สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สิ้นพระชนม์ ที่เมืองนครศรีธรรมราช จริงหรือ?
ตอนที่ 1
เรื่องราวของพระเจ้าตากสิน ในประวัติศาสตร์ไทยในประเด็นการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ยังคงเป็นปริศนาและมี การถกเถียงกันมานาน ในตำราประวัติศาสตร์ที่เราได้ร่ำเรียนกันมา ได้กล่าวว่าพระองค์ทรงถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ด้วยท่อนจันทร์ เพราะมีพระสติฟั่นเฟือน นี่คือเรื่องราวที่ ถูกบันทึกไว้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หากเราจะรับรู้เรื่องราวแล้วปล่อยผ่านเลยไปด้วยความเชื่อถือ ก็คงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้น
ยังมีคนอีกมากมายไม่เชื่อว่า กษัตริย์ไทยผู้กอบกู้บ้านเมืองและเอกราชจากพม่ากลับคืนสู่แผ่นดินไทยพระองค์ นี้จะมีจุดจบในแบบที่ประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกไว้ มีเหตุผลอะไรหรือหลักฐานอะไร ที่ทำให้เชื่อว่าพระเจ้าตากสินไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนบุรี หากแต่เป็นที่เมืองนครศรีธรรมราช
๑. ความเกี่ยวพันทางสายเลือด จะเป็นสิ่งที่รู้กันดีในคนตระกูล ณ นคร ว่าต้นตระกูล
ณ นคร สืบทอดเชื้อสายมาจากพระเจ้าตากสิน โดยจากข้อมูล ของ อ.วิเชียร ณ นคร อดีตอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นครศรีธรรมราช ในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช และหนังสือ “พร้อมรำลึก” ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการทางประวัติศาสตร์หลายคน (เป็นหนังสือที่ใช้แจกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณพร้อม ณ นคร ญาติผู้ใหญ่ของตระกูล ณ นคร ที่สืบทอดเชื้อสาย สายตรงจากพระเจ้าตากสิน) ได้กล่าวว่า
“ครั้งที่อุปราชพัฒน์ (ต่อมาคือเจ้าพระยานครพัฒน์) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงทราบความว่าอุปราชพัฒน์ผู้นี้เป็นม่าย จึงได้พระราชทาน “เจ้าจอมปราง” ให้เป็นชายาของอุปราชพัฒน์ โดยเจ้าจอมปรางทรงครรภ์ได้ ๒-๓ เดือน แล้ว เมื่อได้รับพระราชทานชายาแล้วด้วยความกตัญญูต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็ยกย่องไว้เป็นนางเมือง โดยมิได้มีการยุ่งเกี่ยวกันฉันชู้สาวแต่อย่างใด ซึ่งทารกที่ติดครรภ์เจ้าจอมปรางมา เมื่อคลอดออกมาแล้ว เป็นชายชื่อน้อยก็คือพระโอรส ของพระเจ้าตากสิน ต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยานคร (น้อย) ต่อจากเจ้าพระยานคร(พัฒน์) ซึ่งเจ้าพระยานคร(น้อย) ผู้นี้นี่เองที่เป็นต้นสายตระกูล ณ นคร”
๒. บทเพลงกล่อมเด็กโบราณ ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ซึ่งบางคนร้องออกมาโดยที่ไม่รู้ความหมายก็มี ซึ่งบทเพลงกล่อมเด็กที่ว่านี้มีร้องเฉพาะที่นครศรีธรรมราช มีใจความดังต่อไปนี้
ฮาเออ
ว่าตาแป๊ะหนวดยาว
ถึงคราวสิ้นทุกข์
เอาศพใส่โลงดีบุก
ไปค้างในดอนดง
ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ
ถือฉัตรถือธง
เอาศพไปค้างในดอนดง
ค่อยปลงเมรุใหญ่เหอ
เพียงแค่บทเพลงกล่อมเด็กธรรมดาหากไม่วิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้งก็อาจมอง ไม่เห็นความเชื่อมโยง มีประเด็นจากเนื้อเพลงนำมาวิเคราะห์ได้ดังนี้
“โลงดีบุก” เป็นเครื่องยศของชนชั้นสูงของเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น เพราะดีบุกจะมีราคาแพงและเป็นของมีค่าใช้ประกอบเครื่องยศของเจ้าเมือง ประเทศราชเช่นนครศรีธรรมราชเท่านั้น
“ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ ถือฉัตรถือธง” แสดงให้เห็นว่าผู้ตายไม่ใช่สามัญชน เพราะมีเครื่องสูงอย่างฉัตรและธงมาประกอบในพิธี
“เอาศพไปค้างใว้ในดอนดง ค่อยปลงเมรุใหญ่เหอ” คำว่า “ปลง” แสดงว่าผู้ตายมียศสูง แต่ทำไมต้องเอาศพไปไว้ในป่าก่อน แล้วจึงค่อยมาเผาที่เมรุภายหลัง ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า ผู้ตายมียศเทียบเท่าเจ้าเมืองประเทศราช อาศัยอยู่ในป่าเขาก่อนที่จะย้ายศพออกมาเผา ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วจะมีความสอดคล้องกับคำบอกเล่าของท้องถิ่นที่มีมายาวนาน ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงหนีภัยการเมืองมายังนครศรีธรรมราช และเสด็จประทับที่วัดเขาขุนพนมที่อยู่ในเขตป่าเขาจนสิ้นพระชนม์
๓. สถานที่ต่างๆ ที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินในเมืองนครศรีธรรมราชทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งได้แก่
หอพระสูง โบสถ์มหาอุด แม้จะเป็นโบสถ์แต่ก็มีที่ตั้งที่มิได้อยู่ในเขตวัดแต่ประการใด ที่ตั้งของหอพระสูง จะอยู่ในบริเวณทิศใต้ของสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราชหากเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ก็คือสนามหน้าเมืองแห่งนี้เปรียบได้ดัง “ท้องพระเมรุ” (สนามหลวง) ของกรุงเทพฯ นั่นเอง คือเป็นที่ตั้งเมรุเผาศพสำหรับคนชั้นสูงของเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น และสามารถยืนยันด้วยบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าบริเวณแห่งนี้ไม่เคยเป็นวัดมาก่อน หอพระสูงหรือโบสถ์มหาอุดแห่งนี้จึงไม่ใช่ ศาสนะสถานโดยตรงแน่นอน โดยที่ตั้งของหอหระสูงในปัจจุบันได้มีบันทึกระบุไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ หรือสมัยสงคราม ๙ ทัพว่า มูลดินสูงที่เป็นที่ตั้งของหอพระสูงแห่งนี้ คือดินที่เกิดจากการขุดหลุมพรางแบบสนามเพลาะ ดินที่สูงขึ้นมาถึง ๕ วาได้ใช้ทำเป็นฐานปืนใหญ่ได้ถึง ๓ กระบอก แสดงว่าหอพระสูงถูกสร้างหลังจากนี้แต่ไม่มีบันทึกไว้แน่ชัดว่าสร้างเมื่อไร
เมื่อพิจารณารูปแบบของการก่อสร้างภายนอกก็จะพบว่า จะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๔ ด้าน หลังคาเป็นแบบทรงจีน มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ รูปทรง ๔ เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีประตูเข้าออกทางเดียวเป็นประตูลงสลักดานจากภายใน โดยรวมเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายแต่มีอิทธิพลของช่างฝีมือจีนมาปะปนอยู่มาก
ภายในหอพระสูงจะมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประดิษฐานอยู่ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “พระสูง” เป็นพระพุทธรูปที่ไม่มีโลกุตระ (ปลียอดแปดแนว) บนพระเศียร และมีจิตรกรรมฝาผนัง “ลายดอกพิกุล” หรือ “ลายดอกไม้ร่วง” ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนแต่สันนิษฐานว่าวาดประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือหลังจากนั้นเพราะจิตรกรรมฝาผนังที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติจะไม่มีการวาดก่อนหน้านี้
แล้วหอพระสูง มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างไร นอกจากคำบอกเล่าของคนนครศรีธรรมราชที่บอกต่อกันมาแล้ว คำบอกเล่าของคนในตระกูล ณ นคร ซึ่งมีเชื้อสายตรงน่าจะเป็นคำพูดที่มีน้ำหนักกว่า “หอพระสูงแห่งนี้คือที่พักพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่จัดขบวนแห่มาจากเขาขุนพนม ก่อนที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ สนามหน้าเมือง เดิมจะสร้างเป็นวิหารชั่วคราวอยู่ก่อน เมื่อเสร็จพิธีแล้วเพื่อไม่ให้ใครมาใช้สถานที่บริเวณดังกล่าวซ้ำ (เพราะเป็นที่ที่พระเจ้าแผ่นดินเคยใช้) จึงสร้างหอพระสูงค่อมไว้ โดยใต้ฐานขององค์พระสูงเชื่อกันว่ามีพระบรมอัฐิบางส่วนของพระองค์บรรจุไว้ด้วย โดยการอำพรางพระศพได้มีคำบอกเล่าจาก พระครูสมพร ลาภิโก เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช และพ่อท่านรอด เจ้าอาวาสวัดประดู่ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช (มรณภาพแล้วทั้ง ๒ รูป) ว่าบริเวณหอพระสูงได้ใช้ปลงพระศพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเจ้าพระยานคร(หนู) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งทำพิธีพร้อมกันเพื่ออำพรางพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ตอนที่ 2
ตอนที่ ๒ นี้ยังคงเป็นเรื่องของสถานที่ ที่มีความเกี่ยวพันกับสมเด็จพระเจ้าตากสินในแง่ของการเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิทั้งของพระองค์เอง และของเจ้าจอมมารดาปรางรวมถึงเจ้าพระยานคร(น้อย) พระโอรสที่ติดพระครรภ์เจ้าจอมปรางมาประสูติยังเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้ สถานที่ที่จะกล่าวถึงในประเด็นนี้มีอีก ๓ แห่ง ทุกล้วนเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิแน่นอน เพียงแต่แหล่งที่มาของพระบรมอัฐิยังคงมีข้อแย้งกันอยู่ คือ
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ พระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากถูกส่งมาจากพระนครหลังจากพระองค์ถูกสำเร็จโทษ ๒ ปี ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลกมหาราช ทรงให้ขุดพระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร มาพระราชทานเพลิงศพที่วัดอินทาราม และพระบรมอัฐิบางส่วน ได้ถูกส่งมอบอย่างลับๆ ให้เจ้าพระยานคร(พัฒน์)
ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของคนนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะคนตระกูล ณ นคร พระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาจากพิธีถวายพระเพลิงศพที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช หากเป็นไปตามความจริงข้อนี้นั่นก็หมายความว่าผู้ที่ถูกสำเร็จโทษ ณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์จริง
สถานที่เป็นที่เก็บพระบรมอัฐิอีก ๓ แห่งก็คือ
เจดีย์ดำ เยื้องหน้าวิหารหลวง วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ลักษณะเป็นเจดีย์หินสีดำ ถอดประกอบได้มี ๘ ชั้น สูงเกือบ ๓ เมตร มีรูปทรง ๖ เหลี่ยม เป็นงานผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและศิลปะจีน โดยมีภาพจำหลักชั้นล่างสุดและชั้นบนสุดเป็นรูปแข้งสิงห์ ชั้นกลางจำหลักเป็นรูปต้นไม้ลู่เอนตามลม ทั้ง ๓ ชั้นของลายจำหลักเป็นฝีมือของช่างจีน เป็นศิลปะช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจดีย์ดำแห่งนี้เชื่อว่าเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิบางส่วนของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
เก๋งจีน วัดประดู่ หรือที่เรียกกันว่า ศาลก๋งตาก ตัวตึกเป็นทรงเก๋งจีน มีลวดลายสลักที่ประตู และเชิงชาย คาน เสา เป็นฝีมือช่างจีนทั้งสิ้น แต่ภายในกลับมีเจดีย์ทรงบัว องค์เล็กๆ สูงประมาณ ๒ เมตรกว่าๆ มีลวดลายตกแต่งลวดลายแบบไทยโดยช่างฝีมือไทยเป็นที่น่าสังเกตว่าบนเจดีย์มีปูนปั้นเป็นรูปครุฑพ่าห์ และมีรูปปั้นเทวดาจตุรทิศบนส่วนยอดของเจดีย์ ตามคำบอกเล่าของพระครูปริยัติคุณาสัย หรือท่านรั่น เจ้าอาวาสวัดประดู่องค์ปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า จากบันทึกที่จดเป็นสมุดบุด ได้ระบุว่า ศาลแห่งนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นหลังผลัดแผ่นดินได้ไม่นาน ซึ่งผู้สร้างก็คือเจ้าพระยานคร ท่านรั่น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น เจ้าพระยานคร(น้อย) ที่สร้างฮวงซุ้ยรอไว้ เจดีย์บัวด้านในจึงเป็นที่บรรจุอัฐิของพระยานคร(น้อย) และพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของตระกูล ณ นคร ผิดกันตรงปีที่สร้างเท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการบูรณะ เมื่อรื้อเจดีย์บัวออกมาพบว่ามีโกศ ๒ ใบ ซึ่งเชื่อกันว่าใบหนึ่งเป็นที่เก็บเถ้าอัฐิของเจ้าพระยานคร (น้อย) และอีกใบเป็นที่เก็บเถ้าพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เก๋งจีนวัดประดู่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาเคารพสักการะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒
เก๋งจีน วัดแจ้ง สร้างไล่เลี่ยกับ เก๋งจีน วัดประดู่ ตัวตึกโดยรวมมีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ลวดลาย เก๋งจีน วัดแจ้งไม่สวยงามเท่า เป็นศิลปะสกุลช่างจีนเช่นเดียวกัน แต่ส่วนที่ต่างกันคือ เก๋งจีน วัดแจ้ง มีซุ้มประตูทางเข้าและมีกำแพงรอบเป็นมณฑล มีภาพจำหลักหินที่เหนือซุ้มประตู เป็นรูปเทวดาสวมหมวกมีเครา และลวดลายจำหลักหินรูปปลาทอง เป็นศิลปะจีนผสมกับไทย ภายในมีเจดีย์บัวเป็นศิลปะศรีวิชัย สร้างแบบย่อไม้ ๑๒ อยู่ ๒ องค์ โดยมีหลักฐานข้อความจากหนังสือที่ พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ส่งถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๒ โดยใจความสำคัญในจดหมายทำให้สรุปได้ว่า เก๋งจีนวัดแจ้ง เป็นที่เก็บอัฐิของ เจ้าจอมมารดาปราง และเจ้าพระยานคร(น้อยกลาง) รวมถึงเถ้าอัฐิของตระกูล ณ นคร ในรุ่นต่อๆ มา
เราจะเลือกเชื่ออะไร ระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าใครบันทึกกับคำบอกเล่าที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นต่อรุ่น และผู้บอกเล่ายังมีชีวิตอยู่ในยุคของเรา คงขึ้นอยู่กับ พยาน หลักฐาน และวิจารณญาณของเรา ต้องติดตามข้อมูลในตอนต่อไปให้ครบเสียก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ
ตอนที่ 3
มาถึงตอนที่ ๓ จะยังไม่กล่าวถึงสถานที่ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินโดยตรงคือเขาขุนพนม สถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองและเป็นที่สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่เรายังจะกล่าวถึงพยานบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสืบทอดเรื่องราวความลับจากบรรพบุรุษมารุ่นต่อรุ่นกันก่อน หลักฐานพยานบุคคลทางด้านประวัติศาสตร์จะดูไม่มีน้ำหนักเลย หากมีคนเพียงแค่ไม่กี่คนบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองไม่เคยได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่นี่มีคนเป็นจำนวนมาก และหลายตระกูลได้บอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินได้สอดคล้องต้องกัน เราจึงไม่สามารถที่จะละเลยเรื่องราวที่เป็นอีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นเงื่อนงำและปมปริศนารอเวลาให้เราพิสูจน์และได้ตัดสิน พยานบุคคลที่เราจะกล่าวถึงนอกจากตระกูล ณ นคร ทีได้กล่าวถึงยังมีตระกูลอื่นๆ ดังนี้
ตระกูล “ฝั่งชลจิตร” เราอาจคุ้นเคยกับตระกูลนี้ในฐานะนักเขียนที่มีผลงานเข้าชิงรางวัลซีไรท์ และนักเขียนที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด (จำลอง ฝั่งชลจิตร) แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตระกูลฝั่งชลจิตร คือทหารองครักษ์รักษาพระองค์ และคนในตระกูลฝั่งชลจิตรที่จะถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นอกตำราเรียนสู่คนรุ่นหลัง ท่านถือว่าเป็นนักประวัติศาสตร์พื้นบ้านคนสำคัญ ก็คือ คุณสมชาย ฝั่งชลจิตร ผู้ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตระกูลของตนเอง และตระกูลอื่นๆ ที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินให้คนยุคปัจจุบันอย่างพวกเราได้รับรู้กัน ผ่านบันทึกคำบอกเล่าดังต่อไปนี้
ช่วงอายุของคนในตระกูลฝั่งชลจิตรมีความเกี่ยวเนื่องกัน ๓ ช่วงอายุคน ถ้านับย้อนเวลากลับไปได้รวมเวลาแล้วก็จะได้ประมาณ ๒๐๐ กว่าปี บุคคลที่มีชีวิตอยู่ทันช่วงเปลี่ยนแผ่นดินคือทวดของคุณสมชาย ชื่อ “นุ่น” และ “เมือง” ในตอนเด็กๆ คุณสมชายได้รับคำบอกเล่าจากปู่และย่าว่า ตระกูลของเราคือพวกที่มากับ “พระเจ้าตาก” คือลี้ภัยมาแล้วไม่ยอมกลับ ทวดก็เลยตั้งรกรากที่นี่ ปู่ “เสน” จะเป็นคนที่มีรูปร่างใหญ่เหมือนคนโบราณเป็นคนอ่านออกเขียนได้ สามารถอ่านภาษาเขมรได้ ภาษาเขมรเป็นภาษาที่คนทั่วไปไม่สามารถใช้ได้ จะใช้กันอยู่ในหมู่ของพระและคนมีการศึกษาในสมัยโบราณ สันนิษฐานว่าปู่น่าจะได้รับการสั่งสอนจากทวดเพื่อให้เป็นทหารแบบโบราณ คืออาจมีการเรียนรู้วิธีรบตามแบบตำราพิชัยสงครามโบราณ ในสมัยเด็กๆ ยังจำได้ว่าที่บ้าน จะมีดาบ หอก ศัสตราวุธมากมาย ไม่ใช่เฉพาะที่บ้านแต่มีเกือบทุกบ้านในละแวกเดียวกัน ดาบจะเป็นดาบใหญ่ๆ เหมือนดาบโบราณ หอกก็เป็นหอกมีพู่ มีปลอมสวมที่ปลายหอกด้วย ในเขต อ.พรหมคีรีจะมีการใช้ภาษาลักษณะเดียวกับภาษาทางจังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง จันทรบุรี ตราด ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ สมเด็จพระเจ้าตากสินไปรวบรวมพลที่นั่น แต่จะมีข้อแตกต่างออกมาก็คือ ภาษาใน อ.พรหมคีรี จะมีความแตกต่างออกไปจนมีคำกล่าวว่า “คนพรหมคีรีพูดข้าหลวง” เช่น กินพูดว่า “เหวย” (เสวย) นอนพูดว่า “ทม” (บรรทม) มุ้งพูดว่า “กรด” คนพรหมบุรีหลายตระกูลจึงมีที่มาจากการลี้ภัยมาพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อมีการพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงมีการใช้นามสกุลที่เกี่ยวพันกับหน้าที่หรือถิ่นที่มา แทนที่จะใช้คำพื้นบ้านหรือชื่อปู่ย่ามาตั้งเป็นนามสกุล เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป
ตระกูลทหารที่มาพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินจากจันทรบุรี จะใช้คำขึ้นต้นนามสกุลด้วยคำว่า “จันทร์” เช่น จันทร์ภักดี, จันทร์ไพฑูรย์, จันทร์นาถ, จันทร์สุวรรณ เป็นต้น
ส่วนพวกที่มาจากเมืองเพชร จะใช้คำว่า “เพชร” หรือ “คีรี” กลุ่มทหารจากเพชรบุรีจะเป็นทหารในป่าหรือในเขาเสียส่วนมากนามสกุลจึงมีคำว่า “คีรีอยู่เป็นส่วนใหญ่ เช่น คีรีเพชร, คีรีนาถ, คีรีกัณฑ์, คีรีคช เป็นต้น
ตระกูลที่รับใช้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ ตระกูล “ฝั่งชลจิตร และ ตระกูล “พูลพิพัฒน์” เกี่ยวข้องกับการรักษาพระองค์ คือ “ฝั่งชลจิตร” จะเป็นทหารเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือ “พูลพิพัฒน์” จะเป็นทหารม้า
ตระกูลที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ จะใช้ชื่อตระกูลว่า “โมราศิลป์” ฯลฯ
ตระกูลที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ จะใช้ชื่อตระกูลว่า “ชูประสูติ” หรือ “ชูโอสถ”
ตระกูลที่มาจากระยอง จะใช้ชื่อสกุลว่า “ชัยเมืองยอง” เพราะแม่ทัพที่มาจากระยองมีชื่อว่า “ชัย” จึงใช้นามสกุลว่า “ชัยเมืองยอง”
ส่วนตระกูลที่รับใช้ใกล้ชิดพิเศษ มีหน้าที่เป็นมหาดเล็กรับใช้ คอยถือฉัตรถือกรด จะใช้นามสกุลว่า “กรดกางกั้น”
ตอนที่ 4
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหลบหนีจากกรุงธนบุรีมาสู่เมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างไร?
