตไปได้ง่ายๆ เพราะกล้าที่จะทำความไม่ถูกต้องต่อคุณธรรมและศีลธรรม หรือกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆอย่างไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งกล้าที่จะโกงชาวบ้าน เอาเปรียบชาวบ้าน หรือคดโกงทรัพย์ของแผ่นดิน
ใครก็ตามที่อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง จะเข้ามาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ หรือเข้ามาจากวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการปกติที่กำหนดไว้ก็ตาม ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ไม่ดำเนินการบริหารจัดการสิ่งต่างๆในความรับผิดชอบที่ต้องกระทำ ไม่เป็นไปบนพื้นฐานแห่งคุณธรรมที่ดีงาม ไม่ฉกฉวยเอาเปรียบชาวบ้านที่เป็นผู้เสียภาษีให้พวกตนมาใช้จ่ายกันอยู่ในขณะนี้ หรือในช่วงที่ผ่านมา โดยใช้จ่ายกันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายอย่างไม่ประมาณตนหรือมีวาระแฝงเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆ ซึ่งแม้ตัวเองจะไม่กระทำ แต่ก็ต้องระวังคนอื่นรอบข้างด้วย เพราะจะไม่ก่อปัญหากับตนเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปถึงส่วนรวมได้เช่นเดียวกัน
การรู้จักพอจะก่อให้เกิดความพอดีในสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1.ความพอดีด้านจิตใจ
โดยการเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่คิดถึงแต่เรื่องของพวกพ้อง หรือเรื่องของรุ่นที่เรียนกันมา รู้จักตัดสินใจด้วยคุณธรรมความถูกต้อง เช่นความซื่อสัตย์สุจริต แม้จะเป็นคำแนะนำมาจากผู้ใดก็ตาม ต้องรู้จักพิจารณาให้ดีด้วยว่า คำแนะนำที่ว่านั้นจะนำไปในทางที่เป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มพวก
2.ความพอดีด้านสังคม
โดยการรู้จักสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับชุมชนตามขั้นตอนที่วางไว้อย่างเหมาะสม เฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน ในลักษณะที่สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่เอะอะก็ยัดนั่นยัดนี่เข้าไปในลักษณะที่ต้องพึ่งพาจาก
ภายนอกตลอดเวลา
3.ความพอดีด้านเศรษฐกิจ
โดยการดำรงชีวิตอย่างพอควร พออยู่พอกิน สมควรตามอัตภาพและฐานะของตน โดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคของการทำมาหากินพื้นฐานของชาวบ้านส่วนใหญ่ในชนบท และเน้นการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกินไป ที่จะต้องพึ่งพาวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้า ทุกอย่างต้องคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ในประเทศก่อน จึงจะทำให้ประเทศไม่ต้องพึ่งพาจากต่างชาติ ดังเช่นในขณะนี้ที่โลดแล่นออกไปแบบ “ไทยแลนด์ 4.0”
4.ความพอดีด้านเทคโนโลยี
โดยการรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิปัญญาชาวบ้านของเรา และสอดคล้องเป็นประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของเราเอง
5.ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยการรู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาดและรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด และที่สำคัญก็คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศในการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
นี่คือความพอดี 5 ประการ
เป็นหลักการตาม “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ ล้นเกล้าฯ ร.9 ที่พระราชทานให้ไว้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2518
โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญที่ว่า
“…เศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายถึงระบบเศรษฐกิจปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น แต่เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน บนรากฐานที่เข้มแข็ง ให้ใช้หลักการตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาตนเองเพื่อให้มีคุณภาพแห่งชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้ และนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันในที่สุด พอมีพอกินเป็นขั้นที่ 1 ขั้นต่อไปให้ยืนได้ด้วยตนเอง และขั้นที่ 3 ให้นึกถึงผู้อื่น..”
ยกเรื่อง “ความรู้จักพอ” จะไม่ก่อปัญหาให้กับตัวมาพูดให้ฟังในวันก่อนสิ้นปีเก่านี้ ก็เพราะเห็นว่าการบริหารบ้านเมืองในช่วงสามปีกว่าที่ผ่านมานั้น ทิศทางที่โลดแล่นไปดูจะเกินพอดี 5 ประการตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ชอบยกมากล่าว
บางอย่างที่ไม่สมควรจะทำในเวลานี้ เพราะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ดี ก็ทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของชาวบ้านไปใช้จ่าย ซื้อโน่นซื้อนี่ ด้วยมูลค่าสูง โดยเฉพาะการซื้อเรือดำน้ำ รถถัง เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของบ้านเมืองที่กำลังไม่ดี ชาวบ้านยังอดมื้อกินมื้อ บางคนไม่มีจะกินด้วยซ้ำไป รวมทั้งเรื่องอื่นๆที่ผู้คนในบ้านเมืองพากันอิดหนาระอาใจอยู่ในขณะนี้จากความไม่รู้จักพอ
ผู้ใดรู้จักพอ ก็จะไม่ก่อปัญหาให้กับตัว
แต่ถ้าผู้ใดไม่รู้จักพอ ก็ให้รอพายุใหญ่ที่กำลังมาถึง
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