ความหมายของวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (เอกสารภาษาอังกฤษเรียกว่า Franco-Siamese War หรือ “สงครามฝรั่งเศส – สยาม”) เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน)
ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
ผลของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝ่ายไทยจำต้องยอมยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยายอิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมาอีกด้วย
การขยายอิทธิพลของประเทศฝรั่งเศส (พ.ศ. 2410 – พ.ศ. 2449)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2231 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนปลาย ได้มีเหตุที่ทำให้การติดต่อระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหยุดชะงักลง จนกระทั่งไทยเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้รับการฟื้นฟูขึ้นในปี พ.ศ. 2399 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย และจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส มีความต้องการที่จะขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมในแถบอินโดจีนซึ่งรวมทั้งไทยด้วย โดยมีอังกฤษ เป็นคู่แข่งสำคัญ เมื่อฝรั่งเศสทราบว่าไทยตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 ทำให้ฝรั่งเศสให้ความสนใจไทยมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยก็ต้องการฟื้นฟูสัมพันธภาพกับฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการให้ฝรั่งเศสมาถ่วงดุลอังกฤษ จากการที่อังกฤษสามารถครอบครองพม่าได้เกือบทั้งหมดในปี พ.ศ. 2396 ทำให้ไทยเกรงกลัวอิทธิพลของอังกฤษที่ขยายเข้ามาใกล้ไทยทุกขณะ จึงได้เสนอที่จะทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ตั่งแต่ปี พ.ศ. 2397 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนเมื่อไทยตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษแล้ว ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ส่ง ชาร์ล เดอ มองติญี (Charle De Montege) กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม มาเจรจาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2398 และสัญญามีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2399
ความขัดแย้งก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ เกิดจากการขาดข้อตกลงเรื่องเขตแดนที่แน่นอนเกือบทั้งสิ้น
กรณีบางเบียน (Affaire de Bang-Bien)
กรณีบางเบียนเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้อาวุธในที่สุด กล่าวคือเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2434 คูร์นิโยง (Cournillon) สมาชิกคณะผู้จัดทำแผนที่ปักปันเขตแดนได้แต่งตั้งให้บางเบียน ผู้อพยพชาวลาวเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ (Thoung Xieng Kham ทุ่งไหหินในประเทศลาวปัจจุบัน) ทำให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (Prince Dewavongs) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทรงโต้ตอบทันทีด้วยการส่งจดหมายถึงโลร์โซง (Lorgeon) ซึ่งรักษาการแทนกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ
อเล็กซองเดรอะ ริโบต์ (Alexendre Ribot) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น จึงให้เรียกตัวบางเบียนกลับจากทุ่งเชียงคำ เช่นเดียวกับผู้แทนฝรั่งเศสที่แหลมเสม็ด (Pointe Samit) ภายใต้เงื่อนไขว่าไทยจะไม่ส่งผู้แทนเข้าไปปกครองดินแดนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีของทั้งสองประเทศเอาไว้ แต่ผู้แทนฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2434 ฝ่ายไทยสามารถควบคุมตัวบางเบียนไว้ได้ และตั้งข้อหาว่าบางเบียนเป็นกบฏต่อประเทศ โลร์โซงพยายามที่จะเข้าแทรกแซงเช่นกันแต่ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลไทยยืนกรานว่าบางเบียนเป็นคนไทยคนหนึ่ง (เกิดในดินแดนที่ไทยถือว่าอยู่ในพระราชอาณาเขต) ที่ต้องอพยพไปอยู่เวียดนามภายหลังจากที่ได้กระทำผิดราชการ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2435 นายโอกุสต์ ปาวี เดินทางถึงราชอาณาจักรไทยเพื่อรับตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ทันทีที่เดินทางถึงราชอาณาจักรไทยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวบางเบียน แต่ฝ่ายไทยยังคงยืนยันในหลักการและเหตุผลของตนเอง
