วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

“วสิษฐ”อดีตตำรวจราชสำนัก ร.9 “ผมตายแล้วเกิดใหม่ ประเทศไทยก็ยังต้องมีสถาบันกษัตริย์”

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ “พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ที่เล่าถึงเรื่องราวขณะรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลาถึง 15 ปี

******************************

“ในอนาคตที่เห็นๆ อยู่นี้ ประเทศไทยก็ยังต้องเป็นราชอาณาจักรไทยอย่างไม่มีทางที่จะเป็นอื่นไปได้ ผมว่าผมตายไปแล้วเกิดใหม่อีกหลายครั้ง ชาติบ้านเมืองก็ยังต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีของประชาชนยังแน่นแฟ้นอยู่เสมอ”

ตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อ 2 ปีก่อนที่มีต่อกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ในฉบับเล่มพิเศษ “๗๐ ปี ทรงครองราชย์” หัวข้อ สถาบันฯกับความมั่นคงของชาติ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559

แม้วันนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ อดีตรมช.มหาดไทย และ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 88 ปี จากโรคมะเร็ง แต่บทบาทและชื่อเสียงของ พล.ต.อ.วสิษฐ ได้ถูกจารึก ยกย่องในสังคมว่าเป็นนายตำรวจตงฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตที่เคยเป็นหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ รับใช้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลาถึง 15 ปี ในช่วงที่ไทยเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และความยากจน

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเข้าไปรับใช้พระยุคลบาท ผมเริ่มเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดประมาณปี 2510จากนั้น ผมได้รับแต่งให้เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ คือ ไปประจำพระองค์เลย ผมรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นเวลาทั้งหมดประมาณ 14-15 ปี และเป็นช่วงที่วิกฤติที่สุดของเมืองไทย คือ เป็นช่วงที่ทฤษฎีโดมิโนกำลังได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริงแค่ไหน การรุกรานของคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ไม่ได้ทำจากนอกประเทศอีกต่อไป แต่เข้ามาทำในประเทศ เรามีผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เราถูกรุกหนักจนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและประเทศจีนเขาคุยกันว่า เขายึดเมืองไทยได้ครึ่งประเทศแล้ว ในช่วงเวลานั้นผมได้ตามเสด็จฯ ไปทั่วประเทศ ท่านเสด็จฯ ทุกอำเภอ บางอำเภอท่านเสด็จฯ ถึงสองหนหรือมากกว่านั้น และผมก็ได้ตามเสด็จฯ ด้วย” พล.ต.อ.วสิษฐ เล่าถึงสถานการณ์ประเทศขณะนั้น

“แน่นอนว่ามันเป็นสงครามแย่งประชาชน คือ ก่อนเวลาที่เขาจะเข้า ยึดครองหมู่บ้านไหน เขาส่งคนเข้าไปก่อน ไม่ใช่ส่งทหารเข้าไปยึดนะ เขา ไม่ถืออาวุธเข้าไปเลย ส่งคนเข้าไปก่อนไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานเข้าไปอยู่ในครอบครัว แต่ความจริงเข้าไปคุมชาวบ้านไว้เลย แล้วก็หยิบยื่น ความคิดลัทธิให้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อหรอกครับ แต่กลัวมากกว่า ก็เลยไม่ขัดขืน พวกนี้ส่งกำลังเข้าไปอยู่ ไปเกาะชาวบ้าน ต้องการอะไรชาวบ้านก็ต้องให้ บอกอะไร ชาวบ้านก็แสร้งทำว่าเชื่อ เทคนิคเขาเป็นอย่างนั้น ด้วยวิธีนั้นเขาจึงสามารถควบคุมชาวบ้านได้หลายพื้นที่

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเสี่ยงพระองค์เข้าไปยังพื้นที่ สีแดง ในสมัยนั้นต้องยอมรับว่า คนทั้งหลายต่างนึกไม่ถึงว่าพระองค์จะ กล้าทำ แต่พระองค์ทรงถือหลักว่าชาวบ้านอยู่ที่ไหน พระองค์ต้องเสด็จฯ ไปที่นั่น แล้วท่านไม่ทรงกลัวอันตราย มีสองสามครั้งที่อันตรายเกิดขึ้นใกล้พระองค์มาก ผมคิดว่าที่แรงที่สุดคือ ที่ยะลา เมื่อปี 2522 ตอนนั้นท่านเสด็จฯ ไปพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน และพระราชทานรางวัลแก่ครูสอนศาสนาอิสลามด้วย ความจริงก็ต้องถือว่าเป็นงานของมุสลิม แต่ผู้ก่อการร้ายเขาไม่แยแส เขาเอาระเบิดไปวางไว้ที่สนามที่ประชาชนกำลังเข้าเฝ้าอยู่ ระเบิดสองลูกหน้าที่พระนั่งของพระองค์ท่านห่างไปสักประมาณ 50เมตร นั่นเป็นครั้งที่ผมคิดว่ารุนแรงที่สุด

“การเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรในสมัยนั้น ท่านไม่ได้ไปทรงต่อสู้ทางลัทธิ อะไรเลย ท่านไปเยี่ยมเพื่อจะช่วยเหลือชาวบ้านเฉยๆ ผมจำได้แม่นยำ เลยว่า มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เป็นผู้สื่อข่าว บีบีซี ตามเสด็จไปยังจังหวัด สกลนครครั้งหนึ่ง ในอำเภอที่ค่อนข้างจะวิกฤติ คือ อำเภอวาริชภูมิ ผู้สื่อข่าวกราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่า ที่ท่านเสด็จฯ มาแบบนี้ ท่านคิดว่าจะทำให้คอมมิวนิสต์น้อยลงหรืออย่างไร พระองค์ท่านรับสั่ง ตอบเป็นภาษาเดียวกับที่ถาม คือ ภาษาอังกฤษ ความว่า คอมมิวนิสต์จะ น้อยลงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่ท่านเสด็จฯ ออกไปนั้น ท่านทรงหวังว่าจะทำให้ ประชาชนหิวน้อยลง แล้วก็เป็นอย่านั้นจริงๆ ท่านเสด็จฯ ไปเนี่ย ไม่เกี่ยวกับ ลัทธิอะไรเลย ท่านไปเพื่อพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องทำมาหากิน ของชาวบ้าน

พล.ต.อ.วสิษฐ เล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงอยู่สองเรื่องเท่านั้น คือ เรื่องดินกับเรื่องน้ำ แม้ทุกวันนี้ ผมก็เชื่อว่าพระองค์ท่านก็ยังทรงห่วงอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้กลับเป็นปัญหามากกว่าแต่ก่อนเสียอีก ท่านไปทอดพระเนตร แล้วก็พระราชทานคำแนะนำให้เกี่ยวกับสองเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่”

เมื่อถามถึงพระบรมราโชบายด้านความมั่นคง พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร กล่าวว่า “ผมยังไม่เคยได้ยินเลยว่า พระองค์ท่านเคยพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับความมั่นคงโดยเฉพาะ แม้กระทั่งเวลาทหารเข้าเฝ้าฯ

“อย่างเช่นเวลาพระราชทานกระบี่ เวลาพระราชทานยศนายทหาร หรือ นายตำรวจ พระราชกระแสรับสั่งที่พระราชทานเนี่ยก็ไม่ได้หนักไปใน เรื่องกลยุทธการรบราอะไร แต่หนักไปทางที่ว่าจะให้ตำรวจ ทหารอยู่กับประชาชนอย่างไร”

“ในด้านการเมืองของประเทศที่มีความผันผวนหลายครั้งหลายครา ผมอยากให้เราคิดพิจารณาว่า ถ้าไม่มีพระเจ้าอยู่หัวนี่ รัฐประหารแต่ละครั้ง สำเร็จแล้ว รัฐบาลจะเป็นอย่างไร เป็นรูปไหน ที่อื่นที่ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐประหารเสร็จเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลย เพราะมันจะไม่มีใครเป็นหลัก ของเรานี่จะเปลี่ยนรัฐบาลอย่างไร จะชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม พระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ตลอดเวลา คณะรัฐประหารทำรัฐประหารแล้ว ต้องเข้าไปขอพระราชทานพระบารมีจากพระองค์ท่านทุกครั้ง ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ เขาก็ไม่ต้องไปอาศัยใคร เขาก็มีอำนาจเป็นสิทธิขาด คิดดู ถ้ามีการเปลี่ยนผลัดกันมีอำนาจเต็มที่ ทีละชุดๆ นี่จะเกิดอะไรกับบ้านเมืองขึ้น แต่เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ มันก็เกิดความต่อเนื่อง”

แม้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดอยู่โดยรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเข้าแก้ไขวิกฤติทางการเมืองของประเทศให้ลุล่วงไปได้หลายครั้งหลายครา อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำให้ความเห็นว่า “พระราชอำนาจนั้นจำกัด แต่สิ่งที่พระราชทานได้โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญคือ พระราชดำริ ถ้าเข้าไปเฝ้า ท่านก็รับสั่งด้วยว่าอะไรควรจะเป็นอย่างไร แม้กระทั่งหลังจากที่เราผ่านวิกฤตโดมิโนมาแล้วนะ เหตุการณ์ในประเทศก็ค่อนข้างสงบเรียบร้อย แล้วเราเริ่มเข้ามาสู่ยุคใหม่ คงจะจำกันได้ว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปขอรับพระราชทานพระราชดำริ ท่านก็พระราชทานให้ว่า ต่อไปนี้ ถ้าจะให้บ้านเมืองสงบจริงๆ จะต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเป็นหลักที่ยังคงยึดปฏิบัติจนถึงวันนี้”

