สหรัฐฯในวันจันทร์(18ธ.ค.) ใช้สิทธิ์วีโต้ร่างมติของสหประชาชาติ ที่ปฏิเสธการตัดสินใจรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอีก 14 ชาติที่เหลือยกมือสนับสนุนมาตรการดังกล่าว
การวีโต้โดยนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ ตอกย้ำให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของวอชิงตัน อันมีต้นตอจากถ้อยแถลงของทรัมป์ที่บอกว่าจะย้ายสถานทูตอเมริกาจากเทล อาวีฟ ไปยังเยรูซาเลม เพิกเฉยต่อคำกล่าวอ้างของชาวปาเลสไตน์ ที่ต้องการให้ฝั่งตะวันออกของเมืองแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต
พันธมิตรหลักของสหรัฐฯ อย่างอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่นและยูเครน ต่างเป็นหนึ่งใน 14 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ที่สนับสนุนมติดังกล่าว ซึ่งย้ำว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลม ไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่มีค่า เป็นโมฆะและต้องล้มเลิก
ร่างมติดังกล่าวซึ่งอียิปต์เป็นผู้ผลักดัน ยืนยันว่าปัญหาเกี่ยวกับเยรูซาเลมเป็นประเด็นที่ต้องคลี่คลายผ่านการเจรจาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลมเมื่อเร็วๆนี้ โดยไม่ได้พาดพิงถึงความเคลื่อนไหวของทรัมป์โดยตรง
สหรัฐฯ, อังกฤษ, จีน, ฝรั่งเศส และรัสเซีย เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีสิทธิ์วีโต้มติใดๆที่นำเสนอต่อคณะมนตรีฯ
สมาชิกแต่ละประเทศมีสิทธิออกเสียง 1 เสียง ถ้าเป็นข้อตัดสินใจในเรื่องระเบียบงานธรรมดา การลงคะแนนเสียงรับต้องได้อย่างน้อย 9 เสียง ถ้าเป็นในเรื่องสาระสำคัญ คะแนนเสียงรับ 9 เสียง จะต้องมีของสมาชิกถาวรทั้ง 5 รวมอยู่ด้วย ในกรณีสมาชิกถาวรประเทศใดประเทศหนึ่งออกเสียงคัดค้านถือว่าเป็นการใช้สิทธิยับยั้งอันจะมีผลทำให้เรื่องนั้นๆ ตกไป ในทางปฏิบัติการงดเว้นออกเสียงและการไม่เข้าร่วมประชุมไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิยับยั้ง
นิกกี เฮลีย์ ในวันจันทร์(18ธ.ค.) ประณามมติของสหประชาชาติในครั้งนี้ว่า “ดูหมิ่น” หลังจากใช้สิทธิ์วีโต้ โดยบอกว่า “สหรัฐฯจะไม่ยอมให้ประเทศไหนๆมาชี้นิ้วสั่งว่าสถานทูตของเราควรตั้งอยู่ที่ใด”
“สิ่งที่เราเห็นในวันนี้คือการดูหมิ่นดูแคลนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เราจะไม่มีวันลืมเลย” เฮลีย์กล่าว “มตินี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสหประชาชาติทำในสิ่งที่เป็นภัยมากกว่าสิ่งดี ในด้านจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์”
อย่างไรก็ตามในส่วนของรัฐบาลปาเลสไตน์ก็โวยวายสวนกลับสหรัฐฯเช่นกัน โดยโฆษกของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส บอกว่าการที่อเมริกาใช้สิทธิ์วีโต้มติของยูเอ็นนั้น “เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และคุกคามเสถียรภาพของประชาคมนาชาชาติ เนื่องจากสหรัฐฯไร้ซึ่งความเคารพต่อประชาคมนานาชาติ”
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ทำลายความเป็นเอกฉันท์ของนานาชาติ ด้วยการแถลงว่าจะรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและย้ายสถานทูตอเมริกาไปยังเมืองดังกล่าว ความเคลื่อนไหวที่กระพือเหตุชุมนุมประท้วงและเสียงประณามอย่างดุเดือด
ในมติของยูเอ็นเมื่อวันจันทร์(18ธ.ค.) ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศระงับการเปิดสถานทูตในเยรูซาเลม สะท้อนถึงความกังวลว่ารัฐบาลประเทศอื่นๆอาจเดินตามรอยเท้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังร้องขอสมาชิกทุกประเทศไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่สวนทางกับมติของยูเอ็นเกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลม