เลิกกฎหมายหมิ่นฯ แล้วได้อะไร โดย:พิทยา ว่องกุล (กุมภาพันธ์ 2556)
ทำไมต้องเกิดคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”? และทำไมจึงมีเว็บไชต์เขียนจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์มากมายในโลกออนไลน์ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ นำไปสู่การเสนองบประมาณแพงลิ่ว 300 ล้านบาท พร้อมกับเสียงหนังสือพิมพ์วิจารณ์แซดดักคอออกมาทันทีว่าคงล้มเหลว เพราะส่วนใหญ่ของเว็บไซต์ บุคคลหรือสื่อที่เสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเกี่ยวพันกับก๊กสีแดง หลายคนจึงต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล
ส่วนการจะหมิ่นประมาทใคร? หรือต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่? คำตอบชี้ชัดอยู่ที่ “เจตนาหรือไม่เจตนา” อันเป็นหลักในการพิพากษาคดีของศาลสถิตยุติธรรม ต้องซักปากคำและหาพยานมาอ้าง อิง เพราะถ้าไม่มีเจตนาพูด เขียน และกระทำใดๆ ออกมา คดีหมิ่นก็ย่อมไม่เกิดขึ้น กฎหมายจะมีอยู่หรือไม่มีเลยย่อมไม่สำคัญ ไม่เกิดผลกระทบกระเทือนต่อใคร
“เสนอความจริง อิงหลักฐาน ปลอดคดีหมิ่นประมาท” เป็นคำสอนวิชาการหนัง สือพิมพ์ ซึ่งอาจารย์สุรัตน์ นุ่มนนท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอน ผมเอาไว้ ยังเป็นเกราะป้องกันตัวที่ใช้ได้อยู่กระทั่งทุกวันนี้ เพราะอาจารย์สุรัตน์รอบ รู้ในกฎหมายหมิ่นประมาทและการสิทธิเสรีภาพหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี ผลงาน “โซ่ตรวนหนังสือพิมพ์” หนังสือเล่มนี้บ่งชี้ภัยที่คุกคามหนังสือพิมพ์ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลเผด็จการ นักการเมือง หรือผู้เสียผลประโยชน์จะฟ้องร้องคดีหมิ่นหรือหาเรื่องล่ามโซ่แท่นพิมพ์ อาศัยกฎหมายการพิมพ์ ปิดปากนักหนังสือพิมพ์ผู้ยึดมั่นในพุทธวจนะ “สัจจัง เว อมตา (ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย)”
ส่วนเทคนิคการเขียนเรื่องจริง แต่หลักฐานไม่ชัดเจน หากมีจุดยืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ นักหนังสือพิมพ์ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์บอกต่อสังคมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น อาจารย์ไม่เคยพูดถึงเทคนิคเหล่านั้น แต่ละคนต้องไปเรียนรู้เอาเองจากนักเขียนรุ่นพี่และคอลัมนิสต์ชื่อดัง เพื่อเอาตัวรอดกันเอง
คดีหมิ่นประมาทจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าหากไม่มีเหตุไปละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือผลประโยชน์ของผู้อื่น ยกเว้นผลประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศ เอกราช อธิปไตยของชาติ นักหนังสือพิมพ์ที่มีจรรยาบรรณถือเป็นหน้าที่ต้องเปิดโปงอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวง ทั้งในยุคประชาธิปไตย สำนึกของสื่อมวลชนยังจะต้องต่อต้านขัดขวางเผด็จการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือคณาธิปไตยรูปแบบใด
เมื่อประเทศไทยปกครองด้วยรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นเดียวกับอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรป จะพบว่ารากฐานการพัฒนามาสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้นต่างจากระบอบประธานาธิบดี หรือสาธารณรัฐประชาชน จนเป็นหลักทฤษฎีที่รู้กันดีว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจในการบริหารบ้านเมืองเป็นของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระราชโองการ ดำเนินการแทนทั้งหมด จนเป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลดี ประเทศเจริญรุ่งเรือง รัฐบาลชั่วไร้ประสิทธิภาพ บ้านเมืองวิกฤติ รัฐบาลจึงเป็นฝ่ายกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง
ไทยรับเอาประชาธิปไตยอังกฤษ ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ค.ศ.1832 พระมหากษัตริย์อังกฤษจะทรงเคารพระบบรัฐธรรม นูญ โดยทรงปฏิบัติตามกฎหมายและประเพณีทางรัฐธรรมนูญ มีหลักการสำคัญว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปกเกล้าแต่ไม่ทรงปกครอง (The King reigns but not rule) จะไม่ทรงมีพระราชดำริใดๆ ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นเรื่องการปกครองโดยตรง จะทรงทำตามคำแนะนำและยินยอมขององค์กรทางการเมือง โดยไม่ทรงรับผิดชอบ ตามประเพณีการปกครองอังกฤษถือว่า พระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจ 3 ประการ คือ พระราชอำนาจในการสนับสนุนรัฐบาล (The right to encourage) พระราชอำนาจในการรับปรึกษาหารือจากรัฐบาล (The right to be consulted) และพระราชอำนาจในการตักเตือน (The right to warn) โดยมีหลักว่า แม้จะทรงใช้พระราชอำนาจดังกล่าวแล้ว รัฐบาลจะรับไปปฏิบัติหรือไม่ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเอง พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงแตกต่างจากประธานาธิบดีที่เป็นนักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง เมื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบทางการเมือง
คงจะเห็นได้ชัดเจนว่า อำนาจในการบริหารปกครองอย่างแท้ จริงอยู่ที่รัฐบาล พระมหากษัตริย์ได้รับการยกย่องเทิดทูนไว้สูงส่ง ทรงเปี่ยมพระบารมี และพระเกียรติยศเหนือบุคคลทั่วไป ทรงรวม ศูนย์จิตใจประชาชนเอาไว้ เมื่อมองในแง่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอันดีงาม และการสืบเนื่องเป็นพระประมุขของประเทศที่มีรากเหง้า อารยธรรมของตนเอง ไม่ว่ากษัตริย์อังกฤษหรือกษัตริย์ไทยในระ บอบประชาธิปไตย ฐานะสูงส่งเช่นนี้ แม้จะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอาญาปกป้องพระเดชานุภาพเอาไว้หรือไม่ก็ตาม โดยสำนึกและประเพณีนั้น ไม่ควรที่จะมีการกระทำที่หมิ่นพระเดชานุภาพ
ฐานะความเท่าเทียมระหว่างประมุขของประเทศที่สืบสันติวงศ์มายาวนาน ควรหรือที่จะเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป? คนไทยจะไม่ให้เกียรติยกย่อง หรือเชิดชูประมุขรัฐให้แตกต่างหรือเหนือ กว่าบุคคลธรรมดากระนั้นหรือ? แม้แต่ประธานาธิบดี นายกรัฐมน ตรี หรือรัฐมนตรีทุกชาติ ยังมีประเพณี กฎหมายปกป้องที่กำหนดบทลงโทษต่างกับประชาชน หรือมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนในทุกประเทศ นี่คือความจริงและเป็นอภิสิทธิ์ที่นักการเมืองใช้กันอยู่มาก มาย ดังนั้นการเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงมีผลเท่า กับการเลิกยกย่องประมุขของรัฐที่ประชาชนควรปกป้องเทิดทูน ทำลายหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขออกไปโดยปริยาย ให้เป็นสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป บรรดานักการเมืองนักวิชาการที่เสนอให้เลิกมาตรา 112 นั้น ส่วนหนึ่งมีวาระซ่อนเร้นในเจตนาที่ต้องการลดฐานะและทำลายความเป็นประมุขของรัฐ หรือผู้สำเร็จราชการที่ทำหน้าที่แทนในขณะไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ
นักวิชาการไทยบางคนอ้างถึงอังกฤษไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเหตุว่าไทยก็ไม่ควรมี โดยไม่ให้รายละ เอียดถึงจารีตการปกครองที่ต่างกัน ตามหลักกฎหมายอังกฤษถือว่าพระมหากษัตริย์ในรัฐสภา (King in Parliament) เป็นองค์อธิปัตย์ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน มีอำนาจจะออกกฎหมายหรือไม่ก็ได้ เรียกหลักการนี้ว่า อำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ในรัฐสภา (sovereignty of king in parliament)ดังนั้น กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ในรัฐสภาทรงตราขึ้นจึงมีฐานะสูงสุด เพราะอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เป็นกฎหมายสูงสุดอยู่เหนือพระมหากษัตริย์และรัฐสภา แตกต่างกับไทยในทางปฏิบัติ เพราะพระมหากษัตริย์พระราชทานอำนาจของพระองค์ให้คณะบุคคลไปบริหารปกครองแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 นี่คือลักษณะพิเศษที่พิทักษ์การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปโดยหลักจารีตของอังกฤษ ต่างกับไทยโดยพื้นฐาน
มิหนำซ้ำยังไม่ยอมให้รายละเอียดว่า บางประเทศในยุโรปก็มีกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นเดียวกับไทย อันเนื่องจากจารีตและบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ต่างจากอังกฤษ เช่น ในเดนมาร์ก มีมาตรา 115 ระบุว่า หากมีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการ หรือสมเด็จพระราชินี จะถูกเพิ่มโทษจำคุกเป็นไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอาญามาตรา 267 ที่บัญญัติให้ผู้หมิ่นประมาทประมุขของประเทศ ต้องจำคุกไม่เกิน 4เดือน นอกจากนี้ยังมีคดีหมิ่นพระเดชานุภาพในประเทศต่างๆ
“ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์ ก็แทบจะไม่เคย มีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากในปี 2550 ที่ชายผู้หนึ่งถูกปรับเป็นเงิน 400 ยูโร หรือประมาณ 16,000 บาท เนื่องจากเขาใช้คำหยาบคายด่าทอสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์กับตำรวจ อย่างไรก็ตาม ในประเทศสเปน นิตยสาร เอล คูเอเบส (El Jueves) ซึ่งเป็นนิตยสารแนวเสียดสีการเมือง เคยถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อปี 2550 เนื่องจากได้มีการนำภาพวาดการ์ตูนเจ้าชายเฟลิเป มกุฎราชกุมารสเปน กำลังมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเลติเซีย พระชายา ขึ้นปกนิตยสาร เพื่อล้อเลียนนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศจะจ่ายเงินให้กับคู่สมรสทุกคู่ที่มี บุตร โดยนิตยสารฉบับดังกล่าวถูกริบจากแผงหนังสือทั่วประเทศ ส่วนบรรณาธิการถูกตัดสินว่ามีความผิด และต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 3,000 ยูโร หรือ 120,000 บาท” (กรณีศึกษา : กฎหมายหมิ่นในยุโรป, admin on ธันวาคม 17, 2011 9 : 40ในwww.mygosto.com/?author=1)
นี่คือการแสวงหาความจริง ต่อการตั้งคำถามว่า ทำไมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบางประเทศไม่มี บางประเทศเกิดขึ้นน้อย หรือมีบทลงโทษต่ำ และทำไมประเทศไทยจึงมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษสูง คำตอบก็คือ จำเป็นจะต้องศึกษาจารีต ประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศนั้นๆ อย่างจริงจัง และเข้าให้ถึงความต่างกันของปัญหา ซึ่งพอสรุปอย่างกว้างๆ ถึงปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ดังนี้
1.การเข้าไปอิง หรือแส่หาเรื่องสร้าง ปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเนื่อง จากมีความคิดเสรีนิยมจัด เพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นสูง ทำให้เป็นข่าวหรือทำให้ตนมีชื่อเสียงโด่งดัง หรืออ้างอิงสถาบันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือทางการเมือง จนเป็นจุดสนใจทางสังคม โดยไม่มองพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย
2.สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่รวม ศูนย์ความสนใจของประชาชน มีภาพรวมเป็นสิ่งสมบูรณ์ ไม่ว่าปัญหาเล็กหรือใหญ่ ย่อมทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือนำมาเปิดเผย มีชื่อเสียงโด่งดัง และในยุคโลกาภิวัตน์ก็จะเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วทั่วโลก ดังนั้น การเฝ้ามองหรือหยิบยกเอาข้อบกพร่อง หรือปัญหาใดๆ ย่อมนำไปสู่ความสนใจของประ ชาชน เพิ่มอัตตาตัวตนได้
3.เจตนาทำลายภาพพจน์ทางการเมือง เพื่อหวังผลให้เสื่อม เสียพระเกียรติ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยเชื่อในลัทธิการเมืองใดการเมืองหนึ่งที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปเป็นระบอบประธานาธิบดี หรือสาธารณรัฐประชาชนในอดีต การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประวัติศาสตร์หลายประ เทศ การโจมตีจุดอ่อนของสถาบันกษัตริย์อย่างหนักและรุนแรงในช่วงใด ย่อมแสดงถึงปัญหาการขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงสูง หรืออาจขยายไปถึงการโค่นล้มสถาบันพุ่งสูงกว่าปกติ และแพร่กระจายทางสื่ออย่างไม่กริ่งเกรงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
“ตัวเลขผู้ที่ถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในระยะเวลาที่ผ่านมา ในระหว่างปี 2535-2547 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯ ที่มีการฟ้องร้องกันในศาลเฉลี่ยแล้วมีน้อยกว่า 10 คดี ดังนั้นผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจึงยังจำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ระหว่างปี 2548-2552 ตัวเลขของคดีหมิ่นฯ มีมากถึง 547 คดี ที่ถูกนำไปพิจารณาคดีทั้งในระดับศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เฉลี่ยแล้วปีละ 109คดี และมีที่ศาลมี คำตัดสินว่าเป็นการหมิ่นฯ แล้วจำนวน 247 คดี ในปี 2552 เพียงปีเดียว มีการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ ในระดับศาลชั้นต้นมากถึง 164 คดีนอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาหมิ่นฯ ควบคู่ไปกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14, 15 และ 16 ผลการศึกษาสถิติการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิว เตอร์ระหว่างปี 2550-2553 พบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นฯ มีมากถึง 31 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ถูกตั้งข้อหาควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึง 26 คดี และยังมีคดีหมิ่นฯ ที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกอย่างน้อย 997 คดี จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายหมิ่นฯ ถูกนำมาใช้มากในช่วง
ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง” โครงการมาตรา 112 : รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯ, เว็บราชดำเนินถาม-ตอบว่าด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2554
4.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งของ เรื่องราว ปัญหา และข้อบกพร่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์หรือสถาบันกษัตริย์ทั่วโลก ล้วนเป็นจุดขายในธุรกิจโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าจะเป็นการขายข่าว แฟชั่น เครื่องประดับ ฯลฯ เช่น กรณีข่าวเทียบเคียงเบื้องหลัง ‘คลิปหลุด‘ ของเจ้าชายแฮรีในเดือนมกราคม, 2009 ทำให้เว็บไซต์หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ‘นิวส์ออฟเดอะเวิลด์‘ ของอังกฤษ มีผู้เข้าชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยมีคนแค่ ‘หลักพัน‘ ยอดผู้เข้าชมก็พุ่งแตะหลัก50,000 คนภายในเวลาไม่กี่วัน ทันทีที่สื่อกระแสหลักอย่างสำนักข่าวบีบีซี เอพี รอยเตอร์ หรือไทม์ของอังกฤษ รายงานว่าเว็บนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ มีการเผยแพร่ ‘คลิปหลุด‘ ของ ‘เจ้าชายแฮรี‘ รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งบันทึกเป็นวิดีโอประจำวันไว้ ขณะทรงเข้ารับการฝึกอบรมภาคสนาม ที่อัฟกานิสถาน ในฐานะนักเรียนนายร้อยแห่งโรงเรียนแซนด์เฮิร์สต์เมื่อปี 2549 เพราะ พระองค์ทรงหลุดปากเรียกนักเรียนนายร้อยเชื้อสายเอเชียที่เป็นพระสหายร่วมชั้นว่า ‘ปากี‘ และบอกกับพระสหายอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งชุดพรางและมีผ้าโพกหัวว่า ดูเหมือน ‘พวกหัวผ้าขี้ริ้ว‘ หรือ‘raghead’ อันฝรั่งถือว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ โดยล้อเล่น จนสำนักพระราชวังต้องออกมาขอโทษประชาชน
คงจะพอเห็นภาพความอ่อนไหวของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเป้าทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ย่อมนำไปสู่ปัญหาการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ และบทเรียนในประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ จึงมีกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายความมั่นคงต่างไป รวมถึงบทลงโทษด้วย ถ้าเลิกเมื่อใด หรือไม่มี กรณีพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจำเลยในศาลมาแล้ว คงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ใครเล่าจะรับรู้พระทัยของพระองค์ที่เป็นพระประมุข แต่ถูกสามัญชนฟ้องร้อง
โดยเฉพาะปัญหาที่ควรพิจารณา ได้แก่ สาระกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” จะหนักเบาเพียงไร จำเป็นต้องศึกษาปัญหาการเมืองไทย หรือประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงพัฒนาการของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมไปถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างละเอียด และให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งควรที่จะมีกฎ หมายนี้ต่อไป โดยมีบทลงโทษจำคุกที่เบาลง ส่วนการจะยกเลิกหรือไม่นั้น ให้ไปถามคนไทยทั้งประเทศว่า การให้พระเกียรติและยกย่องประมุขของประเทศ ถ้าคนไทยไม่ยอม อะไรจะเกิดขึ้น?.
“จำเป็นต้องศึกษาปัญหาการเมืองไทยหรือประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงพัฒนาการของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมไปถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างละเอียดและให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งควรที่จะมีกฎหมายนี้ต่อไป โดยมีบทลงโทษจำคุกที่เบาลง ส่วนการจะยกเลิกหรือไม่นั้น ให้ไปถามคนไทยทั้งประเทศว่า การให้พระเกียรติและยกย่องประมุขของประเทศถ้าคนไทยไม่ยอม อะไรจะเกิดขึ้น?”
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์