วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

สายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ในการวางรากฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุขไทย (ตอนที่ 2)

ยุครุ่งเรืองของวิชาการแพทย์และการสาธารณสุขไทย

หลังจากที่ประเทศไทยผ่านยุคสมัยของการวางรากฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี จนก้าวเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่นับได้ว่า เป็นยุครุงเรืองของวิชาการแพทย์และการสาธารณสุขไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างช่วยกันทรงงานด้านนี้กันอย่างแข็งขัน เป็นแรงสนับสนุนให้งานด้านการแพทย์และสาธารณสุขกระจายครบทุกจังหวัด ทุกพื้นที่

สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความห่วงใยประชาชนชาวไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านสุขภาพอนามัย โดยทรงเคยมีพระราชดำรัสที่ว่า

“ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง”

ดังนั้นในรัชสมัยของพระองค์จึงได้ทรงได้ริเริ่มหลายโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ตรวจและรักษาคนไข้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2512 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการชาวเขา และทรงพบว่าราษฎรที่มารอรับเสด็จป่วยเป็นไข้กันมาก  โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้าน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง

โครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2510 เพื่อตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และถ้าจำเป็นก็จัดส่งไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม และในท้องถิ่นต่างๆ ที่ห่างไกลตัวเมืองมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาราษฎรในท้องถิ่นกันดาร

โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ หรือ โครงการที่ทรงศึกษาปฏิบัติส่วนพระองค์กับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่างๆ เมื่อได้ผลดีแล้วจึงทรงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน โดยโครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์นี้ เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส นิคมนี้มีสถานีอนามัยเพียงแห่งเดียว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดแพทย์หมุนเวียนเข้าไปบริการตรวจรักษา แพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล นราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกไปปฏิบัติการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เป็นประจำ

หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงมีพระราชปรารภว่า

“เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า”

ในเวลาต่อมา ทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี
พระองค์ทรงรับสั่งว่า

“การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสแก่ทันตแพทย์สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

“ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท”

หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงก่อกำเนิดขึ้น โดยทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทำฟัน มีทันตแพทย์อาสาออกปฏิบัติงาน เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2512 โดยมี ทันตแพทย์ สี สิริสิงห์ เป็นหัวหน้าทีม เพื่อส่งทันตแพทย์อาสาสมัครออกช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันแก่เด็ก นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่ทุรกันดาร

โครงการแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 เนื่องจากทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคหู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยแพทย์อาสาสมัครผลัดกันออกไปปฏิบัติหน้าที่ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐาน โดยอาศัยแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รามาธิบดี ราชวิถี โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม ผลัดเปลี่ยนกันมาปฏิบัติราชการชุดละ ๒ สัปดาห์เริ่มที่จังหวัดนราธิวาสก่อน ต่อมาขยายการปฏิบัติงานไปที่จังหวัดสกลนคร และที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ ทรงเห็นว่าความเจ็บป่วยของราษฎรเกิดจากการไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง ประกอบกับไม่มีสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ โดยคัดเลือกคนในหมู่บ้านรับการฝึกอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การรักษาโรคอย่างง่าย เพื่อสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้ โดยในปี พ.ศ. 2517 เริ่มบรรเทาความเจ็บปวดของราษฎรที่นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 


แพทย์อาสาของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์

สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ หรือ สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ พยาบาลและการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพ โดยทรงเจริญตามรอยยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข” ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้จำนวนมาก

ดังนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว แม้ว่าการอภิบาลพระโอรสธิดาให้มีพลานามัยและการศึกษาที่ดีจะเป็นพระราชภารกิจที่ต้องให้เวลาและความเอาใจใส่ดูแลถี่ถ้วนอย่างมาก แต่สมเด็จย่าก็ทรงมีเวลาให้แก่การแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขเสมอ โดยผู้ใดที่เคยได้รับพระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระบรมราชชนก ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานต่อไปจนสำเร็จการศึกษา  นอกจากนี้ ได้พระราชทานเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับเก็บดอกผลส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน

เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2488 สมเด็จย่าได้ทรงนำยาที่เรียกว่า PAS เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ยานี้ใช้ในการผลิตวัคซีนบีซีจี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคให้ร่างกาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทย มิให้ต้องเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2494 สมเด็จพระปิโยรสพระองค์เล็กได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกสำหรับผลิตบีซีจี ซึ่งเป็นยาฉีดให้แก่เด็กเพื่อป้องกันวัณโรค พระราชทานนามตึกนี้ว่า มหิดลวงศานุสรณ์

