แม้กระทรวงคมนาคมของไทยได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และยังไม่มีการเจรจาเรื่องการลงทุนแต่ประการใดก็ตาม เนื่องจากผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ฟันธง! ไฮสปีดเชียงใหม่ ญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุน” และได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 โดยมีใจความสรุปได้ ดังนี้
การศึกษาความเป็นได้ของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ชินคันเซ็น” ทั้งโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ผลลัพธ์ตรงกันว่า ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return หรือ FIRR) ไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ด้วยเหตุนี้ผมจึงคาดการณ์ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยเพื่อก่อสร้างชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เพราะไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้รัฐบาลไทยกู้เงินรวมทั้งจะรับเหมาก่อสร้าง ขายขบวนรถไฟ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้เห็นตัวอย่างการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่รัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% โดยรัฐบาลจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลย แต่จีนจะรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด อีกทั้ง จีนจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ จีนไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่โครงการขาดทุน แต่จีนจะได้รับประโยชน์จากการได้งานก่อสร้าง การขายขบวนรถไฟและวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการมีเส้นทางออกทะเลเพิ่มอีกเส้นทางหนึ่ง
ในกรณีของรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งจะมีการต่อเส้นทางไปถึงหนองคาย จะทำให้ได้เส้นทางเชื่อมกับลาวและจีน เส้นทางนี้จีนจะได้รับประโยชน์ด้วย แต่จีนก็ไม่ต้องร่วมลงทุน ดังนั้น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นไม่ได้รับประโยชน์จากเส้นทางนี้เลย แล้วจะมีเหตุผลใดที่ญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนด้วย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่อยากให้รัฐบาลไทยคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะร่วมลงทุน แม้ว่าผมต้องการให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนด้วยก็ตาม
ความไม่พร้อมของรัฐบาลไทยในการก่อสร้างชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ได้แสดงออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ เช่น ต้องการลดความเร็วสูงสุดของชินคันเซ็นจาก 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เหลือเพียง 180-200กิโลเมตร/ชั่วโมง กลายเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง หรือต้องการลดจำนวนสถานีระหว่างทางลง เป็นต้นทั้งนี้เพื่อลดค่าก่อสร้าง
ผมอยากเห็นชินคันเซ็น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่เป็นรถไฟความเร็วสูงจริงๆ พร้อมทั้งมีจำนวนสถานีที่เหมาะสม และที่สำคัญ จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานี และพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นเมืองใหม่ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ราชการ เมืองอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น มีการซื้อขายมากขึ้น และมีจำนวนผู้โดยสารชินคันเซ็นเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดเวลาการเดินทาง ลดการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และลดอุบัติเหตุจราจร
หากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ ถึงแม้ว่าชินคันเซ็นจะให้ผลประโยชน์ทางตรงในรูปแบบรายได้จากค่าโดยสารไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุนก็ตาม แต่ชินคันเซ็นก็จะช่วยให้เราได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดที่มีชินคันเซ็นผ่านรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น
ผมอยากให้รัฐบาลดูตัวอย่างการก่อสร้างชินคันเซ็นเส้นทางแรกของญี่ปุ่นจากกรุงโตเกียว-โอซาก้า ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของโลกด้วย แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับโครงการถูกเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกพูดถากถางว่า “ไม่มีนโยบายที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการที่เป็นการทดลอง” เมื่อคราวที่ผู้เกี่ยวข้องเดินทางไปขอกู้เงินจากธนาคารโลก แต่สุดท้ายรถไฟความเร็วสูงเส้นทางแรกของโลกก็เกิดขึ้นจนได้จากฝีมือและการทำงานอย่างมุ่งมั่นและทุ่มเทของวิศวกรญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่อยากให้รัฐบาลถอดใจ แต่อยากให้รัฐบาลมี “ใจสู้” เดินหน้าก่อสร้างชินคันเซ็นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สำเร็จให้ได้ แม้ว่าเราจะต้องลงทุนเองทั้งหมดก็ตามแต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าไม่มีความพร้อมทางการเงินก็ควรชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะมาสานต่อ ส่วนรัฐบาลนี้ก็ควรเร่งก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมารวมทั้งพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ และเตรียมการต่อขยายเส้นทางไปถึงหนองคายเพื่อเชื่อมโยงกับจีนให้ได้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่สมบูรณ์แบบสักเส้นทางหนึ่งก่อน และที่สำคัญ จะต้องเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด
การทำเช่นนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล