วันเสาร์ 23 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

ใช้ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพยานช่วยชาวเลหาดราไวย์ ศาลชี้ชาวเลเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินยกฟ้องนายทุน

1
ต้นมะพร้าวอายุ 30 ปี ช่วย “ชาวเลราไวย์” ศาลภูเก็ตยกฟ้องโจทย์พบข้อขัดแย้งและข้อพิรุธหลายอย่าง ชี้ชาวเลเป็นผู้ถือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมกันนี้ก็เป็นเพราะพระมหากรุณาและพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านเสด็จมาเยือนชาวเลเมื่อปี 2502 ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ

738478_1_1485844687

เวลา 09.30 น.(31 มกราคม 2560) ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต นายพีระพงษ์ เภรีฤกษ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ได้ออกบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีโจทก์นางบุญศรี ตันติวัฒนวัลลภ กับพวก 2 คน ทายาทของนายทัน มุกดี ผู้แจ้ง ส.ค.1 และต่อมามีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 8324 เนื้อที่ 12 ไร่ หมู่ 2 บ้านราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ยื่นฟ้องขับไล่ จำเลย ประกอบด้วย นายแอ่ว หาดทรายทอง นายวรณัน หาดทรายทอง นายบัญชา หาดทรายทอง และนายนิรันดร์ หยังปาน ชาวเลราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต รวม 4 คดี โดยมีกลุ่มชาวเลมาร่วมให้กำลังใจอยู่บริเวณด้านหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตจำนวน 100 คน นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นสนใจร่วมทำข่าวเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยใช้เวลาร่วม 1 ชั่วโมง และเมื่อทางนายนิรันดร์ หยังปาน ได้เข้ามาแจ้งกับชาวเลราไวย์ที่มารออยู่ทราบ ต่างร้องไห้ด้วยความยินดี

นายนิรันดร์ หยังปาน แกนนำชาวเลราไวย์ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ฟ้องขับไล่ กล่าวภายหลังฟังการอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ว่า ในการวินิจฉัยนั้นศาลได้พิจารณาในหลายประเด็น โดยเฉพาะภาพการเสด็จประพาสหมู่บ้านชาวเลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี 2502 ซึ่งมีภาพของต้นมะพร้าวปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งโจทย์แจ้งว่าต้นมะพร้าวมีอายุ 10 ปี แต่จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ต้นมะพร้าวดังกล่าวมีอายุกว่า 30 ปี จึงเป็นข้อขัดแย้งและข้อพิรุธ ประกอบกับการพิจารณาของศาลพบว่า หลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธหลายอย่าง จึงพิจารณายกฟ้อง เพราะชาวเลเป็นผู้ถือผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งทางโจทก์ถือหลักฐานโฉนด

“รู้สึกดีใจที่ศาลมองเห็นว่าวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ของชาวเล มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งยังมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งนับตั้งแต่การตัดสินคดี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ในคดีที่นายจำเริญ มุกดี ทายาทนายทัน มุขดี เจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8342 ฟ้องขับไล่ นายจรูญ หาดทรายทอง และนางแต๋ว เซ่งบุตร ซึ่งศาลพิจารณายกฟ้อง และในวันนี้ (31ม.ค.) ก่อนที่ชาวบ้านจะมาฟังคำการอ่านคำพิพากษาก็ค่อนข้างกังวล และตื่นเต้นว่า จะยกฟ้องเหมือนคดีก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่เมื่อศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธ ส่วนการเตรียมการหลังจากนี้เนื่องจากเชื่อว่าทางโจทก์จะต้องมีการอุทธรณ์นั้น เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย แต่เชื่อว่าศาลอุทธรณ์ก็จะมีการนำข้อมูลจากศาลชั้นต้นไปพิจารณาร่วมด้วย”

นายนิรันดร์ กล่าวด้วยว่า แนวทางการสู้จะเน้นในเชิงวัฒนธรรม เอาความจริงมาต่อสู้กัน เพราะขณะนี้ถือว่าคดียังไม่สิ้นสุด ภาพรวมมีคดีที่ชาวเลถูกฟ้องจำนวน 117 ราย ขณะนี้มีทั้งการพิจารณายกฟ้อง และชาวเลแพ้ โดยการยกฟ้องมี 6 ราย ในส่วนของรายที่แพ้คดีนั้นก็ยังคงอยู่ที่เดิม เนื่องจากไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะพื้นที่ที่อยู่ถือเป็นที่ของบรรพบุรุษ แม้ว่าโจทก์จะมารื้อก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน

อย่างไรก็ตามนายนิรันดร์ กล่าวด้วยน้ำตานองหน้า ว่า ในการต่อสู้ครั้งนี้ต้องขอบคุณทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม หน่วยนิติวิทยาศาสตร์และหน่วยเกี่ยวข้อง ที่รวบรวมพยานหลักฐานจนทำให้ศาลมองเห็นว่าทางชาวเลเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมทั้งไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใดๆ กับชาวเล แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายคดีที่รอการพิจารณา ซึ่งไม่ทราบว่าศาลจะยกประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาหรือไม่ แต่ในส่วนของตนก็เบาใจไประดับหนึ่ง พร้อมกันนี้ก็เป็นเพราะพระมหากรุณาและพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านเสด็จมาเยือนชาวเลเมื่อปี 2502 ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญ

ขณะที่นางสมศรี ดำรงเกษตร หรือป้าแจ่ม อายุ 60 ปีหนึ่งในชาวเลที่มาร่วมรับฟังการคำพิพากษา กล่าวทั้งน้ำตาว่า เมื่อรู้ว่าศาลยกฟ้องก็รู้สึกตื้นตันใจอย่างมาก พูดอะไรออก รู้แต่ว่าสบายใจกว่าอดีตที่ผ่านมา เพราะรอมานาน บอกได้อย่างเดียวว่าดีใจมากๆ กับการต่อสู้ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้ เพราะสู้คดีไปทุกครั้งมีแต่แพ้ ไม่เคยมีคำตัดสินว่าชาวเลจะได้ตรงนี้

สำหรับความเป็นมาของคดีนี้ สืบเนื่องจากชาวเลราไวย์ได้ถูกเจ้าของโฉนดที่ดินที่ออกทับที่อยู่อาศัยของชาวเลทำการฟ้องขับไล่ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรชาวเลประมาน 2,067 ครัวเรือน เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ และอาศัยกันอย่างหนาแน่น โดยชาวเลอ้างว่าได้อยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่พิพาทต่อเนื่องมากว่า 7 ชั่วอายุคน มีการตั้งบ้านเรือน มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ด้วยไม่รู้กฎหมาย จึงถูกบุคคลภายนอกที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ภายหลังแจ้งการครอบครอง ทำประโยชน์และออกเอกสารสิทธิในที่ดิน แล้วนำเอกสารสิทธิดังกล่าวมาฟ้องขับไล่ ในเบื้องต้นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ราษฎรชาวเลราไวย์ออกจากพื้นที่แล้ว 9 ราย และมีคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

ในการพิจารณาคดีนั้น ฝ่ายชาวเลราไวย์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาหักล้างเอกสารสิทธิของฝ่ายโจทก์ซึ่งออกมาจากหลักฐาน ส.ค.1 ที่มีผู้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินของชาวราไวย์ เมื่อปี 2498 ได้ประกอบเจ้าหน้าที่ที่ดินได้ยืนยันว่า การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบของกรมที่ดินแล้ว ศาลจึงพิพากษาว่าเอกสารสิทธิของฝ่ายโจทก์เป็นเอกสารมหาชนที่ออกโดยรัฐ เมื่อไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาโต้แย้งสิทธิได้ สิทธิของโจทก์จึงได้มาโดยชอบและมีคำสั่งให้ชาวเลราไวย์ ออกจากพื้นที่พิพาท ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสอบสวนเรื่องนี้เพื่อหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์สิ่งที่ชาวเล กล่าวอ้าง แนะนำ พยานหลักฐานเข้าสู่การ การพิจารณาของศาล ซึ่งจากการรวบรวมพยานหลักฐานได้พบหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ชาวเลราไวย์ได้อาศัยอยู่ก่อนการออก ส.ค.1 และโฉนดที่ดินของโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายทางอากาศย้อนอดีต โครงกระดูกที่ขุดค้นพบที่พื้นที่พิพาทซึ่งตรวจ DNA แล้วมีความสัมพันธ์กับบุคคลในชุมชนในลักษณะเครือญาติโดยเฉพาะเจ้าของบ้านที่ทำการขุดค้น นอกจากนี้ยังพบว่าทะเบียนนักเรียนเล่มแรกของโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต พบรายชื่อชาวเลราไวย์เข้ามาศึกษา เมื่อปี 2497 (ก่อนออกส.ค.1) ซึ่งพบว่าชาวเลกลุ่มนั้นยังมีชีวิตอยู่บางส่วนและพยานหลักฐานอื่นๆ ซึ่งได้นำพยานหลักฐานดังกล่าวมาเสนอต่อศาลจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ศาลได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมโดยชาวเลราไวย์ได้ขอรับการสนับสนุนทนายความจาก กองทุนยุติธรรมผ่านยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต

ขอบคุณกรุงเทพธุรกิจ