ใน พ.ศ. 2503 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง “อาคารศรีสังวาลย์” ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ โดยทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ในวันที่ 21 สิงหาคม 2510 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนของมูลนิธิมาส่งเสริมกิจการต่างๆ ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อนจังหวัดลำปางด้วย

แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี นับแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา เมื่อครั้งที่สมเด็จย่าเสด็จประพาสหัวเมืองเยี่ยมพสกนิกร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกขเวทนาของราษฎรตามสถานที่เหล่านั้นยามเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคพยาธิ โรคผิวหนัง ไข้ป่า ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป แต่มักจะเสียชีวิตเพราะไม่มีบริการทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สมเด็จย่าจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก พระราชทานนามว่า “แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี” มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ พอ.สว. นี้ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงหรือเงินเดือน เดินทางไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดารในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โดยรถยนต์ เรือหรือเฮลิคอปเตอร์ เป็นการประจำ เพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วยและแนะนำให้ความรู้เรื่องการอยู่อย่างถูกสุขลักษณะแก่ประชาชนทั่วไป


ใน พ.ศ. 2516 สมเด็จย่าได้ทรงเริ่มทดลองใช้วิทยุรับ – ส่ง ให้แพทย์ใช้ติดต่อกับคนไข้โดยตรงตามสถานีอนามัยที่อยู่ห่างไกล เพื่อปรึกษาโรคและนำการรักษาตามแนวปฏิบัติของ The Royal Flying Doctor of Australia ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้สนับสนุนทุนให้นายแพทย์มณเฑียร บุนนาค เดินทางไปดูงานเมื่อ พ.ศ. 2515 เมื่อทรงเห็นว่าจะเป็นงานที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทได้ และเป็นการติดต่อกันได้ทุกวันทุกเวลาเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น การตรวจรักษาทางวิทยุ ประกอบด้วยสถานีแพทย์ทางอากาศ 2 ระดับ คือ สถานีโรงพยาบาล และ สถานีรักษา ส่วนใหญ่ใช้สถานีอนามัยชั้น 2 ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล อยู่ในเขตกันดารที่การคมนาคมไม่สะดวก สถานีโรงพยาบาลและสถานีรักษาจะติดต่อสื่อสารกันทางวิทยุให้แพทย์ติดต่อกับคนไข้ที่อยู่ห่างไกลได้โดยตรง เพื่อปรึกษาโรคและแนะนำการรักษา เรียกว่า “แพทย์อาสาฯ ทางอากาศ”

ด้วยพระราชดำริในข้อนี้ ทำให้สามารถสื่อสารติดต่อรับส่งข่าวสารติดต่อรับส่งข่าวสารด้านการบริการสาธารณสุขได้ดียิ่ง งานธุรการและการส่งกำลังบำรุงทำได้รวดเร็ว เพิ่มพูนประสิทธิภาพของงานสาธารณสุขอย่างเห็นได้ชันเจน ปัจจุบันหน่วยแพทย์อาสาฯ ทางอากาศมีสถานีวิทยุรวม 446 สถานี เป็นสถานีโรงพยาบาล 130 สถานี สถานีรถพยาบาล 56 สถานี สถานีรักษา 235 สถานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 25 สถานี สถานีสนับสนุน 5 – 11 สถานี ระบบการสื่อสารทางวิทยุ พอ.สว. ใช้วิทยุความถี่ VHF/FM และมีระบบเชื่อมโยงโดยใช้เครื่องถ่ายทอดสัญญาณและตัวเชื่อมเข้ากับโทรคมนาคม มีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนภูมิภาค 25 จังหวัด สถานีทำการส่วนกลางคือ สำนักงานกลาง พอ.สว. วังสระปทุม ได้ปฏิบัติการปรึกษาโรคและแนะนำการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่าล้านคน

ใน พ.ศ. 2517 สมเด็จย่าโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท จดทะเบียนหน่วยแพทย์อาสาเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เพื่อให้การดำเนินงานของ พอ.สว. มีรากฐานมั่นคง และสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นนายิกากิตติมศักดิ์ด้วยพระองค์เอง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง 