ในส่วนของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ให้ความเห็นว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงดำริและทรงดำเนินโครงการ อันมากมายเหล่านั้น เพื่อทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งก็ส่งผล โดยอ้อมต่อความมั่นคงของบ้านเมือง เวลานี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า พระองค์ทรงพระประชวร แต่ก็จะเห็นว่า ผู้ที่รับช่วงหน้าที่ต่อไปจาก พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็คือ พระราชโอรสและพระราชธิดา เราจะเห็นว่า แต่ละพระองค์ทรงรับภารกิจองค์ละอย่างสองอย่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรแทนพระเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนใหญ่

“ยุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปอย่างไร สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็สามารถปรับบทบาทตามสถานการณ์ได้เสมอ แม้ปัจจุบันจะมีผู้แสดงตัว ว่าไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์ มีการก้าวร้าวล่วงเกินสถาบัน ที่ดูว่ามากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องไปดูที่อื่น ไปดูที่สำนักพระราชวังวันนี้เลยก็ได้ จำนวนคนที่เข้าไปถวายพระพร ที่ไปเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวที่วังหลวง เมื่อก่อนก็ไปที่ศิริราช แต่ถึงเดี๋ยวนี้จะเปลี่ยนสถานที่แล้ว แต่ที่ศิริราช ทุกวันเสาร์จะมีการไปสวดมนต์ถวายในหลวงกันอยู่เป็นประจำ จำนวนคนที่เขายังจงรักภักดีและเลื่อมใสในพระมหากษัตริย์มันไม่ได้น้อยลงเลย ยังมากอยู่

แต่สมมติว่าเกิดจะไม่เอาสถาบันขึ้นมานะ ผมคิดว่า สถาบันก็พร้อมที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ พระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งให้ผมได้ยิน ผมเคยกราบบังคมทูลถามตรงๆ สมัยที่คอมมิวนิสต์ยังรุนแรงอยู่ว่า ถ้าสมมุติว่า เกิดบ้านเมืองไม่เอาพระเจ้าแผ่นดินขึ้นมา กลายเป็นสาธารณรัฐ พระองค์จะทรงทำอย่างไร รับสั่งตอบว่า ถ้าเช่นนั้น สาธารณรัฐนั้นก็จะมีพลเมืองเพิ่มขึ้นอีกคนชื่อ ภูมิพลอดุลยเดช รับสั่งว่าอย่างนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมองการณ์ไกล และพร้อมที่จะเผชิญสถานการณ์
__

เป็นบทสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.วสิษฐ เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งอีก 5 เดือนจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบประเทศอยู่ในบรรยากาศความโศกเศร้า และเมื่อใกล้ถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เพียงไม่กี่วัน พล.ต.อ.วสิษฐ ได้โพสต์ข้อความไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพระพุทธเจ้ามีความรู้สึกเหมือนเรือที่เครื่องยนต์ดับและหางเสือถูกทำลายเสียหาย นึกไม่ออกว่าต่อไปนี้จะทำอย่างไรกับชีวิต และจะอยู่ได้อย่างไรเมื่อไม่มีใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสียแล้ว”

“พระอัจฉริยภาพ พระมหาเมตตา และพระมหากรุณาที่ทรงมีแก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศนั้นเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์และปลาบปลื้มสำหรับข้าพระพุทธเจ้าตลอดเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใช้พระยุคลบาท และแม้เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพ้นหน้าที่นายตำรวจราชสำนักประจำออกมาแล้ว บัดนี้เมื่อเสด็จฯสู่สวรรคาลัยเสียแล้ว ใครจะเป็นคนทำต่อ? และราษฎรจะได้ใครเป็นที่พึ่งอย่างใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท?”

“วันพฤหัสบดีที่ 26 เดือนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเลือกที่จะไม่ไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพราะรู้ว่าบรรยากาศไม่เหมาะกับวัยและสุขภาพของข้าพระพุทธเจ้า แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปฏิบัติธรรม ด้วยการสวดมนต์ทำสมาธิถวายเป็นพระราชกุศลตั้งแต่วันที่ 15 จนถึงวันที่ 27

“ขอกุศลบุญราศีที่ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมา ตลอดชีวิต จงเป็นพลวปัจจัย ดลบันดาลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสำราญและทรง พระเจริญ ไม่ว่าในขณะนี้จะทรงสถิตอยู่ ณ ที่ใด ในภพใด รูปใด และนามใด และหากเป็นพระราชประสงค์ก็ขอให้ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน”