วันพุธ 15 มกราคม 2025
  • :
  • :
Latest Update

เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบ “กุ”พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เรื่องชาติกำเนิดของ’สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี’นั้นมีครบถ้วนเต็มรูปแบบในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ซึ่งเป็นยุคที่การพิมพ์เฟื่องฟูที่สุดจนมีการออกหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยและ หนังสือพิมพ์ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ’สยามประเภท’ของนักเขียนอิง ข้อมูลประวัติศาสตร์คนดังนามปากกา ก.ศ.ร.กุหลาบโดยเริ่มแต่งครั้งแรกเป็นตอนๆลงในหนังสือสยามประเภทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ ในชื่อเรื่องว่า’อภนิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยา’ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ จึงพิมพ์เป็นเล่มในชื่อเรื่องว่า’หนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตาก(สิน) ซึ่งต่อมาคือต้นฉบับของหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่เราอ้างถึง

พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในหนังสือ’อภินิหารบรรพบุรุษ’ที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนนั้นอ้างว่าคัดลอกมาจาก’ตำรามหามุขมาตยานุกูลวงษ์’ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)เช่นเดียวกับที่อ้างถีงเมื่อครั้งเขียนเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุง ศรีอยุธยา ที่ตีพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท จนเป็นเหตุให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสั่งให้ส่งตัว ก.ศ.ร.กุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้า ๗ วัน แล้วจึงให้ปล่อยตัวไป  แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงจะส่ง ก.ศ.ร.กุหลาบเข้าโรงพยาบาลบ้านั้น ก.ศ.ร.กุหลาบสร้างเรื่องในการปลอมแปลงเอกสารประวัติศาสตร์ไว้มากมาย จนต่อมาภายหลัง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะในนิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวง

พระนิพนธ์เรื่อง “หอหลวง”นั้นเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “กุ”เป็นคำที่กล่าวถึงหนังสือที่ ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนว่าหาที่มาของต้นฉบับที่แท้จริงไม่ได้แม้สักเล่มเดียว โดยในการบรรยายเกี่ยวกับการ “กุ”ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในหนังสือ “หอหลวง”นั้น เริ่มบรรยายตั้งแต่ ก.ศ.ร.กุหลาบ เริ่มเห็นหนังสือและพงศาวดารฉบับเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อ ..”พ.ศ. ๒๔๒๔ ปีนั้นมีงานฉลองพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ ใช้บริเวณท้องสนามหลวงเป็นที่จัดแสดงโดยสร้างเป็นโรงชั่วคราวขึ้นมา ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดี ให้ช่วยจัดสี่งของต่างๆอันเป็นความรู้และความคิดกับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งแสดงให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาหนังสือ(สมุด)ในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณ มาตั้งแสดงห้องหนึ่ง ก.ศ.ร. กุหลาบ(หนังสือหอหลวงเรียก ก.ส.ร.กุหลาบ) รับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อ’แรกพิมพ์’ห้องหนึ่งอยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน…”(*๑)

ในครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปดูทั้งสองห้องและเริ่มรู้จักตัวก.ศ.ร.กุหลาบในการแสดงนี้และทรงบันทึกประวัติของก.ศ.ร.กุหลาบไว้ในพระนิพนธ์หอหลวงว่า ‘…กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า’เสมียนกุหลาบ’ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดีได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่น หมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น…(*๒)’

ในการจัดแสดงครั้งนั้นก.ศ.ร.กุหลาบ มีโอกาสได้เห็นหนังสือที่กรมหลวงบดินทร์ฯนำมาแสดงพบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับโบราณคดีต่างๆที่ตัวไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นอยู่เป็นอันมากและเพราะห้องแสดงอยู่ติดกัน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงสามารถเข้าไปดูหนังสือที่กรมหลวงบดินทร์ฯนำมาแสดงได้ทุกวันจนติดใจ และในชั้นต้นนั้นคงเป็นเพราะความใฝ่รู้ของ ก.ศ.ร.กุหลาบๆจึงอยากได้หนังสือเหล่านั้นไปไว้ศึกษาเล่าเรียน จึงใช้วิธี’ประจบ’กรมหลวงบดินทร์ฯตั้งแต่การแสดงที่ท้องสนามหลวงจนงานเลิกแล้วก็ยังตามไปเฝ้า’ประจบ’ที่วังอย่างสม่ำเสมอจนเมื่อมั่นใจว่ากรมหลวงบดินทร์ฯทรงมีพระเมตตาต่อตนเองแล้ว ก.ศ.ร. กุหลาบจึงทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่องแต่กรมหลวงบดินทร์ฯไม่ประทานอนุญาตตรัสว่า ‘…ว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้ามมิให้ใครคัดลอก…(*๓)’

ก.ศ.ร.กุหลาบ จนใจหมดหนทางแต่กิเลสมีมากจนลืมผิดชอบชั่วดีไปหมดเลยคิดใชัวิธีการที่ไม่ถูกต้องคือการหลอกลวงกรมหลวงบดินทร์ฯ ‘…นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงขอยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างนายทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือเตรียมไว้สองสามคน…(*๔)’

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ถึงวิธีการที่ก.ศ.ร.กุหลาบใช้ปฏิบัติตามคำบอกเล่าของทหารมหาดเล็กที่รับจ้างก.ศ.ร.กุหลาบไว้ว่า ‘…พอ นายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่พระระเบียงและเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม…(*๕)’ โดยที่บรรดามหาดเล็กเหล่านั้นก็ไม่รู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม รู้แต่ว่าให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียวเมื่อได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกันไปไม่มีใครสนใจเรื่องอื่น แม้แต่สมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพเองเคยได้ยินมหาดเล็กเล่ากันในสมัยนั้นก็ไม่ได้สนใจหรือเอาใจใส่แต่อย่างใด จ้างคัดลอกกันเป็นปีๆก็ไม่มีใครทราบ ‘…นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้ จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้…(*๖)’

แต่หนังสือหอหลวงเป็นหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบได้สำเนาหนังสือไปแล้วหากเก็บไว้ศึกษาคนเดียวไม่เผยแพร่คงไม่เกิดปัญหาใดๆแต่ถ้าจะอ้างอิงหรือเผยแพร่เอกสารนี้หากมีใครจำได้ ก.ศ.ร.กุหลาบก็จะมีความผิดและปัญหาต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งเอกสารของก.ศ.ร.กุหลาบๆ’…จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง…(*๗)’ ทำให้หนังสือต่างๆ ที่ก.ศ.ร.กุหลาบคัดไปจากหอหลวงนั้นเมื่อเอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้นนั้นจะมีข้อความที่แทรกเข้าไปใหม่ปนกับต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

เหตุการณ์ที่ทำให้ก.ศ.ร.กุหลาบมีชื่อเสียงนั้นเริ่มจาก’…พ.ศ. ๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่งส่งไปให้หมอสมิธที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า’คำให้การขุนหลวงหาวัด คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสีย กรุงศรีอยุธยาไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือนั้นพิมพ์ออกจำหน่ายใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวงลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดีและมีตำรับตำรามาก…(*๘)

แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสังเกตเห็นว่ามีข้อความและเนื้อหาที่เป็นปัจจุบันสอดแทรกอยู่เป็นอันมากจึงทรงพระปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง’พระราชพิธีสิบสองเดือน’ตอนพิธีถือน้ำโดยมีข้อสรุปตำหนิ ก.ศ.ร.กุหลาบกรณีว่า…ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนั้น ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวง ซึ่งควรจะได้รับแล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะคลาดเคลื่อนมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด’ดังนี้…(*๙)’

แต่ในขณะนั้น ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวนเพราะไม่มีใครรู้ว่า ก.ศ.ร.กุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหนและต้นฉบับเป็นอย่างไร จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๕๔(รัชกาลที่ ๖)สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้รับหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดเป็นสมุดไทยมาอีกฉบับหนึ่ง ‘…เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า’พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ’ และมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า’พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย’ก็เป็นอัน ได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า’คำให้การขุนหลวงหาวัด’เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ…(*๑๐)’

ขณะเมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น มีการตั้งกรมโปลิศท้องน้ำขึ้นโดยมีเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต(โต)เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำ และมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตาจึงเอามาตั้งเป็น’แอดชุแตนท์'(adjutant) หรือ “นายเวร” ของพระยานรรัตน์ราชมานิต(โต)มียศเทียบเท่านายร้อยเอกก.ศ.ร.กุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา

สมัยนั้นหอสมุดพระวชิรญาณเพิ่งเริ่มก่อตั้งก.ศ.ร.กุหลาบ ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่าก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯตามประสงค์ และเมื่อก.ศ.ร.กุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีใจมอบหนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้คัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นกรรมการหอพระสมุดฯไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯทั้งสองสมเด็จได้แต่พิจารณาดูหนังสือที่ก.ศ.ร.กุหลาบมอบให้หอพระสมุดฯ เห็นเป็นสำนวนเก่าและใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่องทรง’…ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ(ฟัก)และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้นอันจะสอบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเองจึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนนั้นเป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯจึงตรัสเรียกหนังสือเหล่านั้นว่า’หนังสือกุ’เพราะจะว่าแท้จริงหรือเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน…(๑๑)

ต่อมา พ.ศ.๒๔๓๕ กรมโปลิศท้องน้ำถูกยุบ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งมีอายุเกือบหกสิบปี ก็ต้องออกจากราชการและออกจากสมาชิกหอพระสมุดฯด้วย (แต่คนทั่วไปก็นิยมเรียกกันติดปากว่า“แอศชุแตนท์กุหลาบ”) เมื่อออกจากราชการใหม่ๆ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าทำงานเป็น “เอดิเตอร์” (บรรณาธิการ) หนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ ของพระยาอรรถการประสิทธิ จนถึงพ.ศ.๒๔๔๐ ก.ศ.ร.กุหลาบได้เริ่มออกวารสาร สยามประเภท ของตนเอง เหมือนอย่างที่หอพระสมุดฯออกหนังสือ’วชิรญาณ’โดยมีชื่อเต็มว่า“สยามประเภท สุนทโรวาทพิเศฑ”และมีรายละเอียดพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไว้ว่า’เป็นสรรพตำราความรู้ฉลาดทางคติธรรมแลคดีโลกย์ มี นาย ก.ศ.ร.กุหลาบ เอดิเตอร์ เป็นผู้เรียบเรียงลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์สยามประเภท ถนนเฟื่องนคร กรุงเทพครั้งนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายวิธีการหลอกลวงโดยการตีพิมพ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบไว้ว่า’… โดยเอาเรื่องต่างๆที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้นพิมพ์ในหนังสือสยามประเภทและเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯนั้นมิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือ ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเรียกกันว่า ‘อาจารย์กุหลาบ’ ก็มี…(*๑๒)’

ครั้นเมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง จึงใช้วิธีแต่งเรื่องต่างๆขึ้นเพื่อลงในหนังสือสยามประเภท แล้วก็อ้างว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใด จนก.ศ.ร.กุหลาบแต่งพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทแถมประโคมข่าวเสียใหญ่โตมีแผ่นปลิวแจกไปทั่วมีใจความว่า ‘…บัดนี้จักขออธิบายถึงเรื่องกำเหนิด ต้นเหตุที่จะบังเกิดชนชาวชาติไทยมีขึ้นในแผ่นดินศยามนี้ ซึ่งจักได้คัดย่อความออกมาจากพระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ ผูก ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อจึ่งได้คัดข้อย่อความจับ เลือกคัดในตอนปลายสุดท้ายในผูกที่๑๙ มีใจความตามพระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัยดั่งนี้…(*๑๓)’