กรณีเมืองท่าอุเทน (Affaire d’Outhene)
กรณีเมืองท่าอุเทน เป็นความขัดแย้งที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องพิจารณาทบทวนสนธิสัญญาต่างๆ และข้อเรียกร้องใหม่ กล่าวคือ ช็องเปอนัวส์ (Champenois) และเอสกิลาต์ (Esquilat) ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับ การสนับสนุนจากสหภาพแรงงานฝรั่งเศสในลาวตอนบนและเวียดนามตอนเหนือ เพื่อทำการค้ากับไทยเท่านั้นความพยายามผลักดันให้ลาวเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสของเขายังได้รับการสนับสนุนจากเดอแวล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ และนายโอกุสต์ ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ (Ministre de France a Bangkok) อีกด้วย ทำให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงไทย – ฝรั่งเศสโดยเจตนา 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 บุคคลทั้งสองต้องการจะข้ามแม่น้ำโขงจากท่าอุเทนไปยังคำมวน (Cammon) โดยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงระหว่างไทย – ฝรั่งเศสด้วยการเดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นและไม่สนใจต่อพระดำรัสของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม(Prince Prachak) ที่ทรงขอให้เขาไปรับใบอนุญาต อย่างไรก็ตามไทยก็ได้ออกใบอนุญาตให้ทั้งสองคนในเวลาต่อมา
ครั้งที่ 2 ช็องเปอนัวส์และเอสกิลาต์ทำผิดต่อสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2410 มาตรา 6 และ 15 และกระทำผิดต่อสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2399 มาตรา 18 อีกครั้ง ด้วยการค้าของเถื่อนและเดินทางในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ไทยตักเตือนแล้วก็ไม่ยอมจ่ายค่าภาษีนำเข้า อีกทั้งยังคงเดินทางต่อไปโดยไม่มีตราประทับบนหนังสือเดินทาง
รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องจับกุมและเนรเทศบุคคลทั้งสองออกนอกราชอาณาเขตและยึดสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย นายโอกุสต์ ปาวีได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด แต่ฝ่ายไทยปฏิเสธเพราะถือว่าบุคคลทั้งสองกระทำผิดสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศสจริง จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เมืองท่าอุเทนนี้เกิดจากการที่พ่อค้าชาวฝรั่งเศสปฏิเสธอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนลาว เมื่อปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขทันที สหภาพแรงงานฝรั่งเศสในลาวตอนบนและเวียดนามตอนเหนือจึงเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อให้รัฐบาลเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนลาว และเพื่อความสะดวกต่อการขยายตลาดการค้าของตน
การตายของมาสสี่ (Affaire de massie)
มาสสี่ เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะสำรวจ (Mission Pavie) ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพราะได้รับการข่มเหง (a subir les pires insultes) จาก คนไทย และที่สำคัญคือ มาสสี่ไม่เคยได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่กรุงฮานอยและกรุงปารีสเลย ดังนั้นเขาจึงได้ฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 บริเวณหน้าเมืองจำปาศักดิ์ (Bassac)
การตายของมาสสี่ทำให้ลาเนสช็อง (Lanessan) ผู้ว่าราชการเวียดนามตอนใต้และผู้นำจักรวรรดินิยมคนสำคัญของฝรั่งเศสต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏ อย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ฝรั่งเศสจึงเริ่มปฏิบัติการด้วยวิธีรุกทั้งทางด้านการทหารและด้านการทูตต่อไทย แต่หนังสือพิมพ์ในไซง่อนและตังเกี๋ยกลับรายงานว่ามาสสี่ป่วยตาย จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้าราชการชาวอาณานิคมต้องการใช้การตายของมาสสี่ให้เกิดประโยชน์โดยผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตรการที่เด็ดขาดกับไทย จะเห็นได้ว่าในระดับภูมิภาคนั้น ผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์และการค้าทำให้ฝรั่งเศสขัดแย้งกับอังกฤษ ทั้งสองประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยมต้องการแผ่ขยายเขตอิทธิพลของตนให้ไกลกว่าดินแดนหลัก (อินเดียของอังกฤษและเวียดนามของฝรั่งเศส) ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่ดินแดนยึดครองหลักของตนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม สำหรับในระดับท้องถิ่นก็มีอิสรภาพของไทยเป็นเดิมพันที่สำคัญ
ดังนั้น เพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสซึ่งแฝงอยู่ในรูปของการเรียกร้องดินแดนที่เป็นของเวียดนามตอนกลางและของกัมพูชา ไทยจึงผลักดันสนามปฏิบัติการทางทหารให้ไกลสุดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
เมื่อฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนสิบสองจูไทยแล้ว โดยที่ยังไม่มีการเจรจาปักปันเขตแดนกับไทยการเจรจานี้ได้ยุติลง เมื่อฝรั่งเศสมีนโยบายจะขยายอาณาเขตของตนออกไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง โดยจะยึดดินแดนทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงชายแดนเขมร เมื่อฝรั่งเศสยึดดินแดนสิบสองจูไทยได้นั้น ก็เริ่มสำรวจดินแดนลาวอีกครั้ง และสร้างอิทธิพลในหมู่ชาวลาวด้วยการผูกมิตรและหาเหตุมาขัดแย้งกับไทยอยู่เสมอ ฝ่ายไทยเห็นว่าฝรั่งเศสต้องการยึดดินแดนเพิ่มจึงเตรียมรับมือ เช่นปรับปรุงการปกครองหัวเมืองฝ่ายตะวันออกให้เข้มแข็งรัดกุมขึ้น โดยเฉพาะเมืองจำปาศักดิ์ หนองคาย และหลวงพระบาง การเกณฑ์ทหารและเตรียมการป้องกันชายแดน ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสว่าไทยเตรียมจะทำสงคราม และแต่งตั้งนายโอกุสต์ ปาวี เป็นราชทูตประจำกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างความวิตกให้กับฝ่ายไทย เพราะนายปาวีรู้จักดินแดนเขมรและลาวในทุกๆด้าน และเป็นนักจักรวรรดินิยม เมื่อนายโอกุสต์ ปาวีเข้ามารับตำแหน่งก็เริ่มการเจรจาปัญหาเก่าๆกับกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเรื่องการปักปันเขตแดนสิบสองจูไทย โดยจะนำแผนที่มาแสดงเขตแดนของตน แต่ต่อมานายโอกุสต์ ปาวี ก็หาเหตุไม่ยอมเจรจาด้วยอ้างว่าทหารไทยบุกรุกดินแดนส่วนนั้นของฝรั่งเศสทำให้การเจรจาล้มเลิกไป ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2436นายโอกุสต์ ปาวี ได้ประกาศว่าฝรั่งเศสถือว่าดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงทั้งหมดเคยเป็นเมืองที่ส่งบรรณาการให้แก่ญวนมาก่อนจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของไทย พอถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้อ้างสิทธิครอบครองดินแดนลาวพร้อมกับส่งกองทัพเข้าไป กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการจึงเสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาต่างๆ ที่ไทยกับฝรั่งเศสเจรจาตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสไม่รับข้อเสนอนั้น และใช้นโยบายเรือปืนเพื่อบีบบังคับไทยโดยส่งเรือรบ เลอ ลูแตง (Le Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาลไทย ท่าทีคุกคามของฝรั่งเศสทำให้ไทยเร่งจัดการป้องกันกรุงเทพฯ และปากน้ำให้รัดกุมยิ่งขึ้น และทำการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก โดยส่งทหารไปประจำที่เกาะกง แหลมงอบ และสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่แหลมฟ้าผ่า และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษแต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะอังกฤษไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงระหว่างฝรั่งเศสกับไทย
วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งแก่ฝ่ายไทยว่า ผู้การโบรี (Bory) จะนำเรือปืนแองกงสตอง (Inconstant) และเรือโกแมต (Comete) เข้ามายังกรุงเทพฯ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคัดค้านว่าละเมิดสนธิสัญญาฉบับ พ.ศ. 2399 ในวันที่ 11 กรกฎาคม เรือทั้งสองลำจึงมุ่งหน้ามากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย จึงได้เกิดการต่อสู้บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ต่างฝ่ายได้รับความเสียหาย โดยฝรั่งเศสสามารถฝ่ากระสุนเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้และยื่นคำขาดต่อไทยดังนี้
- ไทยต้องเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร
- ให้ไทยรื้อถอนด่านทั้งหมดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เสร็จภายใน 1 เดือน
- ให้ไทยจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำพวน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกัน
- ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในการยิงปืนที่ปากน้ำ
- ให้ไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวฝรั่งเศสเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์
ฝ่ายไทยจึงยอมรับทุกข้อยกเว้นข้อ 1 ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงถอนคณะทูตออกจากประเทศไทย และเรือรบได้ไปยังเกาะสีชังและปฏิบัติการปิดอ่าวไทย จึงเป็นเหตุให้ไทยรับเงื่อนไขคำขาดโดยไม่ต่อรองใดๆ เพื่อให้ฝรั่งเศสยุติการปิดอ่าว แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รุนแรงขึ้น คือ เรียกร้องจะเข้ายึดครองแม่น้ำและท่าเรือจังหวัดจันทบุรี และไทยต้องไม่มีกำลังทหารอยู่ที่พระตะบอง เสียมราฐ และบริเวณรัศมี 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยจึงยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมมาแต่โดยดี หลังจากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งผู้แทนรัฐบาลมาเจรจาขอทำสนธิสัญญาเพื่อยุติกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ในร่างสัญญาดังกล่าวไทยมีข้อเสียเปรียบหลายประการโดยเฉพาะเมืองจันทบุรี มีสาระสำคัญดังนี้
- รัฐบาลไทยสละสิทธิทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆในแม่น้ำนั้น
- ห้ามรัฐบาลไทยส่งเรือรบเข้าไปในทะเลสาบ ในแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกมา
- ห้ามรัฐบาลไทยสร้างด่านหรือค่ายทหารในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ
- ฝรั่งเศสสงวนสิทธิจะตั้งกงสุล ณ ที่ใดก็ได้ โดยเฉพาะที่น่านและโคราช
โดยฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาจนครบ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนครั้งที่สำคัญของไทยคือ ราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมด รวมทั้งสิบสองจูไทยต้องตกอยู่ใต้ปกครองของฝรั่งเศส รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 143,800 ตารางกิโลเมตร พลเมืองประมาณ 600,000 คน
กระแส ร.ศ. 112 กับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 นายโอกุสต์ ปาวี ตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยามไว้ 6 ข้อ ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 ข้อที่หนักสุด คือ ข้อ 1 เรียกร้องให้สยามยอมรับว่าดินแดนบนฝั่งซ้าย แม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส และข้อ 5 กับข้อ 6 สยามต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์ โดยต้องจ่ายเงินรวม 3 ล้านฟรังก์ เป็นมัดจำเพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ ในระหว่างนี้ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะปฏิบัติตามข้อสัญญาต่างๆ ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสก็เริ่มเจรจาทำสัญญาสันติภาพต่อกัน โดยตกลงขั้นสุดท้ายพร้อมลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ผลของสัญญาก็เป็นไปตามความต้องการของฝรั่งเศสทุกประการ อย่างไรก็ตามการทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาครั้งนี้ ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น มิใช่จะสามารถขจัดความยุ่งยากทั้งสิ้นให้หมดไป จะเห็นได้ว่าหลังจากนี้สยามก็ต้องประสบปัญหาเรื่องแยกแยะคนในอาณัติของตนเองต่อไป ข้อโต้แย้งที่เกิดเพราะสัญญา ร.ศ. 112 เช่น ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ปัญหาเมืองหลวงพระบาง และเมืองจำปาศักดิ์ ส่วนที่อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และปัญหาเมืองจันทบุรี เป็นแรงกดดันที่ทำให้สภาวะการเมืองในระยะนั้นอ่อนไหว สามปีเศษต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2440 ซึ่งตรงกับ ร.ศ. 116
ตั้งแต่วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งโดยวิธีทางการทูต การทหาร และการแสวงหาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่น จนทรงพระประชวรและทรงคิดว่าอาจสวรรคต ยิ่งไปกว่านั้นการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง จนถึงกับน้ำพระเนตรไหล ดังที่มหาเสวกเอกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ได้เล่าไว้ว่า
“แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงหักพระทัยได้ ทรงรับสั่งเป็นเชิงปรารภว่า การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักรซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่ รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
หลังการลงนามในหนังสือสัญญา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 แล้ว เรื่องที่ต้องดำเนินการต่อมาซึ่งสืบเนื่องกับวิกฤตการณ์คือ การถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง การประกาศให้คนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่เข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลับถิ่นฐานของตนเอง การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวาง เรื่องทั้งหลายทางรัฐบาลไทยพยายามดำเนินการให้เรียบร้อย เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนกำลังทหารออกจากเมืองจันทบุรีซึ่งยึดไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2436 โดยเร็ว แต่กระนั้นปัญหาก็ยังไม่ยุติลงง่าย ๆ โดยเฉพาะกรณีพระยอดเมืองขวางข้าหลวงไทยประจำเมืองคำเกิด คำมวนผู้นำในการต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436 ทำให้ทหารฝรั่งเศสชื่อ นายโกรส กูแรง กับทหารญวน อีก 12 คนถึงแก่ความตาย (แต่ฝรั่งเศสกล่าวหาว่ามีทหารเสียชีวิตระหว่าง 16 – 24 คน) ฝ่ายไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 5 คน ฝรั่งเศสต้องการให้ลงโทษพระยอดเมืองขวาง รัฐบาลไทยจึงตั้ง “ศาลรับสั่งพิเศษ” ขึ้นมาพิจารณาคดีนี้และมีคำตัดสินว่า พระยอดเมืองขวางไม่ผิด เพราะเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจจึงเรียกร้องให้ไทยตั้ง “ศาลผสม” ฝรั่งเศส-ไทย ขึ้นทำหน้าที่พิพากษาคดี ทำให้ฝ่ายไทยไม่พอใจมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงปรารภว่า “แลไม่เห็นเลยว่าจะจบเพียงใด กว่าจะได้ตัดหัวพระยอด…” ศาลผสมได้ตัดสินคดีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2437 ว่าพระยอดเมืองขวางมีความผิดให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกอยู่จนเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2441 จึงได้รับการปล่อยตัวโดยข้อตกลงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
การที่ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีนับเป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าไทยได้ปฏิบัติตามหนังสือสัญญา ร.ศ. 112ครบถ้วนทุกประการแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมถอนทหารออกไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เสนาบดีว่าการต่างประเทศ และอัครราชทูตพิเศษที่กรุงปารีส คือ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เจรจากับฝรั่งเศสให้ถอนทหารออกไปแต่ท่าทีของฝรั่งเศสกลับเปลี่ยนไปอยากจะยึดครองจริง ๆ ทั้งอ้างว่าระหว่างยึดครองได้ลงทุนไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านฟรังก์ แล้วจะทิ้งทรัพย์สมบัตินี้ได้อย่างไร หรืออ้างว่าทหารฝรั่งเศสเพียง 25 คน ที่อยู่เมืองจันทบุรีจะถือว่าเป็นการ “occupation”หรือการยึดครองได้อย่างไรเป็นแต่เพียง “รักษาของ” เท่านั้น ซึ่งไทยก็โต้ว่าทหารจะกี่คนก็เป็นการยึดครองทั้งนั้น ท่าทีของฝรั่งเศสที่คุกคามไทยรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ปัญหาขยายตัวมากยิ่งขึ้น ไทยจึงยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส โดยมีการลงนามในสัญญาน้อยหรืออนุสัญญาที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 และพิธีสาร เมื่อวันที่ 29มิถุนายน พ.ศ. 2447 ซึ่งไทยจะต้องยกมโนไพร จำปาศักดิ์ หลวงพระบางฝั่งขวาให้ฝรั่งเศส และเมื่อไทยมอบเมืองตราดด่านซ้าย และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำคอบให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงถอนกำลังออกจากจันทบุรี
หนังสือสัญญาข้างต้นเพียงทำให้การคุกคามไทยผ่อนคลายลงเพราะทหารฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากจันทบุรี แต่ไปอยู่ที่ตราดที่ห่างไกลออกไปแทน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปักปันเขตแดน ปัญหาคนในบังคับซึ่งเป็นชาวเอเชีย ในตอนแรกฝรั่งเศสเสนอจะแลกนครวัดซึ่งในเวลานั้นยังเป็นของไทย กับเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกว่า “ที่จะเอานครวัดมาแลกดูมากมายเหลือเกินอยู่สักหน่อย” การเจรจาดำเนินต่อไปที่กรุงเทพฯ โดยมีนายเอดเวิร์ด สโตรเบล (Edward Strobel) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปของไทย ร่วมเจรจากับนายวิกเตอร์ คอลแลง เดอ ปลังซี (Victor Collin de Plancy) อัครราชทูตฝรั่งเศสประจำไทยด้วย จึงสามารถทำข้อตกลงและลงนามในหนังสือสัญญาได้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยมีสาระสำคัญ คือ ไทยจะยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจะยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายใต้แหลมสิงห์จนถึงเกาะกุดให้ไทย คนเอเชียในบังคับฝรั่งเศส ถ้าจดทะเบียนหลังหนังสือสัญญานี้เมื่อทำผิดต้องขึ้นศาลไทย
หนังสือสัญญาไทย – ฝรั่งเศส พ.ศ. 2449 ถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งยืดเยื้อมาเกือบ 14 ปี ซึ่งในสายตาของทั้งไทยและฝรั่งเศสต่างมีความเห็นตรงกันว่า ฝรั่งเศสได้มากกว่าเสีย และไทยเสียมากกว่าได้ ส่วนชาวเมืองพระตะบองมีปฏิกิริยาไม่พอใจกับการที่ไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แต่สำหรับรัฐบาลไทยถือได้ว่ามีความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น เพราะฝรั่งเศสได้ถอนทหารพ้นจากผืนแผ่นดินไทย นับได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของลัทธิจักรวรรดินิยมที่เกิดขึ้นจากฝรั่งเศส
(จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์, วิกฤตการณ์ ร.ศ.112)
อ้างอิง
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2547). การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 1762 – 2500. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เสมาธรรม, หน้า 277.
พีรพล สงนุ้ย. (2545). กรณีพิพาทไทย – ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ตามหลักฐานฝรั่งเศส. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, หน้า 17 – 22.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2547). การเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 1762 – 2500. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เสมาธรรม, หน้า 283 – 284.
ไกรฤกษ์ นานา. (2553). สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ. 112. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทวีวัฒน์ จำกัด, หน้า 156-156.
วุฒิชัย มูลศิลป์. (2554). วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ป้อมพระจุลจอมเกล้ากับการรักษาเอกราชของชาติ.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, หน้า 212 – 216.
เอกสารแนะนำให้อ่านต่อ
ไกรฤกษ์ นานา. (2553). สมุดภาพเหตุการณ์ ร.ศ. 112. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ทวีวัฒน์ จำกัด.
เกริกฤทธิ์ ไทคูนธนภพ. (2555). สยาม ร.ศ. 112 วิกฤตแผ่นดิน พิพาทฝรั่งเศสและเสียดินแดน.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามความรู้.
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างบาดแผลและเจ็บแค้นในอกประชาชนคนไทย โดยเฉพาะ พลเรือเอกพระบรมวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” โดยหนึ่งในเครื่องเตือนใจให้นึกถึงสิ่งที่ฝรั่งเศสทำต่อเรา นั่นคือ “เรือน้ำตาล”
“เรือน้ำตาล” เป็นเรือที่ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.
๒๔๔๙ มีคำว่าธนบุรี ร.ศ. ๑๑๒ ที่หัวเรือ เรือน้ำตาลตั้งไว้บนบกเพื่อให้นักเรียนนายเรือฝึกหมุนเรือเพื่อหา
ดิวิเอชั่น และการสอดแท่งแม่เหล็กแก้อัตราผิดของเข็มทิศ และให้ได้เห็นทุกวันเป็นการเตือนใจให้หาทาง
แก้เผ็ด และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่น ร.ศ.๑๑๒ gกิดขึ้นอีก ที่ทรงใช้ชื่อว่า “เรือน้ำตาล” เพราะน้ำตาล
แก้รสเผ็ดได้ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเรือที่ลอยน้ำไม่ได้(เช่นเดียวกับน้ำตาล)
อ้างอิง จาก
http://www.rtna.ac.th/departments/Navigation/data/boat/boat.html
ภาพ : sundowner.bloggang.com