เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาช้านาน และเกี่ยวเนื่องกับขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงาม บ่งบอกถึงความผูกพันที่ชาวบ้านมีต่อสายน้ำ ใช้ขับร้องขณะพายเรือในขบวนแห่ชักพระทางน้ำ ในวันพระเสด็จ คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือในวันทอดกฐิน
วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่ผ่านมา มีความเป็นอยู่ที่ผูกพันกับสายน้ำ ซึ่งนำความชุ่มชื่นมาสู่ชีวิตให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพในการทำมาหากินและมีการคมนาคมติดต่อระหว่างกัน ในขบวนแห่พระทางน้ำนั้น จะมีการจัดตกแต่งเรือพระอย่างสวยงาม มีขบวนเรือพายลากจูงกันยาวเหยียด เรือเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น ประเภทเรือยาวซึ่งใช้สำหรับพายเรือแข่งกัน เรือสวยงาม เรือตลกขบขัน เรือแม่ค้า เรือขี้เมา ฯลฯ จะพายไปถึงที่ตามที่ตกลงกันว่าไปรวมตัวกันที่วัดไหน ขณะพายเรือไปนั้นก็ร้องรำทำเพลง พายเกาะกันเป็นกลุ่ม ๆ หยอกเอินกันไปต่าง ๆ ประกอบกับความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน แม้จะไม่มีกฏเกณฑ์ข้อบังคับมากนัก แต่ก็เป็นคำคล้องจองที่เรียบง่ายไพเราะด้วยอรรถรสจึงเป็นที่มาของ “เพลงเรือ”
ผู้เล่นเพลงเรือ ได้แก่ ทุกคนในลำเรือซึ่งเป็นเรือหญิงหรือเรือชายล้วนทั้งลำ มีผู้ร้องนำเรียกพ่อเพลงหรือแม่เพลง ส่วนฝีพายทุกคนเป็นลูกคู่ เรือลำหนึ่ง ๆ มีผู้ร้องนำและลูกคู่ตั้งแต่ ๗ คน ซึ่งเป็นเรือเล็ก ๆ จนถึง ๒๐ – ๓๐ คน สุดแท้แต่ขนาดของเรือ ในวันนั้นท้องน้ำเต็มไปด้วยเรือมากมาย เสียงขับร้องเพลงเรือดังไปทั้งลำน้ำด้วยไหวพริบปฏิภาณ ว่ากันสด ๆ สลับกับเสียงโห่ฮา ด้วยความสนุกสนานสำราญใจ
เนื้อเพลงเรือมีทั้งแบบชมโฉมและแบบชิงชู้ แบบชมโฉมเป็นการชมนาง ชมไม้ ชมความงามอื่น ๆ และพรรณนาเรื่องราวต่าง ๆ ส่วนแบบชิงชู้เป็นการร้องว่าแก้กันเป็นคู่ ๆ (คู่ลำเรือ) จะว่ากันคนละคราวหรือคนละบทก็ได้ตามความพอใจ