มูลนิธิขาเทียมและการสานต่อพระราชกิจของสมเด็จพระราชชนนี

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สมเด็จย่าโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง มูลนิธิขาเทียม ขึ้น โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุน 500,000 บาท และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานสมทบอีก 750,000 บาท มูลนิธิฯ ได้จัดทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาดไปแล้วกว่า 2,560 คน ใน 26 จังหวัด ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากการสานต่องาน มูลนิธิขาเทียม แล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเป็นประธานของมูลนิธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียว รวมทั้งมูลนิธิโรคไต และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล

และยังได้ทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่าง ๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน ท่านยังมีพระเมตตาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คน ตามเสด็จไปออกหน่วยเคลื่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เมื่อปี 2545 ด้วย

ยุคสาธารณสุขเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อสร้างความสุขแก่ปวงประชา โปรดเกล้าฯ  ให้ดำเนิน “โครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนตระหนักในการทำดีเพื่อประเทศชาติโดยไม่หวังผลตอบแทน และในด้านการสาธารณสุขนั้น พระองค์ทรงดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร

“ให้เน้นที่คุณภาพของการให้บริการประชาชน ไม่ต้องไปเน้นที่ปริมาณ”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสตอบ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เมื่อครั้งเป็น รมว.สาธารณสุข (2536-2538) ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างโรงพยาบาลให้มีจำนวนเท่ากับพระชนมายุของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทางด้านการสาธารณสุขตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร โดยปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไปประเทศไทย นอกจากจะทรงมีพระราชดำริแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอีกด้วย

โครงการนี้เริ่มต้นในรัฐบาล ศ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ที่ได้จัดสรรงบประมาณร่วมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคทรัพย์ จัดตั้งกองทุนจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2520 และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2522 เป็นที่ครั้งแรก โรงพยาบาลแห่งนี้ มีนายแพทย์ชัยวุฒิ บัณฑิต เป็นผู้อำนวยการคนแรก ปัจจุบันโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มีอยู่ทั่วประเทศไทยมากถึง 21 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช และวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระราชทานเงินจำนวน 2,407 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นเงินที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ เพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งนำไปใช้เพื่อสาธารณกุศลต่อไป 


เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ และพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์

จากพระปณิธานของ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี เมื่อแรกตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ความว่า

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐานโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยที่สร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเองพร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่นและด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิต ในสังคมอีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไรโดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้วยโอกาสเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ”

ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา และพระกรุณาธิคุณใน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับโอกาส และคุณประโยชน์จากโครงการต่างๆ ในพระดำริเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะโครงการในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ อันได้แก่

• ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและการบริการทางด้านการแพทย์และสุขภาพ

• สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่เน้นผลิตองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยเฉพาะ

• ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ (Cyclotron and PET Scan) ที่ให้บริการในการตรวจด้านเภสัชรังสี เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้น ๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ สามารถวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ

• โครงการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดําริ ณ พระตำหนักพิมานมาศ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการวิจัย พัฒนาเภสัชภัณฑ์สําหรับผู้ป่วยมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงความรู้และประสานความร่วมมือ ด้านเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์กับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสําหรับรักษาโรคมะเร็งใช้ได้ด้วยตนเอง

จากพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงช่วยกันวางรากฐานงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขมาโดยตลอดกว่า 100 ปี เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนประชาชนชาวไทยได้ดีว่า ท่ามกลางการเผชิญวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ทำไมประเทศไทยจึงรับมือวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกเหนือจากความสามารถของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยจะมีคุณภาพไม่เป็นสองรองใครแล้ว การวางรากฐานที่ดีทางด้านสาธารณสุขของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเป็นคำตอบที่คนไทยได้ประจักษ์ชัดด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติมให้มากความ


#RoundtableThailand
roundtablethailand.com
#กษัตริย์มีไว้ทำไม


ข้อมูลอ้างอิง

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/hospital/history/
https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajhospital/history.php
https://www.lib.ru.ac.th/journal/oct/oct23_ck_index_2.html
https://www.matichon.co.th/columnists/news_111220
https://www.matichon.co.th/court-news/news_391696
https://www.hfocus.org/content/2019/12/18186
http://www.somdet.go.th/public/his_som.html
https://www.hatyaifocus.com
http://www.theprincessmothermemorialpark.org/page.php?id=7
http://culture.pn.psu.ac.th/galyani/พระกรณียกิจสมเด็จพระเจ/
http://nih.dmsc.moph.go.th/jariyatam/home5.html
http://www.theprincessmothermemorialpark.org/page.php?id=7
http://www.pccnst.ac.th/pcshsnst/princess-chulabhorn/
https://www.cra.ac.th/index.php/info/history/