วันอาทิตย์ 24 พฤศจิกายน 2024
  • :
  • :
Latest Update

12 สิงหาคม เฉลิมพระชนมพรรษา…สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 “คู่พระบารมี สิริแห่งแผ่นดิน”

๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐

โอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ขอถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

เป็นพระมิ่งขวัญแก่ปวงชนชาวไทยตลอดชั่วกาลนาน

2213

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชาติกำเนิดเป็นหม่อมราชวงศ์ ในราชสกุล กิติยากร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร(พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถและหม่อมหลวงบัว กิติยากร) พระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านมหาอำมาตย์เอก พลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามหก จังหวัดพระนคร

ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย  ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา  ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์

2214

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ยังความปลื้มปิติยินดีและเกียรติยศมาสู่ตระกูลกิติยากร”

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมพรรษาได้เพียง ๓ เดือน พระมารดาคือหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีความจำเป็นต้องตามไปพำนักอยู่กับหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ที่สหรัฐอเมริกา จึงมอบธิดาอันเป็นสุดที่รัก ให้อยู่ในการดูแลของคุณตา คือ นายพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ คอยอุ้มชูเอาใจใส่ดูแล หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นอย่างดี ด้วยสงสารที่ต้องจากอกบิดามารดาตั้งแต่เล็ก

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไป ต่างจังหวัดกับพระบรมวงศานุวงศ์ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง

เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสงขลาด้วย

2215

๒ ปีต่อมา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงตัดสินพระทัยลาออกจากตำแหน่งเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กลับสู่สยามประเทศ และได้รับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ จากบ้านคุณตากลับคืนสู่วังเทเวศน์ วาระแห่งความสุขสดชื่นของครอบครัว กิติยากร จึงหวนกลับคืนมาอีกครั้ง

เมื่อพระชนมพรรษาได้ ๕ พรรษา พระบิดาได้ส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี ที่ ปากคลองตลาด ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสามารถสอบไล่ได้ในชั้นประถมปีที่ ๑ ในปีเดียวกันนั้นเอง

แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนคร ถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้ การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จึงต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ สามเสน ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘ พรรษา

และที่โรงเรียนนี้เอง นอกจากพระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถ และเอาพระทัยใส่ต่อการศึกษาเป็นอย่างดียิ่งแล้ว ยังสนพระทัย และทรงมีพรสวรรค์ในวิชาดนตรีเป็นพิเศษ จนครูผู้ฝึกสอนดนตรีคือ มาดามเรอเน่ และมาดามฟรังซิสก้าออกปากชมอย่างจริงใจว่า พระองค์ทรงมีวิญญาณศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด โดยสามารถอ่านโน๊ต และร้องเพลงได้ถูกต้อง ตามจังหวะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

2217

นอกจากนั้นยังสามารถทรงเปียโนได้ไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งกว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงเป็นศิษย์ที่น่ารัก น่าเอ็นดูของครูผู้ฝึกสอนอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นที่ร่ำลือกันในโรงเรียนอีกด้วย

พรสวรรค์อีกประการหนึ่งของพระองค์ท่าน ก็คือ มีความทรงจำเป็นเยี่ยม การเล่าเรียนในโรงเรียนเซ็นฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ตลอดระยะเวลา ๘ ปี ทั้งมาดามเรอเน และมาดามฟรังซิสก้า ได้พยายามฝึกสอนวิชาการดนตรีอย่างใกล้ชิด แม้พระปรีชาสามารถจะไม่ถึงขั้นอาชีพหรือขั้นนักดนตรีเอกของโลกในด้านเปียโนก็ตาม แต่ฝีมือก็ถือเป็นเลิศ ยากนักที่เด็กหญิงที่มีอายุเพียง ๑๓ ปีจะสามารถกระทำได้ ดังนั้นในเวลาต่อมา พระองค์จึงได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้ บุตร และ บุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และ ความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และ สงครามก็ทำให้ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก  สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และ รักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

ช่วงเวลา ๘ ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าเรียน ที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ แม้จะดำเนินไปด้วยดี มีความสุขสำราญ

แต่ในระหว่างนั้น ก็มีเหตุการณ์อันสะเทือนจิตใจครอบครัว “กิติยากร” และ “สนิทวงศ์” อย่างยิ่งอยู่ครั้งหนึ่ง คือการสูญเสีย พลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ หลังจากป่วยด้วยไข้มาลาเรียและเบาหวาน บวกกับโรคหัวใจในวัยชรา แม้จะได้ระวังรักษาอาการอย่างกวดขันแล้ว ก็ตาม วันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ พระอัยกา(ตา)ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ก็ได้จากไปด้วยความสงบ

2219

สิ่งที่เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์เหลือไว้ ไม่ใช่ทรัพย์ศฤงคารอันล้ำค่า หากเป็นความดี ที่มีส่วนตกทอดมาถึงลูกหลาน เพราะท่านเป็นคนมักน้อย แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ตาม ท่านเป็นผู้อุทิศแรงกายและจิตใจให้แก่งาน โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และไม่ยอมใช้เวลาราชการไปประกอบอาชีพเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด นับเป็นบุคคลตัวอย่างของเมืองไทยท่านหนึ่ง ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาของอนุชนคนรุ่นหลังๆ และรำลึกถึงคุณความดีที่ท่านทำไว้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นรัฐทูตวิสามัญ และ อัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึง ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไป ด้วยในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่อังกฤษได้ไม่นานหม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ทรงย้ายไปประเทศเดนมาร์ก และ ประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ

ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสพุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไป ทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยต่อเบื้องพระยุคลบาทและต้องพระราชอัธยาศัย

ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสอง คือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และ หม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้

หลังจากนั้นสมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และ ประวัติศาสตร์

2220

ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและ ครอบครัวมาเฝ้าฯ ณ เมืองโลซานน์แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบ ๆ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระธำมรงค์หมั้น ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสสั่งให้แจ้งมายังรัฐบาลไทยทราบอย่างเป็นทางการว่า พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร อย่างเงียบ ๆ แล้วที่เมืองโลซานน์ นับเป็นวาระที่พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศต่างปิติยินดีโดยทั่วหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง

001

แล้วคงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และ ในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี และในวันนี้เองเป็นวันที่พสกนิกรไทย ได้มีสมเด็จพระราชินีคู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

แม้ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดจะมีความรู้สึกต้องกันว่า  สมเด็จพระราชินียังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก  เพราะมีพระชันษาน้อย  แต่การที่ยังมีพระชันษาน้อย ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อความจงรักภักดีของประชาชน ทั้งแผ่นดิน ตรงกันข้ามความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีต่อสมเด็จพระราชินีฯกลับทวีมากขึ้น เมื่อได้ประจักษ์พระราชอัธยาศัยและได้ใกล้ชิดพระอิริยาบถ

2221

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแสดงพระจริยวัตรอันคู่ควรแก่ความเป็นพระมิ่งแม่อยู่หัวของไทยเห็นได้เด่นชัดในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระบรมราชินี คือความสง่าผ่าเผยและการสำรวมพระองค์ในพระราชพิธีอันเป็นมงคลนั้น มิได้ทรงประหม่าแต่อย่างใด สมกับที่ได้ทรงสืบสายมาจากสุขุมาลชาติอันประเสริฐ เป็นที่สรรเสริญเจริญตาเจริญใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นมิใช่น้อย และจากการที่ทรงมีพระชนมพรรษาน้อยนี้เอง พระองค์จึงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในโลก

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

002

หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย  และในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว

กล่าวคือ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก ทรงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรัพยากรธรรมชาติ และ การพัฒนาประเทศอยู่เนือง ๆ เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนอยู่ทุกวันนี้