คำถามหนึ่งที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ต่างกังขาก็คือ หากสมเด็จพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราชจริงแล้ว พระองค์เสด็จหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างไร เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ย้อนเวลาไปนานมากๆ ย่อมไม่มีใครเคยได้เห็นเหตุการณ์จริง ส่วนใหญ่เราก็รู้จากหลักฐานต่างๆ แล้วนำมาประมวลแค่นั้น โดยเฉพาะเรื่องราวของการแย่งชิงอำนาจ ส่วนใหญ่ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์และเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครรู้เห็นแล้วมีใครกล้ายืนยันได้บ้างว่า มีเนื้อหาเป็นกลาง และเป็นความจริงถูกต้องทั้งหมด จริงๆ แล้วเรื่องราวจากปากคำของ คุณสมชาย ฝั่งชลจิตร เป็นคำบอกเล่าของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองถือเป็นความลับที่ห้ามแพร่งพรายสู่คนนอกตระกูลยกเว้นในบรรดาเหล่าตระกูลทหารที่หนีมาด้วยกันเพราะสมัยก่อนถือเป็นการซ่องสุมกำลังมีโทษประหารสถานเดียว แต่เมื่อระบอบการปกครองเปลี่ยนจึงเริ่มมีการบอกเล่าสู่คนนอกตระกูล เมื่อรับรู้เรื่องราวจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตแล้ว ขอเชิญท่านนำมาไตร่ตรอง แล้วหาข้อสรุปดูว่าระหว่างบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต กับบันทึกทางประวัติศาสตร์แบบเดิมเราจะเชื่อใคร
ลองมาดูกันว่าจากปากคำของคุณสมชาย ฝั่งชลจิตร ผู้สืบทอดเรื่องราวจากบรรพบุรุษ ถึงการเสด็จลี้ภัยการเมืองมาทรงปักหลักที่เมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร
เรื่องราวที่เล่าสืบกันมาในตระกูล “ฝั่งชลจิตร” ซึ่งเป็นทหารองครักษ์ของพระเจ้าตาก จะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะมีการกระทำที่สะเทือนกับบัลลังก์ ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน สรุปก็คือมีการเตรียมการที่จะหนีไว้ล่วงหน้า บุคคลสำคัญที่มีส่วนให้การเสด็จหนีเป็นไปได้โดยราบรื่นคือพระยาพิชัยดาบหัก เมื่อส่งเสด็จถึงปากน้ำขึ้นเรือสำเภาจีนแล้ว ตัวท่านเองกลับไปเพื่อยอมถูกประหารเพื่อหน่วงเวลาไว้ให้การเสด็จหนีลุล่วงไปด้วยดี ในการหลบหนีนั้นมีการวางแผนมาอย่างดี มีกองกำลังคอยระวังหลัง มีทหารรักษาพระองค์แบบประชิดตัว มีกองเรือมาส่งที่เรือสำเภาจีนที่จะล่องลงมลายู มีกองเรืออารักษ์ และมีทหารเดินเท้าตามมาสมทบ ซึ่งเรือนี้ต้องแวะตามที่ต่างๆ และคอยสั่งสมเสบียงกักตุนไว้
เนื่องจากในสมัยโบราณคนที่มีโอกาสเห็นหน้าของพระเจ้าแผ่นดินมีน้อยมาก เพราะมีกฎที่ว่าหากใครมองหน้าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องถูกยิงตาด้วยธนู เพื่อให้เหตุการณ์การผลัดแผ่นดินครั้งนี้จบลงโดยเร็วและเป็นที่ยอมรับของบรรดาหัวเมืองต่างๆ จึงมีการจัดฉากเอาคนที่อาจเป็นทหารของสมเด็จพระเจ้าตาก มาประหารแล้วรีบฝังโดยเร็วที่สุด ให้คนได้รับรู้ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์เก่าสิ้นพระชนม์แล้ว (ภายหลังจากนั้น ๒ ปีจึงมีการขุดพระบรมศพขึ้นมาประกอบพิธี) ในสภาพที่มีคนน้อยคนที่เคยได้เห็นหน้าของพระเจ้าแผ่นดินแบบนี้จึงไม่มีทางรู้เลยว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์จริงได้สิ้นพระชนม์แล้วจริงหรือไม่โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกลตามหัวเมืองก็จะรับรู้ว่ามีการผลัดแผ่นดินเท่านั้น
หากสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จหนีไปยังเมืองนครศรีธรรมราชได้จริงยังมีข้อสงสัยว่า หากสมเด็จพระเจ้าตากสินพระองค์จริงไม่ได้ถูกประหาร จะมีการติดตามจากเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ร.๑) หรือไม่ ใช่ว่าจะไม่มีการติดตาม แต่ทางทหารของสมเด็จพระเจ้าตากได้มีการเตรียมการตั้งรับไว้แต่เนิ่นๆ แล้ว การเดินทัพเพื่อมาติดตามสมเด็จพระเจ้าตาก ที่นครศรีธรรมราชถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอยู่ในฐานะเมืองประเทศราช เป็นเมืองใหญ่ มีกองทัพที่พร้อมรบได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถเกณฑ์กำลังจากหัวเมืองในสังกัดได้อีกเป็นจำนวนมาก มีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง รวมกับทหารที่มาพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินอีกจำนวนมาก ประกอบกับการติดพันในการกำจัดทายาทของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และติดพันกับการรบกับเขมร และพม่า ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือ สงคราม ๙ ทัพ จึงทำให้ไม่สามารถติดตามได้โดยสะดวก
เส้นทางและรายละเอียดของเขาขุนพนมและบริเวณโดยรอบ
หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขึ้นสำเภาจีนที่ปากน้ำแล้ว เมื่อมาถึงเมืองนครศรีธรรมราชได้เสด็จมาประทับที่ เขาขุนพนมได้อย่างไร
มิใช่เสด็จหนีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการวางแผนตั้งรับหากถูกติดตาม เมื่อถึงยังนครศรีธรรมราช ได้เสด็จเข้าทางปากน้ำปากพูน ลงเรือกำปั่นเล็กล่องไปตามคลอง และหยุดสรงน้ำในคลองสายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดเรียกกันว่า “วัดน้ำสรง” ถัดเข้ามาอีกหน่อย จะมีการตั้งกองกำลังเป็นหน่วยเฝ้าระวังภัย ปัจจุบันเป็นวัดชื่อว่า “วัดโรงฆ้อง” คือจะมีการตั้งกลอง ฆ้องขนาดใหญ่ไว้คอยส่งสัญญาณเมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามา เพื่อให้ทหารหน่วยที่อยู่ลึกเข้าไปได้เตรียมการต่อสู้ได้ทัน ถัดเข้าไปยิ่งใกล้ “เขาขุนพนม” จะมีการวางกองกำลังไว้เป็นทัพหน้า ปัจจุบันคือ “วัดโยธาธรรม” บริเวณนี้จะมีการตั้งกองกำลังหลักไว้มีทหารประจำการอยู่มากที่สุด โดยให้ตั้งเป็นหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน มีการผลัดเปลี่ยนเวรยามกันตลอด และบริเวณนี้เองที่มีการพบอาวุธโบราณมากที่สุด เรียกได้ว่าพบได้ทุกครัวเรือนในแถบนั้น
