วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

หยุดอยากเมื่อไร หยุดเกิด เมื่อนั้น โดย พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร

บทความน่าอ่าน ‘หยุดอยากเมื่อไร หยุดเกิด เมื่อนั้น’ ของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ในนิตยสาร Secret ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน 2554 ได้เล่าประสบการณ์ทางธรรมที่ท่านปฏิบัติลด-ละ-เลิก อบายมุขทั้งหมดขณะเป็นนายตำรวจราชสำนัก ถวายความปลอดภัยของพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์
หยุดอยากเมื่อไร หยุดเกิด เมื่อนั้น

เพราะความอยากจึงนำพามาให้เกิด เมื่อหยุดอยากก็เท่ากับ หยุดเกิด ธรรมะดี ๆ และประสบการณ์ชีวิต และประสบการณ์ทางธรรมของพลตํารวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร

เคยมีคนถามผม (วสิษฐ เดชกุญชร) ว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดที่ได้มาจากการเป็นนายตํารวจราชสํานักประจําคืออะไร ผมตอบกลับไปโดยไม่ลังเลเลยว่า “ธรรมะ”

ก่อนเข้าไปอยู่ในวังชีวิตของผมลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนนายตํารวจธรรมดาทั่วไป กลางวันทํางาน กลางคืนกินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่อยู่กับอบายมุขทุกเมื่อเชื่อวัน

กระทั่งเมื่อได้ไปเป็นนายตํารวจราชสํานักประจํา ผมก็เริ่มตระหนักว่า หน้าที่ใหม่ของตัวเองคือการถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่สําคัญมาก เพราะหากผมทําหน้าที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจะกระเทือนไปถึงเมืองไทยทั้งประเทศ ผมจึงเริ่มปฏิรูปและปฏิวัติตัวเองด้วยการ ลด-ละ-เลิก อบายมุขทั้งหมด

แรกที่ผมเข้าไปอยู่ในวัง หลังลงจากเวรดึกแล้ว ผมมักเห็นภาพข้าราชการพลเรือนทั้งนายตํารวจและทหารนั่งสมาธิบนเตียงกันเป็นแถวประหนึ่งว่าอยู่ในวัด พอถามถึงสาเหตุของการทําเช่นนั้น ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่ทําเพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติธรรม ทุกคนเลยพลอยทําด้วย

ตอนแรกผมนึกขําคิดว่าเขาคงนั่งกันเอาพระทัยท่านหรือเปล่า กระทั่งมีเหตุให้ตัวเองได้ลองปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ทันได้คาดคิดมาก่อน เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางรถไฟจากกรุงเทพฯไปภาคใต้…รถไฟจะต้องออกจากสถานีจิตรลดาเวลา 16.30 น. แต่ว่าแม้ว่าฟ้าจะมืดแล้วรถไฟก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะมีคนมากมายมารอชมพระบารมีตามรายทาง นายทหารราชองครักษ์ที่ตามเสด็จจึงนั่งสมาธิฆ่าเวลาในขณะที่ผมเองไม่รู้จะทําอะไร

นั้นผมจึงนึกครึ้ม ทดลองปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิจนจิตสงบ… ทําให้ได้คําตอบว่าทําไมข้าราชบริพารทุกคนจึงพากันนั่งสมาธิ ตั้งแต่นั้นมาผมเริ่มปฏิบัติธรรมทุกวัน และค้นหาตําราธรรมะของครูบาอาจารย์มาอ่านเพื่อประดับความรู้… เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบท่านก็พระราชทานหนังสือและเทปธรรมะมาให้อ่านและฟัง

ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปต่างจังหวัด หนึ่งในหน้าที่สําคัญของนายตํารวจราชสํานักประจําคือ ออกลาดตระเวนพื้นที่เพื่อศึกษาเส้นทางและสถานการณ์โดยมีภารกิจเสริมคือ คอยหาข้อมูลว่าจังหวัดที่ท่านเสด็จฯนั้นมีพระสําคัญอยู่ที่วัดใด เมื่อทราบแล้วจึงไปกราบบังคมทูล และนําเสด็จท่านไปที่วัดเหล่านั้น เพราะฉะนั้นในยุคที่ผมทํางานอยู่ในวัง ผมจึงมีโอกาสได้พบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์มากมาย

ครั้งหนึ่งผมมีความทุกข์ใจอย่างมาก จึงไปกราบท่านอาจารย์ชา สุภัทโท ที่วัดหนองป่าพง อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไปถึงผมก็ระบายความในใจให้ท่านฟัง หลวงพ่อชาก็ชี้ไปที่ก้อนหิน ก้อนใหญ่ขนาดเก้าอี้ที่วางอยู่ข้างกุฏิ แล้วถามว่า “ยกไหวไหม” ผมตอบกลับซื่อๆว่า “ถ้าให้กลิ้งพอไหว แต่ยกคงไม่ได้” ท่านจึงเทศน์สอนมาว่า “จําไว้ รู้ว่าหนักอย่ายก…วางเสีย” …เพราะครูบาอาจารย์เหล่านี้นี่เองทําให้ผมเข้าใจสภาวธรรมหรือความทุกข์มากขึ้น และสามารถยอมรับทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาได้

ทุกวันนี้ผมอยู่ได้อย่างมีความสุขเพราะทุกข์น้อยลงและเข้าใจสัจธรรมของความทุกข์ว่า ความทุกข์คือสิ่งที่เราไม่สามารถบังคับบัญชาได้ว่าจะให้มาหรือไปเมื่อไรอย่างไร… พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้ามีทุกข์ ต้องดับที่เหตุคือตัณหา ดังนั้นสิ่งที่เราควรทําเมื่อมีทุกข์คือ ต้องปล่อย มันไป แล้ว ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปดิ้นรน…

“ไม่เข้าไปยุ่ง” อย่างไร…ไม่เข้าไปยุ่งด้วยการไม่ดึงตัวเองเข้าไปสู่วังวนของตัณหาตั้งแต่แรกโดยการเจริญสติอย่างสม่ําเสมอ อย่างเช่น เวลาคุยกับใคร สติก็ต้องอยู่ตรงนั้น เพื่อพิจารณาในสิ่งที่เรากําลังฟังหรือพูด หากต้องทํางาน สติก็ต้องจดจ่ออยู่กับงาน เวลาเดิน สติก็ต้องจดจ่ออยู่กับเท้า ไม่มีอะไรทําก็กลับมาอยู่กับลมหายใจและเมื่อมีสติแล้วก็ต้องคอยเสริมกําลังใจให้หนักแน่นมั่นคง ไม่ให้ไหลไปตามกิเลส ด้วยการทําสมาธิอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

เข้าใจเรื่องทุกข์และการดับทุกข์แล้ว นิพพานจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ผมเชื่อว่าเพียงแค่มีศีล สมาธิ ปัญญา และขอให้เริ่มปฏิบัติเท่านั้น เราก็จะสามารถเดินเข้าสู่หนทางหลุดพ้นได้ในที่สุด

ที่ผมปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะหวังว่าตอนที่จิตจะดับหรือกําลังจะตาย ผมจะสามารถวางใจให้เป็นศูนย์หรืออยู่ตรงกลางได้ ไม่เฉไปซ้าย ขวา บน ล่าง ไม่มีความอยากที่จะอยู่หรืออยากที่จะไป เพราะถ้ายังมี “ความอยาก” อยู่ ก็จะต้องกลับมาเกิดอีกแน่นอน

เกิดมาแล้วทุกข์…จะเกิดมาอีกทําไมล่ะครับ

ที่มา : นิตยสาร Secret ปีที่ 4 ฉบับที่ 82 (26 พ.ย. 54) หน้า 86-87 (ปี 2554)