ศาลอุทธรณ์จังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง”เบส อรพิมพ์” กรณีนพดล สีดาทัน ฟ้องหมิ่นประมาทใส่ร้ายคนอีสานว่าไม่รักในหลวงเมื่อต้นปี 59
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ในเวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในกรณีที่นายนพดล สีดาทัน ฟ้องนางสาวอรพิมพ์ รักษาผล ในข้อหาหมิ่นประมาท
สรุปย่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีอาญาดำ 556/60คดีอาญาแดง 1580/60ระหว่าง นายนพดล สีดาทัน โจทก์ นางสาวอรพิมพ์หรือเบส รักษาผล
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พูดดูหมิ่นประมาท ใส่ความโจทก์และคนอีสานว่า “คนอีสานคะโปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ แปลกนะที่บางทีพวกคุณลืมในหลวง” ซึ่งเป็นทำนองว่าคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)
รวมทั้งโจทก์ ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า โจทก์ และคนอีสานทุกคนเป็นคนไม่ดี เป็นคนเนรคุณทำให้โจทก์และคนอีสานเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
ศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดขอนแก่น) วินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวมาไม่ได้เจาะจงหมายถึงโจทก์ จึงยังไม่เป็นความผิด จึงพิพากษายกฟ้อง ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยยังมิได้มีการสืบพยานหรือการไต่สวนโจทก์จึงยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า การจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการใส่ความโดยระบุผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงตัวบุคคล ก็ต้อง หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวถึงคนอีสานทั่วๆไปมิได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใด
ดังนั้นคนอีสานคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์จะเป็นคนอีสานก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้อง ศาลอุธรณ์พิพากษา ยืน ตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์
การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นการวินิจฉัยในชั้นรับคำฟ้อง โดยได้พิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า ฟ้องของโจทก์มิได้ครบองค์ประกอบของความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยได้พูดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้
แต่อย่างไรก็ตามหากข้อความที่ นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล ได้บรรยายไปมีข้อความที่หมิ่นประมาทคนอีสานทั้งหมดจริง คนที่รับฟังการบรรยายในครั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเขตภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ก็เป็นคนอีสาน
ซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าการบรรยายทั้งหมดเป็นการหมิ่นประมาทคนอีสานหรือไม่ ก็คงจะไม่นิ่งนอนใจและมีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์ แต่การบรรยายดังกล่าว เกิดขึ้น เมื่อเดือน มกราคม ปี 2559 โดยไม่มีผู้ที่รับฟังการบรรยายคนใด โต้แย้งหรือร้องทุกข์ ใดๆ
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นได้ว่า เป็นการจงใจตัดคลิป วีดีโอการบรรยายของ นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล ซึ่งตัดเฉพาะข้อความสั้นๆแล้วนำมาเผยแพร่กับสาธารณะชนทางสื่อต่างๆ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ดูคลิปที่ทำการตัดมานั้น เกิดความเข้าใจผิดในตัวนางสาวอรพิมพ์ รักษาผล
คำพิพากษาของศาลอุธธรณ์จึงเป็นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล มิได้ดูหมิ่นคนอีสาน ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปเพราะบุคคลไม่หวังดีจงใจกลั่นแกล้งและทำให้เสียชื่อเสียง