คุณสมชาย ฝั่งชลจิตรได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกเขาขุนพนมเป็นที่ประทับลี้ภัยทางการเมืองมีเหตุผลสำคัญดังต่อไปนี้
๑. ความเกี่ยวพันทางสายพระโลหิตกับผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่ทราบกันในตอนที่ผ่านมากันแล้วว่า พระองค์ทรงมอบหม่อมปรางให้กับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ซึ่งได้ให้กำเนิดบุตรที่ติดครรภ์ออกมาซึ่งก็คือเจ้าพระยานคร(น้อย) ในเวลาต่อมา
๒. การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกที่จะไปประทับอยู่ที่เขาขุนพนมแทนที่จะเป็นตัวเมืองนครศรีธรรมราชก็เพราะ เป็นพระองค์ต้องการความสงบเพื่อการปฏิบัติธรรม และไม่ต้องการให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะพระองค์
๓. “เขาขุนพนม” ที่อยู่ไกลจากตัวเมืองก็จริงแต่มีชัยภูมิที่เหมาะ กล่าวคือ เส้นทางเดินเรือสมัยก่อนจากปากน้ำปากพูนที่เป็นท่าเรือขนาดใหญ่สามารถออกทะเลได้ มีคลองเล็กคลองน้อยที่แตกสาขาออกมา ในบริเวณเขาขุนพนมเองก็มีคลองที่สามารถเชื่อมถึงกันได้กับคลองที่แตกสาขามาจากปากน้ำปากพูน คือสามารถเดินเรือได้ง่าย
–
———————————————————————————————————-
หากได้ฟังเพลง “กุ.ว่าพระเจ้าตากถูกทุบด้วยท่อนจันทน์– คาราบาว” ก็อาจจะพอให้ รู้ได้โดยง่ายว่า ต้นสายปลายเหตุของคำโกหก ของคนบางกลุ่ม ที่ใส่ร้ายพระเจ้าตากสินมหาราชมาโดยตลอด…
เนื้อเพลง: กุว่าพระเจ้าตากถูกทุบด้วยท่อนจันทน์
ศิลปิน: แอ๊ด คาราบาว
กุว่าพระเจ้าตากถูกทุบด้วยท่อนจันทน์
กุว่าท่านฟั่นเฟือนวิกลจริต
กุว่าราษฎรแค้นเคืองหมายเอาชีวิต
มีใครบ้างที่คิดว่ามันเป็นเรื่องใส่ไฟ
แต่มีคนหลายคนไม่เคยคิดหลงเชื่อ
เช่นว่าท่านลงเรือหลบไปอยู่ใต้
ทั้งวิกลจริต ทุบท่อนจันทน์ นั้นอุบาย
เพราะไม่อาจชดใช้หนี้ก่อนไยให้เมืองจีน
ทำไมถึงต้องใส่ร้ายกับผู้มีคุณ ต่อบ้านเมืองเพียงนี้
คุณงามความดีตราบถึงวันนี้ลูกหลาน สมควรจดจำ
วีรกรรมกู้ชาติเป็นความองอาจใน ประวัติศาสตร์สยาม
สร้างบ้านแปลงเมืองจนเรืองนาม
กลับจบด้วยคำถามที่ยังคอยคำตอบ
ทำไมถึงต้องใส่ร้ายกับผู้มีคุณ ต่อบ้านเมืองเพียงนี้
คุณงามความดีตราบถึงวันนี้ลูกหลาน สมควรจดจำ
วีรกรรมกู้ชาติเป็นความองอาจใน ประวัติศาสตร์สยาม
สร้างบ้านแปลงเมืองจนเรืองนาม
กลับจบด้วยคำถามที่ยังคอยคำตอบ
กุว่าพระเจ้าตากถูกทุบด้วยท่อนจันทน์
กุว่าท่านฟั่นเฟือนวิกลจริต
กุกันเข้าไปกุ กุให้ร้าย กุให้ผิด
กุจนเป็นคำฮิตจาก ก ศ ร กุหลาบ กุเรื่องกุราว
ผู้ใดสนใจในข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระเจ้าตากสินมหาราช และสายสกุล ณ นคร ที่น่าเชื่อถือ ขอแนะนำ เข้าชม เว็บไซน์ของมูลนิธิ สกุล ณ นคร และ สมาคม ณ นคร
http://www.ณนคร.com/
http://nanagara.net/