โดยเนื้อความที่ลงพิมพ์นั้นระบุว่า’…เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า’พระปิ่นเกษ’ สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า ‘พระจุลปิ่นเกษ’ เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง…(*๑๔)’ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นทรงตรัสว่า ‘…เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจเกินสิทธิในการแต่งหนังสือ…(*๑๕)’ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยราชา(ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์)เมื่อครั้งเป็นพระยาอิทราธิบดีสีหราชรองเมืองให้ไปเรียกตัว ก.ศ.ร.กุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นฉบับตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาให้ตรวจ ก.ศ.ร.กุหลาบไม่สามารถหาต้นฉบับมาส่งได้จึงรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสว่า’…จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติโปรดฯให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก๗วันแล้วก็ปล่อยไป…(*๑๖)’
แต่เอาเข้าจริงๆ ก.ศ.ร.กุหลาบต้องอยู่ที่โรงพยาบาลบ้าถึง๓๓วัน

เหตุการณ์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จับ ก.ศ.ร.กุหลาบ ส่งโรงพย่บาลบ้า ถือว่าเป็นกรณีที่สำคัญในเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ‘กุ’พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะในการแต่งอภินิหารบรรพบุรุษนั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ อ้างว่าคัดลอกมาจากคัมภีร์ธาตุใจวงษ์ อันเป็นตอนต่อจากพงศาวดาร เชียงแสน เชียงราย ศุโขทัย ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)อันไม่มีอยู่จริง โดยก.ศ.ร.กุหลาบ เริ่มแต่งพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในปัจจุบัน หลังจากเริ่มออกหนังสือพิมพ์ชื่อ“สยามประเภท”ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ คือเริ่มตีพิมพ์เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชเป็นตอนๆภายใต้ชื่อว่า”อภินิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยา”ในปีพ.ศ.๒๔๔๒พร้อมๆกับการตีพิมพ์ พงศาวดาร เชียงราย เชียงแสน ศุโขทัย ที่ถูกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจับส่งโรงพยาบาลบ้า ต่อมาพ.ศ.๒๔๕๓ ก.ศ.ร.กุหลาบ รวบรวมบทความ”อภินิหารประจักษ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีศรีอยุธยา”ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ มารวมพิมพ์เป็นเล่มแต่เปลี่ยนชื่อเป็น’หนังสือพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตาก(สิน)’ ซึ่งต่อมาหนังสือนี้เป็นต้นฉบับของหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง

นอกจากนั้นพระราชประวัติตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษเองก็ก่อให้เกิดข้อกังขาถึงความเป็นไปได้มากมาย อาทิ พระราชประวัติที่บอกว่าเมื่อแรกเกิดวัดส่วนสูงจากสะดือถึงศรีษะจะเท่ากับสะดือถึงฝ่าเท้า อันเป็นพุทธลักษณะ ย่อมเกิดขึ้นจริงไม่ได้เพราะพระองค์เกิดเป็นสามัญชน จะมีชาวบ้านที่ไหนวัดส่วนสูงลูกตัวเองแล้วจดไว้เพราะพ่อแม่คงไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าลูกตนเองเกิดมาเพื่อเป็น’มหาราช’หรือแม้กระทั่งพระราชประวัติเมื่อแรกเกิดได้ ๗ วัน มีงูใหญ่มาขอรอบกระด้งให้เห็นเป็นอัศจรรย์ อย่างน้อยทั้งสองเหตุการณ์ถ้ามีอยู่จริงคงปรากฏในพระราชพงศาวดาร คงไม่ไปปรากฏเฉพาะแต่ในอภินิหารบรรพบุรุษเป็นแน่

 

อ้างอิง
(๑ – ๑๖) “หอหลวง” พระนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